top of page
รูปภาพนักเขียนTarn

Fanta-SEA ค้นหาความมั่นใจในอัตลักษณ์และจินตนาการอาเซียน

อัปเดตเมื่อ 28 ก.ย. 2565

ผู้ใหญ่ชอบบอกว่า "แฟนตาซี" เป็นแค่เรื่องเพ้อฝัน อยากให้เด็กอ่านอะไรที่มีสาระ

แต่รู้ไหมว่า "แฟนตาซี" คือบ่อเกิดของความภูมิใจในตัวเอง

ในวัฒนธรรม ในอัตลักษณ์ท้องถิ่น และความหวังที่จะเปลี่ยนแปลงโลกแห่งความจริง



มารีวิวหนังสือจากอินโดนีเซียต่อละค่ะ ระหว่างที่เราเดิน ๆ งาน London Book Fair อยู่นั้น เราก็สะดุดตาหนังสือเล่มนี้เข้า เพราะปกที่มีรูปเด็กน้อยถือไม้กายสิทธิ์นี่เอง ว่ากันว่า ในโลกผู้วิเศษมีโรงเรียนเวทมนต์อยู่หลายแห่ง หรือว่าหนึ่งในนั้นจะอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนของเรากันนะ? แค่คิดก็สนุกแล้ว

หนังสือภาพเล่มนี้ชื่อว่า Sihir Otir (แปลไทย- เวทมนต์ของโอตีร์, 2019) เขียนโดยคุณ Dian Onasis และวาดโดยคุณ Gery Adams จากสนพ. Penerbit Noura Books ค่ะ (Noura Kids ในเครือ Mizan อีกแล้ว)


หมู่บ้านสไตล์อินโดนีเซียที่เต็มไปด้วยเวทมนตร์



เรื่องโกลาหล แฟนตาซีในหมู่บ้าน SEA Sihir Otir เล่าถึงหมู่บ้านที่ผู้คนเสกคาถาให้เวทมนต์กันเป็นปกติ เจ้าเด็กน้อย "เคน" อยากเริ่มเข้าสู่เส้นทางสายผู้วิเศษบ้าง เลยไปซื้อไม้กายสิทธิ์อันหนึ่ง จริง ๆ เขาอยากซื้อไม้รุ่นใหม่ไฉไล แต่เงินไม่ถึง เลยได้มาแค่ไม้กายสิทธิ์มือสอง ชื่อว่า Otir


น้องเคน ผู้มีความตั้งใจ แต่ไม่มีเงิน


พอมีไม้กายสิทธิ์แล้ว เคนก็เริ่มทดลองวิชา แต่เจ้าไม้ผุพังอันนี้มีปัญหาอย่างนึง

มันฟังเวทมนต์ไม่ถนัด... เคนก็เลยงานงอก เสกอย่าง ได้อย่าง สั่งของเล่น ได้ของกิน สั่งรถไฟ ได้ปาร์ตี้ชุดใหญ่ สั่งตำรา ได้พายุ และอีกสารพัดความหายนะที่ทำให้คนในหมู่บ้านปั่นป่วนไปหมด เมื่อเคนใจเย็นลงและค่อย ๆ พิจารณาปัญหา เขาก็พบว่า เจ้าไม้กายสิทธิอันนี้มันมีชิ้นส่วนที่ลอกออกมาห้อยต่องแต่งอยู่ชิ้นนึง พอหักชิ้นส่วนนั้นออก Otir ก็กลับมาฟังเวทมนต์ชัดเจนเป็นปกติ และแล้ว เคนก็ได้กลายเป็นผู้วิเศษสมใจ ถ้าถามว่า เรื่องนี้มันสอนอะไร (ซึ่งเป็นคำถามยอดฮิตของผู้ใหญ่ไทย) เราก็อาจบอกได้ว่า มันช่วยเพิ่มคำศัพท์ให้เด็ก ๆ ผ่านการเล่นคำที่ออกเสียงคล้ายกัน และความตลกขบขัน อลหม่านบ้านพังที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ก็อาจทำให้เด็กคุ้นชินกับไอเดียที่ว่า การซ่อมแซมและใช้ของมือสอง ไม่ได้เป็นเรื่องแย่อะไร (ถ้าซ่อมได้) แต่ที่เราว่ามันแปลกใหม่ และน่าจะมีประโยชน์เช่นกัน คือ "ความแฟนตาซี" ที่ไม่ได้มาจากการเล่านิทานพื้นบ้าน (ที่เล่าซ้ำกันมาเป็นร้อย ๆ ครั้งแล้ว) หรือจากสัตว์พูดได้ (ที่เห็นได้ในหนังสือเด็กทั่ว ๆ ไป) แต่ผู้เขียนได้จินตนาการต่อยอดออกไป ถึงการใช้เวทมนต์คาถาด้วยไม้กายสิทธิ์ ในบริบทสังคมพื้นบ้านที่เด็ก ๆ อินโดฯ คุ้นชินกัน


