top of page
รูปภาพนักเขียนTarn

เขียนหนังสือเด็ก LGBTQ+ ยังไงดี? —สำรวจพล็อตและข้อผิดพลาดที่ผ่านมากัน

อัปเดตเมื่อ 10 ม.ค. 2566

หนังสือเด็กธีมครอบครัวสายรุ้งกำลังมาแรง

ตั้งแต่ในยุโรป ไปจนถึงปากีสถาน ฟิลิปปินส์

แล้วไทยเราจะเริ่มพูดเรื่องนี้ยังไงดี



ในตอนที่แล้ว เราแนะนำหนังสือเด็กธีมความหลากหลายทางเพศที่เล่าถึงเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์และสังคมไป...

แต่ว่าจริง ๆ แล้วก็ยังมีอีกหลายวิธีที่นักเขียนนักวาดใช้เล่าเรื่องเพศวิถีให้เด็ก ๆ ฟัง

วันนี้ เราเลยจะมาแนะนำให้รู้จักกับหนังสือภาพ 5 เล่มจาก 4 ประเทศ ได้แก่ อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ แคนาดา (เขียนโดยชาวปากีสถาน) และ ฟิลิปปินส์ ซึ่งแต่ละเล่มหยิบยกแง่มุมเกี่ยวกับการอยู่ร่วมกันในสังคมที่มีความหลากหลายทางเพศมาเล่าได้อย่างน่าสนใจและแตกต่างกัน


หนังสือภาพธีม LGBTQ+ ที่จะพูดถึงในวันนี้



ว่าแต่ ทำไมเราต้องเล่าเรื่อง ครอบครัวที่หลากหลายให้เด็กฟังตั้งแต่ยังเล็ก ๆ ด้วย?

ในงานวิจัยภาคสนามด้านการรับรู้เรื่องโครงสร้าง/ขนบครอบครัวของเด็ก ๆ White (2007) พบว่า เด็ก ๆ ตั้งแต่อายุ 5 ขวบเริ่มมีพฤติกรรมเปรียบเทียบครอบครัวตัวเองกับครอบครัวที่เห็นในหนังสือภาพ แม้เด็ก ๆ ในงานวิจัยจะยังไม่แสดงความคิดเห็นเด่นชัดต่อครอบครัว LGBTQ+ แต่เด็กบางคนมีปฏิกิริยาแปลกใจเล็กน้อย เมื่อเห็นครอบครัวพ่อสองคน แม่สองคน ในหนังสือภาพ แสดงให้เห็นว่า เด็ก ๆ เข้าใจคอนเซปต์พื้นฐานของการเป็นครอบครัวตามขนบสังคมบ้างแล้ว ว่าจะต้องมีพ่อ แม่ และลูก ขณะเดียวกัน งานวิจัยภาคสนามของ Skrlac Lo (2016) พบว่า เด็กเริ่มแสดงความคิดเห็นที่เด่นชัดเกี่ยว ว่าครอบครัวต้องประกอบด้วย พ่อ แม่ ลูก ตั้งแต่ชั้นประถม 1 และปฏิเสธที่จะเชื่อว่า ครอบครัวที่แตกต่างออกไป อย่างครอบครัวที่มีพ่อสองคนนั้น เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ (อ่านกรณีศึกษาของเด็กชายริชาร์ด [ที่น่าสงสาร] ผู้ถูกเพื่อน ๆ รุมถามและเข้าใจผิดเรื่องพ่อทั้งสองของเขา ได้ในบทวิจัยด้านล่างค่ะ) การที่เด็ก ๆ มีความเชื่อฝังแน่นว่า ครอบครัวต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้เท่านั้น ตั้งแต่เริ่มเข้าสู่โรงเรียน— พื้นที่สาธารณะซึ่งเป็นศูนย์รวมของความแตกต่างหลากหลาย— เป็นเรื่องที่น่ากังวล เพราะเด็ก ๆ ที่มีครอบครัวแปลกไปจากขนบอาจรู้สึกกดดันว่าจะต้องมีครอบครัวเหมือนเพื่อน ๆ และสูญเสียความมั่นใจตั้งแต่ก้าวแรกที่เข้าสู่สังคมโรงเรียน


 

ถ้าอย่างนั้น เราจะเล่าเรื่องความหลากหลายทางเพศให้เด็กฟังอย่างไรดี?

