Search Results
พบ 7 รายการสำหรับ "lbf2022"
- [เที่ยวเทศกาลหนังสือต่างประเทศ] LBF 2022
เทศกาลหนังสือลอนดอน เป็นหนึ่งในเทศกาลหนังสือนานาชาติ ที่ คนทำหนังสือ ต้องมาสักครั้ง (ไม่ใช่งานสำหรับคนอ่านนะ) มาดูงานอย่างไรให้คุ้ม ตาลจะมาตอบในบทความนี้ค่ะ [***ขอขอบคุณ ทุกคน ที่กดติดตามเพจด้วยนะคะ เพราะมีทุกคนสนับสนุน อ่านรีวิวหนังสือของตาล ตาลเลยเอาเพจไปโชว์ แล้วขอ Press pass มาได้ ต่อจากนี้ก็จะทำหน้าที่ในงานให้สมกับเป็นสื่อค่ะ จะพยายามเก็บข้อมูลมาให้ได้มากที่สุด ติดตามชมกันนะคะ] เพิ่งจะเคยเข้างานหนังสือในฐานะสื่อ รู้สึกภูมิใจแปลก ๆ เดือนเมษายนที่ผ่านมา ตาลได้ไป London Book Fair งานเทศกาลหนังสือสำคัญอีกแห่งในยุโรปมาค่ะ ชีพจรลงเท้าเหลือเกิน 555 ที่ต้องรีบไปรัว ๆ แบบนี้ก็เพราะที่ผ่านมา เทศกาลเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็น Frankfurt Book Fair (FFBF), Bologna Children's Book Fair (BCBF) หรือ London Book Fair (LBF) ต่างได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ต้องระงับการจัดงานกันไปในปี 2020 โดยเฉพาะ BCBF ต้องยกเลิกการจัดงานไปถึง 2 ปีซ้อนค่ะ เพราะอิตาลีเจอมรสุมโควิดหนักมาก อย่างที่เราได้ทราบข่าวกันมา ตาลเองก็เรียนจบแล้ว ไม่รู้ว่าจะอยู่ยุโรปได้อีกนานแค่ไหน มีเทศกาลหนังสืออะไร ไปได้ก็พยายามจะไปให้ครบ ให้สมกับที่ตอนอยู่ไทย ฝันอยากจะไปมานานค่ะ ในโพสต์นี้ เราจะเล่าถึง London Book Fair ก่อนว่า เป็นงานแบบไหน มีความเป็นมา และความสำคัญอย่างไรกับวงการหนังสือภาษาอังกฤษ และวงการหนังสือทั่วโลกบ้างนะคะ คนเข้าคิวกันเนืองแน่น เช้านี้พอถึงสถานี Kensington (Olympia) คนบนรถไฟเกินครึ่งลุกพรึ่บ ลงสถานีเดียวกัน แล้วไหล ๆ ตามกันมา ประวัติยาวนานพอ ๆ กับงานสัปดาห์หนังสือไทย London Book Fair (LBF) เริ่มขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 1971 (พ.ศ. 2514) ที่ โรงแรม Berners ใกล้ ๆ ถนน Oxford โดยใช้ชื่องานว่า "The Specialist Publishers' Exhibition for Librarians" (อารมณ์งานหนังสือจากสนพ. คัดสรร สำหรับบรรณารักษ์) ก่อนจะเปลี่ยนชื่อมาเป็น London Book Fair ในปี 1977 และกลายมาเป็นหนึ่งในงานเทศกาลหนังสือนานาชาติ ที่บรรดานายหน้าค้าหนังสือทั่วโลกปักหมุดหมายมาร่วมงานค่ะ ใหญ่เป็นรองก็แค่งาน FFBF ที่เยอรมนีเท่านั้นเอง โดยงาน LBF ช่วงหลัง ๆ มานี้จัดที่อาคารจัดแสดงนิทรรศการ Olympia London (เคยมีการเปลี่ยนสถานที่มาบ้าง แต่สุดท้ายก็กลับมาอยู่ที่เดิมตามคำเรียกร้องของผู้ร่วมงาน) ปีนี้ก็ถือว่าครบรอบเป็นปีที่ 51 แล้วค่ะ พอ ๆ กับงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติของไทยเลย (เริ่มพ.ศ. 2515) เข้าคิวสแกนบัตรเข้างาน LBF มักจะจัดช่วงเดือนเมษายนของทุกปี มีเวลาออกร้าน จัดนิทรรศการ 3 วัน แต่อาจมีงานสัมมนาก่อนวันเปิดงานบ้าง เช่น ปีนี้มีงานสัมมนาให้ความรู้เรื่องการถือครองและขายลิขสิทธิ์ จัดขึ้นเมื่อวาน (4 เม.ย.) แต่งานจัดแสดงหนังสือเริ่มวันนี้ คือวันที่ 5 - 7 เม.ย. เหลื่อม ๆ กับงานสัปดาห์หนังสือบ้านเราเลยเนอะ ทว่า ความต่างก็คือ LBF ไม่ใช่งานที่เน้นให้คนอ่านเข้ามาเดินซื้อหนังสือลดราคา แต่โฟกัสที่การรวมตัวของคนทำงานในวงการหนังสือ ตั้งแต่ นักเขียน นักแปล นักวาด บ.ก. นายหน้าลิขสิทธิ์ โรงพิมพ์ ไปจนถึงคนพัฒนาซอฟต์แวร์ระบบจัดการสำนักพิมพ์ และระบบหลังบ้านของร้านหนังสือ รวมทั้งแพลตฟอร์มหนังสือ/ห้องสมุดออนไลน์ (อย่าง Libbby กับ Overdrive) ทั้งในสหราชอาณาจักรและทั่วโลกมาเปิดตัว และเสวนาแลกเปลี่ยนความรู้กันมากกว่าค่ะ LBF เริ่มขยายสถานะจากการเป็นจุดนัดพบของคนวงการหนังสือในประเทศ มาเป็นงานนานาชาติ จากการเริ่มส่วนงาน Internationl Rights Centre เมื่อ 32 ปีก่อน นับแต่นั้นมา งานเทศกาลก็ได้กลายเป็นศูนย์รวมนายหน้าลิขสิทธิ์ ที่มาค้นหา ซื้อขายลิขสิทธิ์หนังสือ ภาพยนตร์ เกม และสื่ออื่น ๆ เพิ่งเปิดงานขม.แรก คนยังน้อยอยู่เลย เขามา LBF ทำไมกัน? นักเขียนมาที่นี่ เพื่อเสนอผลงานกับนายหน้า นายหน้าลิขสิทธิ์มาที่นี่เพื่อเสนองานนักเขียนให้กับสนพ. ทั่วโลก สนพ. ทั่วโลกมาที่นี่เพื่อแลกเปลี่ยนแคตาล็อกกัน หาต้นฉบับใหม่ ๆ หาซอฟต์แวร์ไปใช้บริหารจัดการสำนักพิมพ์ หาสายส่ง และโรงพิมพ์ใหม่ ๆ นอกประเทศ สมาคมหนังสือแห่งชาติของประเทศต่าง ๆ (ซึ่งเป็นตัวแทนสำคัญในประเทศที่ไม่มีระบบนายหน้าลิขสิทธิ์) มาที่นี่เพื่อโปรโมตนักวาด นักเขียน และเสนอทุนสนับสนุนการแปลหนังสือจากประเทศตัวเอง เช่น Book Institute และสมาคมผู้จัดพิมพ์หนังสือ จากยูเครน ลัตเวีย จีน เกาหลี อินโดนีเซีย บราซิล แคว้นกาตาลัน (Institute Ramon Llull) ฟิลิปปินส์ เป็นต้น สมาคมโรงพิมพ์ประเทศต่าง ๆ เช่น เกาหลี ก็มาเปิดตัว หาสนพ. ใหม่ ๆ ไปเป็นลูกค้า ร้านหนังสือออนไลน์ มาเพื่อหาหนังสือไปเข้าแพลตฟอร์มตัวเอง (ภาพแรก) โฆษณาบูธหนังสืออินโดนีเซียกับสโลแกน "17,000 เกาะแห่งจินตนาการ" (ภาพสอง) บูธอินโดนีเซียค่ะ มาเจอเพื่อนบ้านอีกแล้ว ครั้งก่อนเจอกันที่ FFBF ปี 2021 ตาลเลยแจกโปสการ์ดนักวาดที่พิมพ์มาเกินจากงาน BCBF ให้เค้าไปสี่ใบค่ะ บูธสถาบันหนังสือกาตาลัน Ramon Llull หนึ่งในองค์กรที่ทำให้วรรณกรรมกาตาลันเป็นที่รู้จักในวงการหนังสือโลก ใครเป็นสมาชิกห้องสมุดประชาชนในกลาสโกวกับลอนดอนจะต้องรู้จัก Libby กับ Overdrive เพราะมันคือแพลตฟอร์ม e-book e-magazine และ audiobook ขนาดใหญ่ ที่เข้าถึงได้จากทั่วโลก ขนาดเราอยู่เดนมาร์ก ทุกวันนี้ยังยืมหนังสือจากกลาสโกวมาอ่านอยู่เลย โซนหนังสือเด็กถูกเอาไปเก็บไว้ที่ชั้นบน เป็นฮอลขนาดใหญ่ แยกไปอีกฮอล นอกจากนี้ ในงานยังมีการเสวนาหลายหัวข้อ กระจายตัวไปตามจุดต่าง ๆ ของงาน ตลอดทั้ง 3 วัน เช่น การสร้างระบบอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่ยั่งยืนด้วยการจัดการลิขสิทธิ์และการตีพิมพ์หนังสือด้วยตัวเอง (self published book) การสร้างสัมพันธ์กับร้านหนังสือ และวิธีดี ๆ ที่ร้านใช้โปรโมตหนังสือ การสร้างโลกที่ยั่งยืนด้วยหนังสือเด็ก