top of page
รูปภาพนักเขียนTarn

"คัมภีร์สีรุ้ง" มือใหม่หัดมองความหลากหลายทางเพศ

อัปเดตเมื่อ 28 ก.ย. 2565

หนังสือความหลากหลายทางเพศสำหรับวัยรุ่นและทุกคนที่กำลังหาตัวตนอยู่

เล่มนี้อธิบายง่ายและครบถ้วนมาก

ทั้งศัพท์แสงและประเด็นถกเถียงในการเรียกร้องความเสมอภาคทางเพศ

แทรกด้วยชีวประวัติของคนดังนอกกรอบเพศและประวัติศาสตร์ LGBTQ+



วันนี้ตาลมารีวิวหนังสือเด็กธีมร่างกายและเพศต่อค่ะ เป็นเรื่องที่กำลังเข้ากับสถานการณ์บ้านเมืองในไทยเลย เพราะตอนนี้สภากำลังพิจารณา #พรบคู่ชีวิต และการเรียกร้องให้มีการรับร่างพรบ. #สมรสเท่าเทียม (ที่เคยโดยคว่ำไปแล้วครั้งหนึ่ง) อยู่ (บทความนี้เขียนครั้งแรกลงเฟสบุ๊กวันที่ 11/6/2022 ตอนนี้สภารับร่างไปแล้วนะคะ ทั้งสมรสเท่าเทียมและคู่ชีวิตเลย)


ความหลากหลายทางเพศอาจเป็นเรื่องใหม่ของใครหลายคน ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ และสำหรับบางคนก็อาจจะเป็นเรื่องท้าทายความเข้าใจ (ไปจนถึงทำให้รู้สึกรำคาญ เดือดดาลใจ... "จะเรียกร้องอะไรกันนักหนา!" เป็นต้น) เพราะอย่างนี้ การมีหนังสือที่อธิบายเรื่องราวซับซ้อนแบบนี้ให้เข้าใจง่าย เป็นขั้นเป็นตอนจึงจำเป็นมาก ๆ


เมื่อย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 17 พย. ปีที่แล้ว (2564) หนึ่งในเหตุผลที่พรบ. สมรสฯ ถูกคว่ำ เป็นเพราะศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า 1. "วัตถุประสงค์ของการสมรส คือ การที่ชาย-หญิง อยู่กินฉันสามีภริยาเพื่อสร้างสถาบันครอบครัว มีบุตร ดำรงเผ่าพันธุ์ตามธรรมชาติ" และ 2. "การสมรสในระหว่างบุคคลผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศอาจไม่สามารถสร้างความผูกพันอันละเอียดอ่อนดังกล่าว [ความผูกพันระหว่างพ่อแม่] ได้" ว่าแต่ว่าทำไม "การสมรส" จึงทำได้เฉพาะชาย-หญิง? การสร้าง "สถาบันครอบครัว" จำเป็นต้องอาศัยแค่ "สามี" "ภริยา" และต้องมี "บุตร" หรือเปล่า? "จารีตประเพณีที่มีมาช้านาน" นี้มีมานานแค่ไหน เริ่มจากจุดใด และเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่ ทำไมควรหรือไม่ควรเปลี่ยนแปลง? ความผูกพันระหว่าง "พ่อ" กับ "แม่" ละเอียดอ่อนกว่าความผูกพันอื่น ๆ จริงหรือ? "ธรรมชาติ" มีแค่ "เพศชาย" กับ "เพศหญิง" จริงหรือไม่? ที่ผ่านมาตาลได้แนะนำหนังสือภาพสำหรับเด็กเกี่ยวกับ "ครอบครัวสายรุ้ง" ที่ช่วยให้เด็กเล็ก ๆ เห็นภาพครอบครัวที่มีความแตกต่างหลากหลายเป็นเรื่องปกติ (ดูลิสต์หนังสือได้ ที่นี่) แต่เมื่อเด็กโตขึ้น เริ่มสนใจความเป็นไปของสังคม พวกเขาก็อาจจะได้เจอกับข้อถกเถียงเรื่องความหลากหลายทางเพศมากขึ้น และต้องการคำอธิบายที่ชัดเจนว่า สังคมเรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร และแต่ละฝ่ายกำลังถกเถียง/เรียกร้องอะไรกันอยู่