ตั้งแต่ที่ประเด็นเรื่องความหลากหลายทางเพศเริ่มแพร่หลายในวงการหนังสือเด็กเมื่อ 20 ปีที่แล้ว คนทำหนังสือเด็กนำเสนอเรื่องเพศวิถีและความเสมอภาคทางเพศมาแล้วหลากหลายรูปแบบ โดยนักวิชาการด้านหนังสือเด็ก Epstein (2012) เสนอว่า การเล่าเรื่องเพศวิถีและครอบครัวหลากหลายทางเพศในหนังสือเด็กที่ผ่านมา มีหลักการใหญ่ ๆ สองข้อ คือ 1. ทำให้เด็กได้เห็นภาพครอบครัวของตัวเองและครอบครัวที่แตกต่างไปจากตัวเองในสื่อ 2. ทำให้เด็กรู้สึกว่าความแตกต่างเป็นเรื่องปกติธรรมดา ไม่ได้น่าช็อกหรือไม่น่าพอใจอะไร ในด้านโครงเรื่องนั้น Kay Chick (2008) เคยวิเคราะห์และสรุปว่า หนังสือเด็กธีม LGBTQ+ ในท้องตลาดอาจแบ่งได้เป็น สามแนวเรื่องหลัก ๆ



1️⃣ พล็อตแบบแรก: ครอบครัวสีรุ้งเป็นเรื่องแปลก



หนังสือจะเล่าประสบการณ์ของตัวละครเด็กซึ่งอยู่ในครอบครัวที่มีผู้ปกครองเป็นคู่เพศเดียวกัน หรือมีเพศวิถีแบบไม่ตามขนบ (non-normative) หรือไม่ก็มีญาติหรือคนรู้จักที่มีเพศวิถีไม่ตามขนบ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของความสับสนหรือไม่มั่นใจของเด็ก ๆ เพราะคิดไปว่าครอบครัวของตัวเองแปลกแยกแตกต่าง


ตัวอย่างเช่น เรื่อง The Pirate Mums (2021) (หรือ คุณแม่โจรสลัดของเปเล ในฉบับเดนิช) และเรื่อง Stella Brings the Family (2015) (หรือ ครอบครัวพร้อมหน้า ในฉบับเดนิช) ที่ทั้งเด็กในครอบครัวสายรุ้งเอง รวมถึงเพื่อน ๆ ที่โรงเรียน ต่างก็คิดว่า ครอบครัวที่มีพ่อสองคน แม่สองคนเป็นเรื่องประหลาด แต่ท้ายสุดแล้วความแปลกนี้จะได้รับการยอมรับในตอนจบ ไม่ว่าจะด้วยการอธิบายหรือการพิสูจน์ตัวเองในแบบต่างๆ


ปัญหาของพล็อตแบบหลังคือ ผู้อ่านอาจเป็นการปลูกฝังมุมมองว่า คนที่อยู่นอกขนบจะต้อง "กอบกู้วิกฤต" หรือทำประโยชน์อะไรบางอย่าง เพื่อพิสูจน์ตัวเองกับสังคมก่อนจะได้รับการยอมรับ ขณะที่คนอื่น ๆ ที่อยู่ในขนบไม่ต้องพิสูจน์ตัวเองอะไรเลย พล็อตทำนองนี้ไม่ใช่แค่ถูกนำมาใช้สื่อสารเรื่องความหลากหลายทางเพศเท่านั้น แต่ยังใช้กับเรื่องอื่น ๆ (และก่อปัญหาแบบเดียวกัน) เช่น เรื่องของชนกลุ่มน้อยต่าง ๆ และเรื่องความพิการ หรือที่เรียกกันว่า Super-crip ซึ่งเป็นชื่อเรียกของวรรณกรรมแนวที่ทำให้ความพิการกลายเป็นเรื่องเท่ เหนือมนุษย์ แต่จริงๆ แล้วอาจกลายเป็นสร้างกรอบสังคมใหม่ที่สร้างความกดดันใหม่ให้คนพิการจริงๆ แทน


ปกและตัวอย่างเรื่อง The Pirate Mums (2021)

ฉบับภาษาเดนิชของสนพ. Turbine ชื่อ Pelles Pirate Mødre (คุณแม่โจรสลัดของเปเล)


เขียนโดยคุณ Jodie Lancet-Grant

ภาพโดยคุณ Lydia Corry

ตีพิมพ์ครั้งแรก โดยสนพ. Oxford University Press จากประเทศสหราชอาณาจักร

เล่มนี้มีแปลไทยแล้ว โดยสนพ. Isopod ค่ะ


เรื่องย่อ

The Pirate Mums เล่าผ่านมุมมองของบิลลี (หรือ เปเล ในเวอร์ชันเดนิช) ที่ไม่ชอบมนุษย์แม่ ๆ ของตัวเองเอาซะเลย! ก็พวกแม่ ๆ น่ะ แปลกประหลาด! ไม่เหมือนชาวบ้าน!

ดูสิ มีแม่ ๆ บ้านไหนเขาเป็นโจรสลัด เลี้ยงนกแก้ว ร้องเพลงเสียงดัง แถมยังแต่งบ้านซะอย่างกับเรือแบบนี้บ้าง!?


