top of page
รูปภาพนักเขียนTarn

สารคดีเด็กกาตาลัน: ภารกิจฟิตร่าง เพื่อนร่วมทางวัยรุ่นลดหุ่น

อัปเดตเมื่อ 28 ก.ย. 2565


หนังสือแนวไดอารี่วัยรุ่นขำขัน ที่จะพาไปดูวิธีลดน้ำหนักให้ได้สุขภาพดี

พร้อมพูดแทนใจทุกคนที่อึดอัดขัดใจกับสังคมนิยมความผอมในทุกวันนี้


หนังสือจากสเปนใน Frankfurt Book Fair (หรือในเทศกาลหนังสืออื่น ๆ) ค่อนข้างจะพิเศษกว่าประเทศอื่น ตรงที่หนังสือประเทศนี้จะถูกจัดแสดงในบูธย่อย ๆ แบ่งแยกเป็นแคว้น ๆ ไป เช่น แคว้นกาตาลุนญา แคว้นวาเลนเซีย ฯลฯ เพราะแต่ละแคว้นเขามีภาษาถิ่นและวัฒนธรรมเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง (และอาจต้องการแยกตัวเป็นเอกราชด้วย)
การออกบูธหนังสือจึงไม่ได้เป็นแค่เรื่องของการค้า แต่เป็นการประกาศจุดยืนของแคว้นในการรักษาอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ของตนอย่างมั่นคงและกล้าหาญค่ะ
ในบรรดาสารคดีเด็กแจ่ม ๆ ทั้งหลายจากแคว้นกาตาลุนญา เราได้เลือกหนังสือเด่น ๆ มา 5 เล่มที่มาพร้อมธีมและเทคนิคการเล่าเรื่องที่แปลกใหม่น่าสนใจ ว่าแล้วก็มาเริ่มกันเลยค่ะ


วันนี้ เราจะรีวิวเรื่อง Operació biquini หนังสือวัยรุ่นแนวเอาชีวิตจริงมาพูด ที่บอกเล่าประสบการณ์ลดหุ่น และแรงกดดันเรื่องรูปร่างหน้าตาจากสังคมรอบข้างค่ะ เป็นธีมที่มีสาระมาก ๆ แต่ก็ไม่ทิ้งความฮา ความสนุกนะ

ข้อมูลหนังสือ

Operació biquini (Operation Bigini)

เขียนโดย: Júlia Barceló

วาดโดย: Camille Vannier

ตีพิมพ์โดย: Editorial Flamboyant

ปี: 2021


ความโดดเด่น

หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือแนวบันเทิงคดี (เรื่องแต่ง) สไตล์ memoir (เรื่องเล่าชีวิตจริง) ประกอบภาพ (ซับซ้อนเหลือเกิน) ใครเคยอ่าน Wimpy Kid's Diary ก็คือสไตล์แนว ๆ นั้นค่ะ

เพียงแต่ว่า ในความเป็นบันเทิงคดี มันก็มีความสารคดีอยู่ด้วย เพราะหนังสือเล่มนี้เน้นให้ความรู้เรื่องค่านิยมความงาม วัฒนธรรมการไดเอ็ต peer pressure ในโลกความจริงและโลกออนไลน์ ความไม่มั่นใจในตัวเองของเด็ก ๆ พรีทีนไปจนวัยรุ่น ผ่านตัวละครหลัก Sol ผู้ตั้งปณิธานลดหุ่นให้ได้ก่อนปาร์ตี้บิกินีที่เพื่อนของเธอจัด จะมาถึง


เธอต้องผ่านอุปสรรคทางร่างกายและจิตใจอะไรบ้าง แล้วสุดท้าย เธอจะสามารถรู้สึกสบายใจและมั่นใจกับร่างกายตัวเองได้หรือไม่? ต้องติดตามอ่านกันต่อไปค่ะ



งานปาร์ตี้บิกินีที่เพื่อนจะจัดใกล้เข้ามาแล้ว ไอ้เรื่องลดหุ่นน่ะ ถ้าไม่มีเดดไลน์ก็พอทำได้หรอก

แต่พอมีเวลาจำกัดเนี่ย เห็นนาฬิกาแล้วเป็นท้อ...



การให้ข้อมูลผ่านสายตาตัวละครเด็ก ทำให้ผู้อ่านเด็กที่มีแนวโน้มเผชิญปัญหา หรือตกอยู่ในสถานการณ์คล้ายกันกับตัวละคร รู้สึกสนใจอ่านเรื่องราวในหนังสือมากขึ้น เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องใกล้ตัว ขณะเดียวกัน การได้อ่านความรู้สึกของตัวละครที่เป็นภาพแทนตัวเองยังช่วยให้เด็ก ๆ รู้สึกร่วมกับตัวละครนั้น ๆ รู้สึกว่ามีคนที่เข้าใจความรู้สึกของตัวเอง ไม่โดดเดี่ยว นอกจากนี้ยังทำให้เด็กได้ฝึกจำลองสถานการณ์ที่ตนอาจกำลัง (จะ/ต้อง) พบเจอในจินตนาการ และคิดหาทางออกไปด้วยขณะอ่านหนังสือ



ตั้งปณิธานไว้ว่าจะเข้ายิม ต้องยกดัมเบลให้ได้ตามเป้า แต่พยายามไปก็เท่านั้น

รู้สึกเหนื่อยและท้อแท้จัง แทนที่จะได้ไปทำอย่างอื่น กลับต้องมาเข้ายิม

ในหัวก็มีแต่เสียงคนคอยวิพากษ์วิจารณ์ลอยมา



หนังสือเล่มนี้ ตีพิมพ์โดยสนพ.ที่เราไปฝึกงานด้วยตอนเทอมสามนี่เอง ตอนที่เราถาม mentor ของเราว่ามีหนังสือเกี่ยวกับผู้ปกครอง LGBTQ+ มั่งมั้ย ก็ได้เค้าแนะนำเรื่องนี้มานี่แหละ


ถึงแม้ว่าเรื่องราวของผปค.ของ Sol จะไม่ใช่ประเด็นหลักของหนังสือก็ตาม แต่ก็แสดงให้เห็นนะว่า หนังสือเด็กของบางประเทศ ได้ข้ามขั้นไปถึงจุดที่ ภาพครอบครัว LGBTQ+ ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรแล้ว เป็นแค่ประเด็นรอง (หรือแทบไม่พูดถึงด้วยซ้ำไป) จากประเด็น Real Size Beauty และค่านิยมความงาม ที่กดทับผู้หญิงมาตลอดและยังคงจะกดทับต่อไปอีกสักพักใหญ่ ๆ หากเราไม่สามารถทำให้เด็ก ๆ รุ่นต่อไป รู้สึกดีกับร่างกายที่หลากหลายตามธรรมชาติได้



ทุกวันนี้ มีเด็ก (และผู้ใหญ่) ไทยมากมายที่เป็นกังวลเรื่องรูปร่าง

นำไปสู่ปัญหาสุขภาพมากมาย ทั้งทางกายและทางใจ

ถึงเวลาหรือยังคะ ที่เราจะให้ความสำคัญกับการให้ข้อมูลเรื่องนี้กับเด็ก ๆ ของเรา?




*บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรก ที่นี่




ดู 11 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page