top of page
  • รูปภาพนักเขียนTarn

[เที่ยวเทศกาลหนังสือต่างประเทศ] LBF 2022

อัปเดตเมื่อ 28 ก.ย. 2565

เทศกาลหนังสือลอนดอน เป็นหนึ่งในเทศกาลหนังสือนานาชาติ

ที่ คนทำหนังสือ ต้องมาสักครั้ง (ไม่ใช่งานสำหรับคนอ่านนะ)

มาดูงานอย่างไรให้คุ้ม ตาลจะมาตอบในบทความนี้ค่ะ


[***ขอขอบคุณ ทุกคน ที่กดติดตามเพจด้วยนะคะ

เพราะมีทุกคนสนับสนุน อ่านรีวิวหนังสือของตาล ตาลเลยเอาเพจไปโชว์

แล้วขอ Press pass มาได้ ต่อจากนี้ก็จะทำหน้าที่ในงานให้สมกับเป็นสื่อค่ะ

จะพยายามเก็บข้อมูลมาให้ได้มากที่สุด ติดตามชมกันนะคะ]


เพิ่งจะเคยเข้างานหนังสือในฐานะสื่อ รู้สึกภูมิใจแปลก ๆ



เดือนเมษายนที่ผ่านมา ตาลได้ไป London Book Fair งานเทศกาลหนังสือสำคัญอีกแห่งในยุโรปมาค่ะ ชีพจรลงเท้าเหลือเกิน 555

ที่ต้องรีบไปรัว ๆ แบบนี้ก็เพราะที่ผ่านมา เทศกาลเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็น Frankfurt Book Fair (FFBF), Bologna Children's Book Fair (BCBF) หรือ London Book Fair (LBF) ต่างได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ต้องระงับการจัดงานกันไปในปี 2020 โดยเฉพาะ BCBF ต้องยกเลิกการจัดงานไปถึง 2 ปีซ้อนค่ะ เพราะอิตาลีเจอมรสุมโควิดหนักมาก อย่างที่เราได้ทราบข่าวกันมา

ตาลเองก็เรียนจบแล้ว ไม่รู้ว่าจะอยู่ยุโรปได้อีกนานแค่ไหน มีเทศกาลหนังสืออะไร ไปได้ก็พยายามจะไปให้ครบ ให้สมกับที่ตอนอยู่ไทย ฝันอยากจะไปมานานค่ะ ในโพสต์นี้ เราจะเล่าถึง London Book Fair ก่อนว่า เป็นงานแบบไหน มีความเป็นมา และความสำคัญอย่างไรกับวงการหนังสือภาษาอังกฤษ และวงการหนังสือทั่วโลกบ้างนะคะ


คนเข้าคิวกันเนืองแน่น เช้านี้พอถึงสถานี Kensington (Olympia)

คนบนรถไฟเกินครึ่งลุกพรึ่บ ลงสถานีเดียวกัน แล้วไหล ๆ ตามกันมา


ประวัติยาวนานพอ ๆ กับงานสัปดาห์หนังสือไทย

London Book Fair (LBF) เริ่มขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 1971 (พ.ศ. 2514) ที่ โรงแรม Berners ใกล้ ๆ ถนน Oxford โดยใช้ชื่องานว่า "The Specialist Publishers' Exhibition for Librarians" (อารมณ์งานหนังสือจากสนพ. คัดสรร สำหรับบรรณารักษ์) ก่อนจะเปลี่ยนชื่อมาเป็น London Book Fair ในปี 1977 และกลายมาเป็นหนึ่งในงานเทศกาลหนังสือนานาชาติ ที่บรรดานายหน้าค้าหนังสือทั่วโลกปักหมุดหมายมาร่วมงานค่ะ ใหญ่เป็นรองก็แค่งาน FFBF ที่เยอรมนีเท่านั้นเอง โดยงาน LBF ช่วงหลัง ๆ มานี้จัดที่อาคารจัดแสดงนิทรรศการ Olympia London (เคยมีการเปลี่ยนสถานที่มาบ้าง แต่สุดท้ายก็กลับมาอยู่ที่เดิมตามคำเรียกร้องของผู้ร่วมงาน) ปีนี้ก็ถือว่าครบรอบเป็นปีที่ 51 แล้วค่ะ พอ ๆ กับงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติของไทยเลย (เริ่มพ.ศ. 2515)


