top of page
รูปภาพนักเขียนTarn

[FFBF2021] แคว้นกาตาลุนญา แดนสารคดีเด็ก

อัปเดตเมื่อ 28 ก.ย. 2565


แคว้นกาตาลุนญา ภาคเหนือของสเปน

กำลังสร้างชื่อเสียงในสาขาหนังสือสารคดีภาพสำหรับเด็กอย่างต่อเนื่อง

อะไรคือสูตรลับ สำหรับสารคดีภาพที่แปลขายไปแล้วทั่วโลกกันนะ?



Illustrated Non-fiction ของดีแคว้นกาตาลุนญา

จากประสบการณ์ไปอยู่เมืองบาร์เซโลนา แคว้นกาตาลุนญา มาสี่เดือนเศษ

เราพบว่าแคว้นนี้มีอุตสาหกรรมหนังสือเด็กและองค์กรส่งเสริมการอ่านแข็งแกร่งมากค่ะ ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะว่าคนที่นี่มอง "การส่งเสริมการอ่าน" เท่ากับ "การเสริมสร้างอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมและชาติพันธุ์" ของตัวเองให้เป็นอิสระจากสเปน ในบาร์เซโลนาจึงมีร้านหนังสือเด็กอยู่มากมาย และมีสำนักพิมพ์หนังสือเด็กที่ตีพิมพ์หนังสือสวย ๆ ส่งออกต่างประเทศอยู่จำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นหนังสือแนวบันเทิงคดี หรือ สารคดีก็ล้วนแต่แปลกใหม่ นำเทรนด์ และมีภาพประกอบที่สวยงาม


ตัวอย่างหนังสือสารคดีภาพเล่มงาม จากแคว้นนี้


สารคดีภาพสำหรับเด็ก ศิลปะคู่สาระ

ว่ากันว่า หนังสือสารคดีสำหรับเด็กนั้น ยิ่งผู้อ่านอายุน้อยเท่าไหร่ เส้นแบ่งะหว่างความเป็นสารคดีกับบันเทิงคดีก็จะยิ่งเบลอมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะเด็กเล็ก ๆ ยังไม่มีสมาธิมากพอจะจดจ่อกับข้อมูลยาวเป็นพรืดและไม่เกี่ยวกับตัวเขาเอง นักเขียนสารคดีเด็กจึงต้องอาศัยเทคนิคพิเศษหลายอย่างทำให้ผู้อ่านรู้สึกอยากอ่าน อยากรู้ข้อมูล เช่น ร้อยเรียงสาระเข้ากับเรื่องเล่าแฟนตาซีเพื่อล่อให้ผู้อ่านติดตามเรื่องราวอย่างใจจดจ่อว่าจะคลี่คลายปมปัญหาไปได้อย่างไร บางทีก็ต้องสอดแทรกความรู้เข้าไปในเรื่องราวชีวิตประจำวัน สร้างความตื่นเต้น ฉงนสนเท่ห์ และใช้ภาพประกอบช่วยให้เข้าใจเนื้อหาได้ง่ายขึ้น หรือยิงมุกให้ผู้อ่านได้ขำและอยากจำข้อมูลไปเล่าต่อให้เพื่อนฟัง


การให้ความรู้โดยคำนึงถึงความรู้สึก ค่านิยมความเชื่อ ความสนใจ และพฤติกรรมของผู้เรียนแบบนี้ เรียกว่า Affective Learning (Gano-Phillips, 2009) หรือถ้าแปลเป็นไทยคร่าวก็น่าจะเป็น "การเรียนรู้บนฐานจิตพิสัย" ค่ะ อย่างไรก็ตาม การนำเสนอข้อมูลแบบเคลือบความสนุกสนานแฟนตาซีก็ใช่ว่าจะไม่มีข้อเสียซะทีเดียวนะ เพราะบางทีเด็กก็แยกไม่ออกว่าส่วนไหนคือข้อเท็จจริง ส่วนไหนเป็นแค่เรื่องกุขึ้นมาสนุก ๆ บางทีเด็กก็จำได้แค่เรื่องสนุก แต่จำสาระไม่ได้ (Fisch, 2004) ดังนั้น หนังสือ/สื่อสารคดีสำหรับเด็กเล็กซึ่งยังค้นคว้าหาข้อมูลเองไม่เป็นหรือไม่คล่อง จึงควรมีเชิงอรรถ, หน้าพิเศษ, หรือเทคนิคพิเศษอะไรก็ได้ที่ชี้แจงให้เด็กหรือผู้ปกครองของเด็กทราบตรง ๆ ว่า ส่วนไหนในหนังสือบ้างที่เป็นเรื่องจริง โดยไม่ทำให้เด็กเสียอรรถรสในการอ่านหรือรับชมเรื่องราว

