top of page
  • รูปภาพนักเขียนTarn

หนังสือภาพถ่ายขนมและของจิ๋ว สู่พลังนุ่มนิ่มในอนาคต

อัปเดตเมื่อ 24 มี.ค.

หนังสืองานศิลปะแสนหวาน

ที่ทั้งอร่อย น่ารัก น่าสนุกในเล่มเดียว




ได้ยินมาว่า หลังจากวันวาเลนไทน์ ญี่ปุ่นเขามีวันฉลองที่ดีมากๆ ต่ออีกวันหนึ่งด้วยนะ

วันที่ 15 กุมภาพันธ์ เป็น "วันขนมหวาน" หรือ おかしの日 Okashi no Hi (ด้วยเหตุผลทางการตลาดล้วนๆ) จึงเป็นที่มาของการจัดรีวิวนี้ให้มาอยู่ในช่วงนี้ค่ะ 555


แต่ก่อนจะเข้าเรื่อง...

ปีนี้เรามีนักเขียนรับเชิญ คุณ Jinny Ongartthaworn (จินนี่) ให้เกียรติมาแชร์หนังสือภาพเล่มโปรด ในธีม My Favourite Picturebooks as an Adult (หนังสือภาพเล่มโปรดของคนโตแล้ว) กับเราด้วยค่ะ


โลกของหนังสือภาพนั้นกว้างใหญ่ ถ้าใช้คำจำกัดความแคบที่สุด เราอาจนึกถึง"หนังสือนิทาน" สำหรับเด็กเล็กที่มีคำน้อยและประกอบด้วยภาพวาดลดทอนความเหมือนจริง แต่หนังสือภาพโดยความหมายกว้างๆ ก็คือ หนังสือที่มีภาพประกอบ ไม่ว่าจะเป็นภาพถ่ายและภาพวาด


หนังสือที่คุณจินนี่เลือกมาคราวนี้ เป็นหนังสือภาพ (ถ่าย) พูดให้ชัดลงไปอีกก็คือ หนังสือคอลเล็กชันขนม ผสมงานประดิษฐ์ของจิ๋ว นับเป็นส่วนผสมที่น่าสนใจมากแล้วก็เหมาะมากๆ สำหรับธีม "หนังสือภาพเล่มโปรดของคนโตแล้ว" เพราะเราเชื่อว่า การกินขนมและทำงานประดิษฐ์ น่าจะเป็นกิจกรรมแสนสนุกในวัยเด็กของใครหลายคน และคงดีไม่น้อย ถ้าเราได้ส่งผ่านความรักในกิจกรรมเหล่านี้ไปให้เด็กรุ่นต่อๆ ไปบ้างค่ะ




 


 手土産ミニチュアコレクション (Souvenir Miniature Collection)

โดย みすみともこ (Misumi Tomoko)

ผู้รีวิว: จินนี่



หนังสือภาพคอลเล็กชันของจิ๋ว รวมขนมของฝากประจำจังหวัดทั่วญี่ปุ่น โดยคุณมิสุมิ โทโมโกะ ซื้อจากร้านคิโนะคุนิยะที่ไทย (หนังสือเป็นภาษาญี่ปุ่น คิดว่าไม่มีฉบับแปล)


หีบห่อขนมละลานตาในร้านขายของฝากเป็นสีสันอย่างหนึ่งของญี่ปุ่น เวลาเพื่อนหรือคนจากบริษัทที่ต่างจังหวัดมาเยี่ยมก็จะหิ้วติดไม้ติดมือมาฝาก หรือเราไปเที่ยวเองก็จะสนุกกับการมองหาของ (ขนม) ดีประจำท้องถิ่นไปฝากคนที่ออฟฟิศเช่นกัน


ภาษาญี่ปุ่นมีคำว่า 土産菓子 (miyage-gashi) ใช้เรียกขนมที่ตั้งใจผลิตขึ้นมาเป็นของฝาก เกิดจากการผสมคำว่า お土産 (omiyage) = ของฝาก กับ お菓子 (okashi) = ขนม ขนมของฝากมักจะมีแพ็กเกจประณีต หนึ่งกล่องมีขนมหลายชิ้นห่อแยกกันเพื่อให้แจกสะดวก (แต่ก่อนเวลาซื้อให้ที่ทำงานก็จะคำนึงถึงตรงนี้ด้วย เพราะบางคนไม่กินทันที ถ้าไม่มีห่อแยกคนมักจะหยิบทิชชูมาใส่ขนมที่รับแจก) หลายที่จะใช้วัตถุดิบของท้องถิ่นนั้น ๆ และมักจะตั้งราคาแพงกว่าขนมทั่วไป ขนมของฝากจึงเป็นการเพิ่มมูลค่าให้ทั้งการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมท้องถิ่น เกิดปรากฏการณ์กว้านซื้อ ต่อคิวซื้อ เช่น JAKA-POKKURU ของฮอกไกโด, TOKYO BANANA, ซาลาเปา 551 HORAI ของโอซาก้า เป็นต้น (ลองนับดูก็พบว่าตัวเองเคยกินมาแล้วเกือบครึ่งเล่ม จากที่เขาแนะนำ 30 กว่าอย่าง…)


