หนังสือภาพรางวัลที่ได้รับการแปลมาแล้วหลายภาษา (ยกเว้นไทย) เล่มนี้
จะแสดงให้เด็ก ๆ เห็นว่า เสรีภาพถูกทำลาย และหวนกลับมาอีกครั้งได้อย่างไร
เดือนแห่งหนังสือต้านเผด็จการ
เดือนแห่งการรีวิวหนังสือเด็กธีม "ต้านเผด็จการ" นี้ ตาลได้แรงบันดาลใจมาจากการอ่านข่าวหลาย ๆ เรื่องในเดือนกค. ที่ผ่านมาค่ะ ไม่ว่าจะเรื่องที่ ห้ามใส่ชุดดำ ปล่อยสุญญากาศในนโยบายเสรีกัญชา ฯลฯ มันน่าโมโห น่าโมโหจนต้องลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง!
ที่ผ่านมามีหนังสือเด็กมากมาย (ในต่างประเทศ) นะคะ ที่จัดทำขึ้นมาเพื่อชี้ให้ประชาชนทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ได้เห็นความอยุติธรรมของผู้มีอำนาจในสังคม โดยเฉพาะพวกผู้นำประเทศ ทหาร นักการเมืองต่าง ๆ ใครบอกว่าหนังสือเด็กต้องละมุนละไม เรียบร้อย...
ไม่ค่ะ ขอค้านดัง ๆ ว่าหนังสือเด็กเนี่ยแหละ ที่จะสร้างคนรุ่นใหม่ที่กล้าพูดในสิ่งที่คิด กล้ารับฟังความเห็นต่าง และกล้าทำในสิ่งที่ถูกต้อง
หากต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศ เราต้องเริ่มที่เด็กและครอบครัวนี่แหละค่ะ!
โอเค บ่นเสร็จละ กลับเข้าโหมดรีวิว
หนังสือในวันนี้เป็นหนังสือภาพสีขาว-ดำ และน้ำเงิน ลายเส้นสเก็ตช์ละเอียดละออ ชื่อว่า "ต้นไม้สีน้ำเงิน" (The Blue Tree) ค่ะ ตาลได้อ่านคร้้งแรกเป็นภาษาเดนิช ชื่อ Det blå træ (ตามภาพด้านบนเลย) จากนั้นก็พบว่าจริง ๆ แล้วมันถูกแปลไปอีกหลายภาษาเลย รวมทั้งภาษาจีนกับอังกฤษด้วย ยกเว้นไทย... (แปลกไหมคะ? แปลกหรือเปล่านะ?)
"ต้นไม้สีน้ำเงิน" เขียนและวาดโดยคุณ Amin Hassanzadeh Sharif ศิลปินมือรางวัลจากกรุงเตหะราน ประเทศอิหร่าน ผลงานหนังสือภาพเล่มนี้ได้รับเลือกให้ไปจัดแสดงในนิทรรศการภาพประกอบของเทศกาลหนังสือเด็กเมืองโบโลญญาในปี 2014 ด้วยค่ะ เทศกาลนี้ถือได้ว่าเป็นงานสำคัญมากของนักวาดนักเขียนและสนพ.หนังสือเด็ก หนังสือเด็กหลาย ๆ เล่ม ศิลปินหลาย ๆ คนได้เดบิวต์ผลงานระดับโลกก็ด้วยการมาโชว์ผลงานที่นี่ค่ะ
ต้นไม้ เสรีภาพ และเจ้าเมืองจอมเผด็จการ
หนังสือเรื่อง "ต้นไม้สีน้ำเงิน" พูดถึงเมืองในจินตนาการเมืองหนึ่ง ที่มีต้นไม้ใหญ่สีน้ำเงินแผ่กิ่งก้านสาขาไปทั่วเมือง ชาวเมืองต่างก็ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขร่วมกับต้นไม้โบราณต้นนี้
ชาวเมืองคุ้นเคยกับการมีต้นไม้เลื้อยไปตามที่ต่าง ๆ
มีอยู่แค่คนเดียวเท่านั้นแหละค่ะ ที่ไม่พอใจ... ท่านเจ้าเมืองนั่นเอง
เจ้าเมืองรำคาญเจ้าต้นไม้บ้านี่มาก เพราะเวลาพระองค์เสด็จไปไหนมาไหนบนหลังม้าก็จะต้องคอยก้มหัวหลบกิ่งก้านของต้นไม้สีน้ำเงินอยู่ร่ำไป เป็นที่น่าขบขันของชาวเมือง
ท่านเจ้าเมืองผู้ไม่ชอบก้มหัวให้ใครแม้กระทั่งกิ่งไม้!
วันหนึ่ง ท่านเจ้าเมืองก็หมดความอดทน และสั่งให้ทหารตัดต้นไม้สีน้ำเงินทิ้งจนเหี้ยนเตียน
ต้นไม้ที่เลื้อยอย่างอิสระและเป็นที่รักของทุกคนจะต้องถูก "ประหาร" ให้สิ้นซาก
เมื่อโค่นต้นไม้ลงได้ ท่านเจ้าเมืองก็ทำสิ่งที่ผู้นำเผด็จการหลาย ๆ คนมักจะทำกัน คือสร้างอนุสาวรีย์ของตัวเอง... ทับลงไปบนที่ที่ต้นไม้เคยงอกงาม เพื่อไม่ให้มันงอกขึ้นมาอีกได้
(ภาพแรก) ต้นไม้ที่ประชาชนรักถูกตัดจนเหี้ยน
(ภาพสอง) เพื่อหลีกทางให้อนุสาวรีย์ของเจ้าเมือง
โชคร้ายสำหรับเจ้าเมืองคนนี้ เพราะการตัดต้นไม้ทิ้งเป็นฟางเส้นสุดท้ายของประชาชนค่ะ
พวกเขาลุกฮือกันประท้วงเจ้าเมือง
แต่นั่นก็ไม่ทำให้ต้นไม้สีน้ำเงินต้นใหญ่นั้นฟื้นคืนกลับคืนมา...