เข้าคิวสแกนบัตรเข้างาน


LBF มักจะจัดช่วงเดือนเมษายนของทุกปี มีเวลาออกร้าน จัดนิทรรศการ 3 วัน แต่อาจมีงานสัมมนาก่อนวันเปิดงานบ้าง เช่น ปีนี้มีงานสัมมนาให้ความรู้เรื่องการถือครองและขายลิขสิทธิ์ จัดขึ้นเมื่อวาน (4 เม.ย.) แต่งานจัดแสดงหนังสือเริ่มวันนี้ คือวันที่ 5 - 7 เม.ย. เหลื่อม ๆ กับงานสัปดาห์หนังสือบ้านเราเลยเนอะ

ทว่า ความต่างก็คือ LBF ไม่ใช่งานที่เน้นให้คนอ่านเข้ามาเดินซื้อหนังสือลดราคา แต่โฟกัสที่การรวมตัวของคนทำงานในวงการหนังสือ ตั้งแต่ นักเขียน นักแปล นักวาด บ.ก. นายหน้าลิขสิทธิ์ โรงพิมพ์ ไปจนถึงคนพัฒนาซอฟต์แวร์ระบบจัดการสำนักพิมพ์ และระบบหลังบ้านของร้านหนังสือ รวมทั้งแพลตฟอร์มหนังสือ/ห้องสมุดออนไลน์ (อย่าง Libbby กับ Overdrive) ทั้งในสหราชอาณาจักรและทั่วโลกมาเปิดตัว และเสวนาแลกเปลี่ยนความรู้กันมากกว่าค่ะ LBF เริ่มขยายสถานะจากการเป็นจุดนัดพบของคนวงการหนังสือในประเทศ มาเป็นงานนานาชาติ จากการเริ่มส่วนงาน Internationl Rights Centre เมื่อ 32 ปีก่อน นับแต่นั้นมา งานเทศกาลก็ได้กลายเป็นศูนย์รวมนายหน้าลิขสิทธิ์ ที่มาค้นหา ซื้อขายลิขสิทธิ์หนังสือ ภาพยนตร์ เกม และสื่ออื่น ๆ


เพิ่งเปิดงานขม.แรก คนยังน้อยอยู่เลย




เขามา LBF ทำไมกัน?

  • นักเขียนมาที่นี่ เพื่อเสนอผลงานกับนายหน้า

  • นายหน้าลิขสิทธิ์มาที่นี่เพื่อเสนองานนักเขียนให้กับสนพ. ทั่วโลก

  • สนพ. ทั่วโลกมาที่นี่เพื่อแลกเปลี่ยนแคตาล็อกกัน หาต้นฉบับใหม่ ๆ หาซอฟต์แวร์ไปใช้บริหารจัดการสำนักพิมพ์ หาสายส่ง และโรงพิมพ์ใหม่ ๆ นอกประเทศ

  • สมาคมหนังสือแห่งชาติของประเทศต่าง ๆ (ซึ่งเป็นตัวแทนสำคัญในประเทศที่ไม่มีระบบนายหน้าลิขสิทธิ์) มาที่นี่เพื่อโปรโมตนักวาด นักเขียน และเสนอทุนสนับสนุนการแปลหนังสือจากประเทศตัวเอง เช่น Book Institute และสมาคมผู้จัดพิมพ์หนังสือ จากยูเครน ลัตเวีย จีน เกาหลี อินโดนีเซีย บราซิล แคว้นกาตาลัน (Institute Ramon Llull) ฟิลิปปินส์ เป็นต้น