การสร้างหนังสือเด็กที่ส่งเสริมสิทธิมนุษยชน วิธีเขียนหนังสือภาพสารคดีสำหรับเด็ก ฯลฯ แถลงข่าวสำหรับสื่อ โดยคุณ Andy Ventris ผู้อำนวยการจัดงานปีนี้ ไฮไลต์ใหม่ของ LBF ปีนี้ จากที่ได้เข้าร่วมฟังบรีฟเทศกาลหนังสือ สำหรับสื่อ งานสรุปได้ว่าปีนี้งานมีของใหม่มานำเสนอ 4 อย่างด้วยกันค่ะ 1. แอปพลิเคชัน แพลตฟอร์ม London Book Fair App ที่เปิดให้ผู้สนใจทั่วโลกเข้าชวมงานเสวนาต่าง ๆ ได้แบบ on demand (แต่ไม่ฟรี) 2. แขกสำคัญที่มาร่วมงานก็เป็นใครไปไม่ได้ นอกจาก Sharjah Market Focus ที่เดินสายเปิดตัววรรณกรรมจากอาหรับเอมิเรตส์ มาตั้งแต่ FFBF ปีที่แล้ว นับเป็นการปักหมุดเริ่มต้นการส่งออกวรรณกรรมจากอาหรับเอมิเรตส์ สู่นานาประเทศ 3. Spot Light หนังสือกาตาลัน กับ 8 งานเสวนา โดยความร่วมมือระหว่างสถาบันหนังสือกาตาลัน Institute Ramon Llull และ IBBYCAT ที่มุ่งเชื่อมต่อนักเขียน นักวาดกาตาลัน กับสนพ. และนักเขียนนักวาดต่างประเทศ 4. Ukrainian Book Institute สถาบันหนังสือแห่งชาติยูเครน ส่งตัวแทนมาเปิดบูธแนะนำหนังสือจากยูเครน และระดมเงินทุนช่วยเหลือผู้ประสบภัยสงครามในประเทศ ระดับความใหญ่ รวมแล้วปีนี้ LBF มีผู้จัดงานนิทรรศการมากกว่า 900 รายจาก 56 ประเทศ 500 กว่ารายมาจากนอกสหราชอาณาจักร 75 รายเป็นผู้จัดหน้าใหม่ คนวงการหนังสือเข้าร่วมมากกว่า 25,000 ราย และมีงานเสวนามากกว่า 125 รายการ อาคารจัดงานมี 2 ฮอล ฮอลละ 2 ชั้น เวทีจัดงานเสวนาไม่ต่ำกว่า 5 เวที และมีกิจกรรมเกือบทุกชั่วโมงตลอดวัน ***แนะนำว่า หลังจากจ่ายค่าบัตรและลงทะเบียนเข้างานแล้ว ให้เข้าไปดูรายละเอียดกิจกรรมต่าง ๆ แล้วติดดาวไว้ก่อนล่วงหน้าเลยค่ะ เพราะว่ามีงานเสวนาน่าสนใจเยอะมาก ต้องทำใจว่าแยกร่างไปฟังไม่ได้ทั้งหมด ข้อดีของงานนี้คือ เค้าถ่ายวิดีโองานเสวนาเก็บไว้เป็นระบบระเบียบดีมากค่ะ หลังจากงานจบแล้ว เราเข้าไปดูบันทึกงานเสวนาย้อนหลังได้ตามที่ต้องการ แต่มีช่วงเวลาจำกัดนะคะ คำเตือน งานลอนดอนบุ๊กแฟร์บังคับจ่ายค่าเข้างานสำหรับงานทั้งหมด 3 วัน เพราะฉะนั้นราคามันจะสูงลิบลิ่วหน่อย และสนพ. ส่วนใหญ่เค้าไม่เอาหนังสือมาขายกันค่ะ (บอกแล้วว่าไม่เหมาะกับคนอ่าน แต่เหมาะสำหรับคนทำหนังสือ...) แม้จะบอกว่าจัดงาน 3 วัน แต่ แต่ แต่! มันมีงานวันสุกดิบก่อนหน้าวันเปิดงาน 1 วันค่ะ เป็นงานที่สนพ. และนายหน้าลิขสิทธิ์ทั้งมือใหม่มือเก่ามาเจอกัน มีเลคเชอร์รื่องกฎหมายลิขสิทธิ์ การทำงาน การเอาตัวรอดในวงการ ฯลฯ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่รวมอยู่ในค่าตั๋ว 3 วันอยู่แล้ว ใครสนใจเรื่องลิขสิทธิ์เนี่ย ไม่ควรพลาดนะคะ ภาพจาก แอปพลิเคชัน The London Book Fair โฟกัสของตาลในงานนี้คือ เก็บเกี่ยวความรู้จากงานเสวนาให้ได้มากที่สุด ทำความรู้จักกับสนพ. เด็กในสหราชอาณาจักรให้ทั่ว และพูดคุยกับบริษัททำซอฟต์แวร์เกี่ยวกับระบบการทำ จัดการแคตาล็อก ซื้อขายหนังสือ และห้องสมุดออนไลน์ค่ะ ใครที่สนใจว่า คนในวงการหนังสือนานาชาติเค้ามาเสวนาแลกเปลี่ยนอะไรกันบ้าง ติดตามชมบทความเกี่ยวกับ London Book Fair ได้ ที่นี่ ค่ะ *บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรก ที่นี่ อ้างอิง https://www.londonbookfair.co.uk/ https://en.m.wikipedia.org/wiki/London_Book_Fair งานแถลงข่าวเปิดตัวเทศกาลหนังสือ วันที่ 5/4/2022
- Fanta-SEA ค้นหาความมั่นใจในอัตลักษณ์และจินตนาการอาเซียน
ผู้ใหญ่ชอบบอกว่า "แฟนตาซี" เป็นแค่เรื่องเพ้อฝัน อยากให้เด็กอ่านอะไรที่มีสาระ แต่รู้ไหมว่า "แฟนตาซี" คือบ่อเกิดของความภูมิใจในตัวเอง ในวัฒนธรรม ในอัตลักษณ์ท้องถิ่น และความหวังที่จะเปลี่ยนแปลงโลกแห่งความจริง มารีวิวหนังสือจากอินโดนีเซียต่อละค่ะ ระหว่างที่เราเดิน ๆ งาน London Book Fair อยู่นั้น เราก็สะดุดตาหนังสือเล่มนี้เข้า เพราะปกที่มีรูปเด็กน้อยถือไม้กายสิทธิ์นี่เอง ว่ากันว่า ในโลกผู้วิเศษมีโรงเรียนเวทมนต์อยู่หลายแห่ง หรือว่าหนึ่งในนั้นจะอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนของเรากันนะ? แค่คิดก็สนุกแล้ว หนังสือภาพเล่มนี้ชื่อว่า Sihir Otir (แปลไทย- เวทมนต์ของโอตีร์, 2019) เขียนโดยคุณ Dian Onasis และวาดโดยคุณ Gery Adams จากสนพ. Penerbit Noura Books ค่ะ (Noura Kids ในเครือ Mizan อีกแล้ว) หมู่บ้านสไตล์อินโดนีเซียที่เต็มไปด้วยเวทมนตร์ เรื่องโกลาหล แฟนตาซีในหมู่บ้าน SEA Sihir Otir เล่าถึงหมู่บ้านที่ผู้คนเสกคาถาให้เวทมนต์กันเป็นปกติ เจ้าเด็กน้อย "เคน" อยากเริ่มเข้าสู่เส้นทางสายผู้วิเศษบ้าง เลยไปซื้อไม้กายสิทธิ์อันหนึ่ง จริง ๆ เขาอยากซื้อไม้รุ่นใหม่ไฉไล แต่เงินไม่ถึง เลยได้มาแค่ไม้กายสิทธิ์มือสอง ชื่อว่า Otir น้องเคน ผู้มีความตั้งใจ แต่ไม่มีเงิน พอมีไม้กายสิทธิ์แล้ว เคนก็เริ่มทดลองวิชา แต่เจ้าไม้ผุพังอันนี้มีปัญหาอย่างนึง มันฟังเวทมนต์ไม่ถนัด... เคนก็เลยงานงอก เสกอย่าง ได้อย่าง สั่งของเล่น ได้ของกิน สั่งรถไฟ ได้ปาร์ตี้ชุดใหญ่ สั่งตำรา ได้พายุ และอีกสารพัดความหายนะที่ทำให้คนในหมู่บ้านปั่นป่วนไปหมด เมื่อเคนใจเย็นลงและค่อย ๆ พิจารณาปัญหา เขาก็พบว่า เจ้าไม้กายสิทธิอันนี้มันมีชิ้นส่วนที่ลอกออกมาห้อยต่องแต่งอยู่ชิ้นนึง พอหักชิ้นส่วนนั้นออก Otir ก็กลับมาฟังเวทมนต์ชัดเจนเป็นปกติ และแล้ว เคนก็ได้กลายเป็นผู้วิเศษสมใจ ถ้าถามว่า เรื่องนี้มันสอนอะไร (ซึ่งเป็นคำถามยอดฮิตของผู้ใหญ่ไทย) เราก็อาจบอกได้ว่า มันช่วยเพิ่มคำศัพท์ให้เด็ก ๆ ผ่านการเล่นคำที่ออกเสียงคล้ายกัน และความตลกขบขัน อลหม่านบ้านพังที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ก็อาจทำให้เด็กคุ้นชินกับไอเดียที่ว่า การซ่อมแซมและใช้ของมือสอง ไม่ได้เป็นเรื่องแย่อะไร (ถ้าซ่อมได้) แต่ที่เราว่ามันแปลกใหม่ และน่าจะมีประโยชน์เช่นกัน คือ "ความแฟนตาซี" ที่ไม่ได้มาจากการเล่านิทานพื้นบ้าน (ที่เล่าซ้ำกันมาเป็นร้อย ๆ ครั้งแล้ว) หรือจากสัตว์พูดได้ (ที่เห็นได้ในหนังสือเด็กทั่ว ๆ ไป) แต่ผู้เขียนได้จินตนาการต่อยอดออกไป ถึงการใช้เวทมนต์คาถาด้วยไม้กายสิทธิ์ ในบริบทสังคมพื้นบ้านที่เด็ก ๆ อินโดฯ คุ้นชินกัน เสกอะไรก็วอดวายทุกสิ่งอัน เพราะไม้กายสิทธิ์หูไม่ค่อยดี [[ จินตนาการใหม่ ในฉากที่คุ้นเคยสำคัญอย่างไร ]] ตอนเรายังเด็ก วรรณกรรมเยาวชนแนวแฟนตาซีแทบร้อยทั้งร้อยเป็นหนังสือแปลจากต่างประเทศ มีเด็กฝรั่งเป็นตัวเอก เดินทางจากสังคมน่าเบื่อ ๆ ของตัวเอง ไปผจญภัยยังดินแดนที่เต็มไปด้วยจินตนาการ และเรื่องน่าสนใจ ผลคือ เราสนุกกับเรื่องพวกนี้มาก และรักการอ่าน แต่... เราไม่เคยเชื่อมโยงประเทศตัวเองกับจินตนาการแฟนตาซีเลย และรู้สึกว่า วัฒนธรรมไทยมันช่างน่าเบื่อ และไม่สนุก เมื่อเราเริ่มเขียนนิยายแฟนตาซี เรานึกภาพประเทศตัวเองมีเรื่องสนุก ๆ ไม่ออก รู้สึกแปลกด้วยซ้ำ ถ้าเห็นตัวละครชื่อไทย ๆ ไปอยู่ในโลกที่มีเวทมนต์ (นิยายแฟนตาซีไทยสมัยนั้นก็มีนะ แต่ตัวละครส่วนใหญ่ก็ชื่อฝรั่งทั้งนั้น) ถามว่าเราชังชาติหรือเปล่า... เปล่าค่ะ เราแค่โตมาโดยแทบไม่เคยเห็นวัฒนธรรมไทยถูกเล่าต่อยอดไปในแบบอื่นเลย นอกจากนิทานพื้นบ้าน วรรณกรรมปรัมปรา ที่ไม่มีการจินตนาการอะไรเพิ่มเติมมานานแล้ว มันเลยยากที่จะมองทะลุกรอบออกไป ว่าวัฒนธรรมไทยก็สามารถไปเป็นส่วนหนึ่งของวรรณกรรมแนวอื่น ๆ ได้ นอกเหนือไปจากแนววรรณคดีโบราณและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ปรากฎการณ์ที่นิยายแฟนตาซี ผจญภัย ไซไฟ ฯลฯ มีแต่ตัวละครผิวขาว ชื่อฝรั่งเกลื่อนตลาดนั้น เป็นเรื่องที่มีมานานแล้ว และเกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งเอาจริง ๆ มันก็มีเหตุผลอยู่แหละ เพราะรูปแบบวรรณกรรมสมัยใหม่เกิดขึ้นในยุโรปก่อนที่อื่น ๆ มีงานวิจัยมากมาย พูดถึงผลกระทบของการผูกขาดภาพลักษณ์ทางวัฒนธรรมในวรรณกรรม ต่อนักอ่านเด็ก เช่น เด็ก ๆ ถูกหล่อหลอมให้... มองว่าวัฒนธรรมของตัวเองไม่มีที่ยืนในโลกจินตนาการ มองว่าเรื่องราวชีวิตของตัวเองไม่สำคัญพอให้จารึกลงไปในโลกวรรณกรรม มองว่าการอ่านไม่เกี่ยวข้องอะไรกับชีวิตของตัวเอง ความคิดเหล่านี้อาจส่งผลต่อการอ่านออกเขียนได้ของเด็กต่อไป เช่น - เมื่อรู้สึกว่าหนังสือพูดเรื่องอะไรที่ไม่เกี่ยวกับตัวเอง ก็เลยไม่อิน เชื่อมโยงประสบการณ์ตัวเองกับเรื่องที่อ่านไม่ได้ หรือไม่ก็เลิกอ่านไปเลย - สกิลการอ่านเขียนและวิเคราะห์ สังเคราะห์เรื่องที่อ่านไม่พัฒนาเท่าที่ควร - จินตนาการสิ่งใหม่ ๆ จากบริบทของตนเองลำบาก - ไม่รู้สึกอยากเล่าเรื่องของตัวเอง หรือสังคมตัวเอง - เมื่อไม่เคยเห็นคนที่มีพื้นเพแบบตัวเองทำเรื่องน่าสนุก น่าภูมิใจ ในหนังสือ/สื่อ เด็ก ๆ ก็อาจคาดหวังกับตัวเองน้อย ไม่รู้สึกความภูมิใจในตัวเอง หรือไม่รู้สึกว่า ตัวเองก็ทำเรื่องสนุก ๆ น่าภูมิใจ หรือเรื่องยิ่งใหญ่อะไรได้ ลองฟังประสบการณ์ตรงคล้าย ๆ กันจากคุณ Chimamanda Adichie นักเขียนนิยายชาวไนจีเรียได้ ใน Ted Talk ตอน The danger of a single story ที่คลิปด้านล่างนี้ค่ะ [[ อานุภาพแห่งจินตนาการ ส่งผลต่อโลกแห่งความจริง ]] การเล่าเรื่องให้ต่างไปจากเดิม ไม่เพียงแต่สนุก ท้าทาย แต่ยังกระตุ้นให้ผู้อ่านคิดถึงความเป็นไปได้ใหม่ ๆ เกี่ยวกับตัวเองและสังคมรอบตัว และเริ่มคิดว่าจะเปลี่ยนแปลงสิ่งต่าง ๆ ให้เป็นที่น่าพอใจขึ้นได้อย่างไร หนึ่งในความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ที่หนังสือเด็กนำมาสู่สังคม เกิดขึ้นในขบวนการต่อต้านการเหยียดผิว ช่วงปี 1910s ในตอนนั้น นอกจากการเหยียดผิวที่พบเห็นได้ในนโยบาย กฎหมาย และชีวิตประจำวันแล้ว คนผิวสีในสหรัฐอเมริกายังโทษ "หนังสือเด็ก" ว่าเป็นหนึ่งในตัวการที่ทำให้คนผิวสียังคงเป็นทาสทางความคิด ตัวเป็นไท ใจเป็นทาสก็ว่าได้ พวกเขาพบว่า ตัวละครผิวสีในหนังสือเด็กที่ผ่านมานั้น ล้วนเป็นได้แค่ตัวละครรอง ๆ หรือร้ายกว่านั้น คือเป็นเป้าให้ตัวละครผิวขาวล้อเลียน เหยียดหยาม และแพตเทิร์นแบบนี้ ก็ไม่ได้มีแค่ในวงการหนังสือภาษาอังกฤษเท่านั้น แต่มีอยู่ทั่วไปในประเทศเจ้าอาณานิคมอื่น ๆ ด้วย เช่น หนังสือสวีเดน เรื่อง ปิ๊บปี ถุงเท้ายาว ตัวเอกของเรื่องซึ่งก็คือ ปิ๊บปี เป็นเด็กผิวขาว ที่มีพ่อเป็น "ราชาแห่งนิโกร" (สื่อถึงการเป็นนายทาส หรือเจ้าอาณานิคม) ปิ๊บปี ถุงเท้ายาว เด็กหญิงสุดป่วนจากสวีเดนผู้มีพ่อเป็น "ราชาแห่งนิโกร" คนผิวสีในตอนนั้นชี้ว่า หนังสือเหล่านี้ทำให้เด็กผิวสีหลายคนเกลียดการอ่าน มีรายงานว่าเด็กบางคนฉีกหนังสือทิ้งด้วยซ้ำ ที่แย่กว่านั้นคือ เด็ก ๆ ถูกทำให้รู้สึกต่ำต้อย และไม่อาจจินตนาการถึงอนาคตที่ดีกว่า น่าภูมิใจกว่า หรือมีความสุขกับอัตลักษณ์และวัฒนธรรมของตัวเองได้ ปัญหานี้นำมาสู่การเรียกร้องให้สนพ. เปลี่ยนวิธีเล่าเรื่องเกี่ยวกับเด็กผิวสีใหม่ ให้เด็กผิวสีเป็นตัวละครหลักและมีภาพลักษณ์ที่ดีขึ้น การเปลี่ยนแปลงเรื่องเล่าในวรณณกรรมเด็กนี้ ยังเป็นจุดเริ่มต้นของ The Brownies' Book นิตยสารสำหรับเด็กผิวสีฉบับแรกในสหรัฐฯ ซึ่งเน้นนำเสนอความสำเร็จของคนผิวสี รวมถึงวัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่เด็กผิวสีคุ้นเคย ช่วยให้เด็ก ๆ จินตนาการภาพอนาคตของตัวเอง หลุดออกไปจากกรอบที่สังคมเหยียดชนชาติพยายามบ่มเพาะพวกเขาขึ้นมา ปกหนังสือ Brownies' Book ฉบับเดือนมิถุนายน ปี 1920 (พ.