จิ๋ม จิ๊มิ กี และหลากเรื่องลี้ลับของอวัยวะเพศหญิง
ถูกรวมไว้ในหนังสือย่อยง่ายสำหรับป.ปลาย ที่ไม่ได้สอนแค่วิธีมีหรือไม่มี sex
แต่เล่าประวัติศาสตร์สังคมเกี่ยวกับเพศหญิง ทั้งการกดขี่และปลดแอก
พร้อมตอบคำถามเด็ก ๆ อย่างตรงไปตรงมา เรื่องช่วยตัวเอง safe sex ฯลฯ
เมื่อสองสามปีที่แล้ว...
คงเป็นเพราะเด็ก ๆ ต้องเรียนอยู่กับบ้านมากขึ้นช่วงโควิด-19 ระบาด ตาลเลยได้เห็นข่าวพ่อแม่หลายคนโพสต์ภาพวิจารณ์หนังสือเรียนต่าง ๆ ว่าไม่เหมาะสมกับยุคสมัย หนึ่งในนั้นคือหนังสือเรียนเพศศึกษาที่ค่อนข้างเน้นเรื่อง "บทบาททางเพศ" (เช่น ปลูกฝังให้เด็กเข้าใจว่า ผู้หญิงเป็นเพศที่อ่อนแอ อ่อนหวาน ต้องรักนวลสงวนตัว ฯลฯ)
ขณะเดียวกันกลับไม่ค่อยเน้นแก้ไขความเข้าใจเรื่องเพศผิด ๆ หรือชวนคิดว่า สังคมเรามีค่านิยมทางเพศอะไรที่เป็นปัญหาอยู่บ้าง มันเกิดจากอะไร แล้วจะเปลี่ยนแปลงมันได้อย่างไร
ระหว่างที่อยู่ต่างประเทศ ตาลเลยชอบหาหนังสือเด็กที่เกี่ยวกับเพศศึกษามาอ่านอยู่บ่อย ๆ เพื่อเทียบดูว่านักเขียนเล่าเรื่องอะไรให้เด็กวัยไหนฟังบ้าง มีวิธีการเรียบเรียงอย่างไร ซึ่งในหมวดหนังสือคู่มือวัยทีนนั้น ตาลพบหนังสือ 2 เล่มที่น่าสนใจ มาจากประเทศสวีเดนค่ะ
เล่มแรกคือ Lilla Snippa Boken (เราอ่านเป็นฉบับภาษาเดนิชชื่อ Den lille bog om tissekoner) หรือคู่มือน้อยเรื่อง "จิ๋ม" เขียนโดยคุณ Dan Höjer และวาดโดยคุณ Gunilla Kvarnström ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2004
หนังสือเล่มนี้จริง ๆ เป็นภาคต่อจาก คู่มือน้อยเรื่อง "จู๋" ซึ่งได้รับการตอบรับดีมากจากเด็กกลุ่มวัยแรกแย้ม (pre-teen) แต่เนื่องด้วยเราเริ่มอ่านเรื่อง "จิ๋ม" ก่อนแล้วชอบมาก ก็เลยจะรีวิวตามลำดับการอ่านแล้วกันนะคะ
เมื่อคุณจู๋กับคุณจิ๋มโคจรมาพบกันในคำนำ
ลักษณะเด่น (ชวนช็อก) ของคู่มือน้อยในชุดนี้คือ... การเล่าและโชว์ภาพ "อวัยวะเพศ" แบบโจ่งแจ้ง ตรงไปตรงมา เพื่อ normalise การพูดคุยเรื่องเพศ (ดูปกเขาสิ) สำหรับเล่ม คู่มือน้อยเรื่อง "จิ๋ม" นั้น เปิดมาหน้าแรกก็เจอภาพจิ๋มหลายรูปแบบ และบทสัมภาษณ์จากเด็กหญิงวัย 12 ขวบสามคน ถึงประเด็นส่วนตัว เช่น พวกเขาเรียก "จิ๋ม" ว่าอะไรบ้าง แล้วพวกเด็กผู้ชายเรียกมันว่าอะไร เด็ก ๆ คิดอย่างไรกับการเป็น "ผู้หญิง" การมีอวัยวะเพศหญิง และการเรียนเพศศึกษาในโรงเรียน
เด็ก ๆ เรียก "จิ๋ม" ว่าอะไร และรู้สึกอย่างไรกับการมี "จิ๋ม"
เด็ก ๆ ยังได้เล่าถึงประสบการณ์
วันแรกที่มีประจำเดือน การทดลองช่วยตัวเอง และความรู้สึกที่มีเกี่ยวกับ "พวกเด็กผู้ชาย"...