เมื่อคุณครูขอให้แม่ ๆ ของเปเล ช่วยมาเป็นอาสาสมัครดูแลเด็ก ๆ ระหว่างการทัศนศึกษาบนเรือสำเภา เปเลจึงขอร้องให้แม่ ๆ ของเขา “ทำตัวเป็น “คนปกติ” บ้างจะได้ไหม!”


แต่แล้ว เมื่อเกิดเหตุพลิกผันอันตรายขึ้นบนเรือ แม่ ๆ ผู้แปลกประหลาดและไม่เหมือนใครของเปเลนี่แหละ ที่ช่วยกอบกู้สถานการณ์เอาไว้ได้ ด้วยการเป็น “โจรสลัด” ที่ภูมิใจในความไม่ธรรมดาของตนเอง




ปกและตัวอย่างเรื่อง Stella Brings the Family (2015)

ฉบับภาษาเดนิชของ สนพ. Lamberth ชื่อ Hele Familien (ครอบครัวพร้อมหน้า)


เขียนโดยคุณ Miriam B. Schiffer

ภาพโดยคุณ Holly Clifton-Brown

ตีพิมพ์ครั้งแรก โดยสนพ. Chronicle Books LCC จากประเทศสหราชอาณาจักร


ส่วนตัวเราชอบหนังสือเล่มนี้นะ เพราะว่ากล้าที่จะพูดถึงผลกระทบจากการจัดงานวันพ่อ/วันแม่แบบตรงไปตรงมา และพัฒนาเรื่องไปในทางที่เด็ก ๆ และครอบครัวที่ไม่อยู่ในขนบ ตัดสินใจเพิกเฉยต่อความคาดหวังของสังคม และเขียนกฎเกณฑ์แบบที่ตนต้องการ (พาทั้งครอบครัวมางานวันแม่) อย่างเต็มภาคภูมิ

เรื่องย่อ

หนังสือเล่มนี้เล่าปัญหาหนักอกของสเตลลา (หรือ โซฟี ในเวอร์ชันเดนิช) เมื่อคุณครูเกิดมีดำริสุดต๊าซ ว่าจะจัดงาน “วันแม่” ขึ้นที่โรงเรียน ทำเอานักเรียนที่ไม่มีแม่ ปวดหัวไปตาม ๆ กัน

(ส่วนนักเรียนที่มีแม่สองคนก็ดันโชคดีแบบไม่น่าเชื่อ โลกนี้มันช่างไม่แฟร์เลยจริง ๆ!)


เมื่อเพื่อน ๆ รู้ว่าสเตลลาไม่มีแม่ พวกเขาก็มีคำถามมากมาย เช่น ใครเป็นคนทำอาหารให้เธอ ใครอ่านหนังสือนิทานให้ฟัง ใครทำแผลให้ตอนที่เจ็บ พ่อทั้งสองของสเตลลาทำทั้งหมดนี้เลย

แต่สเตลลาก็ยังไม่พอใจ


สุดท้าย พ่อ ๆ ก็เลยชวนทั้งครอบครัวมางาน “วันแม่” ด้วยกัน ถึงแม้ว่าเธอจะไม่มีแม่ แต่เธอก็มีคนที่รักเธออยู่มากมาย และงานปาร์ตี้ที่โรงเรียนก็ผ่านไปได้ด้วยดี

ว่าแต่ แล้วคุณครูมีแผนจะจัดงาน “วันพ่อ” ด้วยมั้ยเนี่ย?




2️⃣ พล็อตแบบที่สอง: ครอบครัวสีรุ้งเป็นเรื่องน่าเห็นใจ

หนังสือแนวนี้จะละเว้นการเล่าถึงความอึดอัดสับสน แล้วมุ่งไปให้ความสำคัญกับประสบการณ์ของผู้ปกครองเพศเดียวกันในการรับอุปการะเด็ก โดยเน้นถึงความรัก ความปรารถนาที่จะมีเด็กสักคนมาเติมเต็มครอบครัว

ตัวอย่างเช่น เรื่อง Zwei papas für tango (2005) และ And Tango Makes Three (2005) ที่ได้กล่าวถึงไปในบทความที่แล้ว


หนังสือเรื่อง Zwei papas für tango (2005) และ And Tango Makes Three (2005)



3️⃣ พล็อตแบบที่สาม: ครอบครัวสีรุ้งเป็นเรื่องปกติ

หนังสือประเภทที่ไม่ยกเรื่องการรักระหว่างเพศเดียวกันหรือต่างเพศมาพูดให้เป็นประเด็นอะไรเลย เพียงแต่นำเสนอว่า คนเราจะรักใครก็ได้ ไม่จำกัดว่าต้องเป็นเพศอะไร ก็แค่รักกันเฉย ๆ


