top of page
  • รูปภาพนักเขียนTarn

Det er bare blod - มันก็แค่เลือด! คู่มือสดใสสำหรับวัยมีประจำเดือน

อัปเดตเมื่อ 11 ส.ค. 2566

หนังสือเพศศึกษาสำหรับผู้มีประจำเดือน

โดยเด็กๆ วัยรุ่น ผู้เชี่ยวชาญด้านการมีเมนส์

#เล่าเรื่องจริงให้เด็กฟัง


สวัสดีอีกครั้ง หลังห่างหายไปนานมากๆ นะคะ

เป็นครั้งแรกเลยที่เราหายไปนานเป็นเดือนแบบนี้ คิดถึงกันบ้างไหมคะเนี่ย 555


เมื่อเดือนที่ผ่านมาเรากลับไทยเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 4 ปีค่ะ

ความรู้สึกก็แปลกประหลาดดี เจอคัลเจอร์ช็อกแบบย้อนกลับ (reverse culture shock) หลังจากกลับมาบ้านตัวเอง 555


กรกฎาคมเป็นเดือนที่เราอยากให้เวลากับครอบครัวมากๆ ให้สมกับที่รอคอยมานาน แล้วก็วางแผนเดินทางขึ้นเหนือล่องใต้ไปโอบกอดประเทศไทยซะดิบดี แต่ก็ดันป่วยยาวอีกทั้งไข้หวัดใหญ่ ทั้งโควิด กระเสาะกระแสะกับแฟนกันมาทั้งเดือน เพิ่งจะได้กลับมามีเวลารีวิวหนังสือที่ค้างไว้ก็วันนี้นี่แหละค่ะ


หนึ่งในหนังสือที่เราอยากจะรีวิวตั้งแต่เดือนมิย. เป็นคอนเทนต์ฉลองเดือนแห่งความหลากหลายทางเพศ แต่ไม่ได้รีวิวสักที ก็มีหนังสือเล่มสีชมพูช็อกกิ้งพิงก์ Det er bare blod — มันก็แค่เลือด! นี่แหละนะ — แหม่ เข้ากับกระแสบาร์บี้ดีเหมือนกันนะเนี่ย 555


ถือว่ารีวิวฉลองสัปดาห์แห่งวันแม่แล้วกันนะคะ

และจากข่าวช็อกในแวดวงเยาวชนและการศึกษาเมื่อเร็วๆ นี้ที่เราได้ยินมา เราคิดว่า วงการหนังสือเด็กของไทย น่าจะหันมาให้ความสำคัญกับหนังสือและสื่อสอนเรื่องเพศศึกษา / ความหลากหลายทางเพศอย่างจริงจังได้แล้วล่ะ จริงๆ นะ



 

Det er bare blod — มันก็แค่เลือด! เป็นหนังสือจากเดนมาร์ก

สนพ. ที่จัดทำเป็นสนพ. เล็กๆ น่ารักตะมุตะมิในเมืองออฮุสที่ตาลอยู่เองค่ะ


เล่มนี้ตาลไปเจอครั้งแรกมาที่งานเทศกาลครู ประจำปี 2023 ซึ่งคนทำสื่อ/เทคโนโลยีการสอนมาจะจัดซุ้มแนะนำสินค้าให้ครูๆ ที่เดนมาร์กได้รู้จักกัน เห็นปราดเดียวก็ถูกใจมาก ซื้อเก็บทันที แล้วก็เลยได้ทำความรู้จักกับเจ้าของสนพ. และต่อมาก็ขอไปเยี่ยมสนพ. เค้าด้วย


ภาพบรรยากาศในงาน Laerfest 2023



Det er bare blod — มันก็แค่เลือด! ไม่ใช่หนังสือเด็กเล่มแรกในเดนมาร์ก ที่สอนเด็กๆ เกี่ยวกับประจำเดือน และเรื่องเพศอย่างละเอียด ก่อนหน้านี้เราก็เคยได้แนะนำหนังสือสองเล่มเกี่ยวกับ "จู๋" และ "จิ๋ม" ไป