ศ. 2463) ทุกวันนี้ วงการหนังสือเด็กภาษาอังกฤษ (รวมทั้งภาษาอื่น ๆ ในยุโรป) เริ่มมอบบทหลักให้เด็กจากหลากหลายเชื้อชาติมากขึ้น และเล่าเรื่องของพวกเขา ในหนังสือเด็กหลากหลายหมวดขึ้นด้วย ไม่ว่าจะเป็น หมวดแฟนตาซี ไซไฟ สืบสวนสอบสวน ฯลฯ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ และบอกเด็ก ๆ ว่าพวกเขาเป็นอะไรก็ได้ที่อยากเป็น ไม่ว่าจะมีเชื้อชาติใด อย่างไรก็ตาม หนังสือเหล่านี้ก็ยังคงเป็นส่วนน้อยในวงการ และนิตยสาร The Booksellers ของยูเค เมื่อมีนาคมที่ผ่านมานี้ ก็เพิ่งพูดถึงปัญหาว่า นักเขียนชนกลุ่มน้อยหลายคนยังคงต้องเขียนนิยายที่มีตัวละครผิวขาว ชื่ออังกฤษ เพื่อเอาใจตลาดอยู่นั่นเอง ย้อนกลับมามองที่วงการหนังสือเด็กไทยบ้าง เรามีหนังสือเด็กแนวแฟนตาซี ที่มีสังคมไทยเป็นฉาก และมีเด็กไทยเป็นตัวละครหลักมากแค่ไหน? เด็กในกลุ่มวัฒนธรรมต่าง ๆ ในประเทศไทยรู้สึกเข้าถึง และเป็นส่วนหนึ่งในโลกวรรณกรรมไทย มากพอแล้วหรือยัง? แล้วเพื่อน ๆ ล่ะคะ เคยอ่านหนังสือเด็กแฟนตาซี ที่มีฉากไทย ๆ บ้างหรือเปล่า? แล้วชอบเรื่องไหนกันบ้างคะ? เล่าให้ฟังบ้างน้า ^^ (ส่วนตัวเรา ตอนเด็ก ๆ ชอบเรื่อง "ส้มสีม่วง" "เจ้าชายไม่วิเศษ" กับ "ครุฑน้อย" ของสนพ. อมรินทร์ ล่ะ สองเล่มหลังไม่เชิงว่ามีฉากเป็นประเทศไทย แต่ว่าเบสออนวรรณคดีไทยนะ) ถ้าตาลเป็นน้องเคน จะขอเสกให้วงการหนังสือเด็กเมืองไทยเจริญ ๆ ค่ะ เพี้ยง ๆ *บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรก ที่นี่ อ้างอิง https://en.wikipedia.org/wiki/The_Brownies%27_Book https://www.thebookseller.com/.../why-have-black-writers... LATIMER, BETTYE I. “CHILDREN’S BOOKS AND RACISM.” The Black Scholar, vol. 4, no. 8/9, 1973, pp. 21–27, http://www.jstor.org/stable/41163579. Accessed 7 May 2022. Nel, Philip. Was the Cat in the Hat Black?: The Hidden Racism of Children's Literature, and the Need for Diverse Books. , 2017. Internet resource. https://nordics.info/.../racism-in-nordic-childrens... https://www.ted.com/.../chimamanda_ngozi_adichie_the... #หนังสือเด็ก #หนังสือเด็กแฟนตาซี #หนังสือเด็กเล่นคำ #หนังสือเด็กอินโดนีเซีย #childrensbooksoutthere
- "ต้นไม้ที่หายไป" หนังสือไร้ใบหน้าแห่งโลกมุสลิม
เมื่อข้อกำหนดทางศาสนา ไม่ใช่ข้อจำกัดสำหรับนักวาดนักเขียนหนังสือเด็ก เป็นไปได้ไหม ที่จะเล่าเรื่องสำคัญ ๆ รอบตัว โดยไม่วาด "ใบหน้า" ของใครเลย? มาต่อกับรีวิวหนังสืออินโดนีเซียค่ะ คราวนี้เปลี่ยนสนพ. มาเป็นสนพ. แนวที่เคร่งครัดเรื่องกฎของอิสลาม ข้อที่ว่า ห้ามวาดรูปสิ่งมีชีวิต อันเป็นการเลียนแบบผลงานสร้างของพระผู้เป็นเจ้าโดยเด็ดขาด ไม่ให้วาดสิ่งมีชีวิต แล้วจะทำหนังสือภาพได้ยังไง? ลองมาดูตัวอย่างกันค่ะ หนังสือภาพเรื่อง Pohon-Pohon Yang Hilang (แปลไทย– ต้นไม้ที่หายไป, 2021) เป็นหนังสือที่เขียนโดยคุณ Athirah Mustadjab และวาดโดยคุณ Arranzi A. Cempaka ตีพิมพ์กับสนพ. Penerbit "Pinisi Samudra Ilmu" สนพ. ที่ได้ชื่อว่าผลิตหนังสือภาพคุณภาพดี ภาพวาดละเอียดสวยงาม เนื้อหาลึกซึ้ง Pohon-Pohon Yang Hilang เล่าเรื่องแบบเรียบง่ายมาก ๆ ทั้งเรื่องมีตัวละครแค่ 1 ตัว คือ "รถกระบะขนกล้วย" รถกระบะขนกล้วย ตัวละครหลักแล่นไปบนไฮเวย์สีเหลือที่โดดเด่นบนลายเส้นขาว-ดำ เรื่องเริ่มจาก รถกระบะขนกล้วย เดินทางจากป่ากล้วย พร้อมกล้วยเต็มกระบะ จากนั้นมันก็เดินทางยาวไกล จากป่า สู่เมือง ระหว่างทาง คนอ่านจะได้เห็นวิวทิวทัศน์ที่เปลี่ยนไป จากในป่าที่มีต้นไม้มากมาย เลาะเลี้ยวไปตามไฮเวย์เลียบชายหาด เข้าไปในย่านชานเมือง ทุกที่ที่รถกระบะผ่านไป ต้นไม้ได้เติบโต และทำหน้าที่ของมันในการสร้างอากาศ เป็นที่อยู๋ให้นกและสัตว์ต่าง ๆ ใช้รากชอนไช ทำให้ดินอุดมสมบูรณ์ แต่แล้วรถกระบะก็แล่นมาถึงใจกลางเมือง ซึ่งแทบไม่มีต้นไม้เหลืออยู่เลย กลางเมืองเต็มไปด้วยป่าคอนกรีต ถนนปูปูนซีเมนต์ที่ต้นไม้หยั่งรากลงไม่ได้ ตึกต่าง ๆ ไม่มีกิ่งก้านให้นกเกาะพักใต้ร่มเงาอย่างสงบสุข . รถกระบะเดินทางไปส่งกล้วยเสร็จก็กลับมายังหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ที่หน้าบ้านของคนขับรถ มีเพียงต้นกล้วยสามสี่กระถางตั้งอยู่ พวกมันเองก็มีเรื่องมากมายจะเล่า เกี่ยวกับอากาศ พื้นดิน และสิ่งมีชีวิตทั้งหลายที่มันได้ปกปักรักษา สำหรับเราแล้ว เราชอบความเรียบง่ายและภาพวิวทิวทัศน์ในเรื่องมากค่ะ ภาพประกอบเป็นเส้นดินสอสะอาด ๆ สีขาวดำ นักวาดใช้แค่สีเหลือง เน้นที่ภาพกล้วยและถนนหนทางที่รถกระบะแล่นไปเป็นหลัก บางครั้งก็เน้นที่กำแพงสังกะสี ท้องฟ้ายามพระอาทิตย์ตก แล้วแต่ว่าหน้านั้น ๆ กำลังพูดถึงเรื่องอะไรเป็นพิเศษ ซึ่งเราว่ามันเป็นการออกแบบที่ฉลาดมากเลย น้อยแต่มาก เข้ากับตัว text ที่เล่าเรื่องเนิบ ๆ สั้น ๆ ให้ความรู้สึกผ่อนคลายและครุ่นคิด ขณะเดียวกันก็สอดแทรกข้อมูลว่า ต้นไม้ทำประโยชน์อะไรให้กับโลกและสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ บ้าง อีกสิ่งที่สำคัญเกี่ยวกับการเล่าเรื่องธรรมชาติ ก็คือ หนังสือควรนำเสนอภาพธรรมชาติที่ใกล้ตัวเด็ก ๆ ซึ่งจะทำให้เขารู้สึกว่ามีส่วนร่วมกับเรื่องเล่า รู้สึกว่าธรรมชาติสำคัญกับตัวเขาจริง ๆ Pohon-Pohon Yang Hilang ได้สร้างความเชื่อมโยงกับเด็ก ๆ อย่างน้อยสองแง่ คือ เล่าเรื่องว่า "กล้วย" ที่เป็นอาหารสามัญประจำถิ่นและเด็ก ๆ รู้จักกันดีนั้น แท้จริงแล้วมาจากไหน เดินทางมาไกลแค่ไหน อีกแง่คือ หนังสือแสดงภาพย่านที่อยู่อาศัยต่าง ๆ ทั้งนอกเมือง ชานเมือง ตัวเมือง ซึ่งน่าจะครอบคลุมบ้านของเด็ก ๆ หลายคนที่อ่านหนังสือเล่มนี้ โดยไม่ต้องมีตัวละครเด็ก หรือแม้แต่ตัวละครมนุษย์ให้เห็นเลยสักตัว! น่าทึ่งที่นักวาดและนักเขียนเรื่อง Pohon-Pohon Yang Hilang ไม่ได้มองข้อจำกัดทางศาสนา เป็นอุปสรรคต่อการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะและเล่าเรื่องเกี่ยวกับโลก ธรรมชาติ และมนุษย์ ให้เด็ก ๆ ฟังแต่อย่างใด แล้วเพื่อน ๆ ล่ะคะ คิดว่าในไทยเรา มีข้อจำกัดอะไรบ้างในการวาด หรือเล่าเรื่องต่าง ๆ ให้เด็กฟัง? แล้วในประสบการณ์ที่ผ่านมา เราข้ามพ้นข้อจำกัดเหล่านั้นมาได้อย่างไร? ใครเคยอ่านหนังสือเด็กจากประเทศมุสลิม แล้วประทับใจเรื่องไหน เล่าให้ฟังบ้างนะคะ แถมท้ายให้อีกเล่ม หนังสือภาพไร้ใบหน้าเรื่อง Rasa Syangku Kepada Ayah (My Love for Dad) ค่ะ เรื่องนี้เกี่ยวกับความรักที่คุณพ่อมีให้กับลูกน้อย ไม่ต้องเห็นหน้ากันก็ซึ้งได้นะ แถมเปิดช่องว่างให้จินตนาการถึงคุณพ่อคุณลูกของแต่ละบ้านด้วย ได้มีลูกเล่นเพิ่มเข้าไปอีก *บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรก ที่นี่ #หนังสือเด็ก #หนังสือเด็กเกี่ยวกับธรรมชาติ #หนังสือเด็กอินโดนีเซีย #หนังสือมุสลิม #childrensbooksoutthere
- [เที่ยวเทศกาลหนังสือต่างประเทศ] BCBF 2022 EP.2