ตัวอย่างเช่น เรื่อง Hallo Teckel Tom! (2019) (หรือ สวัสดีจ้ะ เจ้าหมากุสตาฟ ในฉบับเดนิช)


ปกและตัวอย่างเรื่อง Hallo Teckel Tom! (2019)

ฉบับภาษาเดนิชของสนพ. Turbine ชื่อ Hej Gustav Gravhund! (2020)

(สวัสดีจ้ะ เจ้าหมากุสตาฟ)


เขียนโดยคุณ Bette Westera

ภาพโดยคุณ Noëlle Smit

ตีพิมพ์ครั้งแรก โดยสนพ. Uitgeverij จากประเทศเนเธอร์แลนด์


เรื่องย่อ

หนังสือเล่มนี้เป็นเรื่องของครอบครัวที่มีคุณพ่อสองคน เล่าผ่านมุมมองของเจ้าหมาน้อยกุสตาฟ ที่ถูกพ่อ ๆ เลือกไปเป็นของขวัญให้ลูกสาวตัวน้อย


แม้ว่าเด็กหญิงจะดีใจที่ได้กุสตาฟมาเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว แต่เจ้าหมาน้อยกลับไม่สนุกไปด้วยเพราะไม่เพียงแต่มันจะต้องแยกจากบ้านเกิดที่คุ้นเคยและคุณแม่หมามาอยู่ตัวคนเดียวเท่านั้น เด็กหญิงยังเรียกมันด้วยชื่ออื่นอีกต่างหาก!

เด็กหญิงจะทำอย่างไรให้เจ้าหมาน้อยรู้สึกอบอุ่นในบ้านหลังใหม่แห่งนี้ดีนะ


ในโลกความเป็นจริง ไม่ใช่แค่ครอบครัว LGBTQ+ เท่านั้นที่มีลูกบุญธรรม การเล่าเรื่องของเด็กที่ถูกอุปการะคู่กันไปกับเรื่องของลูกหมาน้อยที่เธอรับมาเลี้ยง เป็นกลวิธีอันแนบเนียนในการชวนให้เด็กสะท้อนความรู้สึกของตัวเองออกมา โดยไม่รู้สึกว่าหนังสือกำลังพูดถึงตัวเด็กที่ถูกอุปการะเอง (แต่รู้สึกว่าพูดถึงเรื่องของกุสตาฟอยู่)


การที่หนังสือเล่าเรื่องครอบครัว LGBTQ+ และการรับเลี้ยงบุตรบุญธรรมด้วยน้ำเสียงปกติ ไม่ชี้ให้เห็นความแตกต่างใด ๆ ยังน่าจะช่วยให้เด็ก ๆ มองครอบครัวที่หลากหลายแบบปราศจากอคติด้วย




4️⃣ พล็อตแบบที่สี่: เสนอปัญหาสังคมตรงๆ


นอกจากสามพล็อตนี้ ก็ยังมีพล็อตที่พูดถึงปัญหาที่บุคคลและครอบครัวหลากหลายทางเพศเผชิญอย่างตรงไปตรงมาด้วย


ตาลขอเรียกแนวนี้ว่า การเล่าเรื่องแบบดับเครื่องชนปัญหาสังคม แล้วกันค่ะ

เช่น เรื่อง My Chacha Is Gay (2014) (ลุงของผมเป็นเกย์) และ Ang bonggang bonggang batang beki— The Fierce and Fabulous Boy in Pink! (2013) (เด็กชายสีชมพูผู้สวยเชิ่ด)


เล่มหลังนี่เป็นตัวอย่างของเทรนด์ล่าสุดในวงการหนังสือเด็กธีม LGBTQ+ เลย เพราะเพิ่งจะไม่นานมานี้เองที่หนังสือภาพสำหรับเด็ก เริ่มพูดถึงเด็กที่มีพฤติกรรมแหกขนบเพศวิถี (Little Queer) แทนที่จะโฟกัสแค่ผู้ปกครองและญาติผู้ใหญ่หลากหลายทางเพศเท่านั้น


หน้าปก My Chacha Is Gay (2014)

ในภาษาอูรดูร์ ภาษาราชการของปากีสถานค่ะ


My Chacha Is Gay (2014) เป็นผลงานเขียนและวาดของคุณ Eiynah NM ชาวปากีสถานในแคนาดา เจ้าของบล็อก nicemangos.blogspot.com ซึ่งโพสต์ข้อเขียนและภาพการ์ตูนวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับเรื่องเพศในวัฒนธรรมปากีสถาน


