top of page
รูปภาพนักเขียนTarn

"เมื่อสงครามมาเยือน" เด็ก ๆ ต้องเจออะไร แล้วคุณล่ะทำอะไรบ้าง

อัปเดตเมื่อ 28 ก.ย. 2565

หนังสือภาพคำกลอนน่าสะเทือนใจ ที่ได้รับแรงบันดาลใจ

จากสถานการณ์การเมืองและสังคมในอังกฤษ

กลายเป็นการเคลื่อนไหวทางสังคมของนักวาด-นักเขียน

เพื่อเรียกร้องให้ประเทศให้ที่พักพิงแก่เด็ก ๆ ซีเรีย


ที่ผ่านมามีหนังสือเด็กหลายเล่มจากหลายประเทศ ที่พูดถึงการลี้ภัยและสงคราม

โดยเฉพาะประเทศที่เป็นจุดหมายปลายทางของผู้ลี้ภัย เพราะจำนวนผู้ลี้ภัยที่เพิ่มขึ้น เป็นหัวข้อพูดคุยสำคัญ (รวมถึงประเด็นถกเถียง) ของคนในสังคม คนเขียนหนังสือเด็ก โรงเรียน และผู้ใหญ่ที่บ้าน ไม่สามารถเพิกเฉยต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และปิดบังเรื่องนี้จากเด็ก ๆ ได้อีกต่อไป


หนังสือที่ตาลจะแนะนำให้รู้จักในวันนี้ เป็นหนังสือภาพจากประเทศสหราชอาณาจักร เรื่อง The Day War Came (เมื่อสงครามมาเยือน) เขียนโดยคุณ Nicola Davies และวาดโดยคุณ Rebecca Cobb ตีพิมพ์กับสนพ. Walker Books ปี 2018 ค่ะ


วันหนึ่ง สงครามก็มาถึงเมืองของเด็ก ๆ แล้วโรงเรียนก็ถูกทำลาย


The Day War Came เป็นเรื่องของเด็กหญิงคนหนึ่ง

ซึ่งเคยมีชีวิตปกติ มีความสุข อยู่กับครอบครัวที่รักใคร่กลมเกลียว และไม่ได้เดือดร้อนลำบากอะไร

เธอไปโรงเรียน เรียนเรื่องใหม่ ๆ และมีความฝันที่สวยงาม มีชีวิตอย่างที่เด็กคนหนึ่งควรจะมี

แต่แล้ว วันหนึ่ง สงครามก็มาถึงเมืองของเธอ โรงเรียนถูกทำลาย บ้านเมืองถูกทำลาย ไม่เหลืออะไรอีกเลย

เธอเดินทางหนีสงคราม มาพบกับเด็กคนอื่น ๆ เด็กเหล่านั้นได้ไปโรงเรียน แต่ที่นั่นไม่มีที่พอสำหรับเธอ

"เรามีเก้าอี้ไม่พอ" ครูบอก


เด็กหญิงเดินคอตกกลับไป แต่ไม่นานนัก เด็ก ๆ ที่โรงเรียนก็มาหาเธอ พวกเขาเอาเก้าอี้มาให้ ตอนนี้ในห้องมีเก้าอี้มากเกินพอ ให้เด็ก ๆ คนไหนก็ได้ ได้มาโรงเรียน และเจอเพื่อน ๆ อย่างที่พวกเขาต้องการ



จากบทกลอนในหนังสือพิมพ์สู่หนังสือภาพ

หนังสือภาพ The Day War Came พัฒนาขึ้นมาจากบทกลอน ซึ่งคุณ Nicola Davies แต่งลงในหนังสือพิมพ์ The Guardian ในปี 2016 เพื่อตอบโต้การลงคะแนนเสียงส่วนใหญ่ในรัฐสภาอังกฤษ นำโดยสมาชิกส่วนมากของพรรคอนุรักษ์นิยม ที่ตัดสินใจจะว่าจะไม่รับเด็ก ๆ ผู้ลี้ภัยจากซีเรีย จำนวน 3,000 คน เข้าประเทศ

(อ่านข่าวเพิ่มเติมได้ที่ https://www.theguardian.com/.../tories-vote-against...)


เด็ก ๆ ผู้ลี้ภัยเหล่านี้ เป็นเด็กที่สูญเสีย หรือพลัดหลงจากผู้ปกครอง ครอบครัว ทำให้ไม่มีผู้ใหญ่คอยดูแล (unaccompanied child refugees) พวกเขารอดชีวิตมาถึงบางประเทศในยุโรป เช่น กรีซ และ อิตาลี แต่บ้านพักเด็กหลายแห่งรับเด็กผู้ลี้ภัยเต็มอัตราหมดแล้ว รายงานจากองค์กรคุ้มครองเด็กต่าง ๆ ชี้ให้เห็นว่า เด็ก ๆ ที่ขาดที่พักพิงเหล่านี้ กำลังเสี่ยงตกไปอยู่ในมือของขบวนการค้ามนุษย์และธุรกิจค้าบริการทางเพศ องค์กรการกุศล เช่น Save the Children และผู้คนมากมายในสหราชอาณาจักรจึงพยายามเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือเด็ก ๆ อย่างเร่งด่วน


