top of page
รูปภาพนักเขียนTarn

หนังสือภาพสดุดีการต่อสู้ของผู้คนในประวัติศาสตร์ เพื่อสร้างครอบครัวสายรุ้ง

อัปเดตเมื่อ 10 ม.ค. 2566

เรื่องราวของคน (และสัตว์) ซึ่งมีเพศสภาพหลากหลายไม่ตรงกรอบจารีตประเพณีนั้น

อยู่ร่วมกับประวัติศาสตร์โลกมานาน

แต่ใครเล่าจะจดจำมัน หากวีรกรรมของพวกเขาไม่ถูกเล่าขานให้ลูกหลานของเราฟัง


วันนี้ เราจะมารีวิวหนังสือสองเล่ม

ที่มีความสำคัญและเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิเท่าเทียมให้แก่เพศที่แตกต่างหลากหลายค่ะ


ปกฉบับเดนิชของ Zwei papas für tango (Far og Far og Tango— หรือ พ่อทั้งสองของแทงโก้)


เล่มแรกเป็นหนังสือภาพเส้นคม ชื่อ Zwei papas für tango เขียนโดย คุณ Edith Schreiber-Wicke วาดโดย คุณ Carola Holland ตีพิมพ์ต้นฉบับภาษาเยอรมันกับสนพ. Thienemann ปี 2006 และตีพิมพ์ฉบับภาษาเดนิชกับสนพ. CDR-Forlag ในปีเดียวกันค่ะ




ปก Operation Marriage (หรือ ปฏิบัติการงานแต่งแม่กับแม่ แปลชื่อไทยโดยเราเองเช่นเคย)



ส่วนเล่มที่สองเป็นหนังสือภาพสีน้ำเสมือนจริง ชื่อ Operation Marriage เล่มนี้เขียนโดยคุณ Cynthia Chin-Lee และวาดโดย คุณLea Lyon ตีพิมพ์ต้นฉบับภาษาอังกฤษโดยสนพ. PM Press ประเทศสหรัฐอเมริกา ปี 2011 ค่ะ

หนังสือทั้งสองเล่มนี้ เป็นเรื่องที่เขียนขึ้นจากเหตุการณ์จริงในสหรัฐอเมริกา

Zwei papas für tango เล่าเหตุการณ์ "ประหลาด" ในสวนสัตว์เซนทรัลพาร์ก ที่เมืองนิวยอร์ก ปี 1999 เมื่อเจ้าหน้าที่สวนสัตว์รายงานว่าเพนกวินเพศผู้สองตัว ชื่อ รอย (Roy) และ ไซโล (Silo) มีพฤติกรรมจับคู่กันและพยายามกกก้อนหินแทนไข่ เจ้าหน้าที่จึงนำไข่เพนกวินจากรังอื่นที่พ่อแม่แท้ ๆ ดูแลไม่ไหว มาให้ทั้งคู่ ซึ่งรอยและไซโลก็ผลัดเปลี่ยนกันประคมประหงมไข่ใบน้อยจนฟักเป็นตัว เจ้าหน้าที่สวนสัตว์ตั้งชื่อเจ้าเพนกวินน้อยว่า "แทงโก้" เรื่องของรอยและไซโลเป็นปรากฏการณ์สะเทือนวงการสวนสัตว์ และเป็นแรงบันดาลใจให้สวนสัตว์และแหล่งรักษาพันธุ์สัตว์ที่อื่น ๆ ทั่วโลก เริ่มมอบไข่เพนกวินที่ถูกทอดทิ้งให้คู่เพนกวินเพศเดียวกันดูแลบ้าง ไม่เพียงเท่านั้น เหตุการณ์นี้ยังเป็นชนวนให้เกิดการถกเถียงเกี่ยวกับความหลากหลายเพศในหลายประเด็น (โดยเฉพาะ ตอนที่รอยแยกทางกับไซโล แล้วไปจับคู่กับเพนกวินตัวเมียในภายหลัง) เช่น รสนิยมทางเพศเป็นทางเลือก หรือสิ่งที่ถูกกำหนดไว้แล้วตามธรรมชาติ การรักเพศเดียวกันเป็นความเบี่ยงเบนหรือเป็นเรื่องธรรมดา คู่รักเพศเดียวกันมีความสามารถในการเลี้ยงดูผู้เยาว์ เทียบเท่ากับคู่รักต่างเพศหรือไม่ เป็นต้น เหตุการณ์นี้ยังกลายเป็นต้นกำเนิดของหนังสือภาพสำหรับเด็กสองเล่ม คือ Zwei papas für tango ในเยอรมนี และ And Tango Makes Three (2005) ในสหรัฐฯ ซึ่งเล่มหลังเป็นหนึ่งในหนังสือที่ได้รับการบันทึกว่า ถูกแบนมาอย่างหนักหน่วงนับตั้งแต่ที่มีการตีพิมพ์มา โดย The American Library Association (ALA) ระบุว่า And Tango Makes Three (2005) ถูกแบนมากที่สุดเป็นอันดับ 4 ในปี 2000-2009 และถูกแบนมากอันดับ 6 ระหว่างปี 2010-2019