เสกอะไรก็วอดวายทุกสิ่งอัน เพราะไม้กายสิทธิ์หูไม่ค่อยดี

[[ จินตนาการใหม่ ในฉากที่คุ้นเคยสำคัญอย่างไร ]] ตอนเรายังเด็ก วรรณกรรมเยาวชนแนวแฟนตาซีแทบร้อยทั้งร้อยเป็นหนังสือแปลจากต่างประเทศ มีเด็กฝรั่งเป็นตัวเอก เดินทางจากสังคมน่าเบื่อ ๆ ของตัวเอง ไปผจญภัยยังดินแดนที่เต็มไปด้วยจินตนาการ และเรื่องน่าสนใจ ผลคือ เราสนุกกับเรื่องพวกนี้มาก และรักการอ่าน แต่... เราไม่เคยเชื่อมโยงประเทศตัวเองกับจินตนาการแฟนตาซีเลย และรู้สึกว่า วัฒนธรรมไทยมันช่างน่าเบื่อ และไม่สนุก

เมื่อเราเริ่มเขียนนิยายแฟนตาซี เรานึกภาพประเทศตัวเองมีเรื่องสนุก ๆ ไม่ออก รู้สึกแปลกด้วยซ้ำ ถ้าเห็นตัวละครชื่อไทย ๆ ไปอยู่ในโลกที่มีเวทมนต์ (นิยายแฟนตาซีไทยสมัยนั้นก็มีนะ แต่ตัวละครส่วนใหญ่ก็ชื่อฝรั่งทั้งนั้น) ถามว่าเราชังชาติหรือเปล่า... เปล่าค่ะ เราแค่โตมาโดยแทบไม่เคยเห็นวัฒนธรรมไทยถูกเล่าต่อยอดไปในแบบอื่นเลย นอกจากนิทานพื้นบ้าน วรรณกรรมปรัมปรา ที่ไม่มีการจินตนาการอะไรเพิ่มเติมมานานแล้ว มันเลยยากที่จะมองทะลุกรอบออกไป ว่าวัฒนธรรมไทยก็สามารถไปเป็นส่วนหนึ่งของวรรณกรรมแนวอื่น ๆ ได้ นอกเหนือไปจากแนววรรณคดีโบราณและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ปรากฎการณ์ที่นิยายแฟนตาซี ผจญภัย ไซไฟ ฯลฯ มีแต่ตัวละครผิวขาว ชื่อฝรั่งเกลื่อนตลาดนั้น เป็นเรื่องที่มีมานานแล้ว และเกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งเอาจริง ๆ มันก็มีเหตุผลอยู่แหละ เพราะรูปแบบวรรณกรรมสมัยใหม่เกิดขึ้นในยุโรปก่อนที่อื่น ๆ มีงานวิจัยมากมาย พูดถึงผลกระทบของการผูกขาดภาพลักษณ์ทางวัฒนธรรมในวรรณกรรม ต่อนักอ่านเด็ก เช่น เด็ก ๆ ถูกหล่อหลอมให้... มองว่าวัฒนธรรมของตัวเองไม่มีที่ยืนในโลกจินตนาการ มองว่าเรื่องราวชีวิตของตัวเองไม่สำคัญพอให้จารึกลงไปในโลกวรรณกรรม มองว่าการอ่านไม่เกี่ยวข้องอะไรกับชีวิตของตัวเอง ความคิดเหล่านี้อาจส่งผลต่อการอ่านออกเขียนได้ของเด็กต่อไป เช่น - เมื่อรู้สึกว่าหนังสือพูดเรื่องอะไรที่ไม่เกี่ยวกับตัวเอง ก็เลยไม่อิน เชื่อมโยงประสบการณ์ตัวเองกับเรื่องที่อ่านไม่ได้ หรือไม่ก็เลิกอ่านไปเลย - สกิลการอ่านเขียนและวิเคราะห์ สังเคราะห์เรื่องที่อ่านไม่พัฒนาเท่าที่ควร - จินตนาการสิ่งใหม่ ๆ จากบริบทของตนเองลำบาก - ไม่รู้สึกอยากเล่าเรื่องของตัวเอง หรือสังคมตัวเอง - เมื่อไม่เคยเห็นคนที่มีพื้นเพแบบตัวเองทำเรื่องน่าสนุก น่าภูมิใจ ในหนังสือ/สื่อ เด็ก ๆ ก็อาจคาดหวังกับตัวเองน้อย ไม่รู้สึกความภูมิใจในตัวเอง หรือไม่รู้สึกว่า ตัวเองก็ทำเรื่องสนุก ๆ น่าภูมิใจ หรือเรื่องยิ่งใหญ่อะไรได้ ลองฟังประสบการณ์ตรงคล้าย ๆ กันจากคุณ Chimamanda Adichie นักเขียนนิยายชาวไนจีเรียได้ ใน Ted Talk ตอน The danger of a single story ที่คลิปด้านล่างนี้ค่ะ


