หนังสือเด็กกึ่งสำเร็จรูปที่ปริ๊นต์ ตัด ประกอบเล่มได้ในห้องเรียน
ไอเดียอัจฉริยะจากประเทศกลุ่มบอลติก ส่งเสริมการเรียนรู้สิทธิมนุษยชนที่บ้านและในห้องเรียน
เสรีภาพในความคิด การแสดงออก การมีอัตลักษณ์ที่แตกต่างอย่างมีความสุขนั้น เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ แต่ว่า สิทธิเสรีภาพนั้น "เป็นสิ่งที่คนเรามักจะรับรู้ได้ ก็เมื่อตอนที่เสียมันไปแล้ว"
ในงาน London Book Fair 2022 นี้
เราพบว่ากลุ่มประเทศบอลติก ได้แก่ เอสโตเนีย ลัตเวีย และลิธัวเนีย เป็นประเทศแถบยุโรปกลุ่มหนึ่งที่นำเสอตัวตนผ่านวรรณกรรมได้น่าสนใจมากค่ะ
ขอเกริ่นก่อนว่า เราได้ไปเยี่ยมบูธของประเทศเล็ก ๆ ทั้งสามนี้ครั้งแรกในงาน Frankfurt Book Fair ปีที่แล้วมา ในฐานะที่เป็น introvert เราประทับใจบูธลัตเวียเป็นพิเศษ ตรงที่นางออกตัวว่า เป็นประเทศแห่งการเขียน เพราะคนในชาติเป็นอินโทรเวิร์ตเกินเยียวยา พูดไม่ค่อยเก่ง แต่คิดเก่ง เขียนเก่งนะ (เอากะเค้าสิ ใช้ความอินโทรเวิร์ตขายหนังสือเฉยเลย)
บูธเอาใจคนเก็บตัวของลัตเวีย หนึ่งในประเทศสามสหายบอลติก ในงาน FFBF 2021
ส่วนเอสโตเนียกับลิธัวเนีย เราได้มีโอกาสพูดคุยกับตัวแทนประเทศและนายหน้าลิขสิทธิ์เค้าเมื่อตอนไปงาน BCBF นี่เองค่ะ
ที่เราว่าน่าสนใจมากก็คือ ทั้งสองประเทศนี้อาศัยสถาบันส่งเสริมด้านวรรณกรรมแห่งชาติ คือ Estonian Children's Literature Centre และ Lithuanian Culture Institute เป็นตัวตั้งตัวตีส่งเสริมการผลิตและการอ่านหนังสือเด็กที่หลากหลายตอบโจทย์สังคม ไปจนถึงขายช่วยนักเขียนขายลิขสิทธิ์แปลให้กับต่างประเทศด้วย
เราเคยคุยกับตัวแทนบูธเอสโตเนียมา เค้าบอกว่าประเทศเค้าสนพ.ไม่มีธรรมเนียมถือลิขสิทธิ์แปลให้นักเขียน นักเขียนจะต้องหาทางขายลิขสิทธิ์แปลให้ต่างประเทศเอาเอง แล้วในประเทศก็ไม่มีระบบนายหน้าค้าลิขสิทธิ์ ทำให้รัฐต้องตั้งสถาบันขึ้นมาช่วยนักเขียน ซึ่งก็ช่วยแบบฟรี ๆ ไม่เก็บ commission แต่อย่างใด (อะไรมันจะประเสริฐปานนี้)
นอกเรื่องไปไกลมาก เราขอกลับเข้ามาสู่เรื่องหนังสือจิ๋วแห่งบอลติกเลยแล้วกันค่ะ
หนึ่งในงานเสวนาที่ตาลไปฟังแล้วคิดว่าน่าสนใจ เกี่ยวกับหนังสือเด็กโดยตรง คือการเสวนาหัวข้อ สิทธิมนุษย์ชนในหนังสือเด็กสำหรับ 6-10 ปี นำโดย คุณ Nicky Parker จาก Amnesty International มีผู้ร่วมเสวนา 4 คนได้แก่