บทความนี้เราจะบอกหมดทั้งการหาที่พัก ขึ้นรถเมล์ หาทางเข้างาน และตักตวงปสก. ให้ได้มากที่สุดจาก เทศกาลหนังสือเด็กใหญ่ที่สุดในโลก ตั้งแต่วันแรกจนวันสุดท้าย [***ต้องขอขอบคุณสนพ. Sandclock ที่สนับสนุนค่าเดินทาง ที่พัก และอาหารให้ตาล สำหรับปฏิบัติหน้าที่ตัวแทนลิขสิทธิ์ ในทริปนี้ด้วยค่ะ ช่วยกันอุดหนุนสนพ. คุณภาพกันนะคะ] La Feltrinelli ร้านหนังสือเชนสโตร์ของสนพ. Giangiacomo Feltrinelli Editore ในมิลาน Buongiorno! สวัสดีค่ะ บทความนี้เราจะมาเล่าวิธีเดินทางในอิตาลี และการไปยังเมืองโบโลญญา เพื่อร่วมงานเทศกาลหนังสือ BCBF นะคะ พวกทิปการจองโรงแรม การประหยัดค่าอาหารอะไรก็จะอยู่ในนี้หมดเลย ว่าแล้วก็เริ่มกันเลย งาน BCBF เนี่ย ปกติแล้วจะจัดทุกเดือนมีนาคม ช่วงปลาย ๆ เดือน แต่เนื่องจากโควิด-19ระบาดหนักมากในอิตาลี ถึงขั้นที่ช่วงหนึ่งต้องฝังศพรวมกัน และแทบไม่มีบ้านไหนไม่ติดเชื้อ งานเลยล่มไป 2 ปีค่ะ เพิ่งมาจัดได้อีกทีปี 2022 นี่เลย สำหรับทริปนี้ ตาลเลือกเดินทางไปมิลานโดยเครื่องบินก่อน แล้วค่อยนั่งรถบัสต่อไปโบโลญญา เพราะค่าตั๋วไปมิลานวันธรรมดามันถูกกว่าไปโบโลญญากลางสัปดาห์ อีกอย่างคือ มันไม่มีเครื่องบินจากเมืองที่เราอยู่ไปโบโลญญาตอนกลางวันค่ะ มีแต่ตอนดึก ๆ สนามบินเมืองนี้เค้าปิดหลังเที่ยงคืน รถรางระหว่างสนามบินกับตัวเมืองก็ปิดแล้ว เราเรียกแท็กซี่ไม่เป็น เลยว่าไม่เสี่ยงดีกว่า 555 เรามาเมืองมิลานแล้วก็ไม่ได้มาเที่ยวเปล่านะคะ แต่มาทำเควสต์ให้นักวาดไทย ด้วยการถ่ายรูปของสวยงามในอิตาลี คู่กับโปสการ์ดที่เราเตรียมจะเอาไปแปะกำแพงนักวาดในงาน BCBF ดูค่ะ ใครดูฉากหลังแล้ว เดาออกไหมคะว่าเราไปเที่ยวที่ไหนมาบ้าง (ไม่ได้รางวัลเด้อ แค่ได้ทาย 555) เอาไปเดินถ่ายรูปคู่ทั่วเมืองเรยยย 555 ภาพเหล่านี้อยู่ใน ig: childrens_book_out_there ด้วยนะคะ โปสการ์ดพวกนี้เป็นแค่ตัวแทนนักวาดบางส่วนของไทยเท่านั้น เพราะเราปริ๊นต์งานทุกคนมาแปะกำแพงไม่ไหว ก็เลยขอความร่วมมือทุกคนติดแท็กทวิต / เฟสบุ๊ก / ไอจี ติดแท็ก #ThaiKidsIllustrator#ThaiBCBF2022 เพื่อให้สนพ.ทั่วโลกได้มีโอกาสเห็นผลงานนักวาดในไทยกันค่ะ แท็กอยู่ได้นานดีด้วย เพื่อน ๆ ตาลที่ทำงานสนพ. ที่ไทยก็ใช้แท็กนี้ดูงานนักวาดกันค่ะ ตาลเองก็ไม่รู้ว่าปีหน้าจะได้ไปงานอีกมั้ย (จนกรอบ 555) ถ้าใครไปแล้วอยากช่วยนักวาดไทยไฮแจ็กกำแพงนักวาดอีก ก็เอาเทมเพลตโปสการ์ดด้านล่างนี้ไปใช้ใส่ภาพประชาสัมพันธ์วงการนักวาดไทยกันได้นะคะ ตาลทำเทมเพลตใน Canva พวกโลโก้โซเชียลมีเดียต่าง ๆ ก็มาจากตรงนั้นเป็นส่วนใหญ่ค่ะ เทมเพลตโปสการ์ดประชาสัมพันธ์นักวาดไทย เที่ยวมิลานแป๊บ ๆ ก็ถึงวันงานเทศกาลแล้วค่า หลังจากนั่งบัสจากท่ารถมิลาน สองชม.เศษ มาลงท่ารถโบโลญญาตอนเก้าโมง (หลับมาตลอดทาง) เราก็ไปเช็กอิน กินข้าวเช้า (ตอนเที่ยง) และมุ่งหน้าสู่งานเทศกาลหนังสือค่ะ ค่าที่พักถูกสุดที่เราหาเจอ ในทำเลใกล้งานเทศกาลมากที่สุด คือ Combo Bologna เป็นโฮสเทลราคาประหยัดสำหรับนักเรียนนักศึกษา และคนทำงานอายุน้อยค่ะ เราพักห้องหญิงล้วน 4 คน ถือว่าโอเคเลย มีครัว มีห้องซักผ้า คาเฟ่และลานนั่งเล่นเป็นระเบียบเรียบร้อยดี เสียอย่างเดียวต้องเดินเข้าซอยค่อนข้างลึกอยู่ แต่ซอยก็ไม่ได้เปลี่ยวอะไรค่ะ งาน BCBF จัดที่ Quartiere Fieristico di Bologna, Padiglioni (Hall) 25 - 26 - 29 - 30 ใครจะไปงาน กางกูเกิ้ลแมพ จิ้มพิกัด Ingresso Fiera: Costituzione นะคะ อย่าพิมพ์แค่ Bologna Book Fair มันจะอาสาพาไปหลงได้เด้อ เพราะสถานที่จัดงานมันใหญ่ มาก! เรายังโชคดีที่ไหวตัวทัน ถามจนท. โฮสเทลก่อนออกมา ใครที่นั่งรถเมล์สาย 35 กับสาย 38 ลงหน้างานเลย นั่งรถจากสถานีรถไฟกลางไปได้ เวลาจ่ายตังค์ จ่ายด้วยการติ๊ดบัตรเดบิต/เครดิต contactless หรือจ่ายผ่านแอป แล้วติ๊ดบัตรผ่านมือถือเอาได้ค่ะ (ระบบมือถือต้องรองรับด้วยนะ) รถเมล์ขาละ 1.5€ ค่ะ ข้อควรระวัง!!! อาหารในงานแอบแพงนะคะ น้ำอัดลม 3 ยูโรเนี่ย มันอะไรก๊านนน! แนะนำให้เอาขวดน้ำไปด้วยค่ะ แพ็กขนมปัง ผลไม้ไปกินด้วยก็ดี กระเป๋าลากเล็ก ๆ เอาไปได้ก็เอาไปนะคะ ถ้าเป็นสายซื้อ สายหอบหนังสือกลับบ้านเนี่ย เพราะว่างานนี้มีอะไรให้ดูเยอะ คนก็เยอะ ที่นั่งก็เยอะนะ แต่มีไม่พอ ยิ่งถ้าแพลนมาแค่วันเดียวนะคะ เตรียมตัวไม่พร้อม รับรองวิ่งขาขวิด ดูงานไม่ทันแน่ ๆ สำหรับใครที่เป็นแฟนคลับหนังสือเด็ก ตาลแนะนำว่าซื้อบัตรเบ่ง เข้างาน 4 วันดีกว่า.. ราคานี้เข้าสองวันก็คุ้มแล้ว เพราะตั๋วเข้างาน 1 วันแพงมากค่ะ ถ้าเป็นนักวาดหรือนักแปล พยายามขอรหัสลดราคาตั๋วให้ได้นะคะ จะถูกลงไปเยอะเลยล่ะ รหัสอาจจะมาดีเลย์หน่อย สไตล์อิตาเลียนชิล ๆ แต่จงรอค่ะ มันมาแน่ ตั๋วเข้างานไม่มีวันหมด รอรหัสเพื่อตั๋วที่ประหยัดกว่าค่ะ! ทางเข้าทางนี้ค่ะ นั่งเมล์สาย 35 ลงหน้างานได้เลย Bologna Fiere นั้นใหญ่มาก เห็นในกูเกิลแมพมีหลายตึกที่ใช้ชื่อเดียวกัน ไปผิดฝั่งเดินขาลากนะคะ เขาไม่เปิดประตูให้นะเออ นี่เดินเป็นหนูติดจั่นอยู่ในบริเวณจัดงาน หาทางออกไม่ได้มาแล้ว เอาล่ะ เข้างานกัน มองจากข้างนอก อาคารจัดงานดูไม่ใหญ่ ไม่สูงมาก แต่ว่าเนื้อที่แผ่ออกไปในแนวระนาบ ค่อนข้างกว้างใหญ่ เดินวันเดียวหมดไปแค่โซนครึ่ง เพราะเข้าไปเจอโซนแรก โซน Illustrator เราก็โดนดักอยู่เป็นชั่วโมงแล้วค่ะ บูธส่วนใหญ่เริ่มเก็บของกันตั้งแต่สิ้นวันที่ 3 และงานปิดบ่ายวันที่ 4 ถ้ามีเวลาจำกัด แนะนำมาวันที่ 2 กับ 3 นะคะ ภารกิจไฮแจ็กกำแพงนักวาด เช่นเดียวกับผู้ชมคนอื่น ๆ เราเริ่มต้นงาน BCBF ด้วยการเดินผ่าน "กำแพงนักวาด" นั่นเอง ไอ้เราก่อนมาก็นึกว่ามีสองสามกำแพงค่ะทุกคน... ที่ไหนได้ ปาไปสิบกำแพง ล้อมรอบโซนเลยจย้า เหลือที่ให้เราแปะโปสการ์ดเยอะแยะ นี่เป็นภาพกำแพงตอนบ่ายวันสุดท้ายของการจัดงานนะคะ โดนโปสเตอร์ โปสการ์ด นามบัตรละเลงเละ ตอนแรกเราติดโปสการ์ดไปแค่ที่มุมเดียวของห้องจัดแสดง พอเจอกำแพงอีกฟากห้องเลยต้องเดินกลับไปถอดโปสการ์ดบางแผ่นออกมาติดใหม่อีกรอบ ติดเสร็จแล้วเพิ่งนึกได้ว่า ยังไม่ได้ถ่ายรูปโปสการ์ดบนกำแพงเลยนี่หว่า เลยต้องเดินย้อนกลับไปหา