ชีวิตพลัดถิ่นในดินแดนสุดประหลาด
หนังสือภาพไร้คำผลงานศิลปินระดับโลก ที่พาเราก้าวข้ามชีวิตปกติสุข
ไปสัมผัสกับโลกแสนสับสนของผู้ลี้ภัยไกลบ้าน
ในฐานะติ่ง... เรารอวันที่จะได้รีวิวหนังสือของ Shaun Tan มานานแล้วค่ะ ในที่สุด วันนี้ก็มาถึง!
ใครที่เป็นแฟนคลับกราฟิกโนเวล หรือหนังสือภาพลายเส้นอลังการจากต่างประเทศ น่าจะเคยได้ยินชื่อคุณ Shaun Tan มาบ้าง เพราะคุณเขาเป็นหนึ่งในนักวาดมือรางวัล และมีผลงานทั้งหนังสือภาพและแอนิเมชันมาแล้วมากมาย
ผลงานที่ดูแปลกตา เต็มไปด้วยรายละเอียด และให้บรรยากาศแฟนตาซีปนเศร้าหมอง ขุ่นมัว น่ากลัวพิลึก ๆ ของเขา ถูกเรียกว่าเป็น "งานศิลป์สไตล์ออสเตรเลียน" ที่ดูเผิน ๆ แล้วรู้สึกเหมือนคุ้นเคย แต่มองนาน ๆ แล้วแอบขนลุก (อะไรกันเนี่ย 555)
The Arrival เป็นผลงานชิ้นแรก ๆ ที่คุณ Shaun แต่งเรื่องและวาดเอง แล้วก็กวาดรางวัลมาแล้วเป็นสิบ ๆ รางวัล
(ตามไปอ่านชื่อรางวัลได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/The_Arrival_(graphic_novel)...)
แถมในปี 2011 ตัวคุณเขาเองก็ยังได้รับรางวัล Astrid Lindgren Memorial Award ซึ่งนับเป็นหนึ่งในรางวัลทรงเกียรติสูงสุดของเหล่านักวาดภาพประกอบหนังสือเด็กด้วย หนังสือที่ลดตำแหน่งคนอ่านลงมาอยู่ในระดับเดียวกับตัวละครผู้ลี้ภัย
The Arrival เป็นหนังสือภาพไร้คำ สีซีเปียทั้งเล่ม
คำว่า "หนังสือภาพ" เป็นคำจำแนกสไตล์การเล่าเรื่องเฉย ๆ นะคะ ไม่ได้หมายความว่า จะต้องเป็นหนังสือเด็กเสมอไป ขึ้นอยู่กับเนื้อหาและลักษณะของภาพด้วยว่า ดึงดูดผู้อ่านเด็กหรือไม่ วัยไหน ผู้อ่านวัยนั้น ๆ เข้าใจหรือไม่
ซึ่งสำหรับเล่มนี้ ตาลคิดว่า ผู้อ่านวัย 6 ปีขึ้นไปน่าจะอ่านเข้าใจเองได้ ไม่มีปัญหาค่ะ
หนังสือเล่มนี้เล่าเรื่องของชายคนหนึ่งที่ต้องเดินทางไกลมายังประเทศใหม่ ผู้อ่านจะได้ติดตามดูไปเรื่อย ๆ ว่าเขาต้องทำอะไรบ้าง และรู้สึกอย่างไร ด้วยความที่ภาพแต่ละหน้าไม่มีคำอธิบาย อีกทั้งฉากต่าง ๆ เป็นแฟนตาซีแปลกตา ภาษาทั้งหมดในเรื่องเป็นตัวอักษรแฟนตาซีหมด ตัวผู้อ่านเองจึงต้องคอยสังเกตรายละเอียดต่าง ๆ ในภาพ ไม่ว่าจะเป็นสีหน้าท่าทาง บรรยากาศรอบข้างไม่ต่างอะไรจากชายผู้ลี้ภัยในเรื่อง
คนอ่านเข้าใจเรื่องพอ ๆ กับตัวละครผู้ลี้ภัย รู้สึกอึดอัดเหมือนเขาไหม เวลาที่ไม่เข้าใจภาษาของคนรอบตัว?
