หลายคนมองวิชาประวัติศาสตร์เป็นเรื่องน่าเบื่อ
แต่แปลกไหม ที่ประวัติศาสตร์นอกห้องเรียนมักจะน่ารู้ น่าสนุกอยู่เรื่อย
โดยเฉพาะเรื่องราวที่ทั้งแปลก ทั้งฉลาด ของพวกสายลับ ไก่รองบ่อน และโจรสมองใส
หนังสือจากสเปนใน Frankfurt Book Fair (หรือในเทศกาลหนังสืออื่น ๆ) ค่อนข้างจะพิเศษกว่าประเทศอื่น ตรงที่หนังสือประเทศนี้จะถูกจัดแสดงในบูธย่อย ๆ แบ่งแยกเป็นแคว้น ๆ ไป เช่น แคว้นกาตาลุนญา แคว้นวาเลนเซีย ฯลฯ เพราะแต่ละแคว้นเขามีภาษาถิ่นและวัฒนธรรมเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง (และอาจต้องการแยกตัวเป็นเอกราชด้วย)
การออกบูธหนังสือจึงไม่ได้เป็นแค่เรื่องของการค้า แต่เป็นการประกาศจุดยืนของแคว้นในการรักษาอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ของตนอย่างมั่นคงและกล้าหาญค่ะ
ในบรรดาสารคดีเด็กแจ่ม ๆ ทั้งหลายจากแคว้นกาตาลุนญา เราได้เลือกหนังสือเด่น ๆ มา 5 เล่มที่มาพร้อมธีมและเทคนิคการเล่าเรื่องที่แปลกใหม่น่าสนใจ ว่าแล้วก็มาเริ่มกันเลยค่ะ
วันนี้ เราจะรีวิวเรื่อง GRANS FUGUES DE LA HISTÒRIA ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์แปลก ๆ ของเหล่าคนที่ครูสอนประวัติศาสตร์ไม่ค่อยเล่าให้เราฟังในห้องเรียน
ใครว่าเรื่องในอดีตมันน่าเบื่อ ต้องมาลองอ่านเล่มนี้เลยค่ะ
ข้อมูลหนังสือ
GRANS FUGUES DE LA HISTÒRIA (The Grand Escapes of History)
เขียนโดย: Soledad Romero Mariño
วาดโดย: Julio Antonio Blasco
ตีพิมพ์โดย: Zahorí Books
ปี: 2021
ความโดดเด่น
หนังสือเล่มนี้นำเสนอประวัติศาสตร์น่าสนใจในธีม "การหลบหนีครั้งใหญ่ในอดีต" นับว่าเป็นธีมที่แปลกประหลาดและไกลตัวเด็กไม่ใช่น้อย แต่ถ้ามองในอีกแง่หนึ่ง เรื่องราวชิงไหวชิงพริบ พลิกผัน ไม่น่าเชื่อแบบนี้แหละคือสิ่งที่กระตุ้นความอยากรู้อยากเห็น และความสนุกในการอ่านของเด็ก ๆ (Coates & Coates, 2020; Loizou, 2005; Loizou & Loizou, 2019; Lyon, 2006)
การหลบหนีอันทรหดของ Henry Box Brown ทาสในสหรัฐอเมริกา
ผู้ยัดตัวเองลงกล่องพัสดุ แล้วส่งตัวเองออกจากรัฐที่ใช้แรงงานทาส ตรงไปยังรัฐที่เลิกทาสแล้ว
การเลือกนำเสนอประวัติศาสตร์เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย จากมุมของสามัญชน หรือแม้กระทั่ง "ผู้ต้องขัง" หรือ "ผู้ทีถูกทำให้เสียอิสรภาพ" ไม่ว่าจะเป็น "อาชญากร" หรือ "ผู้บริสุทธิ์" (เช่น การหลบหนีของทาส และ การหลบหนีของผู้ต้องขังทางศาสนา) ก็ตาม เป็นการเปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ได้มองประวัติศาสตร์ในแง่มุมที่ต่างออกไปจากประวัติศาสตร์กระแสหลักที่เรียนกันในห้องเรียน และสามารถเชื่อมโยงตัวเองเข้ากับองค์ความรู้ประวัติศาสตร์ได้ในหลายรูปแบบมากขึ้น เช่น การเรียนรู้ประวัติศาสตร์จำเป็นต้องเรียนรู้เฉพาะเรื่องรัฐ กษัตริย์ วีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่อย่างเดียว แต่วิชาประวัติศาสตร์ยังครอบคลุมข้อผิดพลาดต่าง ๆ ของมนุษย์ ความอยุติธรรม เรื่องราวผิดแผน ไปจนถึงบทเรียนจากความล้มเหลวในการบังคับใช้กฎระเบียบ ฯลฯ ด้วย