แน่นอนว่าหนังสือเล่มนี้ไม่ได้ถูกตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ใด ๆ ในปากีสถาน และสำนักพิมพ์ในโลกตะวันตกก็ไม่อยากตีพิมพ์เรื่องราวแบบนี้ด้วย Eiynah เลยตัดสินใจเปิดคราวด์ฟันด์ดิง (croudfunding) บนเว็บ Indiegogo เสียเลย


โดยคุณ Eiynah ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมากมาย รวมถึงเขียนบนบล็อกของเธอ และ เว็บ Indiegogo ด้วยว่าหนังสือเล่มนี้ไม่ได้เขียนขึ้นมาเพื่อให้เด็ก ๆ ทั่วโลกอ่าน และเติบโตมาเป็นคนที่มีใจเปิดกว้างเท่านั้น แต่ยังเขียนมาเพื่อให้พวกผู้ใหญ่ในปากีสถานพูดเรื่องเพศกับเด็ก และยอมรับความหลากหลายทางเพศเสียที ส่วนพวกผู้ใหญ่นอกปากีสถานก็จะได้เลิกมองประเทศของเธอแล้วเห็นแค่ “สงครามก่อการร้าย” กับ “คนใจแคบ” แบบที่สื่อกระแสหลักนำเสนอ


หนังสือเล่มนี้ได้รับการตอบรับที่ดีจากชาวเน็ตมากมาย รวมถึงในปากีสถาน จนได้รับการตีพิมพ์ภายในครึ่งปี และมีผู้สั่งซื้อจากหลายประเทศเช่น แคนาดา สวีเดน เดนมาร์ก ปากีสถาน สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันหนังสือเล่มนี้เปิดให้ดาวน์โหลดและอ่านออนไลน์ได้ในหลายเว็บไซต์ รวมถึง indiegogo.com/projects/my-chacha-is-gay ด้วย (ไม่มี hard copy ขายแล้วค่ะ)


หนังสือ My Chacha Is Gay ที่ตีพิมพ์แจกจ่ายในปากีสถานไม่ได้

แต่เข้าถึงได้บนโลกออนไลน์

เรื่องย่อ

หนังสือเล่าเรื่องของ อาเหม็ด เด็กชายชาวปากีสถาน ผู้อาศัยอยู่ในเมืองการาจี มีพี่น้องสองคน มีพ่อ มีแม่ และมีลุงที่เป็นเกย์ อาเหม็ดรักลุงของเขามาก เพราะลุงของเขาใจดี พาเขาไปขี่อูฐที่ชายทะเลและเลี้ยงน้ำอัดลมด้วย แต่ว่าบางคนก็ไม่ชอบลุงและหยาบคาบใส่ลุง

ทำไมคนถึงต้องกีดกันความรักของลุงกับแฟนหนุ่มของลุงด้วย ในเมื่อไม่มีใครห้ามความรักได้ และทั้งคู่รักกัน

ความรักเป็นสิ่งสวยงามไม่ใช่เหรอ?



Ang bonggang bonggang batang beki (2013)

ปกนี้เป็นต้นฉบับภาษากาตาล็อก ถ้าแปลเป็นไทยจะประมาณว่า "เด็กชายสีชมพูผู้สวยเชิ่ด"

เขียนและแปลภาษาอังกฤษโดยคุณ Rhandee Garlitos

ภาพประกอบโดยคุณ Tokwa Peñaflorida

ตีพิมพ์ครั้งแรก กับสนพ. Vibal Publishing ประเทศฟิลิปปินส์ เพื่อนบ้านอาเซียนของเรานั่นเอง


ต้องขอขอบคุณ @Darrel Marco เพื่อนชาวฟิลิปปินส์ของเราแนะนำเรื่องนี้ และอนุญาตให้เราอ่านและสรุปวิทยานิพนธ์ของนางเพื่อเล่าในโพสต์หนังสือเด็กธีม LGBTQ+ ชุดนี้ค่ะ นอกจากหนังสือเล่มนี้แล้ว คุณเพื่อนของเราก็ได้รวบรวมหนังสือเด็กแนวเควียร์ไว้อีกมากในโพสต์นี้ https://www.facebook.com/darrel.marco/posts/4441078602570108 คลิกเข้าไปชมกันได้นะคะ


หนังสือเล่มนี้ถือเป็นหนังสือภาพ LGBTQ+ เล่มแรกในอาเชียอาคเนย์ที่พูดถึงเด็กที่มีเพศวิถีนอกขนบ โดยหนังสือได้เล่าเรื่องราวของ Adel เด็กชายที่มีลักษณะกิริยาเหมือน “เด็กหญิง” หรือ bakla ผ่านมุมมองของ Mico พี่ชายของเขา