แต่ความน่ารักและแปลกใหม่ของหนังสือเล่มนี้ คือ หนังสือเปิดโอกาสให้เด็กๆ ที่มีประจำเดือนแล้ว เป็นคนเล่าประสบการณ์และให้คำแนะนำเด็กด้วยกันแทนค่ะ ทำให้แทนที่หนังสือจะมีน้ำเสียงผู้ใหญ่สอนเด็กว่าต้องทำอะไร เราก็จะได้ยินเสียงที่หลากหลายของเด็กๆ แทน ไม่ว่าจะเป็นโมเมนต์ตกใจ เมนส์มาครั้งแรก ปลื้มปริ่มที่ได้เป็นสาว กระดากอายที่ทำโซฟาเลอะ เข้าใจผิดว่าใส่ผ้าอนามัยเล่นน้ำได้ ไปจนถึงแนะนำวิธีการสวมผ้าอนามัยแบบสอดและแบบถ้วย โดยบ.ก. ที่สนพ. นี้เค้าบอกว่า นักเขียนต้องการให้เด็กๆ ได้รู้สึกมีพลังที่จะบอกเล่าเรื่องเกี่ยวกับร่างกายของตัวเอง ให้เพื่อนเด็กๆ คนอื่นได้รับรู้โดยตรง ส่วนความรู้ทางวิทยาศาสตร์น่ะ เดี๋ยวผู้ใหญ่จะเขียนเสริมๆ เข้าไปให้เอง



เด็กๆ ที่มีประจำเดือนแล้ว เล่าให้เพื่อนๆ ฟังว่า ใช้อะไรกันประจำเดือนไหลบ้าง

บางคนก็ใช้ผ้าอนามัย บางคนใช้ผ้าอนามัยแบบสอด (แทมปอน)

บางคนก็ใช้คู่กันไปเลยให้ชัวร์ว่าเมนส์ไม่ไหลแน่ๆ

เด็กบางคนเล่าว่า การใช้ผ้าอนามัยทำให้เล่นน้ำไม่ได้

แต่จะใช้แบบสอดก็งง ใช้ไม่เป็นอีก




บทนี้เล่าถึงอาการปวดเมนส์ และอาการป่วยอื่น ๆ ที่ผู้มีประจำเดือนอาจรู้สึกเวลากำลังจะมี หรือกำลังมีประจำเดือน

ย่อหน้าด้านขวา เป็นเรื่องที่เด็กชื่อ Nina วัย 16 ปี เล่าว่า เธอมีอาการปวดประจำเดือนอย่างรุนแรง เมื่อไปหาหมอถึงรู้ว่าเป็น โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) ทำให้เธอต้องกินยาช่วยลดอาการ หนึ่งในนั้น คือ ยาคุมกำเนิด



การ empower เด็กผ่านหนังสือแบบนี้เป็นอะไรที่เราชอบมากๆ ในวัฒนธรรมหนังสือของเดนมาร์ก (แน่นอนว่า ประเทศอื่นๆ ก็มีหนังสือลักษณะเดียวกันบ้างแหละนะ) และหวังมากเลยว่าจะได้เห็นหนังสือเด็กทำหน้าที่นี้อีกเยอะ ๆ ในไทย


นอกจากการมอบสปอตไลต์ให้เด็กๆ เล่าเรื่องของตัวเองแล้ว หนังสือเล่มนี้ก็ยังเด่นเรื่องภาพประกอบสมจริง เอาผ้าอนามัยเปื้อนเลือดมาให้ดูกันจะๆ ว่า "นี่แหละ ประจำเดือนมันเป็นแบบนี้ และมันก็เป็นแค่เลือด ไม่ต้องกลัวไป" เอาผ้าอนามัยแบบสอด กับถ้วยอนามัยมาให้ดูชัดๆ แถมภาพวิธีใส่ผ้าอนามัยแบบสอดด้วย