[[ อานุภาพแห่งจินตนาการ ส่งผลต่อโลกแห่งความจริง ]] การเล่าเรื่องให้ต่างไปจากเดิม ไม่เพียงแต่สนุก ท้าทาย แต่ยังกระตุ้นให้ผู้อ่านคิดถึงความเป็นไปได้ใหม่ ๆ เกี่ยวกับตัวเองและสังคมรอบตัว และเริ่มคิดว่าจะเปลี่ยนแปลงสิ่งต่าง ๆ ให้เป็นที่น่าพอใจขึ้นได้อย่างไร หนึ่งในความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ที่หนังสือเด็กนำมาสู่สังคม เกิดขึ้นในขบวนการต่อต้านการเหยียดผิว ช่วงปี 1910s ในตอนนั้น นอกจากการเหยียดผิวที่พบเห็นได้ในนโยบาย กฎหมาย และชีวิตประจำวันแล้ว คนผิวสีในสหรัฐอเมริกายังโทษ "หนังสือเด็ก" ว่าเป็นหนึ่งในตัวการที่ทำให้คนผิวสียังคงเป็นทาสทางความคิด ตัวเป็นไท ใจเป็นทาสก็ว่าได้ พวกเขาพบว่า ตัวละครผิวสีในหนังสือเด็กที่ผ่านมานั้น ล้วนเป็นได้แค่ตัวละครรอง ๆ หรือร้ายกว่านั้น คือเป็นเป้าให้ตัวละครผิวขาวล้อเลียน เหยียดหยาม และแพตเทิร์นแบบนี้ ก็ไม่ได้มีแค่ในวงการหนังสือภาษาอังกฤษเท่านั้น แต่มีอยู่ทั่วไปในประเทศเจ้าอาณานิคมอื่น ๆ ด้วย เช่น หนังสือสวีเดน เรื่อง ปิ๊บปี ถุงเท้ายาว ตัวเอกของเรื่องซึ่งก็คือ ปิ๊บปี เป็นเด็กผิวขาว ที่มีพ่อเป็น "ราชาแห่งนิโกร" (สื่อถึงการเป็นนายทาส หรือเจ้าอาณานิคม)

ปิ๊บปี ถุงเท้ายาว เด็กหญิงสุดป่วนจากสวีเดนผู้มีพ่อเป็น "ราชาแห่งนิโกร"