หนังสือเล่มนี้ผสมผสานความรู้เรื่องขนมของฝากกับความรู้เรื่องการทำของจิ๋ว เก็บรายละเอียดได้น่าประทับใจมาก อย่างขนมก็จะถ่ายเทียบของจิ๋วกับของจริงให้เห็นในเฟรมเดียวกัน ของจิ๋วก็มีทั้งตอนอยู่ในหีบห่อกับตอนเอาออกมาผ่าให้เห็นข้างใน ทำแม้กระทั่งถุงกันความชื้นในห่อขนมจิ๋วที่มองไม่เห็นในรูปถ่าย ทั้งกล่องกระดาษ ห่อพลาสติก เลียนแบบลวดลายและวัสดุได้เหมือนไปหมด อ่านแล้วทั้งอยากกินของจริงทั้งอยากประดิษฐ์ของจิ๋วไปพร้อม ๆ กัน แล้วก็อยากเห็นอุตสาหกรรมของฝากประจำจังหวัดของไทยเติบโตเพิ่มมูลค่าได้มากกว่านี้ อยากเห็นหนังสือรวมโรตีสายไหม โมจิ สาลี่สุพรรณ กาละแมสด ข้าวหลาม ฯลฯ ขนาดจิ๋วด้วย



ตัวอย่าง (แปลและเล่าเสริมปนกัน):

FUKUSAYA CASTELLA จ.นางาซากิ


คาสเทลล่า (ญี่ปุ่น: カステラ kasutera) เป็นขนมญี่ปุ่นที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเค้กของโปรตุเกส สมัยก่อนโปรตุเกสส่งพ่อค้าและมิชชันนารีมาที่ญี่ปุ่นเพื่อค้าขายและเผยแผ่ศาสนา ก็จะผ่านทางนางาซากิที่เป็นเมืองท่าหลักสำหรับการค้าขายกับต่างชาติ ลักษณะคาสเทลล่าเป็นเค้กแถวยาว เวลากินให้หั่นแบ่งเป็นชิ้น เนื้อสีเหลืองคล้ายฟองน้ำแต่แน่นและชุ่มกว่า


ความพิเศษของคาสเทลล่าร้านฟุกุซะยะคือใช้คนทำคนเดียวกันทำตลอดกระบวนการ ว่ากันว่าผลิตด้วยกรรมวิธีดั้งเดิมไม่เปลี่ยนมาตั้งแต่เปิดกิจการเมื่อปี 1624 รสหอมหวานเด่นที่ไข่แดงคุณภาพดีและน้ำตาลกรวดที่รองก้นเค้ก จับคู่กับนม ชา หรือกาแฟหวานน้อยกินเป็นของว่างแสนอร่อย


สำหรับของจิ๋วในหนังสือ คุณ Misumi เล่าว่าใช้แปรงสีฟันทำพื้นผิวของเนื้อเค้ก ส่วนกระดาษที่เป็นแพ็กเกจจิ๋วก็เลือกใช้ผลงานของศิลปินจ.นางาซากิ เลียนแบบลายค้างคาวสุดคลาสสิกบนกล่องสีเหลืองสดใส

 


 

FUKUSAYA CASTELLA จ.นางาซากิ ขนมที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเค้กของโปรตุเกส ลักษณะเป็นเค้กแถวยาว เวลากินให้หั่นแบ่งเป็นชิ้น เนื้อสีเหลืองคล้ายฟองน้ำแต่แน่นและชุ่มกว่า


คอมเมนต์จากคุณมิสุมิ: จุดที่ชอบคือได้รสชาติไข่เข้มข้น ไม่มีส่วนผสมที่ไม่จำเป็น จะทานกับนม กาแฟ หรือชาก็เข้ากันได้ดีค่ะ โลโก้ทรงกลมรูปค้างคาวอันเป็นเอกลักษณ์กับลวดลายที่วาดด้วยมือบนถุงกระดาษและกระดาษห่อดูมีสไตล์มาก ๆ



 


 

TOKYO BANANA เค้กเนื้อนุ่มฟูสอดไส้คัสตาร์ดครีมเนื้อเนียนรสกล้วย ขนมของฝากที่ใครหลายคนคุ้นเคย


