top of page
รูปภาพนักเขียนTarn

"ทุกคนหายไปไหนกัน" หนังสือเตือนใจให้ไม่เพิกเฉยต่อความอยุติธรรม

อัปเดตเมื่อ 28 ก.ย. 2565

หนังสือภาพเกือบไร้คำ ที่ได้รับแรงบันดาลใจ

จากหนึ่งในยุคสมัยแห่งเผด็จการครั้งเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์โลก

กระตุ้นให้คนเลิก "เอาหูไปนาเอาตาไปไร่" สักที



เดือนแห่งหนังสือต้านเผด็จการ

เดือนแห่งการรีวิวหนังสือเด็กธีม "ต้านเผด็จการ" นี้ ตาลได้แรงบันดาลใจมาจากการอ่านข่าวหลาย ๆ เรื่องในเดือนกค. ที่ผ่านมาค่ะ ไม่ว่าจะเรื่องที่ อภิปรายไม่ไว้วางใจกี่ทีก็โหวตผ่านกันฉลุยทั้งที่มีเรื่องน่าเคลือบแคลงหลายอย่าง หรือเรื่องที่รัฐบาลเมียนมาร์ประหารผู้ชุมนุมประท้วงไปสี่รายเมื่อวาน มันน่าโมโห น่าโมโหจนต้องลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง!


ที่ผ่านมามีหนังสือเด็กมากมาย (ในต่างประเทศ) นะคะ ที่จัดทำขึ้นมาเพื่อชี้ให้ประชาชนทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ได้เห็นความอยุติธรรมของผู้มีอำนาจในสังคม โดยเฉพาะพวกผู้นำประเทศ ทหาร นักการเมืองต่าง ๆ ใครบอกว่าหนังสือเด็กต้องละมุนละไม เรียบร้อย...

ไม่ค่ะ ขอค้านดัง ๆ ว่าหนังสือเด็กเนี่ยแหละ ที่จะสร้างคนรุ่นใหม่ที่กล้าพูดในสิ่งที่คิด กล้ารับฟังความเห็นต่าง และกล้าทำในสิ่งที่ถูกต้อง


ดูสภาพบ้านเมืองไทยในตอนนี้แล้ว เราจะผลิตเด็กเชื่อง ๆ ให้โตมาเป็นผู้ใหญ่ที่ได้แต่ผงกหัวเป็นตุ๊กตาหน้ารถอีกทำไมคะ!?


โอเค บ่นเสร็จละ กลับเข้าโหมดรีวิว



 


สำหรับวันนี้ ตาลจะมาแนะนำหนังสือภาพเล่มหนึ่งที่มีความเกี่ยวข้องกับหนึ่งในยุคสมัยแห่งเผด็จการที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์โลก — ยุคของนาซี นั่นเองค่ะ

หนังสือเล่มนี้ ตาลไปเจอมาที่งาน FFBF เป็นหนังสือเกือบไร้คำชื่อว่า "ทุกคนหายไปไหนกัน" (Where Are They Going) เล่มขนาดใหญ่พอสมควร อ่านออกเสียงในห้องเรียนสะดวก


ที่ว่าเกือบไร้คำก็เพราะ มันมามีข้อความก็ตรงหน้าสุดท้ายค่ะ

ข้อความสั้น ๆ ไม่กี่ประโยคนั้น แปลและดัดแปลงมาจากบทกวีดังของ Martin Niemöller นักศาสนาชาวเยอรมันผู้สนับสนุนนาซีในช่วงแรก

แล้วกลับใจมาต่อต้านรัฐบาลนาซีจนถูกคุมขังในที่สุด




บทกลอนแห่งการประท้วง

ข้อความของ Martin Niemöller (1892-1984) เป็นหนึ่งในข้อความที่ดังที่สุด ในการเคลื่อนไหวทางการเมือง หรือการประท้วงต่อต้านเผด็จการ จนเรียกได้ว่าเป็น บทกลอนแห่งการประท้วงก็ว่าได้ ถ้าแปลต้นฉบับภาษาเยอรมันออกมาเป็นภาษาอังกฤษ ก็จะเป็นตามข้อความด้านล่างนี้ค่ะ


First they came for the Socialists, and I did not speak out— Because I was not a Socialist.
Then they came for the Trade Unionists, and I did not speak out— Because I was not a Trade Unionist.
Then they came for the Jews, and I did not speak out— Because I was not a Jew.
Then they came for me—and there was no one left to speak for me.

ตอนแรก เขามาจับพวกนักสังคมนิยม

ผมไม่ได้พูดอะไร เพราะผมไม่ใช่นักสังคมนิยม

ต่อมา เขามาจับพวกสหภาพแรงงาน

ผมไม่ได้พูดอะไร เพราะผมไม่ใช่สหภาพแรงงาน

ต่อมา เขามาจับคนยิว

ผมไม่ได้พูดอะไร เพราะผมไม่ใช่คนยิว

ต่อมา เขามาจับผม

และก็ไม่เหลือใคร ที่จะช่วยพูดให้ผมแล้ว


คำแปลนี้ตาลคัดลอกมาจาก โพสต์ ของคุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เมื่อวันที่ 14 ธค. 2019 เพราะเห็นว่าแปลออกมาได้ดีแล้ว ต้องขอบคุณ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่ากทม. คนปัจจุบันด้วยค่ะ

คุณวิโรจน์ก็เคยแปลไว้เหมือนกันนะคะ ที่ทวิตนี้)