  • สมาคมโรงพิมพ์ประเทศต่าง ๆ เช่น เกาหลี ก็มาเปิดตัว หาสนพ. ใหม่ ๆ ไปเป็นลูกค้า

  • ร้านหนังสือออนไลน์ มาเพื่อหาหนังสือไปเข้าแพลตฟอร์มตัวเอง


(ภาพแรก) โฆษณาบูธหนังสืออินโดนีเซียกับสโลแกน "17,000 เกาะแห่งจินตนาการ"

(ภาพสอง) บูธอินโดนีเซียค่ะ



มาเจอเพื่อนบ้านอีกแล้ว ครั้งก่อนเจอกันที่ FFBF ปี 2021

ตาลเลยแจกโปสการ์ดนักวาดที่พิมพ์มาเกินจากงาน BCBF ให้เค้าไปสี่ใบค่ะ



บูธสถาบันหนังสือกาตาลัน Ramon Llull

หนึ่งในองค์กรที่ทำให้วรรณกรรมกาตาลันเป็นที่รู้จักในวงการหนังสือโลก



ใครเป็นสมาชิกห้องสมุดประชาชนในกลาสโกวกับลอนดอนจะต้องรู้จัก Libby กับ Overdrive เพราะมันคือแพลตฟอร์ม e-book e-magazine และ audiobook ขนาดใหญ่

ที่เข้าถึงได้จากทั่วโลก ขนาดเราอยู่เดนมาร์ก ทุกวันนี้ยังยืมหนังสือจากกลาสโกวมาอ่านอยู่เลย



โซนหนังสือเด็กถูกเอาไปเก็บไว้ที่ชั้นบน เป็นฮอลขนาดใหญ่ แยกไปอีกฮอล



นอกจากนี้ ในงานยังมีการเสวนาหลายหัวข้อ กระจายตัวไปตามจุดต่าง ๆ ของงาน ตลอดทั้ง 3 วัน เช่น การสร้างระบบอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่ยั่งยืนด้วยการจัดการลิขสิทธิ์และการตีพิมพ์หนังสือด้วยตัวเอง (self published book) การสร้างสัมพันธ์กับร้านหนังสือ และวิธีดี ๆ ที่ร้านใช้โปรโมตหนังสือ การสร้างโลกที่ยั่งยืนด้วยหนังสือเด็ก การสร้างหนังสือเด็กที่ส่งเสริมสิทธิมนุษยชน วิธีเขียนหนังสือภาพสารคดีสำหรับเด็ก ฯลฯ

แถลงข่าวสำหรับสื่อ โดยคุณ Andy Ventris ผู้อำนวยการจัดงานปีนี้



ไฮไลต์ใหม่ของ LBF ปีนี้

จากที่ได้เข้าร่วมฟังบรีฟเทศกาลหนังสือ สำหรับสื่อ งานสรุปได้ว่าปีนี้งานมีของใหม่มานำเสนอ 4 อย่างด้วยกันค่ะ 1. แอปพลิเคชัน แพลตฟอร์ม London Book Fair App ที่เปิดให้ผู้สนใจทั่วโลกเข้าชวมงานเสวนาต่าง ๆ ได้แบบ on demand (แต่ไม่ฟรี) 2. แขกสำคัญที่มาร่วมงานก็เป็นใครไปไม่ได้ นอกจาก Sharjah Market Focus ที่เดินสายเปิดตัววรรณกรรมจากอาหรับเอมิเรตส์ มาตั้งแต่ FFBF ปีที่แล้ว นับเป็นการปักหมุดเริ่มต้นการส่งออกวรรณกรรมจากอาหรับเอมิเรตส์ สู่นานาประเทศ 3. Spot Light หนังสือกาตาลัน กับ 8 งานเสวนา โดยความร่วมมือระหว่างสถาบันหนังสือกาตาลัน Institute Ramon Llull และ IBBYCAT ที่มุ่งเชื่อมต่อนักเขียน นักวาดกาตาลัน กับสนพ. และนักเขียนนักวาดต่างประเทศ 4. Ukrainian Book Institute สถาบันหนังสือแห่งชาติยูเครน ส่งตัวแทนมาเปิดบูธแนะนำหนังสือจากยูเครน และระดมเงินทุนช่วยเหลือผู้ประสบภัยสงครามในประเทศ