จากนั้น นักเขียนก็สัมภาษณ์ตัวแทนเด็กชายวัย 12 ขวบ 2 คนว่ารู้เรื่องอะไรบ้างเกี่ยวกับ "อวัยวะเพศของผู้หญิง" และ "การมีประจำเดือน"
หลากประสบการณ์ของเด็ก ๆ วันสิบสองขวบในเล่มนี้
ตัวอย่างคำแปลบางส่วน
ตัวอย่างหน้าซ้าย (เกี่ยวกับประจำเดือน)
คาโรไลน์: หนูมีประจำเดือนครั้งแรกปีที่แล้ว ที่โรงเรียนค่ะ หนูกลัวมากค่ะ ว่าใครจะเห็นเลือดของหนูไหลออกมาจากกางเกง แต่ว่าไม่มีใครสังเกตเลย หนูกลับมาบ้านเจอแม่ แม่หนูดีใจมากค่ะ แล้วเราก็คุยเรื่องนี้กันเป็นชั่วโมงเลย แม่สอนหนูว่าผู้หญิงเราใช้ผ้าอนามัยกับแทมปอน (ผ้าอนามัยแบบสอด) ยังไง รู้สึกคล้าย ๆ ว่ามันเป็นเรื่องน่าเฉลิมฉลองน่ะค่ะ
.
ตัวอย่างหน้าขวา (เกี่ยวกับการสำเร็จความใคร่ด้วยตัวเอง)
แคโรไลน์: หนูช่วยตัวเองค่อนข้างบ่อย บางทีก็หลายครั้งต่อวัน แต่หนูจะไม่บอกเรื่องนี้กับใครแน่ ๆ เพราะมันฟังแล้วดูแย่ แม้ว่าจะทำให้รู้สึกดีก็ตาม ดูเหมือนพวกเด็กผู้ชายจะพูดเรื่องนี้ง่ายกว่านะคะ พวกเขาชอบพูดเรื่องช่วยตัวเองแล้วก็อะไรเทือก ๆ นั้น แต่หนูไม่เคยได้ยินเด็กผู้หญิงพูดเรื่องนี้บ้างเลย คำว่าสำเร็จความใคร่ด้วยตัวเองฟังดูแปลก ถ้าจะพูดว่า ช่วยตัวเอง น่าจะง่ายกว่า
See less
หนังสือเล่มนี้ยังมีเนื้อหาน่ารู้แปลก ๆ อีกหลายอย่าง
นอกเหนือไปจากการอธิบายส่วนประกอบต่าง ๆ ของอวัยวะเพศหญิงอย่างละเอียดละออ (ตั้งแต่การมีประจำเดือน การตั้งครรภ์ ไปจนถึงการถึงจุดสุดยอด) เช่น ประวัติศาสตร์ความเชื่อในวัฒนธรรมและยุคสมัยต่าง ๆ เกี่ยวกับ อวัยวะเพศหญิง และ "คลิตอริส"ตั้งแต่สมัยโบราณ บางวัฒนธรรมมองเพศหญิงเป็นตัวแทนของความสมบูรณ์ ขณะที่บางวัฒนธรรมมองเพศหญิงเป็นสิ่งอันตราย ถึงขั้นมีเรื่องความเชื่อว่า ผู้หญิงคนแรกของโลกมีอวัยวะเพศที่มีฟันคม ๆ หลายซี่ คอยกัด "จู๋" ของพวกผู้ชาย ก็มี!
