มีหนังสือเด็กไม่กี่เล่มในไทย ที่กล้าพูดเรื่องจริงที่โหดร้าย
ที่เด็กหลาย ๆ คนบนโลกนี้กำลังเผชิญ
"เมื่อสงครามมาเยือน" เล่าเรื่องของเด็กผู้ลี้ภัยได้อย่างไร้เดียงสา
น่าสะเทือนใจ และทรงพลัง และเราหวังว่า จะได้ส่งต่อความรู้สึกนี้ให้ผู้อ่านในไทยค่ะ
ปกและฟอนต์ที่แสนสวยงาม ❤️
"เมื่อสงครามมาเยือน" กับกระบวนการแปลบทกลอนสะเทือนใจ
หลังจากที่เราลงรีวิวหนังสือเล่มนี้ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คุณทราย เจ้าของสนพ. SandClock Books ก็กรุณาติดต่อมา ถามว่าอยากแปลด้วยเลยมั้ย ต้องขอบคุณคุณทรายมาก ๆ เลยค่ะ ที่ให้โอกาสตาลได้แปลหนังสือที่ตัวเองชอบมาก ๆ เล่มนี้
และแล้ว หนังสือเรื่อง "เมื่อสงครามมาเยือน" (The Day War Came) ก็ได้เปิดพรีออร์เดอร์แล้วนะคะ
นอกจากปกจะสวย เลย์เอาต์จะดีแล้ว
การทำงานกับพี่แต้ว บ.ก. เล่ม เป็นไปอย่างราบรื่นและสนุกมากค่ะ
ก็เลยจะมาแชร์กระบวนการแปลและทำงานร่วมกับบ.ก. สักหน่อย
หนังสือเล่มนี้มีลักษณะเป็นกลอนภาษาอังกฤษ ซึ่งไม่ได้เน้นสัมผัสระหว่างบทแบบไทย แต่ได้อรรถรสจากการแบ่งวรรค และการใช้ถ้อยคำง่าย ๆ สั้น ๆ ที่ให้จินตภาพ/อารมณ์
ตอนแปลดราฟต์แรก เราเลยใช้วิธีแปลไปอ่านออกเสียงไป ขอบอกเลยว่า ถึงเราจะเคยอ่านมาแล้ว แต่ตอนแปลรอบแรก ๆ เราก็ยังแปลไปน้ำตาซึมไปด้วยอยู่ดี เลยอยากแชร์ความสะเทือนใจให้ผู้อ่านโดยทั่วกันค่ะ (555)
วันที่่สงครามมาเยือน
ดอกไม้ยังคงตั้งอยู่บนขอบหน้าต่าง
พ่อร้องเพลง กล่อมน้องชายตัวน้อยของหนููนอนหลับปุ๋ย
แม่ทำอาหารเช้าให้ แล้วจุ๊บหนูตรงปลายจมูก
ก่อนจะเดินพาหนู ไปส่งโรงเรียน
พอแปลเสร็จ เราก็อ่านออกเสียงทั้งเล่ม อัดเทปเก็บไว้สักสองสามวันก่อนจะเปิดฟังอีกที แล้วค่อยลงมือแก้เป็นดราฟต์สอง ดราฟต์สองนี้ เราไม่ฟังเองแล้ว แต่เอาไปอ่านให้พ่อแม่ คุณป้า ๆ และเพื่อน ๆ พี่ ๆ เราฟังค่ะ เพื่อให้ชัวร์ว่า เราจะไม่ได้สะเทือนใจคนเดียวแน่ ๆ 555 ต้องขอบคุณทุก ๆ คนที่ช่วยฟังเราอ่านแล้วคอมเมนต์นะคะ เป็นประโยชน์มาก ๆ เลย ในขั้นตอนนี้ เราตั้งธงไว้ว่า ถ้าทำให้คนอ่านส่วนใหญ่ฟังแล้วสะอึก หรือเศร้าใจได้ แปลว่าแปลออกมาได้โอเคแล้วในระดับหนึ่ง
แรกเริ่่ม สงครามฟังราวกับลูกเห็บตกกราว
ราวกับเสีียงฟ้าครื้นครั่น…
ตามด้วยกลุ่มควัน เปลวไฟ และ เสียงอะไรๆ ที่หนูไม่เคยได้ยิน
จบสามดราฟต์จากฝั่งนักแปล
พอส่งไปถึงบ.ก. เราก็มีการโยนไอเดียกันไป ๆ มา ๆ ต่อค่ะ
บ.ก. เข้ามาทำให้งานแปลสมบูรณ์ขึ้นมาก ๆ
ช่วยปิดช่องโหว่หลาย ๆ อย่าง เช่น ความสอดคล้องกับภาพประกอบ
การใช้คำซ้ำเพื่อให้ได้คำแปลที่มีพลังมากขึ้น และอื่น ๆ