ตรงจุดนี้แหละที่ หนังสือ Seeing Gender จะเข้ามาเติมเต็มได้

เซ็ตหนังสือภาพสำหรับเด็กเกี่ยวกับ "ครอบครัวสายรุ้ง" ที่เคยรีวิวไป


คู่มือของวัยรุ่นและทุกคนที่กำลังแสวงหาตัวตน Seeing Gender (2019) เป็นหนังสือสารคดีประกอบภาพจากประเทศสหรัฐอเมริกา เขียนและวาดโดยคุณ Iris Gottlieb ตีพิมพ์กับสนพ. Chronicle Books เป็นหนังสือที่อ่านได้อ่านดี ตั้งแต่เด็กวัยรุ่นไปจนถึงผู้ใหญ่ทุกเพศวัย แต่สำหรับ Target reader ทางสนพ. แนะนำมาว่า เหมาะสำหรับผู้อ่าน 14+ ซึ่งเราก็เห็นด้วยนะ เพราะแม้ว่าคุณ Iris จะใช้ภาษาง่ายมาก แต่เนื้อหาน่าจะอยู่ในเขตความสนใจของเด็กวัยรุ่นเต็มตัวมากกว่ากลุ่มพรีทีน (ประถมปลาย)

หนังสือเล่มนี้ค่อนข้างใหญ่และหนา มี 200 กว่าหน้า 4 สีทั้งเล่ม ตาลไปเจอเล่มนี้ครั้งแรกเมื่อสองปีที่แล้วในร้านหนังสือแห่งหนึ่งในเดนมาร์ก แล้วก็ไม่ได้ซื้อค่ะ แพง (555) ก็เลยยืมหนังสือออนไลน์จากแอปพลิเคชัน Libby ฟรีเอา เพราะเป็นสมาชิกห้องสมุดประชาชนของกลาสโกวอยู่ ตอนแรกห้องสมุดไม่ได้ซื้ออีบุ๊กของหนังสือเล่มนี้มา แต่ว่าสมาชิกมีสิทธิ์ขอให้ซื้อหนังสือใหม่ได้ หลังจากที่รออยู่สักพักนึงเราก็ได้อ่านในที่สุด เสียอย่างเดียวตรงที่ หนังสือเล่มนี้ปกติเลย์เอาต์สวย พอแปลงเป็น reflowable epub สำหรับอ่านบนมือถือ เลย์เอาต์ที่วางมาก็หมดกัน... เละตุ้มเป๊ะ


ความปังปินาศของเลย์เอาต์เมื่อเปิดในเวอร์ชันอีบุ๊ก


คัมภีร์ที่รีเสิร์ชมาแล้วเป็นอย่างดี สำหรับตาลแล้ว รู้สึกเลยว่าคุณ Iris ทำรีเสิร์ชมาดีมาก เนื้อหาจัดเรียงได้ดี อธิบายเข้าใจง่าย เป็นลำดับขั้นตอน นำเสนอได้น่าสนใจ (เลย์เอาต์เท่าที่พลิกดูจากในเล่มจริงก็ดีมากนะ สวยงาม สีสันจี๊ดจ๊าดเลย) มีกิจกรรม มีควิซแทรก ทำให้อ่านได้เรื่อย ๆ ไม่น่าเบื่อ แล้วมันก็ตอบคำถามหลาย ๆ อย่างที่เราสงสัยได้ดีทีเดียว

See Gender แบ่งออกเป็น 3 พาร์ตใหญ่ ๆ คือ


1️⃣ปูพื้นฐานความเข้าใจเรื่องเพศ

จำแนกว่า "เพศ" เป็นสิ่งประกอบสร้างทางสังคม ประกอบไปด้วย - เพศสรีระ (sex) ซึ่งแบ่งตามอวัยวะเพศ สรีระร่างกาย โครโมโซม - เพศสภาพ/เพศภาวะ (gender) แบ่งตามความรู้สึกของคนคนนั้นว่ารู้สึกว่าตนอยู่กลุ่มเพศไหนในสังคม - การแสดงออกทางเพศ (gender expression) - เพศวิถี (sexuality) และ ความรู้สึกดึงดูด (attraction) ซึ่งแบ่งตามความรู้สึกดึงดูด รักใคร่ชอบพอ เช่น Asexual, Panromantic, Homoromantic เป็นต้น อธิบายคำศัพท์ต่าง ๆ ที่ใช้กันในการพูดคุยเรื่องประเด็นความหลากหลายทางเพศ เช่น Cisgende, Femme, Gender binary, Gender dysphoria, Gender fluid, Two-spirit และอื่น ๆ โดยผู้เขียนได้สอดแทรกความคิดเห็นเกี่ยวกับคำเหล่านี้เข้าไปด้วย ทำไมถึงมีการเรียกร้องให้ใช้สรรพนาม "They" เรื่องราวของคนมีชื่อเสียง ที่มีเพศสรีระ /เพศภาวะ /การแสดงออก / เพศวิถี/ ความรู้สึกดึงดูดทางเพศ ไม่ตรงกับขนบสังคม


