top of page
รูปภาพนักเขียนTarn

"ต้นไม้ที่หายไป" หนังสือไร้ใบหน้าแห่งโลกมุสลิม

อัปเดตเมื่อ 28 ก.ย. 2565

เมื่อข้อกำหนดทางศาสนา ไม่ใช่ข้อจำกัดสำหรับนักวาดนักเขียนหนังสือเด็ก

เป็นไปได้ไหม ที่จะเล่าเรื่องสำคัญ ๆ รอบตัว โดยไม่วาด "ใบหน้า" ของใครเลย?



มาต่อกับรีวิวหนังสืออินโดนีเซียค่ะ

คราวนี้เปลี่ยนสนพ. มาเป็นสนพ. แนวที่เคร่งครัดเรื่องกฎของอิสลาม ข้อที่ว่า ห้ามวาดรูปสิ่งมีชีวิต อันเป็นการเลียนแบบผลงานสร้างของพระผู้เป็นเจ้าโดยเด็ดขาด ไม่ให้วาดสิ่งมีชีวิต แล้วจะทำหนังสือภาพได้ยังไง? ลองมาดูตัวอย่างกันค่ะ หนังสือภาพเรื่อง Pohon-Pohon Yang Hilang (แปลไทย– ต้นไม้ที่หายไป, 2021) เป็นหนังสือที่เขียนโดยคุณ Athirah Mustadjab และวาดโดยคุณ Arranzi A. Cempaka ตีพิมพ์กับสนพ. Penerbit "Pinisi Samudra Ilmu" สนพ. ที่ได้ชื่อว่าผลิตหนังสือภาพคุณภาพดี ภาพวาดละเอียดสวยงาม เนื้อหาลึกซึ้ง Pohon-Pohon Yang Hilang เล่าเรื่องแบบเรียบง่ายมาก ๆ ทั้งเรื่องมีตัวละครแค่ 1 ตัว คือ "รถกระบะขนกล้วย"


รถกระบะขนกล้วย ตัวละครหลักแล่นไปบนไฮเวย์สีเหลือที่โดดเด่นบนลายเส้นขาว-ดำ

เรื่องเริ่มจาก รถกระบะขนกล้วย เดินทางจากป่ากล้วย พร้อมกล้วยเต็มกระบะ จากนั้นมันก็เดินทางยาวไกล จากป่า สู่เมือง ระหว่างทาง คนอ่านจะได้เห็นวิวทิวทัศน์ที่เปลี่ยนไป จากในป่าที่มีต้นไม้มากมาย เลาะเลี้ยวไปตามไฮเวย์เลียบชายหาด เข้าไปในย่านชานเมือง


ทุกที่ที่รถกระบะผ่านไป ต้นไม้ได้เติบโต และทำหน้าที่ของมันในการสร้างอากาศ เป็นที่อยู๋ให้นกและสัตว์ต่าง ๆ ใช้รากชอนไช ทำให้ดินอุดมสมบูรณ์ แต่แล้วรถกระบะก็แล่นมาถึงใจกลางเมือง ซึ่งแทบไม่มีต้นไม้เหลืออยู่เลย กลางเมืองเต็มไปด้วยป่าคอนกรีต ถนนปูปูนซีเมนต์ที่ต้นไม้หยั่งรากลงไม่ได้ ตึกต่าง ๆ ไม่มีกิ่งก้านให้นกเกาะพักใต้ร่มเงาอย่างสงบสุข . รถกระบะเดินทางไปส่งกล้วยเสร็จก็กลับมายังหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ที่หน้าบ้านของคนขับรถ มีเพียงต้นกล้วยสามสี่กระถางตั้งอยู่ พวกมันเองก็มีเรื่องมากมายจะเล่า เกี่ยวกับอากาศ พื้นดิน และสิ่งมีชีวิตทั้งหลายที่มันได้ปกปักรักษา