ระดับความใหญ่

รวมแล้วปีนี้ LBF มีผู้จัดงานนิทรรศการมากกว่า 900 รายจาก 56 ประเทศ 500 กว่ารายมาจากนอกสหราชอาณาจักร 75 รายเป็นผู้จัดหน้าใหม่ คนวงการหนังสือเข้าร่วมมากกว่า 25,000 ราย และมีงานเสวนามากกว่า 125 รายการ อาคารจัดงานมี 2 ฮอล ฮอลละ 2 ชั้น เวทีจัดงานเสวนาไม่ต่ำกว่า 5 เวที และมีกิจกรรมเกือบทุกชั่วโมงตลอดวัน


***แนะนำว่า หลังจากจ่ายค่าบัตรและลงทะเบียนเข้างานแล้ว ให้เข้าไปดูรายละเอียดกิจกรรมต่าง ๆ แล้วติดดาวไว้ก่อนล่วงหน้าเลยค่ะ เพราะว่ามีงานเสวนาน่าสนใจเยอะมาก ต้องทำใจว่าแยกร่างไปฟังไม่ได้ทั้งหมด ข้อดีของงานนี้คือ เค้าถ่ายวิดีโองานเสวนาเก็บไว้เป็นระบบระเบียบดีมากค่ะ หลังจากงานจบแล้ว เราเข้าไปดูบันทึกงานเสวนาย้อนหลังได้ตามที่ต้องการ แต่มีช่วงเวลาจำกัดนะคะ


คำเตือน

งานลอนดอนบุ๊กแฟร์บังคับจ่ายค่าเข้างานสำหรับงานทั้งหมด 3 วัน เพราะฉะนั้นราคามันจะสูงลิบลิ่วหน่อย และสนพ. ส่วนใหญ่เค้าไม่เอาหนังสือมาขายกันค่ะ (บอกแล้วว่าไม่เหมาะกับคนอ่าน แต่เหมาะสำหรับคนทำหนังสือ...)


แม้จะบอกว่าจัดงาน 3 วัน แต่ แต่ แต่!

มันมีงานวันสุกดิบก่อนหน้าวันเปิดงาน 1 วันค่ะ เป็นงานที่สนพ. และนายหน้าลิขสิทธิ์ทั้งมือใหม่มือเก่ามาเจอกัน มีเลคเชอร์รื่องกฎหมายลิขสิทธิ์ การทำงาน การเอาตัวรอดในวงการ ฯลฯ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่รวมอยู่ในค่าตั๋ว 3 วันอยู่แล้ว ใครสนใจเรื่องลิขสิทธิ์เนี่ย ไม่ควรพลาดนะคะ



ภาพจาก แอปพลิเคชัน The London Book Fair


โฟกัสของตาลในงานนี้คือ เก็บเกี่ยวความรู้จากงานเสวนาให้ได้มากที่สุด ทำความรู้จักกับสนพ. เด็กในสหราชอาณาจักรให้ทั่ว และพูดคุยกับบริษัททำซอฟต์แวร์เกี่ยวกับระบบการทำ จัดการแคตาล็อก ซื้อขายหนังสือ และห้องสมุดออนไลน์ค่ะ


ใครที่สนใจว่า คนในวงการหนังสือนานาชาติเค้ามาเสวนาแลกเปลี่ยนอะไรกันบ้าง

ติดตามชมบทความเกี่ยวกับ London Book Fair ได้ ที่นี่ ค่ะ



*บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรก ที่นี่


อ้างอิง https://www.londonbookfair.co.uk/ https://en.m.wikipedia.org/wiki/London_Book_Fair งานแถลงข่าวเปิดตัวเทศกาลหนังสือ วันที่ 5/4/2022


ดู 6 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page