คุณ Ulla Saar จาก Estonian Children's Literature Centre หนึ่งในผู้ริเริ่มโปรเจ็กต์ "หนังสือจิ๋วส่งเสริมสิทธิมนุษยชน" ขึ้นมา ร่วมกับองค์กร Vaikų žemė“ (Lithuania) และ IBBY Latvia (IBBY เป็นคณะกรรมการส่งเสริมหนังสือเด็กและเยาวชน มีอยู่ในหลายประเทศทั่วโลกรวมทั้งไทย หรือ Thaibby) คุณ Anna Ring จากเอสโตเนีย กับ คุณ Eglė Gelažiūtė-Petrauskienė จากลิธัวเนีย, สองในเก้านักวาดที่โครงการเลือกมาวาดภาพประกอบให้หนังสือจิ๋ว และ คุณ Jānis Joņevs นักเขียนนวนิยายชื่อดังคนหนึ่งของลัตเวีย ที่โครงการเลือกมาเขียนหนังสือจิ๋วด้วย คุณ Ulla เล่าที่มาของโครงการว่า ประเทศกลุ่มบอลติก ต่างก็เคยตกอยู่ใต้การปกครองของสหภาพโซเวียตมาก่อน เธอเองโตมาในยุคที่ทุกคนใส่เสื้อแบบเดียวกัน เรียนบทเรียนที่บอกเด็ก ๆ ไม่ให้ตั้งคำถาม สอนให้ต้องเคารพยำเกรงผู้นำ ห้ามแสดงความเห็นต่าง
หลังจากที่โซเวียตล่มสลาย เด็ก ๆ ในประเทสบอลติกได้รับเสรีภาพอย่างที่ผู้ใหญ่รุ่นก่อนไม่เคยได้รับมาก่อน เสรีภาพในความคิด การแสดงออก การมีอัตลักษณ์ที่แตกต่างอย่างมีความสุขนั้น เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ แต่ว่า สิทธิเสรีภาพนั้น "เป็นสิ่งที่คนเรามักจะรับรู้ได้ ก็เมื่อตอนที่เสียมันไปแล้ว" (ฮึ่ย นี่แหละความพูดน้อยต่อยหนักของคนย่านนี้ บ่งบอกความเป็นประเทศ introvert จริง ๆ นะ)
ในฐานะที่หนังสือเด็กเป็นสื่อกลางระหว่างสมาชิกรุ่นใหญ่และเล็กของสังคม จึงเป็นเรื่องสำคัญที่วงการหนังสือเด็กจะมีส่วนช่วยให้ทั้งผู้ใหญ่และเด็ก ได้พูดคุยกันถึงเรื่องสิทธิเสรีภาพที่ตนมี ตระหนักถึงความสำคัญ และรู้สึกหวงแหนอยากปกป้องเสรีภาพนั้น ก่อนที่ทุกอย่างมันจะสายเกินไป
ตัวอย่างหนังสือจิ๋วในโครงการ
หนังสือเล่มจิ๋วนี้มีเนื้อหาแค่ 100-150 คำ กินพื้นที่ 3 หน้าคู่เท่านั้น
และเปิดให้ผู้ที่สนใจ โดยเฉพาะผู้ปกครองและครูเข้าไปดาวน์โหลดมาปริ้นต์ ให้เด็กพับประกอบขึ้นรูปเล่มเองได้ฟรี ๆ ผ่านทางเว็บไซต์ https://vaikuzeme.lt/tiny-books/
ตอนนี้หนังสือ Tiny Books ได้รับการแปลแล้วใน 10 ภาษา เช่น อังกฤษ สเปน เกาหลี ฯลฯ เท่าที่เห็นจากไฟล์ภาษาอังกฤษ มี 18 เล่ม แต่บางภาษาก็แปลมาไม่เท่ากันนะ เช่น เกาหลีแปลมาแค่สามเรื่อง เป็นต้น
(ตาลไปถาม ๆ เค้ามาเหมือนกันว่า ขอแปลไทยด้วยได้มั้ย 555 เดี๋ยวอาจจะขอเลือกมาแปลบ้าง)
ทางด้านนักเขียนนักวาดก็แชร์ว่า การต้องเขียน+วาดหนังสือให้เด็กในหัวข้อที่ซีเรียสและสำคัญขนาดนี้ (อย่าง ความเสมอภาคเท่าเทียม ความหลากหลายทางวัฒนธรรม สิทธิหญิงชาย เสรีภาพในการแสดงความเห็น ฯลฯ) มันทำเอาเหงื่อตกเหมือนกัน แต่ว่า เนื่องจากทางโครงการขอมาแค่สามหน้าคู่ นักเขียนนักวาดเลยรู้สึกว่า คงไม่หนักหนาเกินไปหรอกมั้ง