สำหรับเราแล้ว เราชอบความเรียบง่ายและภาพวิวทิวทัศน์ในเรื่องมากค่ะ ภาพประกอบเป็นเส้นดินสอสะอาด ๆ สีขาวดำ นักวาดใช้แค่สีเหลือง เน้นที่ภาพกล้วยและถนนหนทางที่รถกระบะแล่นไปเป็นหลัก บางครั้งก็เน้นที่กำแพงสังกะสี ท้องฟ้ายามพระอาทิตย์ตก แล้วแต่ว่าหน้านั้น ๆ กำลังพูดถึงเรื่องอะไรเป็นพิเศษ ซึ่งเราว่ามันเป็นการออกแบบที่ฉลาดมากเลย น้อยแต่มาก เข้ากับตัว text ที่เล่าเรื่องเนิบ ๆ สั้น ๆ ให้ความรู้สึกผ่อนคลายและครุ่นคิด ขณะเดียวกันก็สอดแทรกข้อมูลว่า ต้นไม้ทำประโยชน์อะไรให้กับโลกและสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ บ้าง อีกสิ่งที่สำคัญเกี่ยวกับการเล่าเรื่องธรรมชาติ ก็คือ หนังสือควรนำเสนอภาพธรรมชาติที่ใกล้ตัวเด็ก ๆ ซึ่งจะทำให้เขารู้สึกว่ามีส่วนร่วมกับเรื่องเล่า รู้สึกว่าธรรมชาติสำคัญกับตัวเขาจริง ๆ Pohon-Pohon Yang Hilang ได้สร้างความเชื่อมโยงกับเด็ก ๆ อย่างน้อยสองแง่ คือ เล่าเรื่องว่า "กล้วย" ที่เป็นอาหารสามัญประจำถิ่นและเด็ก ๆ รู้จักกันดีนั้น แท้จริงแล้วมาจากไหน เดินทางมาไกลแค่ไหน อีกแง่คือ หนังสือแสดงภาพย่านที่อยู่อาศัยต่าง ๆ ทั้งนอกเมือง ชานเมือง ตัวเมือง ซึ่งน่าจะครอบคลุมบ้านของเด็ก ๆ หลายคนที่อ่านหนังสือเล่มนี้ โดยไม่ต้องมีตัวละครเด็ก หรือแม้แต่ตัวละครมนุษย์ให้เห็นเลยสักตัว! น่าทึ่งที่นักวาดและนักเขียนเรื่อง Pohon-Pohon Yang Hilang ไม่ได้มองข้อจำกัดทางศาสนา เป็นอุปสรรคต่อการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะและเล่าเรื่องเกี่ยวกับโลก ธรรมชาติ และมนุษย์ ให้เด็ก ๆ ฟังแต่อย่างใด แล้วเพื่อน ๆ ล่ะคะ คิดว่าในไทยเรา มีข้อจำกัดอะไรบ้างในการวาด หรือเล่าเรื่องต่าง ๆ ให้เด็กฟัง? แล้วในประสบการณ์ที่ผ่านมา เราข้ามพ้นข้อจำกัดเหล่านั้นมาได้อย่างไร? ใครเคยอ่านหนังสือเด็กจากประเทศมุสลิม แล้วประทับใจเรื่องไหน เล่าให้ฟังบ้างนะคะ


แถมท้ายให้อีกเล่ม หนังสือภาพไร้ใบหน้าเรื่อง Rasa Syangku Kepada Ayah (My Love for Dad) ค่ะ

เรื่องนี้เกี่ยวกับความรักที่คุณพ่อมีให้กับลูกน้อย ไม่ต้องเห็นหน้ากันก็ซึ้งได้นะ แถมเปิดช่องว่างให้จินตนาการถึงคุณพ่อคุณลูกของแต่ละบ้านด้วย ได้มีลูกเล่นเพิ่มเข้าไปอีก



*บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรก ที่นี่



コメント


bottom of page