“bakla” เป็นภาษาตากาล็อก หมายถึงชายผู้มีลักษณะอ้อนแอ้น ใช้คำพูดคำจา การแต่งตัวนิ่มนวลแบบ “ผู้หญิง”

จึงถูกมองว่าเป็นเพศที่สามในวัฒนธรรมฟิลิปปินส์ และไม่ได้มีความหมายเทียบเท่าโฮโมเซ็กชวล (homosexual) หรือ เกย์ เพราะการชอบเพศเดียวกันไม่ได้เกี่ยวอะไรกับการเป็น bakla การแสดงออกและบทบาทในสังคมต่างหากที่เป็นอัตลักษณ์ของ bakla


ในอดีต bakla ได้รับการนับถือในฐานะผู้นำชุมชนที่หลุดพ้นจากความเป็นชายหรือหญิงไปแล้ว แต่ในปัจจุบัน การเป็น bakla อาจถูกมองได้ทั้งในแง่ดีและร้าย bakla หลายคนโลดแล่นในวงการบันเทิงและเป็นที่เชิดชูในฐานะเซเลป ขณะที่บางคนก็เป็นเป้ารังแกของพวกเหยียดเพศและเกลียดกลัวเกย์ (homophobic)


เรื่องย่อ

ใน Ang bonggang bonggang batang beki เด็กชาย Mico เล่าว่า Adel น้องชายของเขาเป็นเด็กชายที่ชอบสีชมพู และทำอะไรหลาย ๆ อย่างที่เด็กผู้ชายคนอื่นไม่ทำกัน เช่น พูดจาอ่อนหวาน กิริยานิ่มนวล แถมยังรูปร่างบอบบางอ้อนแอ้น เหมือนกับคุณแม่ของทั้งคู่


เพื่อน ๆ บางคนก็ชอบ Adel และบางคนก็ล้อเลียนเขา เพราะเขาต่างจากคนอื่น แต่ Adel มีกลุ่มเพื่อน ที่เป็น bakla เหมือนกัน และไม่แคร์ที่จะแสดงความเป็นตัวเองออกมา แต่แล้ววันหนึ่ง คุณลุงของ Mico ก็มาเยี่ยมหลาน ๆ และเริ่มกดดันให้พ่อของเขา “แก้ไข” เพศวิถีของ Adel แถมยังทำให้ Adel กลัวด้วยการดุเขาเสียงดัง หาว่าเขาอ่อนแอปวกเปียก และปล่อยให้ลูก ๆ รังแก Adel ด้วย

ทว่า ในที่สุดหลังจากที่ Adel ได้ “กอบกู้” สถานการณ์บางอย่างในเรื่องด้วยความอ่อนโยน ลุงของเขาก็หันมายอมรับตัวตนของ Adel


แม้พล็อตของ Ang bonggang bonggang batang beki จะยังคงฉายซ้ำค่านิยมที่คนชายขอบต้องพิสูจน์ตัวเองก่อน สังคมจึงจะเปิดใจยอมรับ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า หนังสือได้ทำหน้าที่เป็นเหมือนกระจกที่ทำให้เด็กชายขอบได้มองตัวเองด้วยความภูมิใจ และเป็นหน้าต่างให้เด็กทั่ว ๆ ไป ได้เห็นความหลากหลายที่ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายอะไร ในโลกแห่งความเป็นจริง


ดูคลิปอ่านหนังสือเล่มนี้ได้ที่ https://fb.watch/95_7I1lcBO/



 


ที่ผ่านมา หนังสือเด็กมีวิธีอธิบายเรื่องเพศวิถีอย่างไรบ้าง

Jane Sunderland และ Mark McGlashan (2012) พบว่า หนังสือภาพโดยรวมแล้วมีวิธีอธิบายความสัมพันธ์นอกขนบหญิง-ชาย เช่น “Gay” หรือ “Upfront” Strategy คือการพูดไปตรง ๆ แบบไม่อ้อมค้อมเลยว่า ความสัมพันธ์แบบนี้เรียกว่า เกย์ เลสเบี้ยน หรืออะไรก็ตามแต่ โดยผู้พูดอาจเป็นตัวละครที่มีเพศวิถีนอกขนบเองก็ได้


My Chacha Is Gay พูดอย่างชัดเจนว่า "คุณลุงของผมเป็นเกย์"

บางสังคมก็ต้องการความกล้าที่จะพูดความจริงอย่างตรงไปตรงมา

หนังสือบางเล่มก็เลี่ยงที่จะนิยามความสัมพันธ์นั้น ๆ ไป เพียงแต่ขมวดปมในเรื่องให้นำไปสู่ใจความหลักที่ว่า แม้ครอบครัวที่มีผู้ปกครองเพศเดียวกันจะมีสมาชิกต่างไปจากครอบครัวตามขนบ แต่ก็มีวิถีชีวิตที่ปกติสุขดี และภูมิใจในความต่างของครอบครัวตัวเอง วิธีนี้เรียกว่า “Different” Strategy