ระหว่างนั้นนักวาดที่ค่อย ๆ ทยอยกันเข้างานมาก็ติดรูปกันเต็มกำแพงเลย (ว ไวมาก) เราถ่ายรูปโปสการ์ดมาได้ไม่ครบ แต่รับประกันว่าติดหมดทุกใบแล้วนะ แหะ... พอย้อนกลับไปเดินดูกำแพงแบบมีสมาธิ เราก็ต้องขอชื่นชมไอเดียบรรเจิดของเหล่านักวาดในการเรียกแขกจริง ๆ ค่ะ ไม่เพียงแต่จะปริ๊นต์โปสเตอร์ขนาด a3 มาติดแล้ว นักวาดบางรายเล่นทำป็อปอัป จัดพร็อพ จัดนามบัตรมาแปะมุมกำแพงให้เด่นเด้งทิ่มตาคนดูเลยทีเดียว บางคนเป็นนักวาดชื่อดังซะด้วย อย่างเช่น Canizalez เจ้าของผลงานหนังสือภาพ เรื่อง Guapa ที่เราเคยรีวิวไป แปะโปสเตอร์อันเป้งเล้ย เรียกได้ว่า สมศักดิ์ศรี สีสันงาน BCBF ที่ทุกคนต้องไม่พลาด เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า โปสการ์ดขนาด 4x6 นั้นใหญ่ไม่พอ... ใครจะไปงานปีหน้า ปริ๊นต์โปสเตอร์ใหญ่ ๆ ไปเลยนะคะ ใช้ป็อบอัป เชือก สปริง สลิงอะไรก็ได้ ให้มันเด่นเด้งออกมาค่ะ ดูภาพเพิ่มเติมได้ที่ โพสต์นี้ นะคะ มันเยอะมากลงในนี้ไม่ไหว อย่างที่บอกไปในงาน BCBF ไม่ได้มีแค่การซื้อขายหนังสือ + ลิขสิทธิ์หนังสือเท่านั้น แต่ยังเต็มไปด้วยเวิร์กชอป เสวนา นิทรรศการหนังสือและภาพประกอบจากทั่วโลก ใครไม่เคยเห็นหนังสือเด็กจากประเทศไหนก็ขอให้มาเจอ มาอ่าน มาฟังได้ที่นี่ มีครบจบในที่เดียว ตัวแทนสนพ. กำลังเจรจาซื้อขายลิขสิทธิ์กันอยู่ เราก็ได้ไปนั่งคุยกับหลาย ๆ สนพ. มาเหมือนกันนะ 😊 บทความที่แล้วเราไปดูตัวอย่างกิจกรรมบนเวทีโซนนักแปลมาแล้ว คราวนี้มาดูโซนนักวาดกันบ้าง... โซนนักวาดเนี่ย เป็นโซนที่คึกคักที่สุดแล้ว มีการแจกรางวัลกันตลอดเวลา แล้วก็เป็นจุดประกาศเรื่องสำคัญ ๆ ด้วยเพราะเป็นฮอลทางเข้างาน เช่น วันแรกของงานจะมีการสรุปการดำเนินงานของสมาคม IBBY (International Board of Books for Young People) ทั่วโลก ปีนี้ IBBY มีโปรเจ็กต์สำคัญ คือการระดมไอเดียช่วยเหลือเด็ก ๆ ไปจนถึงคนทำหนังสือ/นักวาดหนังสือเด็กในยูเครน และรัสเซีย โดยทางตัวแทน Ibby ได้ชี้ให้เห็นปัญหาของการแบนสนพ. จากรัสเซีย ว่าทุกวันนี้มีคนทำหนังสือในรัสเซียหลายคนที่ต่อต้านรัฐบาลปูตินแล้วถูกหมายหัว แถมเทศกาลหนังสือหลายแห่ง รวมทั้ง BCBF ยังแบนไม่ให้สนพ. จากรัสเซียเข้างานอีก การทำเช่นนี้มันช่วยแก้ปัญหามากน้อยแค่ไหนกัน ในวันต่อ ๆ มา เราก็ได้เห็นสนพ.หนังสือเด็กแห่งหนึ่งในรัสเซียเอาใบแถลงการณ์มาวางไว้ที่เคาน์เตอร์ประชาสัมพันธ์ใกล้ ๆ เวที ในใบแถลงการณ์มีการกล่าวประณามรัฐบาลรัสเซีย และประกาศจุดยืนเคียงข้างสันติภาพและยูเครน เท่านั้นไม่พอ ยังฟ้องเพื่อนร่วมวงการ ว่าสนพ.ในรัสเซียโดนรัฐกดขี่ยังไงบ้าง แถมด้วยการขายพ่วงหนังสือเกี่ยวกับสันติภาพและการต่อต้านสงครามที่ตัวเองพิมพ์ค่ะ เป็น reaction ที่ทำให้รู้สึกถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวของวงการหนังสือโลกดีค่ะ แถลงการณ์ของสนพ. หนังสือเด็กในรัสเซีย ประกาศเป็นแนวร่วมยูเครน งานประกาศรางวัลหนังสือภาพไร้คำ (silent / wordless picture books) ที่เวทีโซนนักวาด ประกาศรางวัลตรงนี้ แต่นิทรรศการหนังสือไร้คำอยู่อีกฮอลนึงนะคะ งานนี้เค้าจะจัดนิทรรศการงานศฺลปะเยอะไปหมดเลย กระจายทั่วงาน เดินได้ไม่เบื่อเลยละ นิทรรศการหนังสือภาพไร้คำประจำปีนี้ ผู้ชนะคือหนังสือเล่มที่ชื่อว่า Missing Leg เกี่ยวกับเก้าอี้ขาหักที่ใครผ่านไปมาก็ช่วยเอาสิ่งของต่าง ๆ มาค้ำยันให้ค่ะ เอ... มันแปลว่าอะไรนะนี่? แต่เรื่องที่เราชอบสุดเห็นจะเป็นอันนี้ เกี่ยวกับเด็กในสงครามกับกระเป็นใบหนึ่งที่เก็บความทรงจำอันสวยงามของครอบครัวเอาไว้... ดูภาพไปรู้สึกจุกในอกไป นอกจากกิจกรรมบนเวทีแล้ว BCBF ก็ยังมีนิทรรศการอื่น ๆ มากมาย เช่น - ซุ้มหนังสือเด็กจากยูเครน สนพ. ในยูเครนได้รับความช่วยเหลือให้ได้แสดงผลงานในซุ้มพิเศษทำเลทอง ที่คนผ่านไปมาเยอะสุด หนังสือที่เป็นที่รู้จักกันดีในวงการคือเรื่อง How War Changed Rondo เป็นเรื่องที่สะท้อนความนึกคิดของประเทศที่ผ่านสงครามมานับไม่ถ้วนและโหยหาสันติภาพ อย่างยูเครนค่ะ ภาพนี้ถ่ายตอนเช้าวันแรก คนยังไม่เยอะ - นิทรรศการหนังสือสีพิเศษ (ที่ไม่ใช่ CMYK เช่น สีเรืองแสง) หนังสือสีพิเศษสวย ๆ ทั้งนั้นเลย... (人´∀`*) - นิทรรศการหนังสือภาพที่ชนะการประกวด Bologna Ragazzi Award 2022 และหนังสือภาพอื่น ๆ ที่โดดเด้งในหมู่ผู้ส่งผลงาน 2000 กว่าเล่ม จาก 62 ประเทศ (ไทยไม่ส่งเข้าประกวด) ร้อยหนังสือเป็นพวง ๆ แบบนี้เลย - นิทรรศการภาพประกอบหนังสือเด็กจาก Sharjah International Book Fair แห่ง สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (เป็น guest ของงานปีนี้) พื้นที่ตรงนี้จัดแสดงภาพประกอบของนักวาดจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์โดยเฉพาะ - นิทรรศการภาพประกอบที่ส่งเข้าประกวดรางวัล International Award for Illustration ปี 2019 กับ 2021 (ปี 2020 งานยกเลิกไปเพราะโควิด) และนิทรรศการผลงานภาพประกอบของนักวาดผู้ชนะรางวัลของทั้งสองปี (ภาพแรก) นิทรรศการภาพประกอบหนังสือเด็กในแต่ละปี มีผู้ส่งผลงานเข้าร่วมเป็นร้อย แ ละบางคนก็ได้เดบิวต์ผลงานระดับโลกจากการมาแสดงงานที่นี่ค่ะ (ภาพอื่น ๆ) สองศิลปินจากคนละซีกโลกซึ่งเป็นผู้ชนะรางวัลปี 2019 และ 2021 ได้รับเกียรติแสดงผลงานในพื้นที่ใหญ่ ๆ แยกออกจากนักวาดท่านอื่น ๆ ค่ะ - และแน่นอน กำแพงนักวาดแบบออฟไลน์และออนไลน์นั่นเองค่ะ เราได้เจอภาพประกอบคนไทยที่ส่งเข้าร่วมจัดแสดงบนกำแพงนักวาดออนไลน์ (Virtual Illustrator Wall) ด้วยนะ เราเห็นมีอยู่สามจอ เราไปนั่งกินขนมหน้าจอมา แต่ถ่ายรูปทันแค่ผลงานเดียวค่ะ หนึ่งในกำแพงนักวาดเวอร์ชันออนไลน์ที่ปิดรับผลงานไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ มีผลงาน 900 กว่าชิ้น นั่งกินขนมไปดูไปได้ยาว ๆ ผลงานเหล่านี้จะยังถูกนำไปโชว์ต่อในนิทรรศการต่าง ๆ ในปีนี้ และจะยังอยู่บนดาต้าเบส และแอป BCBF ด้วยนะ สำหรับบรรยากาศงานวันสุดท้าย ทุกคนค่อนข้างจะชิลแล็กซ์ค่ะ เอเย่นต์ไม่ค่อยทำงานแล้ว ทยอยกลับบ้าน ผู้เข้าชมงานยังเดินซื้อหนังสือบางบูธอยู่ (หนังสืออิตาเลียน) เห็นเค้าว่าบัตรเข้างานวันสุดท้ายขายครึ่งราคา ก็ไม่น่าแปลกใจอะไร ถ้าเป็นคนอ่าน อยากมาโกยหนังสือกลับ หรืออยากมาดูนิทรรศการภาพประกอบ/หนังสือนานาชาติเฉย ๆ ก็นับว่าพอถูไถอยู่ค่ะ มันหว่าเว้เหลือเกิน นี่เพิ่งจะสิบโมงนะเฮ้ย! โหวงเหวง... ใครเดินงานมาจนครบแล้วก็หยุดพักซื้อของฝากที่บูธรวมหนังสือรางวัลกันได้ มุมนี้ เจ้าภาพเขาได้จัดเตรียมหนังสือที่ได้รับรางวัลประเภทต่าง ๆ จาก BCBF มาขายด้วย เช่น หนังสือปกสวย หนังสือกลอน หนังสือคอมิก หนังสือชนะรางวัลภาพประกอบดีเด่น เป็นต้น โต๊ะวางหนังสือรางวัล และก่อนกลับอย่าลืมแวะบูธแสดงผลงานนักศึกษาสาขาภาพประกอบหนังสือ มหาลัยต่าง ๆ ที่มาร่วมงาน เช่น Cambridge กับ ACCADEMIA DI BELLE ARTI DI BOLOGNA ที่ยังคงครึกครื้นไปจนงานปิดค่ะ เป็นบูธประเภทที่คนเดินเข้าเดินออกตลอด แม้บูธรอบข้างจะวังเวงแล้ว... ผลงานนักศึกษาเค้านี่ว้าวกรี๊ดมาก บางเล่มตีพิมพ์ได้เลยนะ งานป๊อบอัปก็ละลานตาเหลือเกิน (ดูได้ ในภาพ) มีแมวมอง มีศิลปินรุ่นน้อง ๆ มาส่องผลงานกันใหญ่เลย ตัวอย่างผลงานนักศึกษาศิลปะ มหา'ลัย ACCADEMIA DI BELLE ARTI DI BOLOGNA ใครรู้บ้างไหมเอ่ยว่า ป็อปอัปในรูปมาจากหนังสือเด็กเรื่องอะไรนะ ดูคำตอบและภาพเพิ่งเติมได้ ที่นี่ ธรรมเนียมน่ารัก ๆ ของ BCBF ที่กำแพงนักวาด ขาออกจากงาน ผู้คนจะทยอยดึงโปสการ์ดและโปสเตอร์ที่เหล่านักวาดเอามาแปะไว้ออก เพื่อเก็บกลับบ้านเป็นที่ระลึกกันค่ะ ถ้ามางานวันสุดท้าย อย่าลืมเด็ดโปสการ์ดไปเป็นของที่ระลึกกันนะคะ แอบเห็นว่าโปสการ์ดของนักวาดไทยที่เราเอาไปแปะไว้หายไปบางอัน (คือเราก็ไม่รู้มันหลุดหรือมีคนเก็บกลับบ้านไปแล้ว แต่หวังว่าเป็นอย่างหลังนะ 55) พอมาเดินดูใหม่อีกรอบก็เห็นนักวาดบางคนประกาศหานักเขียน สนพ. ประกาศตั้งโต๊ะดู portfolio นักวาดกันในงานเลยก็มี ตัวอย่างโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์หานักวาดของสนพ. Sweet Cherry งานเทศกาลหนังสือนานาชาติครั้งนี้เราได้รู้จักสนพ. ต่างประเทศที่ทำหนังสือภาพสวย ๆ เยอะเลย เปิดหูเปิดตา ได้คุยกับฝ่ายลิขสิทธิ์ประเทศต่าง ๆ เยอะแยะ วันสุดท้ายได้คุยกับนายหน้าขายหนังสือชื่อดัง ที่ดูแลลิขสิทธิ์ผลงานต่างประเทศในไทยด้วย นอกจากนี้เราก็ได้คุยกับจนท. องค์กรส่งเสริมอุตสาหกรรมการแปลหนังสือในหลายประเทศเลยค่ะ ทั้งลิธัวเนีย เอสโตเนีย เยอรมนี เป็นต้น เป็นความทรงจำที่ดีมาก ๆ เลยละค่ะ ในบทความหน้า ตาลจะมาเล่าถึงการเตรียมตัวไปงานเทศกาลหนังสือแห่งสำคัญอีกงานค่ะ London Book Fair... ฉัน (ไป) มาแล้ว! ติดตามชมกันนะคะ เนื้อหาในบทความนี้เคยตีพิมพ์แล้วในเพจ Children's Books Out There - วันที่ 10 ก.พ. 2022 - วันที่ 21 มี.ค. 2022 - วันที่ 22 มี.ค. 2022 - วันที่ 24 มี.ค. 2022 - วันที่ 2 เม.ย. 2022
- [เที่ยวเทศกาลหนังสือต่างประเทศ] BCBF 2022 EP.1
ในโลกนี้มีเทศกาลหนังสือมากมาย แต่ถ้าจะพูดถึงเทศกาล "หนังสือเด็ก" ที่สำคัญที่สุด ที่คนทำหนังสือเด็กควรมาให้ได้สักครั้งในชีวิตแล้วละก็ ต้องมาที่เมืองโบโลญญา ประเทศอิตาลีค่ะ เดี๋ยวตาลพาทัวร์เอง! [***ต้องขอขอบคุณสนพ. Sandclock ที่สนับสนุนค่าเดินทาง ที่พัก และอาหารให้ตาล สำหรับปฏิบัติหน้าที่ตัวแทนลิขสิทธิ์ ในทริปนี้ด้วยค่ะ ช่วยกันอุดหนุนสนพ. คุณภาพกันนะคะ] บรรยากาศเช้าวันแรกของงาน Bologna Children's Book Fair 2022 BCBF คืออะไร สำคัญยังไง? Bologna Children's Book Fair (BCBF) หรือ La fiera del libro per ragazzi เป็นชื่อของเทศกาลหนังสือ และคณะผู้จัดงานเทศกาลหนังสือ ซึ่งจัดงานแสดงหนังสือให้กับเมืองโบโลญญามาอย่างยาวนาน ปีนี้เป็นปีที่ 59 แล้วค่ะ (อีกงานเทศกาลหนังสือที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานคือ Frankfurt Book Fair ที่จัดมา 70 กว่าปีได้) เทศกาลหนังสือเด็กเมืองโบโลญญา เป็นเทศกาลหนังสือเด็กที่ใหญ่ที่สุดในโลก จัดช่วงประมาณมีนาคมหรือเมษายนของทุกปี สนพ. ที่พิมพ์หนังสือเด็กและนายหน้าวรรณกรรมจากทั่วโลกจะมาร่วมงานนี้เพื่อซื้อขายลิขสิทธิ์หนังสือเด็ก และเปิดหูเปิดตา ดูเทรนด์หนังสือ และเทคโนโลยีการพิมพ์ใหม่ ๆ ที่นี่ค่ะ เทศกาลหนังสือที่เป็นศูนย์รวมของนักวาด นักเขียน และผู้รักงานศิลปะ มีเวิร์กชอปมากมายในแต่ละวัน และมีนิทรรศการภาพประกอบหลายแนว เช่น หนังสือไร้คำ หนังสือสีเรืองแสง หนังสือภาพ คอมิก ฯลฯ สนพ. และองค์กรหนังสือแห่งชาติของประเทศต่าง ๆ มานำเสนอหนังสือเด็กของประเทศตัวเองให้ตัวแทนลิขสิทธิ์และสนพ. ทั่วโลกได้รู้จัก เทศกาลนี้ยังเป็นศูนย์รวมของนักวาดภาพประกอบเด็กของอิตาลี ยุโรป และประเทศอื่น ๆ ที่มาร่วมงานด้วย BCBF เนี่ยมีสายสัมพันธ์กับนักวาดนักเขียนหนังสือเด็กดีมาก ได้ยินมาว่า หนังสือภาพเล่มไหนที่มาเปิดตัว ได้รางวัล หรือมีคนพูดถึงมากใน BCBF ก็มีแนวโน้มจะกลายเป็น big hit ของวงการในปีนั้น เช่น หนังสือ The Colour Monster (El Monstruo de Colores) หรือที่นักอ่านไทยรู้จักกันในชื่อ "อารมณ์นี้สีอะไร" ของ Editorial Flamboyant (สนพ. ที่เราไปฝึกงานด้วย) ก็เปิดตัวในงานนี้เมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว ตอนนี้ขายลิขสิทธิ์ไปแล้วมากกว่า 20 ภาษาทั่วโลกค่ะ เรียกว่า พลิกชีวิตสนพ. เล็ก ๆ ให้กลายเป็นสนพ. ปอปปูลาร์ในวงการไปเลย (ภาพแรก) หนังสือ The Colour Monster (El Monstruo de Colores) ต้นฉบับภาษาสเปน (ภาพสอง) หนังสือฉบับภาษาไทย ชื่อ "อารมณ์นี้สีอะไร" (ภาพแรก) ภาพทางเข้างานเช้าวันแรก ยังไม่ค่อยมีคนค่ะ (ภาพสอง) ส่วนเช้าวันที่สองน่ะเหรอ... คนมากันสะบึม (ʘᗩʘ’) นอกจากงานเทศกาลหนังสือที่จัดปีละครั้งแล้ว... ทางผู้จัดงาน BCBF ก็ยังทำโปรเจ็กต์ต่าง ๆ อีกมากมาย เช่น - จัดนิทรรศการภาพประกอบหนังสือเด็กทั้งในอิตาลี เดินสายทั่วโลก และนิทรรศการออนไลน์ - จัดเสวนานายหน้าลิขสิทธิ์ (Literary Agent) ผู้เป็นเหมือนสะพานเชื่อมโลกวรรณกรรมหลากภาษาเข้าด้วยกัน ผ่านการเจรจาซื้อขายลิขสิทธิ์ระหว่างสำนักพิมพ์ทั่วโลก - ให้รางวัลหนังสือเด็กหลายรายการ เช่น The