2️⃣ มองลึกลงไปว่า ตกลง "เพศ" คืออะไร ส่งผลต่อชีวิตคนอย่างไร

3️⃣ เรื่องเล่าของผู้เขียน



ข้อควรระวัง: โทนเสียง

เมื่อมีจุดแข็งแล้วก็ต้องมีจุดอ่อน สำหรับเล่มนี้ ตาลมีข้อกังวลแค่เล็กน้อยเกี่ยวกับโทนเสียงที่บางทีดูจะแข็งกร้าวไปนิดนึง เวลานักเขียนพูดถึง Cisgender Male (ผู้มีอัตลักษณ์ทางเพศเป็นชายตรงกับเพศกำเนิด) จะให้ความรู้สึกเหมือนตัดสินไปแล้วว่า "คนพวกนี้มักจะไม่เข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศ หรือไม่ก็ไม่ได้อยากจะเข้าใจ เพราะเป็นคนที่ได้ผลประโยชน์มากสุดในสังคมปิตาธิปไตยทุกวันนี้" ส่วนตัวคิดว่ามันออกจะด่วนตัดสินไปหน่อย โดยเฉพาะกับเด็ก ๆ ที่เพิ่งจะเข้าสู่วัยรุ่นและกำลังสนใจเรียนรู้เรื่องความเท่าเทียม ความหลากหลายทางเพศ มันอาจจะกลายเป็นว่าทำให้เด็กผู้ชายเข้าใจไปว่าตัวเองจะต้องมีปัญหากับการทำความเข้าใจเรื่องนี้แน่ ๆ (ทั้งที่อาจจะไม่มีก็ได้) หรือบางทีก็อาจจะรู้สึกว่ามันไม่แฟร์ อีกเรื่องคือ หนังสือนำเสนอเรื่องที่เกิดขึ้นในตะวันตกเป็นส่วนใหญ่ ไม่ค่อยมีเรื่องในวัฒนธรรมอื่นนัก แต่ก็พอเข้าใจได้ว่าการเคลื่อนไหวเรื่องความเท่าเทียมและความหลากหลายทางเพศเริ่มขึ้นจากทางนั้น อย่างไรก็ตาม เมื่อถ่วงดุลกับเนื้อหาและความประณีตสวยงามแล้ว หนังสือเล่มนี้ก็ยังถือว่ามีประโยชน์มาก ๆ และเหมาะกับเด็กและผู้ใหญ่ที่กำลังเริ่มศึกษาเรื่องความหลากหลายทางเพศค่ะ เพราะไม่ได้แค่อธิบายศัพท์ ประวัติศาสตร์ และคอนเซปต์เรื่องความเท่าเทียม ไม่เท่าเทียมทางเพศเท่านั้น แต่ให้ตัวอย่างการแสวงหาตัวตนของชาว LGBTQ+ ที่มีชื่อเสียงหลายคน และบทสุดท้าย นักเขียนยังเล่าเรื่องของตัวเองด้วย น่าจะช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจความรู้สึกของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศมากขึ้น ใครที่กำลังหาตัวตนอยู่ก็น่าจะรู้สึกโดดเดี่ยวน้อยลงค่ะ

สุดท้ายนี้ ใครได้ไปเดินไพรด์พาเหรดครั้งแรกของกรุงเทพฯ มา มาเล่าสู่กันฟังบ้างนะคะ

เราเองก็หวังว่าจะมีสนพ. ที่สนใจพิมพ์หนังสือให้ความรู้เด็ก ๆ เรื่องความหลากหลายทางเพศอย่างจริงจังบ้างนะ เพื่อประเทศไทยที่เปิดกว้างและมีมนุษยธรรมมากขึ้นกว่าเดิมค่ะ #pridemonthมิถุนายน #pridemonth2022 #เดือนแห่งความหลากหลาย #รีวิวหนังสือเด็ก #เทศกาลไพรด์ #เพศศึกษา #lgbtq


*บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรก ที่นี่


Comments


bottom of page