หนังสือ And Tango Makes Three (2005) หนึ่งในหนังสือเด็กที่ถูกแบนบ่อยสุดที่สหรัฐฯ




เช่นเดียวกับ Zwei papas für tango หนังสือภาพเรื่อง Operation Marriage ก็เล่าถึงเหตุการณ์จริง ซึ่งเกิดในเมืองซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย

คาบเกี่ยวเหตุการณ์ระหว่างปี 2004-2008 หลังจากที่ผู้ว่าการเมือง Gavin Newsom ประสบความสำเร็จในการผลักดันให้คู่รักเพศเดียวกันได้รับอนุญาตให้สมรสกันถูกต้องตามกฎหมายและได้รับสิทธิเสมอคู่สมรสชายหญิง ทว่าในเมืองตอนนั้นยังคงมีผู้ไม่เห็นด้วยจำนวนมาก นำมาสู่การโหวดประชามติ รับกฎหมายมาตรา 8 ( proposition 8 ) เพื่อเพิกถอนสิทธิสมรสของคู่รักเพศเดียวกันในแคลิฟอร์เนีย มีผลบังคับใช้ปี 2008


ผู้คนออกมาเดินขบวนต่อต้าน proposition 8 ในสหรัฐ


หนังสือเล่มนี้เล่าเรื่องความขัดแย้งในชุมชนผ่านสายตาของเด็ก ๆ โดยมีตัวละครหลักคือ อเล็กซ์ และ นิกกี้ ซึ่งได้รับการอุปการะโดยแม่บุญธรรมสองคน เรื่องทั้งหมดเริ่มต้นในวันที่ แซ็ค เพื่อนรักของอเล็กซ์บอกเลิกคบกับเธอ เพราะ แม่ของเธอ "ไม่ได้แต่งงาน" กัน พ่อของแซ็คบอกแซ็คว่า ผู้หญิงแต่งงานกับผู้หญิงไม่ได้ และการเป็น "คู่ชีวิต" ก็ไม่ใช่การแต่งงานจริง ๆ อเล็กซ์และนิกกี้ น้องชายของเธอ จึงพยายามโน้มน้าวให้แม่ทั้งสองแต่งงานกันในขณะที่กฎหมายยังอนุญาตให้ทั้งคู่จดทะเบียนสมรส


ดูหนังสั้นเรื่อง Operation Marriage ฟรีได้ที่นี่


สิ่งที่น่าสนใจสำหรับ Operation Marriage คือ หนังสือเรื่องนี้ไม่กลัวที่จะอธิบายอย่างตรงไปตรงมาให้เด็กเข้าใจถึง ค่านิยมการแต่งงาน สิทธิที่คู่สมรสชายหญิงได้รับ และคู่สมรสเพศเดียวกันไม่ได้รับ ทำไมผู้คนจึงต้องการสิทธิเหล่านั้น ทำไมคนบางคนจึงคัดค้านการสมรสเท่าเทียม ไปจนถึงว่า ผู้คนที่มีความคิดแตกต่างกันทำอย่างไรบ้างเพื่อเปลี่ยนแปลงกฎหมายไปในแบบที่ตนต้องการตามหลักประชาธิปไตย แม้คนอ่านผู้ใหญ่บางส่วนจะลงความเห็นในคอมเมนต์ออนไลน์ว่า หนังสือออกจะให้ข้อมูลหนักไปบ้าง แต่หลายคนก็ชมว่า เป็นสื่อการสอนที่ดีและช่วยให้เด็ก ๆ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของกฎหมายและการได้รับสิทธิที่เท่าเทียม จากการศึกษาสถานการณ์จริง Operation Marriage ตีพิมพ์ปี 2011 ช่วงเวลามืดมนของคู่รักที่มีความหลากหลายทางเพศที่ต้องการเริ่มต้นครอบครัว แม้จะพิสูจน์ได้ยากว่า หนังสือได้ส่งผลอย่างไรบ้างต่อการสร้างการยอมรับและทัศนคติที่เปิดกว้างต่อเพศที่หลากหลายในสังคมอเมริกัน อย่างไรก็ตาม ในปี 2013 ศาลสูงสหรัฐฯ ได้ตัดสินเพิกถอนมาตรา 8 ด้วยเหตุผลว่า ขัดต่อหลักรัฐธรรมนูญที่บัญญัติว่า กฎหมายจะมอบและพิทักษ์สิทธิและเสรีภาพเท่าเทียมกันของประชาชน นำไปสู่การคืนสิทธิสมรสเท่าเทียมให้แก่ประชาชนรัฐแคลิฟอร์เนียอีกครั้ง