คุณ Martin Niemöller (1892-1984) นาซีกลับใจ


บทกวีของเขา Martin Niemöller ถูกดัดแปลงและใช้ในหลากหลายสถานการณ์ (ตัวมาร์ตินเองก็ประยุกต์ใช้มันในการกล่าวสุนทรพจน์และเลคเชอร์หลังสงครามโลกหลายครั้ง) เพื่อเตือนใจถึงบทลงโทษ จากการเมินเฉยต่อความอยุติธรรม ที่เกิดขึ้นกับเพื่อนมนุษย์คนอื่น ๆ ในสังคม

ซึ่งเราอาจจะต้องรอดูกันต่อไปว่า รัฐบาลไทยจะมีท่าทีอย่างไรต่อสิ่งที่รัฐบาลทหารเมียนมาร์กระทำกับประชาชนเมียนมาร์บ้าง



กลับมาที่หนังสือภาพ

"ทุกคนหายไปไหนกัน" พาเราติดตามดูผู้ชายคนหนึ่งออกเดินไปตามถนนในเมืองสีเทา ๆ ที่ปกคลุมด้วยหิมะ ระหว่างที่เขาเดินอยู่ เราจะสังเกตได้ว่า ในฉากหลัง ผู้คนในเมืองต่างพากันเก็บข้าวเก็บของ วิ่งหนีไปทิศตรงกันข้ามกับเขา ทหารกำลังเคลื่อนพล เครื่องบินรบหลายลำลอยอยู่บนท้องฟ้า


ผู้คนพากันหนีออกจากเมือง แต่ชายผู้นี้ไม่แม้แต่จะเหลียวมองพวกเขา


ชายไร้ชื่อผู้ไม่แยแสต่อสงครามกลับมาที่ห้องพักในตึกที่ว่างเปล่า ไม่เหลือใครอีกแล้ว เพราะเพื่อนบ้านทุกคนของเขาล้วนถูกจับกุมไปหมด


เขาคิดว่าตัวเองจะปลอดภัย เพราะไม่ได้เป็นพวกตรงข้ามกับผู้มีอำนาจในประเทศ


เขาไม่เคยช่วยใคร ไม่เคยร้องเรียกความยุติธรรมให้คนที่ถูกกดขี่ ทำร้าย


แต่สุดท้าย เขายังจะปลอดภัยอยู่อีกหรือเปล่า ในเมืองที่ไม่เหลือใครให้ผู้มีอำนาจกดขี่ข่มเหงอีกแล้ว?



หนังสือภาพไร้คำ-ล้ำค่า

ส่วนตัวแล้ว เราชอบรูปแบบหนังสือเล่มนี้มาก ๆ ค่ะ ที่ปล่อยให้คนอ่านตีความภาพไปก่อน แล้วค่อยอ่านบทกลอนสรุปเรื่องในหน้าสุดท้าย (ที่คลี่ออกมาเป็นภาพใหญ่ของตึกว่างทั้งหลังได้)


ฉากสุดท้ายของ "ทุกคนหายไปไหนกัน"

หน้าสุดท้ายนี้คลี่กระดาษออกมาเป็นภาพตึกว่าง ๆ ทั้งตึกได้ด้วย



หนังสือไร้คำมีจุดแข็งอย่างนึงคือ ใช้ภาพดึงความสนใจของคนอ่าน แล้วกระตุ้นให้สังเกต แล้วคิดวิเคราะห์เชื่อมโยงเรื่องราวที่ซ่อนอยู่ การอ่านเลยเป็นแบบ active มาก ๆ ไม่ใช่แค่ฟังเรื่องแล้วคล้อยตามนักเขียนไปเรื่อย ๆ


นอกจากนี้ การเล่าเรื่องด้วยภาพยังเป็นภาษาสากลที่คนที่อ่านไม่คล่อง อย่างเด็กเล็ก ๆ หรือคนต่างชาติ คนเป็นดิสเล็กเซีย ก็เข้าใจได้ มีส่วนร่วมได้


หลังจากที่หนังสือปล่อยในเราคิด ซึมซับบรรยากาศของเมืองใต้อำนาจเผด็จการไปซักพัก กลอนที่เลือกมาปิดท้ายก็จุดอิมแพ็กได้แรงดี ทำให้เราได้ย้อนคิดว่า ที่ผ่านมา เวลาเห็นคนอื่นถูกทำร้าย ถูกความอยุติธรรมเล่นงาน เราทำอะไรอยู่นะ?


เรียกได้ว่าเป็นหนังสือปลุกพลัง ต้านการ "เอาหูไปนาเอาตาไปไร่" ที่ไม่เลวทีเดียว เพื่อน ๆ ว่างั้นไหมล่ะคะ? (╹◡◠)




 


หนังสือเล่มนี้ ตาลเป็นตัวแทนลิขสิทธิ์ให้อยู่

สนพ. ไหนสนใจ อ่านรายละเอียดหนังสือและขอข้อมูลได้ตามที่ระบุไว้ใน ลิงก์นี้ นะคะ



ส่วนใครสนใจอ่านเรื่องเกี่ยวกับ "หนังสือไร้คำ" และ "หนังสือเกือบไร้คำ" เพิ่มเติม

ตาลเคยเขียนรีวิวหนังสือรูปแบบนี้ไปแล้วสองเล่ม ดูได้ตาลลิงก์ด้านล่างเลยค่ะ




ส่วนใครสนใจอ่านเรื่องเกี่ยวกับ "หนังสือต้านเผด็จการ" เล่มอื่น ๆ จิ้ม ลิงก์นี้ เลยค่า

*บทความนี้ตีพิมพ์ในเฟสบุ๊กเพจ Children's Books Out There ที่นี่




ดู 651 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page