บางวัฒนธรรมมองเพศหญิงเป็นตัวแทนของความสมบูรณ์
ไม่เพียงเท่านั้น ผู้เขียนยังได้พาคนอ่านไปสำรวจดูวิธีที่หลาย ๆ วัฒนธรรมใช้ด้อยค่าร่างกายผู้หญิง เช่น ใช้เพศหญิงหรืออวัยวะเพศหญิงเป็นคำด่า เอา "ประจำเดือน" ไปเชื่อมโยงกับความเป็นกาลกิณี หรือใช้ร่างกายผู้หญิงแทนจานอาหาร รวมไปถึงวิธีที่สังคมใช้ลิดรอนสิทธิของผู้หญิงเหนือร่างกายตัวเอง เช่น สอนว่าผู้หญิงที่ดีต้องรักษาพรหมจรรย์ ห้ามผู้หญิงมีเซ็กส์ก่อนแต่งงาน ห้ามผู้หญิงรู้ดีเรื่องเพศสัมพันธ์ (กว่าผู้ชาย) ผู้หญิงที่มีความต้องการทางเพศสูงถูกมองว่าเป็นโรคจิต
ในขณะที่สมัยก่อน ขุนนางยุโรปในยุคกลางทำกุญแจล็อกอวัยวะเพศของภรรยาขณะที่สามีออกเดินทางไปต่างแดน สมัยนี้ก็ยังคงมีบางสังคมที่ผ่าเอา "คลิตอริส" และ "แคม" ของเด็กผู้หญิงออกไป และเย็บปิดช่องคลอด (เรียกว่าการขลิบอวัยวะเพศหญิง) เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้หญิงมีความรู้สึกทางเพศ และทำหน้าที่แค่ตั้งครรภ์ให้สามีเท่านั้น
คำที่เกี่ยวกับเพศหญิงถูกใช้เป็นคำด่า ทั้งที่เพศหญิงเป็นผู้ให้กำเนิดมนุษย์
ตัวอย่างคำแปลบางส่วน
[ตัวอย่างหน้าซ้าย จดหมายของเด็ก ๆ]
หนูไม่เข้าใจเลยว่าทำไมคนถึงเรียกอะไรที่น่ารักและสวยงามอย่างหยาบคาย (คำว่า kusse เป็นคำเรียกอวัยวะเพศหญิงอย่างหยาบคายในภาษาเดนิช... อ่ะ ได้เรียนคำด่าไปแล้วหนึ่ง 555) นี่คือที่ที่มนุษย์ทุกคนเกิดมา ชีวิตเริ่มต้นตรงนี้ ทุกอย่างกำเนิดที่นี่ มนุษย์คนแรกก็ออกมาจากตรงหว่างขาของแม่ของเขานั่นแหละ แล้วหลังจากนั้นเด็กเป็นล้าน ๆ คนก็เกิดตามมาแบบเดียวกัน นี่มันเรื่องมหัศจรรย์แท้ ๆ ทำไมคนถึงได้ใจร้าย แล้วใช้คำเกี่ยวกับเพศหญิง เพื่อเรียกพวกขี้แพ้ หรือบางทีนั่นอาจจะเป็นคำชมก็ได้
วีร่า
หน้าขวา พูดถึงการทำสัญลักษณ์มือเป็นอวัยวะเพศหญิง (ในแอฟริกา)
สิ่งที่ทำให้หนังสือเล่มนี้โดดเด่นขึ้นมาจากหนังสือเด็กเพศศึกษาเรื่องอื่น
คือ การเล่าวัฒนธรรม ความเชื่อ และอคติที่ผู้คนมีต่อเพศหญิงและอวัยวะเพศหญิง ไปจนถึงการเรียกร้องสิทธิสตรีในด้านการเจริญพันธุ์และสุขอนามัย เช่น สิทธิได้รับผ้าอนามัยแบบแผ่นและแบบสอด (tampon) ฟรีจากรัฐ การทำแท้งถูกกฎหมาย การยุติวัฒนธรรมขลิบอวัยวะเพศ ฯลฯ ไม่ใช่แค่เล่าข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์แบบจืด ๆ แบบที่มักจะเจอในหนังสือเรียน
