top of page
รูปภาพนักเขียนTarn

เบื้องหลังหนังสือ - รีวิวฉลองงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ 2567

อัปเดตเมื่อ 15 เม.ย.

หนังสือเกี่ยวกับหนังสือ คนทำหนังสือ

และโลกหนังสือแสนประหลาด



วงการหนังสือเป็นวงการที่เหมือนจะใหญ่แต่ก็เล็ก เหมือนจะแคบแต่ก็กว้าง

และเอาจริงๆ ก็ลึกลับซับซ้อน

.

บางทีเราก็คิดว่าแปลกดีนะ ที่คนในวงการหนังสือบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับวงการต่างๆ มาก็มาก แต่นักอ่านกลับไม่ค่อยได้รู้เรื่องของผู้คนในวงการนี้เองสักเท่าไหร่ ว่ากว่าจะมาเป็นหนังสือหนึ่งเล่มให้เราได้อ่านกัน มีคนมากมายแค่ไหนเข้ามาเกี่ยวข้องบ้าง และพวกเขาทำอะไรกันในแต่ละวัน

.

รีวิววันนี้ของคุณจินนี่ จะพาไปรู้จักหนังสือตลกๆ ที่ชวนให้ผู้อ่านมองลึกลงไปยังส่วนหนึ่งซึ่งสำคัญและมีเสน่ห์อย่างเหลือร้ายในวงการนักอ่าน (มีใครรังเกียจการถูกกองหนังสือล้อมรอบด้วยรึ!) และเห็นรายละเอียดเล็กๆ ที่สวยงามในอาชีพ "คนขายหนังสือ" ที่ยังไม่ค่อยถูกพูดถึงนักค่ะ

.

 

ร้านหนังสือชื่อมีไหมนะ (แปลจากเรื่อง あるかしら書店)

เรื่องและภาพ โดย ชินสุเกะ โยชิทาเกะ

แปล ชมนาด ศีติสาร

ผู้รีวิว: จินนี่


เราชอบไปงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติตั้งแต่เด็ก จำได้ว่าสมัยก่อนใช้เวลาเดินทั้งวัน แวะบูธนั้นบูธนี้ด้วยความตื่นตาตื่นใจ พอหมดวันก็หอบหนังสือเป็นตั้งกลับบ้านเท่าที่เงินค่าขนมจะซื้อได้ และก็เช่นเดียวกับอีกหลายคน หนังสือบางเล่มอ่านรวดเดียวจบข้ามคืน บางเล่มต้องค่อยละเลียดอ่าน และบางเล่มก็กลายเป็นกองดองไปอย่างน่าเสียดาย พอโตขึ้นนิสัยก็เริ่มเปลี่ยน ทั้งเรื่องความสนใจที่เปลี่ยนไป ทั้งเรื่องจำนวนที่ซื้อน้อยลงเรื่อย ๆ (ส่วนหนึ่งเพราะเริ่มรู้ว่าเล่มไหนซื้อไปแล้วน่าจะเข้ากองดอง) เล่มนี้เป็นเล่มที่บังเอิญเดินเจอในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติรอบที่ผ่านมา แล้วก็เป็นเล่มเดียวที่ตัดสินใจซื้อ แถมเป็นหนังสือเด็กอีกด้วย แต่พอเอามาอ่านจบแล้วรู้สึกเอ็นจอยมาก ๆ ในฐานะผู้ใหญ่ที่ชอบหนังสือและร้านหนังสือ



สำหรับคนที่ติดตามหนังสือเด็ก คงคุ้นเคยกันดีอยู่แล้วกับผลงานของคุณโยชิทาเกะ คุณพ่อลูกสองชาวญี่ปุ่นผู้กวาดรางวัลหนังสือเด็กมามากมายจากทั้งในและต่างประเทศ แต่สำหรับเรา เพิ่งได้ยินชื่อนี้เป็นครั้งแรกตอนเดินผ่านบูธสำนักพิมพ์หนังสือเด็กนี่แหละ สะดุดตาลายเส้นการ์ตูนเรียบง่ายอารมณ์ดี คุณโยชิทาเกะแต่งหนังสือเด็กไว้มากมาย หลายเล่มแปลเป็นภาษาไทยแล้ว ที่เราเล็งอยากอ่านเป็นเล่มต่อไป ชื่อเรื่อง ต่อจากนี้จะเป็นอย่างไรนะ (このあとどうしちゃおう) เล่าเรื่องความตาย เพราะไม่ได้มีแต่เด็กที่ต้องเรียนรู้ ผู้ใหญ่ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าตายแล้วไปไหน



“ร้านหนังสือชื่อมีไหมนะ” เรื่องราวเริ่มต้นง่าย ๆ เกี่ยวกับร้านหนังสือร้านหนึ่งชื่อ “มีไหมนะ” มีคุณลุงใจดีแสนรอบรู้เป็นเจ้าของ ร้านหนังสือของคุณลุงร้านนี้ขาย “หนังสือเกี่ยวกับหนังสือ” โดยเฉพาะ แต่ละวันก็จะมีลูกค้าแวะเวียนมาถามคุณลุงเจ้าของร้านว่า “มีหนังสือเกี่ยวกับ…ไหมคะ/ครับ” ส่วนใหญ่ลุงจะตอบว่า “มีสิ” แล้วไปหยิบมาให้จากหลังร้าน