รักความกล้าโชว์นี้มาก ใครเห็นเลือดแล้วใจหวิว เลื่อนข้ามไปได้เลยนะคะ

แต่นี่แหละ POV ที่คนมีประจำเดือนต้องได้เห็นผ่านตามาบ้างแล้วแน่ๆ



ในแง่เนื้อหา Det er bare blod พยายามจัดเนื้อหาเป็นตอนๆ ให้เด็กๆ สนใจและหาหัวข้อง่าย ด้วยการเขียนหัวข้อเรียงตามลำดับตัวอักษรเดนิช (คืออักษรโรมัน + อักขระพิเศษ 3 ตัว å ø æ ) แต่จริงๆ ถ้าเอาลูกเล่นนี้ออกไป เราว่าหนังสือก็ยังฟังก์ชันได้ปกตินะ เพราะแต่ละบทสั้นๆ รวบรัดอยู่แล้ว แค่ประมาณ 1-3 หน้า เหมาะให้เด็กตั้งแต่ประมาณ 9 ขวบขึ้นไปอ่าน


หัวข้อที่หนังสือเล่มนี้พูดถึงก็ละเอียดละออมาก ปูพื้นมาตั้งแต่ ประจำเดือนเป็นเรื่องปกติ เป็นธรรมชาติ และไม่น่าอาย เลือดมันจะออกมาจากตรงส่วนไหน เพราะอะไร ออกมามากแค่ไหน (0.5-0.8 เดซิลิตร เท่ากับขนาดนมกล่องเล็กๆ ที่เด็กๆ กิน) เมื่อไหร่ สีอะไร สีแบบนี้ปกติไหม เป็นก้อนด้วยปกติไหม มันจะมาสักกี่ครั้งในชีวิตหนึ่ง จะส่งผลต่อร่างกายและอารมณ์อย่างไร ทำตัวอย่างไรดีนะเวลาเห็นใครเมนส์ไหล หรือเวลาตัวเองอารมณ์สวิงเพราะเมนส์มา



บทนี้พูดถึง สภาพร่างกายที่อาจเปลี่ยนไปบ้างเมื่อประจำเดือนมา เช่น สิวขึ้น พร้อมให้คำแนะนำว่า ควรดูแลผิวอย่างไร


ส่วนย่อหน้าล่าง เป็นเกร็ดความรู้ ตาลแปลเร็วๆ จากภาษาเดนิชได้ดังนี้ค่ะ:

"รู้หรือไม่

...ว่าเด็กๆ ในประเทศยากจนบางแห่งไม่มีเงินซื้อผ้าอนามัย ผ้าอนามัยแบบสอด ถ้วยอนามัย หรืออะไรทำนองนั้นเลย พวกเขาจึงต้องอยู่บ้านเวลาเมนส์มา และไปโรงเรียนไม่ได้ เด็กบางคนไม่ไปโรงเรียนตลอดช่วงที่มีประจำเดือนเลย

ในบางวัฒนธรรม การมีประจำเดือนแปลว่า คนคนนั้นไม่สะอาด และต้องแยกจากคนอื่นๆ โชคดีที่หลายๆ องค์กรกำลังพยายามเปลี่ยนทัศนคติเหล่านี้ โดยให้ข้อมูลว่า ประจำเดือนคืออะไรกันแน่ และแน่นอนว่า เธอไม่ได้สกปรก เวลามีประจำเดือนนะ"




เรื่องนี้เกี่ยวกับการทำสัญลักษณ์บนปฏิทินแบบตั้งโจต๊ะหรือในแอปฯ เพื่อให้เตรียมตัวรับมือประจำเดือนในรอบหน้าๆ ได้ง่ายขึ้น


ย่อหน้าล่างเป็นเกร็ดความรู้น่าสนใจ เกี่ยวกับความรู้สึกทางเพศและการช่วยตัวเองช่วงประจำเดือนมา และเรื่องว่า ทำไมโฆษณาผ้าอนามัยจึงใช้สีฟ้าแทนเลือดประจำเดือน (เพิ่งเริ่มเปลี่ยนมาเป็นสีแดงเมื่อปี 2017)