ผ้าอนามัยแบบแผ่นและแบบสอดใส่ยุคต่าง ๆ
โทนเสียงไม่สั่งสอน อีกสิ่งที่เราชอบมากเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้ก็คือ โทนเสียงของผู้เขียนที่เป็นเหมือนเพื่อนที่คอยรับฟังเด็ก ๆ แล้วนำเรื่องน่าสนใจมาเล่าสู่กันฟังมากกว่าจะเป็น "ผู้ใหญ่" ที่คอยแต่จะสั่งสอน ตัดสินเด็ก ๆ หรือบอกว่าอะไรควรละอาย ไม่ควรพูด ตรงกันข้าม ผู้เขียนเปิดโอกาสให้ "เด็กผู้หญิง" และ "ผู้หญิง" เล่าประสบการณ์ ความรู้สึกของตนเองอย่างตรงไปตรงมา แถมท้ายเล่ม ยังให้เด็ก ๆ ทั้งหญิงชายได้ถามคำถาม (และอ่านคำตอบ) มากมายเกี่ยวกับอวัยวะเพศหญิงที่แสนจะลึกลับด้วย
ส่วนประกอบของอวัยวะเพศหญิงและการหาคลิตอริส (ดูจากภาพแล้ว เป็นเรื่องน่าสนุกสนาน...)
เราว่าน้ำเสียงในการเล่าเรื่องเพศในหนังสือเด็กสำคัญมาก ๆ เลยนะ เพราะมันแทรกค่านิยมมุมมองอะไรหลาย ๆ อย่างลงไป ถ้าเราเล่าเรื่องเพศในแบบเลี่ยง ๆ เด็ก (และผู้ใหญ่ที่อ่าน) ก็จะจำไปว่า เรื่องนี้พูดไม่ได้ ต้องหลบ ๆ แต่ถ้าผู้เขียนกล้านำเสนอ (และบรรณาธิการ ครูบาอาจารย์ ผู้ใหญ่รอบ ๆ ตัวเด็กก็กล้าให้เด็กอ่านด้วย) เรื่องเพศก็จะไม่ใช่เรื่องลี้ลับ เต็มไปด้วยความเข้าใจผิดอีกต่อไป
เด็ก ๆ เล่าให้ฟังได้ทุกเรื่อง โดยไม่ถูกตัดสินต่อว่า
ตัวอย่างคำแปลบางส่วน
[หน้าซ้าย]
การช่วยตัวเองเป็นเรื่องที่วัยรุ่นหลายคนทำ ถึงแม้ว่าคนทั่วไปจะไม่พูดเรื่องนี้กันตรง ๆ และอายที่จะพูดถึงมัน แต่การช่วยตัวเองเป็นวิธีที่ดีในการทำความรู้จักกับอวัยวะเพศของตนให้ดียิ่งขึ้น
[หน้าขวา]
บทสัมภาษณ์เด็กหญิง/วัยรุ่นหญิง เกี่ยวกับการช่วยตัวเองของแต่ละคน บางคนบอกว่าชอบช่วยตัวเองหน้ากระจก บางคนช่วยตัวเองหลังกลับจากโรงเรียน เพราะทำแล้วรู้สึกดี ปลอดภัย ฯลฯ
ว่าแต่ เพื่อน ๆ ล่ะ มีหนังสือเพศศึกษาในดวงใจบ้างหรือเปล่า ที่ผ่านมาเรียนรู้เรื่องนี้อย่างไร แล้วอยากให้โรงเรียนสอนเรื่องอะไรในวิชาเพศศึกษาบ้างคะ?
#pridemonth2022 #หนังสือเด็ก #เพศศึกษา #ความเท่าเทียม #สิทธิสตรี
*บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรก ที่นี่
Comments