เทคนิคนี้ทำให้ผู้อ่านถูกดึงลงมาจากเก้าอี้ผู้สังเกตการณ์ มาอยู่ในระดับเดียวกับ "ผู้ลี้ภัย" ที่ต้องเข้ามาพบเจอสังคมแปลกใหม่ ไม่เข้าใจภาษา ไม่รู้จักสัตว์พื้นถิ่น อาหาร หรือข้าวของเครื่องใช้อะไรเลย จะพึ่งพาได้เพียงแค่การดูและคาดเดาเหตุการณ์รอบ ๆ ตัวเท่านั้น
ในอีกด้านหนึ่ง การเล่าเรื่องผ่านภาพอย่างเดียว
ช่วยให้ผู้อ่านเด็กไม่ต้องพึ่งพาผู้ใหญ่ (ที่ทำหน้าที่อ่านออกเสียงให้ฟัง) ทำให้มีอิสระในการอ่านและตีความเรื่องราวด้วยตัวเองอย่างเต็มที่ ส่งเสริมให้เด็กมั่นใจที่จะอ่าน หัดสังเกตรายละเอียดในภาพ รวมถึงสิ่งรอบตัว และคิดวิเคราะห์ หาเหตุผลเชื่อมโยงด้วยตัวเอง (Todres&Higinbotham, 2016)
ใครสนใจอ่าน/ชมภาพประกอบจากเรื่อง The Arrival ดูได้ที่ลิงก์นี้นะคะ https://www.youtube.com/watch?v=vAay4myoEDE
นอกจากนี้... (แอบป้ายยาเพิ่ม 55+)
หนังสือเล่มอื่น ๆ ของคุณ Shaun ที่เราอยากแนะนำก็ได้แก่ เรื่อง The Rabbits (1998) และ The Lost Thing (2000) ค่ะ
กระต่ายขาว นักล่าอาณานิคมเลือดเย็นในเรื่อง The Rabbits
The Rabbits เป็นหนังสือภาพเกี่ยวกับการล่าอาณานิคม โดยมีกระต่ายเป็นผู้ล่า... ความโหดเหี้ยมรุนแรงของกระต่าย (?) ต่อสิ่งมีชีวิตพื้นถิ่น ถูกซ่อนไว้ใต้ธีมแฟนตาซี ทำให้อ่านจบแล้วไม่ฝันร้าย แต่จะได้ครุ่นคิดว่าการล่าอาณานิคมสร้างบาดแผลต่อผู้คนและโลกของเราอย่างไร
เล่มนี้คุณ Shaun วาดภาพประกอบให้นักเขียน John Marsden ค่ะ
วัยเด็กและจินตนาการที่ถูกขังลืม ในเรื่อง The Lost Thing
ส่วนเรื่อง The Lost Thing เป็นหนังสือภาพ (และเป็นภาพยนตร์แอนิเมชันสั้น ๆ ด้วย) เกี่ยวกับคุณ Shaun ที่ได้พบกับ "เจ้าสิ่งสูญหาย" (The Lost Thing) ในฉากประเทศออสเตรเลีย ยุคสังคมล่มสลาย (Dystopian) เขาพยายามพาเจ้าตัวประหลาดกลับบ้าน และได้พบกับ "สิ่งสูญหาย" ตัวอื่น ๆ ในมุมเล็ก ๆ ที่สังคมพยายามจะลืม... (ดูหนังสั้นเรื่องนี้ได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=ILUxUrjjpyg) ใครเคยได้อ่านหนังสือเล่มไหนของคุณ Shaun อีก แวะมาเล่าให้ฟังบ้างนะคะ
*บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรก ที่นี่
อ้างอิง https://alma.se/en/ https://en.wikipedia.org/wiki/The_Arrival_(graphic_novel)... https://en.wikipedia.org/wiki/Shaun_Tan https://www.booktrust.org.uk/book/t/the-arrival/ Todres, Jonathan, Sarah Higinbotham, and Carol Bellamy. "Participation Rights and the Voice of the Child." Human Rights in Children's Literature: Imagination and the Narrative of Law. : Oxford University Press, 17. Oxford Scholarship Online. Date Accessed 11 May. 2022 <https://oxford.universitypressscholarship.com/.../acprof...>
Comments