นอกจากเรื่องวิทย์ๆ แล้ว หนังสือก็ยังพูดถึงมายาคติต่างๆ เกี่ยวกับประจำเดือนด้วย เช่น ผู้หญิงอยู่ด้วยกันนานๆ แล้วเมนส์จะมาตรงกันจริงมั้ย (ไม่จริง) การที่เมนส์ครั้งแรกยังไม่มา แปลว่ามีเซ็กส์แล้วจะไม่ท้องจริงมั้ย (ไม่จริง) การที่เมนส์เพิ่งหมดแล้วมีเซ็กส์ แปลว่าจะไม่ท้องจริงมั้ย (ไม่จริง) ไปจนถึงคำถามเบ็ดเตล็ดอื่นๆ ที่เราเชื่อว่า ต้องมีเด็กอยากรู้ อยู่แต่ไม่กล้าถามผู้ใหญ่แน่ๆ (อันหนึ่งที่เราชอบมากคือ ช่วยตัวเองระหว่างมีเมนส์ได้มั้ย)


หน้านี้ให้เดาว่า มายาคติเกี่ยวกับประจำเดือนเรื่องไหนจริงบ้าง

1. ผ้าอนามัยแบบสอดหลุดหายเข้าไปในตัวได้มั้ย

2. ถ้ายังไม่มีเมนส์ครั้งแรก ถึงมีเซ็กส์ก็จะไม่ท้องแน่ๆ

3. เพื่อนผู้หญิงอยู่ด้วยกันบ่อยๆ เมนส์จะเลื่อนมาตรงกันจริงมั้ย

4. เวลาเมนส์ไหลมากๆ จะทำให้คิดอะไรไม่ค่อยออกจริงไหม


ผู้ใหญ่ทั้งหลายตอบได้ไหมคะ : )




 


เอาจริงๆ บางเรื่องเราก็เพิ่งมารู้จากเล่มนี้เหมือนกันนะ หนังสือเล่มนี้จึงถือเป็นคู่มือการมีประจำเดือนที่อ่านได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่เลย ผู้ใหญ่ที่ทำงานกับเด็ก อ่านแล้วก็จะได้เห็นมุมมอง ความรู้สึกของเด็กๆ ที่มีประจำเดือน หรือกำลังจะมีประจำเดือนไปด้วย และมีแนวทางที่จะคุยกับเด็กๆ ในเรื่องที่ละเอียดอ่อนอย่างนี้ได้


ในยุคนี้ เด็กๆ เข้าถึงสื่อได้อย่างอิสระ สงสัยอะไรก็ค้นหาทำความเข้าใจจากแหล่งข้อมูลที่ไหนก็ได้อย่างไม่จำกัด ทำให้เขาไม่ต้องมาคุยกับพ่อแม่หรือครูก็ได้ แต่น่าเสียดายที่ข้อมูลบางแหล่งก็เชื่อถือไม่ได้ และหลายครั้งสร้างค่านิยมและความเข้าใจเรื่องเพศที่บิดเบือนไปจากความเป็นจริง หรืออาจเป็นอันตราย การสื่อสารกับเด็กๆ เรื่องร่างกายของเขาเองและอนามัยการเจริญพันธุ์จึงเป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่ไม่มีเวลามานั่งอายอีกแล้ว แต่ควรพูดคุยกับเด็กๆ อย่างเปิดเผยและรับฟังข้อกังวลและสงสัยของพวกเขาอย่างตั้งใจ



แน่นอนว่า บางเรื่องผู้ใหญ่อย่างเราก็ไม่ได้รู้ดีไปกว่าเด็กๆ หรอก (อย่างเรื่องที่ว่า คนมีเมนส์อยู่ใกล้ๆ กันแล้วรอบเดือนไม่ได้ซิงก์กันนี่ ฉันเชื่อของฉันอย่างนี้มาตลอดเลยนะ) แต่ถือว่าหาข้อมูลไปด้วยกันเลยก็ดีนะ ว่าไหมล่ะคะ



 

อ่านรีวิวหนังสือเด็กเกี่ยวกับ "เพศศึกษา" เล่มอื่นๆ ได้ที่

นอกจากนี้เราก็เคยรีวิว คู่มือสำหรับเด็ก เรื่องเพศศึกษาและร่างกาย เล่มอื่นๆ ด้วยนะ


*บทความนี้ตีพิมพ์ในเฟสบุ๊กเพจ Children's Books Out There ที่นี่

ดู 48 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page