งานคุณโยชิทาเกะซ่อนความลึกไว้เสมอ สิ่งที่เห็นอาจจะไม่ใช่อย่างที่คิดเสมอไป เสนอความเป็นไปได้ให้มองลองต่างมุม แต่ก็ไม่ได้ตัดสินหรือชี้นำว่าต้องเป็นอย่างไร มีอารมณ์ขัน ชวนให้ใช้จินตนาการ ถอดสมองอ่านได้เลยไม่ต้องคิดอะไรมาก แต่อ่านไปก็พบว่ามีอะไรน่าคิดเยอะเลย



บทที่เราชอบเป็นพิเศษชื่อ งานเกี่ยวกับหนังสือ พูดถึงกิจกรรมหนึ่งวันในศูนย์ฝึกสุดยอดพนักงานร้านหนังสือ วิธีจัดเรียงหนังสือให้เหมาะกับชื่อเรื่อง วิธีห่อหนังสือ และอาชีพคนรับอำลาหนังสือ

อ่านเล่มนี้จบแล้วอาจจะไม่ได้ความรู้เกี่ยวกับหนังสือหรือการทำหนังสือจริง ๆ เท่าไหร่ แต่ได้ความสนใจและแรงบันดาลใจเต็มร้อย ซึ่งน่าจะเป็นพลังที่ดีที่สุดพลังหนึ่งในการที่จะเรียนรู้เกี่ยวกับอะไรสักอย่างต่อไป



หมายเหตุ: ใครชอบอ่านหนังสือเกี่ยวกับหนังสือ แนะนำอีกเล่ม Weird Things Customers Say in Bookstores ของ Jen Campbell [ตาล: อ่านตัวอย่างได้ที่นี่] เบาและตลกเหมือนกัน เรื่องก็ตรงตัวชื่อเลย เป็นคำถามหรือคำพูดแปลก ๆ จากบรรดาลูกค้าที่คนทำงานร้านหนังสือเคยพบเจอจริง ๆ มีภาพประกอบด้วย แต่อันนี้ไม่เชิงหนังสือเด็ก เพราะต้องอ่านหนังสือและวรรณกรรมภาษาอังกฤษมาพอสมควรถึงจะเก็ต


 

 

สารบัญหนังสือ เป็นรายการหนังสือที่ร้าน “มีไหมนะ” วางขาย แค่เห็นก็น่าสนุกแล้ว



 

ตัวอย่างหนังสือในร้านคุณลุง หนังสือชุดพัฒนาทักษะพนักงานร้านหนังสือ

บทนี้พูดถึงวิธีห่อหนังสือ มีตั้งแต่ใส่ซองกระดาษ ห่อของขวัญ

ไปจนถึงห่อแป้งพาย ห่อใบตอง หรือจะห่อตามอารมณ์อันแปรปรวนของผู้จัดการร้านก็ได้นะ




 

แต่ละวันก็จะมีลูกค้าแวะเวียนมาถามคุณลุงเจ้าของร้านว่า

“มีหนังสือเกี่ยวกับ…ไหมคะ/ครับ”

ส่วนใหญ่ลุงจะตอบว่า “มีสิ” แล้วไปหยิบมาให้จากหลังร้าน

แต่คราวนี้มาแปลก หนังสือแบบไหนกันนะที่คุณลุงไม่มีขาย



 

การเล่าเรื่องของหนังสือและผู้ที่เกี่ยวข้องกับหนังสือให้มากขึ้นในวรรณกรรมเด็ก ไม่ใช่แค่ส่งเสริมให้ผู้อ่านสนใจไปร้านหนังสือและหยิบหนังสือมาเปิดดูเท่านั้น แต่ (หวังว่าจะ) ยังบันดาลใจให้นักอ่านเติบโตมารู้สึกสนุกและอยากมีส่วนร่วมส่งเสริมให้ทุกคนได้อ่านหนังสือที่หลากหลาย อ่านทุกเรื่องที่อยากรู้ และอยากส่งต่อประสบการณ์ของตนต่อไปผ่านวรรณกรรม หรือก็คือ โตไปเป็นนักเขียนหรือคนทำหนังสือให้คนรุ่นหลังได้มีเรื่องสนุกๆ อ่านกันต่อนั่นเอง!