การประท้วงเพื่อความเท่าเทียมทางเพศในสหรัฐ

ทำไมประวัติศาสตร์ LGBTQ+ จึงสำคัญกับการเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศ? นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์และหนังสือเด็กหลายท่านชี้ว่า ประวัติศาสตร์มีความเกี่ยวข้องอย่างมากต่อความเข้าใจและทัศนคติของคนเราต่อตัวเองและต่อผู้อื่น การได้รับรู้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ผ่านมุมมองที่หลากหลาย ไม่ได้จำกัดเพียงการเล่าประวัติศาสตร์กระแสหลัก (mainstream) ตอกย้ำให้เรามองเหตุการณ์ในหลาย ๆ มุม และเข้าใจผู้อื่นมากขึ้น Kumashiro (2001) นักการศึกษาเพื่อการปลดแอก (anti-oppressive education) กล่าวว่า การเล่าประวัติศาสตร์ของชนกลุ่มน้อยในสังคมในสื่อเด็กและในชั้นเรียน นอกจากจะช่วยให้เด็ก ๆ ในวัฒนธรรมกระแสรองรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคมและภูมิใจในอัตลักษณ์ของตัวเองแล้ว ยังเปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ในวัฒนธรรมกระแสหลักได้เห็นข้อเท็จจริงว่า โลกนี้เต็มไปด้วยความหลากหลาย และความเป็นไปได้หลายอย่าง การเปิดเผยให้เด็ก ๆ ได้รู้ว่า ที่ผ่านมาสังคมเลือกปฏิบัติต่อผู้คนที่มีความแตกต่างหลากหลาย เช่น อัตลักษณ์ทางเพศ เชื้อชาติ ศาสนา รูปร่างหน้าตา อายุ ฯลฯ อย่างไร ยังจะช่วยให้เด็ก ๆ ได้สังเกตและใคร่ครวญถึงการเลือกปฏิบัติที่ยังดำเนินอยู่ในชีวิตประจำวัน และอาจจะบันดาลใจให้เด็ก ๆ ปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างมีมนุษยธรรมมากขึ้น แนวคิดเดียวกันนี้ นำมาสู่เทรนด์การเล่าประวัติศาสตร์กระแสรองในหนังสือและสื่อเด็กจำนวนมากในตะวันตก (ซึ่งเราจะนำเสนอเป็นประเด็นถัด ๆ ไปค่ะ)



หนังสือธีม LGBTQ+ ค่อย ๆ ปรับมาพูดถึงเด็ก ๆ ผู้มีความหลากหลายทางเพศมากขึ้น

และมีความหลากหลายทางสังคม สถานะ และเชื้อชาติขึ้นด้วย

ขอบคุณภาพจาก childrenslibrarylady.com


นอกจากการให้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์แล้ว ก็ยังมีอีกหลายวิธีที่หนังสือเด็กจะสามารถปลูกฝังทัศนคดิที่เป็นมิตรและเคารพชุมชน LGBTQ+