เรื่อง The Pirate Mums เน้นย้ำ "ความแตกต่าง" ของครอบครัวที่มีแม่สองคน

และสรุปว่าความไม่เหมือนใครนี่แหละคือพลัง (กอบกู้วิกฤต) ของครอบครัวนี้

ในทางตรงข้าม หนังสือบางเรื่องเลือกที่จะไม่เปรียบเทียบครอบครัวตามขนบและนอกขนบเลย เพียงแต่นำเสนอชีวิตทั่ว ๆ ไป ของครอบครัวที่มีผู้ปกครองหรือสมาชิกหลากหลายทางเพศเท่านั้น วิธีนี้เรียกว่า “Backgrounding” Strategy

พ่อสองคนในเรื่อง Hallo Teckel Tom! เป็นแค่ตัวประกอบของเรื่อง

ทำให้เด็กค่อย ๆ ซึบซับว่าครอบครัวที่มีพ่อสองคนเป็นเรื่องปกติ

การเขียนเรื่องธีมความหลากหลายทางเพศนั้นเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และเสี่ยงนำไปสู่การตีความที่สร้างอคติ หรือความเข้าใจผิดต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศซ้ำซ้อนเข้าไปอีกได้ นักเขียนและนักวาดจึงต้องระมัดระวังอย่างมากในการนำเสนอ การเรียนรู้จากข้อผิดพลาดในอดีตจะช่วยให้หนังสือเล่มใหม่ ๆ มีมาตรฐานที่สูงขึ้นได้


 

ปัญหาที่รอการสะสาง ของการนำเสนอภาพ LGBTQ+ ในหนังสือเด็ก

Lester (2014) นักวิจัยด้านวรรณกรรมเด็กแนวเควียร์ (Queer) ให้ความเห็นว่า วรรณกรรมเด็กธีมความหลากหลายทางเพศยังคงติดอยู่กับการนำเสนอภาพครอบครัว LGBTQ+ ที่มีตัวละครเป็นชนชั้นกลาง ผิวขาว ร่างกายสมบูรณ์ ประพฤติเรียบร้อย แต่งกายดี ไม่มีลักษณะแหกขนบสังคม (นอกเหนือไปจากเรื่องเพศวิถี) มีความสามารถในการเลี้ยงดูบุตรได้อย่างไม่มีปัญหา ครอบครัว “สมบูรณ์เพียบพร้อม” และมักจะรับเลี้ยงดูลูกบุญธรรมผิวสี แม้ว่าการนำเสนอภาพสมาชิกครอบครัวที่มีความหลากหลายทางเพศจะเป็นเรื่องที่ดี แต่การนำเสนอภาพจำซ้ำ ๆ เช่นนี้ อาจทำให้ครอบครัว LGBTQ+ แบบอื่น ๆ (เช่น ครอบครัวผิวสี ครอบครัวยากจน ครอบครัวหย่าร้าง มีผู้ปกครองคนเดียว ไม่ได้อยากมีลูก ฯลฯ) ถูกเบียดไปเป็นคนชายขอบของชายขอบ และยังคงไม่ได้รับการยอมรับอยู่เช่นเคย ไม่เพียงเท่านั้น เธอยังพบด้วยว่า หนังสือเด็กหลายเล่มมักนำเสนอโครงเรื่องในแนวที่ตัวละคร “ตุ๊ดแต๋ว” หรือ ทำตัวผิดขนบทางเพศ จะต้องสร้างวีรกรรมอะไรสักอย่างก่อน จึงจะได้รับการยอมรับจากเพื่อน ๆ และครอบครัว ซึ่งเป็นทัศนคติที่มีปัญหา เพราะ ทำไมคนบางคนจึงจะต้องพิสูจน์คุณค่าของตัวเอง เพียงเพราะอัตลักษณ์ทางเพศของเขาแตกต่างจากคนหมู่มากด้วยเล่า?


