เรื่องราวปริศนาสนุก ๆ ชวนให้เด็กขบคิดแก้ปัญหาและใช้เหตุผลคลี่คลายคดี
น่าเสียดาย ที่หนังสือแบบนี้ไม่ค่อยได้รับการตีพิมพ์เท่าไหร่แล้วในบ้านเรา
หนังสือจากสเปนใน Frankfurt Book Fair (หรือในเทศกาลหนังสืออื่น ๆ) ค่อนข้างจะพิเศษกว่าประเทศอื่น ตรงที่หนังสือประเทศนี้จะถูกจัดแสดงในบูธย่อย ๆ แบ่งแยกเป็นแคว้น ๆ ไป เช่น แคว้นกาตาลุนญา แคว้นวาเลนเซีย ฯลฯ เพราะแต่ละแคว้นเขามีภาษาถิ่นและวัฒนธรรมเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง (และอาจต้องการแยกตัวเป็นเอกราชด้วย)
การออกบูธหนังสือจึงไม่ได้เป็นแค่เรื่องของการค้า แต่เป็นการประกาศจุดยืนของแคว้นในการรักษาอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ของตนอย่างมั่นคงและกล้าหาญค่ะ
ในบรรดาสารคดีเด็กแจ่ม ๆ ทั้งหลายจากแคว้นกาตาลุนญา เราได้เลือกหนังสือเด่น ๆ มา 5 เล่มที่มาพร้อมธีมและเทคนิคการเล่าเรื่องที่แปลกใหม่น่าสนใจ ว่าแล้วก็มาเริ่มกันเลยค่ะ
วันนี้ เราจะรีวิวเรื่อง LA BARBERÍA CLUB ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับคดีฆาตกรรม มาเฟีย และอเมริกายุคเดียวกับ The Great Gatsby ค่ะ บรึ๋ย... นี่มันหนังสือเด็กแน่เหรอเนี่ย!?
ข้อมูลหนังสือ
LA BARBERÍA CLUB (The Barberia Club)
เขียนโดย: Soledad Romero Mariño
วาดโดย: Xiana Teimoy
ตีพิมพ์โดย: Mosquito Books Barcelona
ปี: 2020
ความโดดเด่น
หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือแนวบันเทิงคดี สืบสวนคดีฆาตกรรม ณ ไนต์คลับลับแห่งหนึ่งในกรุงนิวยอร์ก ช่วงปี 1920s ยุคมาเฟียครองเมือง นอกจากจะให้ข้อมูลเกี่ยวกับอเมริกายุค Roaring Twenties แทรกไปกับเนื้อเรื่องแล้ว ยังมีโครงเรื่องล้อไปกับหนังสือแนวสืบสวนที่ผู้ใหญ่อ่านกันด้วย โดยในแต่ละหน้า จะมีเกมเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้เด็กได้ค้นหาหลักฐานเพื่อหาตัวคนร้ายที่ทำการฆาตกรรมหัวหน้าแก๊งมาเฟียในงานวันเกิดของเขา
เมื่อหัวหน้าแก๊งมาเฟียถูกยิงขณะเป่าเค้กวันเกิด ตายคาที่
แขกที่นั่งร่วมโต๊ะเขากลายเป็นผู้ต้องสงสัยรายสำคัญ
สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้ มีอยู่อย่างน้อย 2 ประเด็นค่ะ
อย่างแรกคือ การนำเสนอเรื่องราวสืบสวนคดีฆาตกรรมในรูปแบบ "หนังสือภาพ" ซึ่งเป็นรูปแบบที่มีภาพจำว่าเป็นของ"เด็กเล็ก" เท่านั้น แต่จริง ๆ แล้วหนังสือภาพบางเล่มก็ทำมาให้เด็กโตอ่าน หรือกระทั่งผู้ใหญ่อ่านก็มีค่ะ การที่เราจะแยกแยะว่าหนังสือเล่มนี้เหมาะกับคนอ่านกลุ่มอายุเท่าใดก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยด้วยกัน ทั้งเนื้อหา ภาพวาด การใช้ภาษา ว่าชวนให้คนกลุ่มไหนเข้าใจมากกว่ากัน ไปจนถึงการนำเสนอหนังสือเล่มนั้น ๆ สู่สายตาผู้อ่าน เช่น ถ้าจะแนะนำแฮร์รี่ พอตเตอร์ ให้เด็กที่ยังอ่านหนังสือไม่คล่อง อาจจะต้องมีผู้ใหญ่คอยอ่านให้ฟังก่อน หรืออ่านไปด้วยกัน เป็นต้น