นักวิชาการด้านหนังสือเด็กพบว่า นับตั้งแต่ที่หนังสือเด็กธีมความหลากหลายทางเพศเริ่มเข้าสู่ตลาดหนังสือภาษาอังกฤษตั้งแต่ราวทศวรรษที่ 1980 และติดตลาดราว ๆ ทศวรรษที่ 2000 เป็นต้นมา แนวโน้มพล็อตหนังสือธีม LGBTQ+ เริ่มมีความเปลี่ยนแปลง จากที่มักนำเสนอบุคคลหลากหลายทางเพศแบบเหมารวม (stereotype) ไปจนถึงเหยียดเพศ ด้วยการกำหนดให้ตัวละครเหล่านี้พบกับความรุนแรงหรือความตาย (Jenkins&Cart, 2018) ก็กลายเป็นท้าทายค่านิยมและสภาพสังคม (status quo) ในอย่างน้อย ๆ 3 ลักษณะ ได้แก่ 1. นำเสนอว่า ชีวิตของคนเราไม่ได้/ไม่ควรถูกจำกัดเพียงเพราะอัตลักษณ์ทางเพศ 2. แสดงให้เห็นว่า ครอบครัวที่มีผู้ปกครอง LGBTQ+ ไม่ใช่เรื่องแปลก และมีชีวิตตามปกติทั่วไป 3. พูดถึงเพศและรสนิยมที่เกี่ยวข้องกับอัตลักษณ์ทางเพศของเด็ก ๆ โดยตรง (ไม่ใช่แค่ของผู้ปกครอง) โดยหนังสือที่มีลักษณะในข้อ 3 นี้ จากที่แต่เดิมเคยปรากฏแค่ในกลุ่มวรรณกรรม YA ตอนนี้ได้แพร่ไปสู่หนังสือภาพสำหรับเด็กเล็กเรียบร้อยแล้ว (Mickenberg&Nel, 2011)

นักวิชาการด้านหนังสือเด็ก Joel Taxel (2002) ให้ความเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงประเด็นและวิธีนำเสนอเรื่องความหลากหลายทางเพศให้โอบรับความแตกต่างและความเป็นไปได้ใหม่ ๆ รวมถึงขยายกลุ่มผู้อ่านเป้าหมายจากเด็กโตลงไปถึงเด็กเล็กนี้ เกิดขึ้นเพราะ สังคมเริ่มเปลี่ยนมุมมองต่อเยาวชนไปในทางที่ให้สิทธิเด็ก ๆ เหนือร่างกายตัวเองมากขึ้น ผู้คนเริ่มเข้าใจเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศในสังตมมากขึ้น และที่สำคัญคือ ผู้คนเริ่มเข้าใจบทบาทและพลังของหนังสือเด็กในการเปลี่ยนแปลงสังคมมากขึ้น แล้วไทยล่ะคะ พร้อมที่จะสื่อสารเรื่องความหลากหลายทางเพศกับเด็ก ๆ แล้วหรือยัง? แล้วถ้าเราจะเล่าเรื่องประวัติศาสตร์การเรียกร้องสิทธิเท่าเทียมทางเพศ หรือประวัติศาสตร์เกี่ยวกับผู้มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทยให้เด็ก ๆ ฟัง เพื่อน ๆ อยากเล่าเรื่องอะไรบ้างคะ? เขียนมาเล่าให้ฟังบ้างนะคะ ในคราวหน้าเราจะมาพูดถึงหนังสือ LGBTQ+ เล่มอื่น ๆ ที่ไม่ใช่เรื่องประวัติศาสตร์ดูบ้าง แล้วพบกันใหม่ค่ะ : )

*บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรก ที่นี่

อ้างอิง en.wikipedia.org/wiki/Roy_and_Silo www.reachandteach.com/content/article.php/operation_marriage en.wikipedia.org/wiki/And_Tango_Makes_Three Jenkins, C. and Cart, M. (2018). Representing the Rainbow in Young Adult Literature: LGBTQ+ Content Since 1969. Lanham, Maryland, Rowman & Littlefield. Kumashiro, K. K. (2001). "Posts" Perspectives on Anti-Oppressive Education in Social Studies, English, Mathematics, and Science Classrooms. Educational Researcher, 30(3), 3-12. http://www.jstor.org.ezproxy.lib.gla.ac.uk/stable/3594468 Mickenberg, J.L. and Nel, P., (2011). “Radical Children's Literature Now!” Children’s Literature Association Quarterly, vol. 36 no. 4, p. 445-473. Project MUSE, doi:10.1353/chq.2011.0040. Taxel, Joel. (2002). “Children's Literature at the Turn of the Century: ‘Toward a Political Economy of the Publishing Industry’.” Research in the Teaching of English, vol. 37, no. 2, pp. 145-97. JSTOR, www.jstor.org/stable/40171621.


Comments


bottom of page