เราแก้งานกันไปกันมาสองสามครั้ง อธิบายเหตุผลว่าทำไมอยากให้คำแปลเป็นแบบนี้ หรือทำไมมันไม่ควรจะเป็นแบบนี้ บางจุดที่ยังนึกไม่ออกว่าแปลให้ดีขึ้นยังไงดีก็เก็บไปคิดสักวันสองวัน แล้วกลับมาเสนอกันใหม่ ทำให้รู้สึกว่าเราเป็นทีมเดียวกัน และได้พัฒนาตัวเองไปด้วย
หนึ่งในหนังสือเด็กธีมสงคราม ไม่กี่เรื่องในไทย
หนังสือเด็กเกี่ยวกับสงคราม/ผู้ลี้ภัย อาจจะดูเป็นเรื่องแปลกสำหรับกลุ่มผู้อ่านในไทยที่ยังมักจะคาดหวัง ว่าหนังสือเด็กจะต้องมีแต่เรื่องสนุกสนาน ขำขัน ไม่ก็สอนจริยธรรม หรือเสริม EF แต่จริง ๆ แล้ว หนังสือหลายเล่มไม่ได้เสริมแค่ EF เท่านั้นนะคะ EF เป็นเกณฑ์ที่ดี แต่ไม่ใช่ทุกอย่าง ประเทศอื่นเค้าก็มีเกณฑ์อย่างอื่น ๆ เช่น SEL ที่เน้นการจัดการอารมณ์ การสื่อสารกับผู้อื่น รู้จักวิพากษ์ตัวเอง หรือบางที่ก็ไม่ใช้เกณฑ์อะไรเลยในการทำมาร์เก็ตติ้ง ทำให้หนังสือเด็กมีความหลากหลาย ไร้ข้อจำกัดมากขึ้น เชื่อมโยงกับสถานการณ์ปัจจุบัน และตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนไปของเด็กและสังคม (ไม่ใช่แค่พ่อแม่) เช่น หนังสือเล่มนี้เสริม empathy ความเข้าอกเข้าใจอารมณ์ของผู้อื่นที่ตกอยู่ในสถานการณ์/บริบทแตกต่างจากตัวเอง ขณะเดียวกันก็เล่าความจริงให้กับเด็ก ๆ ฟังด้วย ว่าเกิดอะไรขึ้นกับเด็กจริง ๆ ในโลกใบนี้ (เล่าจากเรื่องจริง)
หนูหนีหัวซุกหัวซุนไปตามทุ่ง ตามทาง ตามทิวเขา
ฝ่าอากาศเหน็บหนาว พราวฝน และโคลนเลน
ขึ้นรถบรรทุก ต่อรถโดยสาร
อาศัยไปในเรือลำผุ รั่วจวนจะจม
จนมาถึงหาดทรายขาวที่่มีรองเท้าไร้เจ้าของ
สุดท้ายนี้ เราดีใจมากที่สนพ. SandClock Books เลือกหนังสือเล่มนี้มาแปลค่ะ
หนังสือเด็กแนวนี้ยังหายากมากในไทย ทั้งที่ประเทศเราเป็นทางผ่านผู้ลี้ภัยมาตลอดตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน แต่เหตุการณ์ที่ผ่านมาหลาย ๆ ครั้ง ก็ทำให้เห็นว่า เราแทบไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับผู้ลี้ภัย คอมเมนต์ออนไลน์บางทีเรียกได้ว่า ไร้ความเมตตากรุณา หรือความพยายามจะเข้าใจผู้ลี้ภัยโดยสิ้นเชิง
เราหวังว่า หนังสือเล่มนี้จะได้ไปอยู่ในห้องสมุด ในโรงเรียน ในหลาย ๆ บ้าน และเป็นจุดเริ่มต้นของการแปลหนังสือเด็กสะท้อนสังคม ให้มากยิ่ง ๆ ขึ้นไปนะคะ
โฆษณาเลยละกัน เข้าไปพรีออร์เดอร์กันได้นะคะ หนังสือเล่มนี้ปกแข็ง ราคา 290 บาทค่า ฝากตัวและหนังสือเล่มนี้ไว้ในอ้อมใจด้วยนะคะทุกคน
ปล. ทางสนพ. เค้ามีหนังสือออกใหม่อีก 2 เล่มด้วยนะเดือนนี้ เข้าไปดูกันได้นะคะ น่ารัก ๆ ทั้งนั้นเลย
*บทความนี้ตีพิมพ์ในเฟสบุ๊กเพจ Children's Books Out There ที่นี่
Comments