สำหรับเล่มนี้ เราคิดว่าเนื้อหา/ภาษาน่าจะเหมาะกับเด็กอายุประมาณ 8-9 ขวบขึ้นไปนะ แต่ด้วยความที่มันไม่มีภาพน่ากลัว สะเทือนใจอะไร เราว่าถ้าเด็กอ่านเก่ง ๆ หน่อย อาจจะอ่านเข้าใจได้ตั้งแต่ 7 ขวบ
Voldemar นักสืบหญิงตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุ และจดบันทึกหลักฐานน่าสงสัยตามจุดต่าง ๆ
ประเด็นที่สองที่อยากพูดถึงคือ การหยิบยืมแพตเทิร์นของวรรณกรรม genre อื่น ๆ มาใช้ในหนังสือภาพสำหรับเด็ก เป็นเทคนิคที่ช่วยให้เด็กได้ค้นพบหนังสือแนวใหม่ ๆ และขยายขอบเขต/ประสบการณ์การอ่านออกไปให้กว้างขวางยิ่งขึ้น (ทำนองเดียวกับเรื่อง GRANS FUGUES DE LA HISTÒRIA ที่ใช้แพตเทิร์นหนังสือพิมพ์เก่าเล่าข้อมูลเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การหลบหนี)
หลักฐานต่าง ๆ ก็เช่น ปืนในเปียโน, รูปภาพแอบถ่ายของลูกสาวมาเฟียกับนักเปียโนผิวสี,
เงินติดสินบนให้ล้มมวยที่นักมวยชื่อดังได้รับ
หนังสือภาพสืบสวนสำหรับเด็กอย่างเล่มนี้มีประโยชน์หลายอย่างเลยค่ะ ทั้งช่วยฝึกให้ผู้อ่านใช้ความช่างสังเกต ช่างสงสัย และการใช้ตรรกะ หาหลักฐานมาอธิบายสถานการณ์ตรงหน้า ในสมัยเราเป็นเด็ก เราอ่านหนังสือแปลแนวนักสืบเล่มบาง ๆ สำหรับเด็ก 7-9 ปีหลายเล่มมาก เช่น ชุดสารวัตรยอดนักสืบ เจ็ดสหายยอดนักสืบ ไทเกอร์ทีม ปริศนาคฤหาสน์ผีสิง ปริศนาห้องทดลอง ฯลฯ
จากหลักฐานเหล่านี้ นำไปสู่ข้อสันนิษฐานประการต่าง ๆ
น่าเสียดายที่เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยเห็นหนังสือเด็กแนวนี้เท่าไหร่ ดูเหมือนว่าเทรนด์ในไทยจะค่อย ๆ เลือนหายไปแล้วตามกาลเวลา แต่ในประเทศอื่น อย่างเช่นญี่ปุ่นนี่ตรงกันข้ามนะคะ "นักสืบ" ยังคงเป็นธีมที่สร้างความประทับใจให้เด็ก ๆ ได้อย่างต่อเนื่อง เช่น นักสืบจิ๋วโคนัน หรือ นักสืบหน้าก้น (Oshiri Tantei) นี่ก็ยังคงความโด่งดังไว้อย่างเสมอต้นเสมอปลายค่ะ
หนังสือไขคดีตลก ๆ ชุด นักสืบหน้าก้น ที่ป็อบปูล่าร์มากในญี่ปุ่น
ย้อนกลับมาที่ไทย ถ้าประเทศเราจะทำหนังสือภาพแนวสืบสวนแบบไทย ๆ บ้าง
จะเป็นเรื่องอะไร ใช้ตัวละครอะไรดีนะเนี่ย เพื่อน ๆ คิดว่าอย่างไรคะ?
*บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรก ที่นี่
Comments