บ้านเมืองพังราบเป็นหน้ากลอง แล้วชีวิตของเด็กคนหนึ่งก็ไม่เหลืออะไรอีกเลย


สภาสูง (The House of Lords) รับข้อเสนอมาพิจารณาและโหวตให้รับเด็ก ๆ เข้าประเทศ อย่างไรก็ตาม ในการประชุมของสภาล่าง (The House of Commons) ผู้แทนจากพรรคอนุรักษ์นิยม (ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล) ส่วนมาก ลงคะแนนปฏิเสธการช่วยเหลือเด็ก ๆ เพราะเกรงว่าประเทศจะต้องรับผู้ลี้ภัยเพิ่มจากยุโรปอีกในอนาคต พวกเขาอ้างว่า เด็ก ๆ ได้ที่พักที่ปลอดภัยแล้วในยุโรป การขอรับตัวเด็ก ๆ มา อาจเป็นการหยามหน้าประเทศเหล่านั้นได้ว่าให้ความช่วยเหลือไม่ดีพอ หรือแม้กระทั่งสร้างแรงจูงใจผิด ๆ ให้พ่อแม่ปล่อยลูกเดินทางมากับ "นายหน้า" ตามลำพัง เพื่อหาทางเข้าสหราชอาณาจักร

(อ่านข่าวเพิ่มเติมได้ที่ https://www.theguardian.com/.../david-cameron-rejects...)



แรงบันดาลใจจากข่าว

คุณ Nicola เล่าว่าแรงบันดาลใจในการแต่งบทกลอน The Day War Came นอกจากจะมาจากเรื่องการโหวตไม่รับเด็ก 3,000 คนเข้าประเทศแล้ว ยังมาจากข่าวเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยเด็กที่เธอได้ยินมาในช่วงใกล้ ๆ กัน ว่า เด็กคนหนึ่งในค่ายผู้ลี้ภัย เดินไปยังโรงเรียนใกล้ ๆ ค่ายเพื่อขอเข้าเรียน แต่กลับถูกปฏิเสธ โดยโรงเรียนให้เหตุผลว่า มีเก้าอี้ไม่พอ วันต่อมา เด็กคนนั้นกลับมาที่โรงเรียนอีกครั้งพร้อมกับเก้าอี้หัก ๆ ตัวหนึ่ง


แม้จะจำไม่ได้ว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นที่ไหน แต่คุณ Nicola บอกว่าเรื่องมันเศร้าเกินกว่าที่จะทนเฉยได้ เธอเขียนกลอนขึ้นมา แล้วส่งให้ The Guardian

กลอนบทนี้จับใจผู้อ่านมากมาย

คุณ Nicola ยังได้บอกเพื่อน ๆ นักเขียน นักวาดหนังสือเด็ก และศิลปินคนอื่น ๆ ที่โกรธเคืองกับการตัดสินใจของรัฐบาล ให้ร่วมกันประท้วงด้วยการวาดภาพ "เก้าอี้ว่าง" และแชร์บนโซเชียลมีเดีย พร้อมติดแฮชแท็ก #3000chairs

(อ่านกลอนของคุณ Nicola ได้ที่ https://www.theguardian.com/.../the-day-the-war-came-poem...)

(ดูภาพบางส่วนจากการรณรงค์ #3000chairs ได้ที่ https://www.theguardian.com/.../3000chairs-empty-chairs...)

นักเขียนและนักวาดชวนเราจินตนาการถึงตอนจบที่ดีกว่า สำหรับเด็ก ๆ ผู้ลี้ภัยทั่วโลก



เด็ก ๆ ได้บ้านใหม่

การตัดสินใจไม่รับผู้ลี้ภัยเด็กเข้าประเทศของรัฐบาลในครั้งนั้น ทำให้รัฐบาลถูกประณามอย่างหนัก ผู้คนบอกว่า มันไม่ใช่ความผิดของเด็ก ๆ เลยที่ผู้ใหญ่ก่อสงคราม และการเมินเฉยเช่นนี้ นับเป็นเรื่องผิดศีลธรรมอย่างร้ายแรง


ต่อมา สภาสูงได้ปรับแก้ข้อเสนอใหม่ ให้รัฐบาลเปิดโอกาสให้ท้องถิ่นต่าง ๆ พิจารณารับผู้ลี้ภัยเอง โดยไม่จำกัดจำนวน ข้อเสนอนี้ได้รับการยอมรับจากสภาล่าง นำไปสู่การรับเด็ก ๆ ทั้ง 3,000 คนเข้าประเทศ รวมถึงครอบครัวของเด็ก ๆ ที่พลัดกระจายอยู่ในค่ายลี้ภัยอื่น ๆ ในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือด้วย


ซึ่งจำนวนที่ว่านี้ก็ยังถือว่าน้อยมาก เมื่อเทียบกับจำนวนเด็กผู้ลี้ภัยทั้งหมดที่โลกเรามีอยู่ในตอนนี้ และเทียบไม่ได้เลยกับจำนวนผู้ลี้ภัยในประเทศที่รับผู้ลี้ภัยมากที่สุด 5 อันดับอย่าง ตุรกี โคลัมเบีย อูกานดา ปากีสถาน และเยอรมนี


(ดูสถิติล่าสุดได้ที่ https://www.unhcr.org/refugee-statistics/

ดูคลิปรายงานการรับผู้ลี้ภัยปี 2016 https://www.youtube.com/watch?v=SQVmx9CA-Uo&t=6s)



แล้วประเทศไทยล่ะคะ พร้อมเล่าเรื่องเด็ก ๆ ผู้ลี้ภัยให้เด็กไทย ผู้คนในสังคม และนักการเมืองของเราฟังแล้วหรือยัง?


**บทความนี้ตีพิมพ์ในเฟสบุ๊กเพจ Children's Books Out There ที่นี่


อัปเดตข่าว 22/8/2022

"เมื่อสงครามมาเยือน" (The Day War Came) ได้ตีพิมพ์ภาษาไทยแล้วกับสนพ. SandClock Books เข้าไป พรีออร์เดอร์ และอ่าน เบื้องหลังการทำงานแปล ได้นะคะ


Comments


bottom of page