BolognaRagazzi Award สำหรับหนังสือภาพที่ประณีตและสร้างสรรค์ที่สุดในงาน และ Silent Book Award สำหรับ "หนังสือภาพไร้คำ" ยอดเยี่ยม - จัดงานหนังสือ China Shanghai International Children's Book Fair (CCBF) ช่วงพฤศจิกายน ที่เซี่ยงไฮ้ ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน - จัดทำแค็ตตาล็อกแนะนำหนังสือทั่วโลก ในประเด็นต่าง ๆ ที่ตรงกับสถานการณ์ปัจจุบัน เช่น แค็ตตาล็อกนังสือเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เนื่องในโอกาสการประชุม 2021 United Nations Climate Change Conference (COP26) ฯลฯ ภายในงานนี้มีการแจกรางวัลหนังสือเด็กหลายรางวัล หลายประเภท และมีงานเสวนาตลอดวันในหัวข้อต่าง ๆ กันไปตามแต่ละเวที เช่น เวทีนักแปลคุยกันเรื่องการแปลบทกวี เวทีเอเย่นต์ก็จะมีการเสวนาเรื่องลิขสิทธิ์ต่างประเทศ เวทีนักเขียนคุยกันเรื่องการเดบิวต์และการเอาตัวรอดในวงการ เวทีนักวาดก็มีการแลกเปลี่ยนเทคนิคการวาดรูปและนำเสนอพอร์ตโฟลิโอ เป็นต้น สนพ. และองค์กรส่งเสริมวรรณกรรม/วัฒนธรรมประเทศต่าง ๆ มาออกบูธนำเสนอหนังสือและงานศิลป์ของตัวเองค่ะ ในภาพคือบูธของ Sharjah International Book Fair ใช่ค่ะ เทศกาลหนังสืออื่น ๆ ก็มาอาศัยงานเทศกาลนี้ประชาสัมพันธ์นะ แต่กิจกรรมที่พลาดไม่ได้เลยของงานนี้ก็คือ กำแพงนักวาด! Illustrators Wall (กำแพงนักวาด) คืออะไร? ก่อนจะมีโควิด... BCBF จัดกิจกรรม Illustrators Wall ในงาน โดยเปิดพื้นที่ให้นักวาดที่เข้ามาเดินงาน เอาผลงานของตัวเองมาแปะแนบนามบัตร เพื่อเปิดตัวต่อสนพ. และนายหน้าค้าวรรณกรรมทั่วโลกที่เข้ามาเดินงานและเจรจาลิขสิทธิ์กัน โปสเตอร์โปรโมตกำแพงนักวาดของ BCBF 2022 แต่ว่าหลังจากที่งานล่มไปสองปีเพราะโควิด-19 Illustrators Wall ถือกำเนิดใหม่ในรูปแบบออนไลน์ ทำให้นักวาดทั่วโลกมีโอกาสเท่าเทียมกันในการโชว์ผลงานต่อสาธารณชนบนเวที BCBF โดยผู้จัดงานกล่าวว่า Illustrators Wall เวอร์ชันออนไลน์ ปีที่แล้วนั้นประสบความสำเร็จอย่างงดงาม มีนักวาดเข้าร่วมกว่า 900 รายจาก 72 ประเทศ ระหว่างจัดแสดงออนไลน์ช่วง เม.ย. - ส.ค. ปีที่แล้ว (ซึ่งเป็นช่วงที่มีการโปรโมตระหว่างที่ BCBF เดินสายจัดอีเวนต์ต่าง ๆ ไปทั่วโลกในรอบปี) มีคนเข้าชมเพจกว่า 145,000 ครั้ง กำแพงนักวาดแบบ physical ที่เราจะพาทุกคนไปไฮแจ็กกันค่ะ 555 ส่วนนี่คือกำแพงนักวาดฉบับ virtual ที่ต้องจ่ายเงินค่าสมัครกัน เหมาะสำหรับนักวาดที่มาแปะงานด้วยตัวเองไม่ได้ค่ะ ผลงานของนักวาดได้รับการคัดแยกตามหมวดหมู่ทวีป/ประเทศ และจัดแสดงบนเว็บไซต์ของงานหนังสือค่ะ ในปี 2021 มีผลงานของคนไทยด้วยนะ (คุณ mayha) ส่วนในปี 2022 ที่ผ่านมานี้ หลังจากที่เราได้ประกาศข่าวไปบนโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ก็มีนักวาดไทยเข้าร่วมแสดงผลงานอีก รวมทั้งหมด 6 คนค่ะ โดยผลงานจะถูกจัดแสดงจนถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2022 นี้ค่ะ เข้าชมผลงานได้ที่ลิงก์ด้านล่างนี้นะคะ https://www.bolognachildrensbookfair.com/en/focus-on/illustrators/virtual-illustrators-wall/virtual-illustrators-wall/10790.html?country=TAILANDIA ผลงานของนักวาดทั้งหกท่านที่ได้ไปจัดแสดงในงานและบนเว็บไซต์ เนื่องจากภาพจะหายไปจากเว็บไซต์ของ BCBF หลังจากเดือนสค. ที่จะถึงนี้ เราจึงนำภาพของทั้งหกท่านมาแปะที่นี่เพื่อให้ภาพได้อยู่ต่อไปนาน ๆ ค่ะ จากซ้ายไปขวาบนมาล่าง คุณ Pavii คุณ faanpeeti คุณ PhetladdaK คุณ kavin viriya คุณ miminini คุณ Viwenny แคมเปญพาผลงานนักวาดไปโบโลญญา ในงานเทศกาล BCBF ที่ผ่านมา ตาลได้สร้างแคมเปญ พานักวาดไทยไป Hi-jack กำแพงนักวาดที่โบโลนญา โดยคัดเลือกผลงานของนักวาดไทยที่ส่งเข้ามา ไปทำเป็นโปสการ์ดแปะบนกำแพงนักวาดที่ในงานค่ะ ซึ่งก็ได้รับความสนใจอย่างล้นหลามเลย ต้องขอบคุณเพื่อน ๆ ทุกคนที่แชร์แคมเปญนี้และช่วยกันติดแท็ก #ThaiKidsIllustrator กับ #ThaiBCBF2022 นะคะ ตอนนี้แท็กทั้งสองก็ยังอยู่และเป็นหน้าต่างให้สนพ. ในไทยและต่างประเทศเข้าไปดูผลงานของนักวาดภาพประกอบหนังสือเด็กไทยกันได้ ต้องขอบคุณทุกคนจริง ๆ ค่ะ โพสต์แรก ที่ตาลลงเพื่อปรึกษาเพื่อน ๆ เกี่ยวกับการจัดแคมเปญใน BCBF มาทั้งที่ เอาให้คุ้มค่ะ โพสต์สอง กำหนดกติกาการส่งรูปให้เข้ากับธีมงานและผู้เข้าชมงาน ทวีตแคมเปญที่เพื่อน ๆ ผู้น่ารักของเราช่วยกันดันจนมีนักวาดส่งผลงานเข้ามาร่วมไฮแจ็กกำแพงกันอย่างล้นหลาม จากที่ตอนแรกเรานึกว่าจะมีแค่ 10-20 คน สุดท้ายได้ผลงานไปโชว์เกือบ 30 ผลงานค่ะ ตอนหน้าเราจะมาพาชมภายในเทศกาลหนังสือ BCBF และชมโปสการ์ดของเพื่อน ๆ นักวาดหนังสือเด็กของไทยกัน ติดตามชมกันนะคะ *บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรก ที่นี่ สารบัญการโพสต์เฟส เรื่องแคมเปญบุกกำแพงนักวาด *1: โพสต์สอบถามความเห็นเพื่อน ๆ นักวาดในเฟซส่วนตัว https://www.facebook.com/100009532892706/posts/3158894507771615/ *2: โพสต์ประกาศกิจกรรมและรายละเอียดการรับผลงานบนเพจ https://www.facebook.com/106387165106307/posts/155603566851333/ *3: โพสต์เพิ่มเติมรายละเอียดการส่งผลงาน https://www.facebook.com/106387165106307/posts/155912670153756/ Twitter threads 1* ทวิตเสนอกิจกรรมและขอภาพบริจาค https://twitter.com/bulwach_s/status/1501888940399337477... 2* เพิ่มเติมเรื่องการส่งงาน และหลักการเลือกภาพบริจาค https://twitter.com/bulwach_s/status/1502590891361505287...
- [Book Fair Review] FFBF - BCBF - LBF
บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรก ที่นี่ #หนังสือเด็ก #เทศกาลหนังสือ #เทศกาลหนังสือนานาชาติ #BCBF #BCBF22 #FFBF #FFBF21 #LBF #LBF22
- สกู๊ป LBF 2022: หนังสือจิ๋วส่งเสริมสิทธิมนุษยชน
ได้ตระหนักถึงสิทธิมนุษยชนอันมีค่าและแสนจะเปราะบางนี้ตั้งแต่เล็ก ๆ ค่ะ *บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรก ที่นี่ #หนังสือเด็ก #เทศกาลหนังสือ #เทศกาลหนังสือนานาชาติ #LBF #LBF22