โดยคุณ Anna เล่าเพิ่มเติมด้วยว่า เธอต้องขอบคุณนักเขียนมาก ๆ ที่ถามเธอก่อนว่า ชอบวาดอะไร จากนั้นก็แต่งเรื่องจากความชอบของเธอ ทำให้เธอไม่รู้สึกกดดันเท่าไหร่ แถมเรื่องออกมาน่ารัก ตลก กระชับ และลึกซึ้งด้วย (เรื่องที่ว่าก็คือเรื่อง A Very Short Story of a Very Long Friendship เกี่ยวกับเอเลียน ที่มาจัดคอนเสิร์ตบนโลก ที่เห็นในภาพด้านล่างนั่นเอง)
หนังสือจิ๋ว A Very Short Story of a Very Long Friendship วาดโดยคุณ Anna
คุณ Eglė และ คุณ Jānis พูดถึงความสำคัญของการเล่าเรื่องด้วยการอุปมาอุปมัย ว่าทำให้คนอ่านได้ทิ้งระยะห่างจากความจริงบ้าง โดยคุณ Jānis กล่าวว่าการเล่าถึงปัญหาของโลกใบนี้ทำได้สองแบบ คือเผชิญหน้า พูดถึงปัญหาและทางแก้ไปตรง ๆ ตามฉบับสารคดี กับ เลี่ยงไม่พูดถึงปัญหาตรง ๆ แต่ฝากเรื่องเล่าไว้ให้เก็บไปขบคิดยาว ๆ เพื่อจะตกผลึกตอนที่พร้อมจะรับมือกับปัญหาแล้ว การใช้วิธีเล่าเรื่องแบบอ้อม ๆ ช่วยสื่อสารบางประเด็นที่หนักเกินกว่าที่เด็กจะรับไหว เช่น ผู้ลี้ภัยเด็กบางคนเพิ่งผ่านเหตุการณ์สะเทือนใจมาใหม่ ๆ คงไม่อยากอ่านสารคดีผู้ลี้ภัยเด็กมาตกระกำลำบากในต่างแดน แต่อาจจะสะดวกอ่านเรื่องของเอเลียนมาเยือนโลกและได้รับการต้อนรับอย่างครื้นเครงมากกว่า คุณ Ulla ยังเสริมด้วยว่า การทำหนังสือจิ๋วด้วยตัวเอง ยังช่วยให้เนื้อหาสิทธิมนุษยชนเข้าถึงเด็กได้ง่าย ปริ๊นต์เองได้ที่บ้าน อ่านออนไลน์สั้น ๆ ก็ได้ แถมเด็กได้ลงมือทำหนังสือเอง ภูมิใจเข้าไปอีก จะได้อ่านซ้ำ ๆ พกติดตัวไปไหนมาไหน ที่บอกว่าหนังสือจิ๋วนี้เหมาะกับเด็ก 6-10 ก็เพราะ เป็นช่วงวัยที่เด็กเริ่มเรียนรู้เกี่ยวกับสังคม และยังไม่โตเกินไปที่จะเลิกอ่านหนังสือภาพร่วมกับผู้ใหญ่แล้ว ("หรือโตเกินไปที่จะเริ่มมองโลกในแง่ร้ายแล้ว" คุณ Ulla เสริม)
วิดีโอสอนการประกอบหนังสือจิ๋วที่บ้านด้วยตัวเอง
การที่แปลหลาย ๆ ภาษาก็เพื่อให้เด็กจากวัฒนธรรมต่าง ๆ (โดยเฉพาะเด็กที่ลี้ภัยมา) ในประเทศแถบบอลติกเข้าถึงหนังสือได้ อ่านได้สะดวกและสบายใจที่ได้เห็นภาษาของตัวเอง
ซึ่งแนวทางการออกแบบหนังสือและเนื้อหาที่แยบยลนี้ ต้องขอบคุณนักจิตวิทยาเด็กและผู้เชี่ยวชาญด้านหนังสือเด็กที่ให้คำแนะนำแก่ผู้ดำเนินโครงการด้วย
สุดท้ายนี้ ใครสนใจเข้าไปอ่านหนังสือจิ๋วที่ว่า ก็ลองเข้าไปอ่านกันดูนะคะ
เราเองก็หวังว่า วันหนึ่งเด็กไทยจะไม่ได้แค่อ่านหนังสือแปล แต่อ่านหนังสือที่เขียนขึ้นโดยคนไทย บริบทไทย ใกล้ตัวบ้าง และที่สำคัญ ได้ตระหนักถึงสิทธิมนุษยชนอันมีค่าและแสนจะเปราะบางนี้ตั้งแต่เล็ก ๆ ค่ะ
*บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรก ที่นี่
Comments