การหลบหนีของคาสโนวา (ตัวจริง) จากคุก The Leads ในเวนิส
ซึ่งเขาถูกจำขังในสภาพทารุณด้วยข้อหา "ใช้ชีวิตโลดโผนไร้ศีลธรรมเป็นภัยต่อศาสนา"
หัวหน้าแก๊งมาเฟีย Dillinger หลบหนีจากคุกพร้อมกับปืนปลอมที่ทำจากเศษไม้
ก่อนจะพบกับจุดจบที่โรงหนังหลายปีต่อมา หลังจากรับชมภาพยนต์มาเฟียกับแฟนสาว
สำหรับกลวิธีนำเสนอข้อมูลในหนังสือเล่มนี้ ใช้การจัดเลย์เอาต์เล่าเรื่องเหตุการณ์ประวัติศาสตร์บนหนังสือพิมพ์ นอกจากจะช่วยเชื่อมโยงผู้อ่านยุคปัจจุบันเข้ากับเหตุการณ์ในอดีตได้อย่างแนบเนียน เหมือนได้ย้อนเวลากลับไปอ่านเรื่องราวที่เพิ่งเกิดขึ้นสด ๆ ผ่านหนังสือพิมพ์สมัยนั้น การจัดเลย์เอาต์ยังบอกใบ้ผู้อ่านถึงวิธีหาข้อมูลประวัติศาสตร์อย่างหนึ่ง ซึ่งก็คือ การอ่านเอกสารทางประวัติศาสตร์ เช่น หนังสือพิมพ์เก่า ๆ นั่นเอง
Robos de Leyenda (The Legendary Robbery) หรือ การขโมยครั้งประวัติศาสตร์
เป็นหนังสือที่มาคู่กันกับเล่มนี้ค่ะ ใช้เทคนิคเล่าเรื่องผ่านหน้าหนังสือพิมพ์เหมือนกันเลย
แล้วประวัติศาสตร์ไทยล่ะคะ มีเรื่องสนุก ๆ อะไรที่ครูยังไม่ได้เล่าให้ห้องเรียนบ้างนะ?
*บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรก ที่นี่
อ้างอิง
Coates, E., & Coates, A. (2020). ‘My Nose Is Running Like a Pound of Butter’: Exploring Young Children’s Humour. Early Child Development and Care, 190(13), 2119-2133. https://doi.org/10.1080/03004430.2018.1561443
Loizou, E. (2005). Infant Humor: the Theory of the Absurd and the Empowerment Theory. International journal of early years education, 13(1), 43-53. https://doi.org/10.1080/09669760500048329
Loizou, E., & Loizou, E. K. (2019). Children’s Visual and Verbal Humorous Productions after Participating in a Series of Creative Activities, Framed by the Theory of the Absurd and the Empowerment Theory. In E. Loizou & S. L. Recchia (Eds.), Research on Young Children’s Humor: Theoretical and Practical Implications for Early Childhood Education (pp. 107-126). Springer International Publishing. https://doi.org/10.1007/978-3-030-15202-4_7
Lyon, C. (2006). Humour and the young child A review of the research literature.
Kommentare