คอมเมนต์จากคุณมิสุมิ: หนึ่งที่ขนมที่มักจะได้รับเมื่อมีคนไปโตเกียว กลิ่นหอมหวานของกล้วยตอนเปิดถุงกระตุ้นให้เกิดความอยากอาหารขึ้นมา ในฤดูร้อนฉันชอบแช่ตู้เย็นให้ขนมเย็น ๆ ก่อนทาน รอให้ถึงเวลาของว่างไม่ไหวแล้วค่ะ


 



ท้ายเล่มแนะนำวัสดุอุปกรณ์สำหรับผู้ที่อยากเริ่มประดิษฐ์ของจิ๋ว แถมด้วยวิธีทำขนมและหีบห่อของจิ๋วในเล่ม มีโมเดลกล่องขนมจิ๋วให้เอาไปตัดพับได้เลย




 

ศิลปะ คือ กิจกรรมแรกๆ ที่คนทำได้ตั้งแต่เล็กๆ ไม่ว่าจะเป็นการละเลงซอสลงกับโต๊ะ จับสีลากไปตามผนังบ้าน หรือเดี๋ยวนี้ก็ตั้งมือถืออัดคลิปตลกๆ ด้วยตัวเอง เป็นกิจกรรมตามธรรมชาติที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการเด็กที่สำคัญหลายด้าน ทั้งการฝึกใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กมัดใหญ่ การสังเกตรายละเอียดของสิ่งรอบตัว สังเกตร่างกายและอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดของตัวเอง และเชื่อมโยงการรับรู้ผ่านประสาทสัมผัสต่างๆ กลายเป็นประสบการณ์ส่วนตัวที่ติดทนนาน


ในวงการหนังสือภาพสำหรับเด็ก "ศิลปะ" จึงเป็นหัวใจสำคัญพอๆ กับ "การอ่านออกเขียนได้"

จะสังเกตได้ว่า กิจกรรมการอ่านและการทำงานศิลปะนั้น มักถูกจัดควบคู่ไปด้วยกันเพื่อส่งเสริมให้เด็กได้ต่อยอดประสบการณ์การอ่านไปเป็นการลงมือปฏิบัติ ครุ่นคิด และแสดงออกถึงความในใจตัวเอง เช่น อ่านนิทานแล้วทำขนมแบบในเรื่องเล่า หรือทำงานศิลปะจากใบไม้แล้วอ่านกลอนเกี่ยวกับธรรมชาติ เป็นต้น


ในเชิงการตลาด แน่นอนว่า หนังสือของคุณมิสุมิ อาจไม่ได้มีเด็กเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักซะทีเดียว แต่หากเรามองหนังสือเล่มนี้ในแง่ว่า จะเอาไปประยุกต์ใช้กับเด็กๆ ได้อย่างไร หนังสือภาพ (ถ่าย) เล่มนี้นับว่า มีฟังก์ชันน่าสนใจหลายอย่าง ทั้งให้เกร็ดความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ผ่านหัวข้อ "การกิน" และ "ขนม" ที่เด็กๆ ส่วนใหญ่น่าจะชอบและสอดคล้องกับพัฒนาการ พร้อมกับชวนสังเกตรายละเอียดของขนมอย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นผิวสัมผัส ส่วนผสม สีสัน สัดส่วน รูปทรง ไปจนถึงรสชาติและการออกแบบหีบห่อผลิตภัณฑ์ และสุดท้ายก็ชวนให้ผู้อ่านลงมือทำของจิ๋วด้วยตัวเอง ซึ่งต้องนำทักษะการสังเกตมาแปลงเป็นการเคลื่อนไหวที่เฉียบคม และความคิดพลิกแพลงอุปกรณ์ใกล้ตัวมาใช้ในงานศิลปะปั้นของจิ๋ว


น่าเสียดายที่ศิลปะในหลักสูตรการศึกษาไทย มักถูกประเมินค่าค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับเนื้อหาวิชาการอื่นๆ หรือแม้แต่ในโลกของการทำงาน แรงงานสร้างสรรค์ก็ยังต้องต่อสู้กับอคติหลายๆ อย่างที่คอยกดคุณค่างานศิลปะให้ลดลงไป ไม่ว่ารัฐจะป่าวประกาศว่าเชิดชูศิลปวัฒนธรรมเป็นพลังนุ่มนิ่ม (soft power) ประจำชาติมากแค่ไหน แต่ทุกวันนี้ ก็ยังดูเหมือนว่า ศิลปะจะถูกเน้นไปที่ผลิตภัณฑ์สูตรสำเร็จและการตอบสนองความต้องการของตลาดเป็นหลัก ขณะที่แง่มุมด้านสุนทรียภาพภายในที่เกิดจากกระบวนการสังเกต ลงมือทำ การสัมผัสอารมณ์ความรู้สึกของผู้อื่น และสังเกตความนึกคิดของตนเองเพื่อตกผลึกและเติบโต ราวกับจะค่อยๆ เลือนหายไป พร้อมกับแง่มุมด้านชีวิตของมนุษย์ผู้สร้างสรรค์ผลงาน