เด็กชายในเรื่อง The Pirate Mums เริ่มรู้สึกภูมิใจกับแม่ ๆ แสนแปลกของเขา

หลังจากที่แม่ ๆ ช่วยทุกคนให้เข้าฝั่งได้อย่างปลอดภัย

ทางด้านงานวิจัยด้านหนังสือเด็กของ Epstein (2012) ชี้ว่า หนังสือเด็กธีมความหลากหลายทางเพศ มักนำเสนอภาพครอบครัวที่มีผู้ปกครองเป็นคู่เกย์ มากกว่าคู่เลสเบียน และแทบจะไม่มีเล่มไหนพูดถึง ทรานสเจนเดอร์ หรือ ไบเซ็กชวล เลย ซึ่งก็หมายความว่า หนังสือยังคงอธิบายเรื่องเพศวิถีในลักษณะไบนารี (เพศมีแค่ชายกับหญิง) อยู่ดี ยิ่งไปกว่านั้น การที่หนังสือส่วนมาก นำเสนอภาพครอบครัว LGBTQ+ เพียงแค่ว่า เป็นครอบครัวที่มีความสุข ชีวิตราบรื่น ไม่ต่างจากครอบครัว “ทั่ว ๆ ไป” ก็อาจกลายเป็นว่า กดดันให้ ครอบครัว LGBTQ+ ต้องเป็นครอบครัวที่อบอุ่นกลมเกลียวเท่านั้น จึงจะได้รับการยอมรับ ส่วนครอบครัวที่หย่าร้างก็ยังคงเป็น “ความผิดพลาด” อยู่นั่นเอง



หนังสือ 5 เล่มที่เราเลือกมาในวันนี้

มีทั้งจุดดีที่น่าสนใจนำไปพิจารณา และจุดบอดที่หากผู้ใหญ่ของเด็ก ๆ รู้เท่าทัน ก็จะสามารถช่วยอุดช่องโหว่ และเปลี่ยนประเด็นอ่อนไหว ให้กลายเป็นหัวข้อสนทนาที่มีประโยชน์กับเด็ก ๆ ได้ ยังไงเราก็ไม่สามารถเรียนรู้ทุกอย่างได้จากหนังสือเล่มเดียวอยู่แล้ว การมีหนังสือนำเสนอแง่มุมต่าง ๆ กันอยู๋ในตลาดเยอะ ๆ จึงเป็นเรื่องสำคัญเพราะเราจะได้ช่วยกันคิดให้รอบด้านมากขึ้นค่ะ


แล้วคนทำหนังสือเด็กบ้านเราล่ะคะ พร้อมหรือยังที่จะเล่าเรื่องความหลากหลายทางเพศให้เด็ก ๆ ฟัง และถ้าเราจะเล่าเรื่องนี้ในบริบทแบบไทย เราจะเล่าอะไร และอย่างไรบ้าง ส่วนใครที่เคยเจอหนังสือเด็กเจ๋ง ๆ ในธีม LGBTQ+ รวมถึงครอบครัวนอกขนบอื่น ๆ แนะนำกันเข้ามาใต้โพสต์ได้เลยนะคะ มาร่วมแลกเปลี่ยนกันค่ะ

เพราะหากเราต้องการให้สังคมไทย กลายเป็นสังคมที่เปิดกว้างได้ ถ้าไม่เริ่มจากครอบครัวแล้ว เราจะเริ่มจากไหนได้อีกล่ะ? เพื่อน ๆ ว่าจริงไหมคะ


*บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรก ที่นี่

อ้างอิง Chick, Kay. “Fostering an Appreciation for all Kinds of Families: Picturebooks with Gay and Lesbian Themes.” Bookbird: A Journal of International Children’s Literature, vol. 46, no. 1, 2008, pp. 15-22. Project MUSE, doi:10.1353/bkb.0.0013.

Sunderland, Jane, and Mark McGlashan. “The Linguistic, Visual and Multimodal Representation of Two-Mum and Two-Dad Families in Children’s Picturebooks.” Language and Literature, vol. 21, no. 2, 2012, pp. 189-210. SAGE Journals, doi:10.1177/0963947011435863.

Epstein, B. J. “We’re Here, We’re (Not?) Queer: GLBTQ Characters in Children's Books.” Journal of GLBT Family Studies, vol. 8, no. 3, 2012, pp. 287-300. Taylor & Francis Group, LLC, doi:10.1080/1550428X.2012.677241.

Lester, Jasmine Z. “Homonormativity in Children's Literature: An Intersectional Analysis of Queer-Themed Picture Books.” Journal of LGBT Youth, vol. 11, no. 3, 2014, pp. 244-75. Taylor & Francis Group, LLC, doi:10.1080/19361653.2013.879465.

White, L. M. (2015). Impact of Children's Literature on Family Structures and Children's Perceptions of Family. MS thesis. St. John Fisher College. New York. Available from: https://fisherpub.sjfc.edu/education_ETD_masters/320/ (Last accessed 10th Dec 2019). Skrlac Lo, R. (2016). On listening to children: Family variation in an after-school reading club. Language Arts, 94(2), 147–151


Darrel (2021) “The Bakla in Filipino Children’s Picturebooks: The Intersectionality of Sexual Orientation, Gender Expression, Class, and Societal Expectations.” Master’s thesis. University of Glasgow.

Comments


bottom of page