ปรากฏการณ์ทะเลกรด (Ocean Acidification)

ถูกนำเสนอในรูปของสัตว์ประหลาดใต้น้ำชื่อ Agriamares

ในหนังสือเรื่อง SOS Monstruos verdaderos


หลังจากที่ดึงความสนใจเด็กให้อยากรู้เรื่อง "ไกลตัว" ได้แล้ว หากหนังสือทำให้เด็กเข้าใจว่า "ทำไมต้องรู้เรื่องนี้" ได้ด้วยละก็ จะเป็นประโยชน์สูงสุดต่อผู้อ่านเลยค่ะ เพราะนอกจากจะช่วยให้เด็กอยากจดจำข้อมูลแล้ว ยังรู้ด้วยว่าจะเอาข้อมูลไปประยุกต์ใช้ต่ออย่างไรได้บ้าง

ขั้นตอน "รู้ไปทำไม" นี้ ไม่จำเป็นต้องไปบอกเขาตรง ๆ ท้ายเล่มนะคะว่า เรื่องนี้สอนให้รู้ว่าอะไร (หมดกัน... เด็กเลยไม่ต้องคิดอะไรเองเลย) หนังสือที่มีชั้นเชิงจะค่อย ๆ หล่อหลอมมุมมอง ทักษะ และความสนใจต่อเรื่องบางเรื่องไปด้วยระหว่างที่เด็กกำลังอ่าน เช่น ความช่างสังเกต ชอบตั้งคำถาม กล้าคิดนอกกรอบ รักความยุติธรรม อารมณ์ดี ขี้เล่น ฯลฯ โดยส่วนตัวแล้ว เราคิดว่าวิธีการแสดงให้ดู ชวนให้คิด และกระตุ้นให้ลงมือปฏิบัติ มันฉลาด มีเสน่ห์ และลุ่มลึกกว่าการสอนปากเปล่าเยอะเลยละ


GRANS FUGUES DE LA HISTÒRIA นำเสนอประวัติศาสตร์น่าสนใจ

ในธีม "การหลบหนีครั้งใหญ่ในอดีต" นับว่าเป็นธีมที่แปลกประหลาดและไกลตัว

แต่เลย์เอาท์หนังสือพิมพ์ที่ดูแปลกตาก็ช่วยดึงความสนใจคนอ่านได้ดี

ด้วยความที่ Non-fiction หรือ สารคดีเด็กเป็นหัวข้อโปรดของเรา เราก็เลยจะเขียนรีิวิวและวิเคราะห์หนังสือยาวหน่อย ใครสนใจติดตามอ่านได้ในบทความถัด ๆ ไปนะคะ

หนังสือที่เลือกมามีอยู่ 5 เล่มด้วยกัน ได้แก่



หนังสือที่เราจะแนะนำในบทความต่อ ๆ ไปค่ะ



ชอบเล่มไหน ช่วยกันกดหัวใจ เพื่อเป็นกำลังใจให้สนพ. ที่ผ่านเข้ามาด้พิจารณาแปลและตีพิมพ์หนังสือเล่มนั้นในบ้านเราด้วยน้า

ว่าแต่ เพื่อน ๆ คิดว่า มีหัวข้ออะไรอีกบ้างไหมคะที่ผู้อ่านเด็ก ๆ ควรรู้แต่น่าจะยากต่อการนำเสนอ

แชร์ไอเดียกันเข้ามาได้นะคะ

*บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรก ที่นี่

อ้างอิง Gano-Phillips, Susan. “Affective Learning in General Education.” Special Topic: Assessment in University General Education Program, vol. 6, no. 1, 2009, pp.1-43 Fisch, S. M. (2004). Children's Learning From Educational Television: Sesame Street and Beyond. L. Erlbaum Associates. https://ebookcentral.proquest.com/lib/gla/detail.action...

ดู 6 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page