ชีวิตของผู้คนในโลกหนังสือเริ่มปรากฏมากขึ้นในหนังสือเด็กหลายประเทศ (แม้จะยังมีน้อยเมื่อเทียบกับอาชีพยอดนิยมอื่นๆ เช่น นักวิทยาศาสตร์ นักประดิษฐ์ แพทย์ ชาวไร่ชาวสวน) และตลอด 3-4 ปีมานี้ การทลายมายาคติ (demystify) ในกระบวนการทำหนังสือ ก็กลายมาเป็นนโยบายสำคัญของสำนักพิมพ์ข้ามชาติยักษ์ใหญ่ อย่าง Penguin Random House, Hachette ฯลฯ ที่เร่งจัดกิจกรรมเวิร์กชอป ฝึกงาน และสร้างคู่มือสำหรับคนทำงานส่วนต่างๆ ของวงการ ตั้งแต่ด้านการเขียน บรรณาธิการ การพิมพ์ การตลาด การจัดการคลังหนังสือและกระจายหนังสือ การจัดการร้านหนังสือ/ห้องสมุด การซื้อขายลิขสิทธิ์ การแปล และการบริหารจัดการ "แฟน" และ "แบรนด์" ทั้งหมดนี้ก็เพื่อเปิดทางให้นักเขียนนักทำหนังสือหน้าใหม่ๆ (publishing hopefuls) ได้เข้ามาสร้างสรรค์ผลงานที่จะเข้าถึงนักอ่านได้หลากหลายกว่าเดิม และช่วยกันเสริมความแข็งแกร่งให้วงการ


นอกจากกิจกรรมของสำนักพิมพ์ใหญ่ๆ แล้ว คนในวงการหลายภาคส่วนก็ยังร่วมกันจัดทำสื่อที่ช่วยให้ผู้ที่รักการทำหนังสือได้แลกเปลี่ยนความรู้กันด้วย เช่น พอดแคสต์ทำความรู้จักตลาดหนังสือใหม่ๆ รอบโลก วารสารและเว็บไซต์สรุปข่าวคราวใหม่ๆ ในวงการ เว็บกระจายข้อมูลแหล่งให้ทุน กิจกรรมสอบถามและส่งเสริมสวัสดิการคนในวงการ ไปจนถึงการเสวนาเรื่องเทคโนโลยี กฎหมาย และเทรนด์ใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำหนังสืออย่างสม่ำเสมอ


ว่าแต่ คำถามเล็กน้อยก่อนจากกันสำหรับคนในวงการหนังสือ...


อะไรคือเรื่องน่าประหลาดใจ/มหัศจรรย์ที่สุดเกี่ยวกับอาชีพของคุณ

เขียนเข้ามาแชร์กันได้นะคะ


งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติปีนี้ จัดวันที่ 28 มีนาคม - 8 เมษายน 2567

เข้าไปดูรายละเอียดกันได้ที่ https://web.facebook.com/bookthai ค่ะ


 


[ช่วง จินนี่แนะนำตัว]



สวัสดีค่ะ จินนี่ (นิลเนตร) ค่ะ เป็นเพื่อนตาลและเป็นแฟนเพจ Children’s Books Out There (ที่เปิดโลกหนังสือเด็กให้เราแบบว้าวมากเลย )


งานของเราไม่ได้เกี่ยวข้องกับหนังสือเด็ก แต่วนอยู่กับการสอน การอ่านและการขีดๆ เขียน ๆ เราชอบเดินทางและชอบหยิบจับหนังสือในที่ที่ไป โดยเฉพาะสองสามปีที่ผ่านมาชอบอ่านหนังสือภาพ


โปรเจ็กต์รีวิว #หนังสือภาพเล่มโปรดสำหรับคนโตแล้ว นี้เกิดขึ้นจากหนังสือที่อ่านสะสมมาเรื่อยๆ แต่ละเล่มส่วนใหญ่บังเอิญไปเจอแล้วชอบเลยซื้อมา ทั้งอ่านสนุกแล้วยังมีความทรงจำตอนไปเจอด้วย เลยกลายเป็นของที่ระลึกจากการเดินทางอย่างหนึ่ง นอกจากที่อ่านเองแล้ว ก็อยากรู้ด้วยว่าคนอื่นชอบเล่มไหนกันบ้าง ยินดีที่ได้รู้จักและขอบคุณที่แวะมาอ่านนะคะ



 

*บทความนี้ตีพิมพ์ในเฟสบุ๊กเพจ Children's Books Out There ที่นี่


ดูตัวอย่างกิจกรรม #DemystifyPublishing ได้ที่

Hachette's "Opening the Book" project

Penguin Random House' "Demystifying Publishing" podcast

นักประชาสัมพันธ์หนังสือ เล่าถึงงานที่ตัวเองทำ

นักเขียนหนังสือเด็กเล่าถึงกระบวนการทำงานของตัวเองตั้งแต่ต้นจนจบการตีพิมพ์และทำการตลาดด้วยตัวเอง


ฟังการเม้าท์มอยเรื่องวารสาร The Bookseller ของยูเค ได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=d_nOpzitets


อ่านเรื่อง ข้อเสนอแนวคิดสถาบันหนังสือแห่งชาติ ปี 2546 โดยสนพ. ผีเสื้อ ได้ที่ https://bflybook.com/2020/02/14/books-for-reading-and-learning-project/

ดู 33 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page