แต่ไม่แน่ หากผู้ใหญ่ในวันนี้เห็นความสำคัญของการให้เด็กๆ ได้สังเกตและลงมือสร้างสรรค์ศิลปะตั้งแต่เล็ก "ศิลปะ" อาจได้เป็นพลังที่พาสังคมเติบโตได้อย่างรอบด้าน ทั้งความคิด จิตใจ จินตนาการ และความเป็นคน ไม่ใช่แค่ในแง่เศรษฐกิจอย่างเดียวก็เป็นได้


ว่าแล้ว เวลาเลือกหนังสือมาให้เด็กได้ลองอ่าน ลองใช้ อย่าลืมนึกถึงเรื่องสุนทรียภาพและศิลปะกันนะคะ


และหากใครมีหนังสืองานศิลปะ การประดิษฐ์ที่เด็กๆ น่าจะชอบ เรายินดีต้อนรับเพื่อนรีวิวคนใหม่เสมอ เขียนเข้ามาหาเราได้นะคะ : )




 

[ช่วง จินนี่แนะนำตัว]



สวัสดีค่ะ จินนี่ (นิลเนตร) ค่ะ เป็นเพื่อนตาลและเป็นแฟนเพจ Children’s Books Out There (ที่เปิดโลกหนังสือเด็กให้เราแบบว้าวมากเลย )


งานของเราไม่ได้เกี่ยวข้องกับหนังสือเด็ก แต่วนอยู่กับการสอน การอ่านและการขีดๆ เขียน ๆ เราชอบเดินทางและชอบหยิบจับหนังสือในที่ที่ไป โดยเฉพาะสองสามปีที่ผ่านมาชอบอ่านหนังสือภาพ


โปรเจ็กต์รีวิว #หนังสือภาพเล่มโปรดสำหรับคนโตแล้ว นี้เกิดขึ้นจากหนังสือที่อ่านสะสมมาเรื่อยๆ แต่ละเล่มส่วนใหญ่บังเอิญไปเจอแล้วชอบเลยซื้อมา ทั้งอ่านสนุกแล้วยังมีความทรงจำตอนไปเจอด้วย เลยกลายเป็นของที่ระลึกจากการเดินทางอย่างหนึ่ง นอกจากที่อ่านเองแล้ว ก็อยากรู้ด้วยว่าคนอื่นชอบเล่มไหนกันบ้าง ยินดีที่ได้รู้จักและขอบคุณที่แวะมาอ่านนะคะ



 

*บทความนี้ตีพิมพ์ในเฟสบุ๊กเพจ Children's Books Out There ที่นี่


แรงบันดาลใจ ความรู้ และแง่มุมด้านศิลปะส่วนใหญ่ของตาลในบทความนี้ มาจากการรีเสิร์ชเพื่อเขียนบทความสรุปคอร์สเรียน Inner Art ให้กับแพลตฟอร์ม Hook Learning และการสัมภาษณ์วิทยากรทั้งสามท่านเกี่ยวกับศิลปะกับพัฒนาการเด็ก ได้แก่ ครูมอส อนุพันธ์ พฤกษ์พันธ์ขจี จิตรกรและนักระบายสีบำบัดมนุษยปรัชญา, ครูมัย ณภัทร ชัยสุบรรณ์กนก นักดนตรีบำบัดในแนวทางมนุษยปรัชญา และแม่อุ้ย อภิสิรี จรัลชวนะเพท ผู้ก่อตั้งอนุบาลบ้านรัก


ขอขอบคุณท่านวิทยากร และขอเชิญชวนทุกคนที่สนใจ เข้าไปเรียนรู้การเสริมสร้างพัฒนาการเด็กผ่านกิจกรรมศิลปะกันที่ คอร์ส Inner Art Journey | ศิลปะด้านใน จากความงามสู่ใจเด็ก นะคะ


อ้างอิง

ดูบรรยากาศการฉลองวันขนมหวานได้ที่ - https://twitter.com/hashtag/%E3%81%8A%E3%81%8B%E3%81%97%E3%81%AE%E6%97%A5?src=hashtag_click


bottom of page