คนผิวสีในตอนนั้นชี้ว่า หนังสือเหล่านี้ทำให้เด็กผิวสีหลายคนเกลียดการอ่าน มีรายงานว่าเด็กบางคนฉีกหนังสือทิ้งด้วยซ้ำ ที่แย่กว่านั้นคือ เด็ก ๆ ถูกทำให้รู้สึกต่ำต้อย และไม่อาจจินตนาการถึงอนาคตที่ดีกว่า น่าภูมิใจกว่า หรือมีความสุขกับอัตลักษณ์และวัฒนธรรมของตัวเองได้ ปัญหานี้นำมาสู่การเรียกร้องให้สนพ. เปลี่ยนวิธีเล่าเรื่องเกี่ยวกับเด็กผิวสีใหม่ ให้เด็กผิวสีเป็นตัวละครหลักและมีภาพลักษณ์ที่ดีขึ้น การเปลี่ยนแปลงเรื่องเล่าในวรณณกรรมเด็กนี้ ยังเป็นจุดเริ่มต้นของ The Brownies' Book นิตยสารสำหรับเด็กผิวสีฉบับแรกในสหรัฐฯ ซึ่งเน้นนำเสนอความสำเร็จของคนผิวสี รวมถึงวัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่เด็กผิวสีคุ้นเคย ช่วยให้เด็ก ๆ จินตนาการภาพอนาคตของตัวเอง หลุดออกไปจากกรอบที่สังคมเหยียดชนชาติพยายามบ่มเพาะพวกเขาขึ้นมา


ปกหนังสือ Brownies' Book ฉบับเดือนมิถุนายน ปี 1920 (พ.ศ. 2463)

ทุกวันนี้ วงการหนังสือเด็กภาษาอังกฤษ (รวมทั้งภาษาอื่น ๆ ในยุโรป) เริ่มมอบบทหลักให้เด็กจากหลากหลายเชื้อชาติมากขึ้น และเล่าเรื่องของพวกเขา ในหนังสือเด็กหลากหลายหมวดขึ้นด้วย ไม่ว่าจะเป็น หมวดแฟนตาซี ไซไฟ สืบสวนสอบสวน ฯลฯ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ และบอกเด็ก ๆ ว่าพวกเขาเป็นอะไรก็ได้ที่อยากเป็น ไม่ว่าจะมีเชื้อชาติใด อย่างไรก็ตาม หนังสือเหล่านี้ก็ยังคงเป็นส่วนน้อยในวงการ และนิตยสาร The Booksellers ของยูเค เมื่อมีนาคมที่ผ่านมานี้ ก็เพิ่งพูดถึงปัญหาว่า นักเขียนชนกลุ่มน้อยหลายคนยังคงต้องเขียนนิยายที่มีตัวละครผิวขาว ชื่ออังกฤษ เพื่อเอาใจตลาดอยู่นั่นเอง

ย้อนกลับมามองที่วงการหนังสือเด็กไทยบ้าง เรามีหนังสือเด็กแนวแฟนตาซี ที่มีสังคมไทยเป็นฉาก และมีเด็กไทยเป็นตัวละครหลักมากแค่ไหน? เด็กในกลุ่มวัฒนธรรมต่าง ๆ ในประเทศไทยรู้สึกเข้าถึง และเป็นส่วนหนึ่งในโลกวรรณกรรมไทย มากพอแล้วหรือยัง? แล้วเพื่อน ๆ ล่ะคะ เคยอ่านหนังสือเด็กแฟนตาซี ที่มีฉากไทย ๆ บ้างหรือเปล่า? แล้วชอบเรื่องไหนกันบ้างคะ? เล่าให้ฟังบ้างน้า ^^ (ส่วนตัวเรา ตอนเด็ก ๆ ชอบเรื่อง "ส้มสีม่วง" "เจ้าชายไม่วิเศษ" กับ "ครุฑน้อย" ของสนพ. อมรินทร์ ล่ะ สองเล่มหลังไม่เชิงว่ามีฉากเป็นประเทศไทย แต่ว่าเบสออนวรรณคดีไทยนะ)

ถ้าตาลเป็นน้องเคน จะขอเสกให้วงการหนังสือเด็กเมืองไทยเจริญ ๆ ค่ะ เพี้ยง ๆ


*บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรก ที่นี่



Comments


bottom of page