.
.
.
.
.
หรือเปล่า?
แม้จะไม่มีต้นไม้ต้นเดิมแล้ว แต่กิ่งไม้ต่าง ๆ ที่แผ่กระจายไปในทุกบ้าน กลับเริ่มหยั่งรากแล้วเติบโตทั่วทั้งแผ่นดิน และแล้วเมืองทั้งเมืองก็กลายเป็นป่าสีน้ำเงินที่สวยงาม
แม้ต้นไม้ใหญ่จะตายไปแล้ว แต่กิ่งก้านของมันยังรอวันผลิใบ
หนังสือสีหม่นที่ต้องตีความ
เมื่อพูดถึงหนังสือเด็กแล้ว คนอาจจะนึกถึงสีสันสดใส ตัวละครน่ารัก เนื้อหาตรงไปตรงมา มีสรุปท้ายเล่มว่า เรื่องนี้สอนให้รู้ว่าอะไร แต่จริง ๆ แล้วหนังสือเด็กหลาย ๆ ประเทศไม่ได้มีรูปแบบนั้นอย่างนั้น และหลาย ๆ แห่งก็ให้ความสำคัญกับการที่เด็กจะได้เสพงานศิลป์หลาย ๆ แบบ และใช้ความคิดวิเคราะห์หาใจความระหว่างบรรทัดตั้งแต่วัยอนุบาล เพื่อสร้างพื้นฐานการอ่านวรรณกรรมที่หลากหลาย และใช้ความคิดต่อไปในอนาคต
ตัวอย่างหนังสือลายเส้นหลากหลายในต่างประเทศ
เช่น ในเรื่องนี้ หากเราอ่านแบบผิวเผิน ก็จะพอเข้าใจว่า เป็นเรื่องของต้นไม้วิเศษที่ถูกเจ้าเมืองใจร้ายโค่นลงเพราะความเอาแต่ใจตัวเอง ทว่า สุดท้ายก็เกิดเรื่องมหัศจรรย์ ต้นไม้กลับงอกขึ้นมาใหม่เยอะแยะ แล้วเรื่องก็จบลงด้วยดีตามฉบับธรรมะชนะอธรรม...
แต่ แต่ แต่... ผู้ใหญ่อย่างเราช่วยเด็กเชื่อมโยงเรื่องนี้กับเหตุการณ์ความอยุติธรรมอื่่น ๆ ในชีวิตจริงและทำให้เรื่องมันมีมิติที่หลากหลายลึกซึ้งขึ้นได้ค่ะ
เช่น ชวนเด็ก ๆ คิดว่า
- ทำไมเจ้าเมืองถึงไม่ชอบต้นไม้ต้นนี้?
- ทำไมสุดท้ายแล้วคนจึงไล่เจ้าเมืองออกไป (ทำไมไม่ทำก่อนที่ต้นไม้จะถูกตัด หรือตอนที่ทหารอาวุธครบมือกำลังตัดต้นไม้)?
- ทำไมต้นไม้สีน้ำเงินจึงมีโอกาสงอกใหม่อีกครั้งจนกลายเป็นป่าที่สวยงาม?
เมื่อใคร่ครวญถึงคำถามเหล่านี้ดูแล้ว ความเข้าใจของเด็ก ๆ ก็อาจไปได้ไกลกว่าแค่ ธรรมะชนะอธรรม แต่เข้าใจไปถึงเรื่องการใช้อำนาจอย่างไม่ชอบธรรม การใช้ความรุนแรง การเมินเฉยต่อความไม่ถูกต้อง และการตัดสินใจต่อสู้กับอำนาจนั้นในที่สุด (หรือเอาจริง ๆ บางคนอาจจะคิดไปในแนวเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมก็ได้นะ เช่น ทำไมต้นไม้ที่เลื้อยอย่างอิสระถึงดูรกหูรกตาสำหรับมนุษย์? เป็นต้น)
ที่ผ่านมาเด็ก ๆ อาจได้เห็นการเคลื่อนไหวทางสังคมหลายครั้ง ทั้งในและนอกประเทศ พวกเขาอาจได้ยินข่าวการปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วง การห้ามใส่ชุดสีนู้นสีนี้ ห้ามวิจารณ์คนนั้นคนนี้ ไปจนถึงการลงมือเข่นฆ่าคนที่มีความคิดเห็นต่างมาก่อนแล้ว แต่ไม่เข้าใจว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร ควรจะเห็นด้วยหรือไม่ เพราะพวกเขายังไม่มีประสบการณ์มากพอที่จะเชื่อมโยงได้ว่า ใครเป็นใคร ทำอะไรมา และส่งผลอะไรบ้างในตอนนี้และในระยะยาว
แต่ข่าวดีคือ อย่างน้อยเด็ก ๆ มักจะเริ่มเข้าใจโครงเรื่องง่าย ๆ ที่มีตัวละครสองสามตัวมาตั้งแต่อนุบาลแล้ว (โดยจะชอบเรื่องแปลก ๆ เว่อร์ ๆ เป็นพิเศษ) หากเราต้องการเตรียมชุดความคิดของเด็ก ให้รักเสรีภาพ ไม่สนับสนุนการใช้อำนาจกดขี่ข่มเหงผู้อื่น และมีความหวังมีความกล้าที่จะปกป้องผู้อื่นจากความยุติธรรม
เรื่องเรียบง่ายที่แฝงความแฟนตาซีเนี่ยแหละค่ะ คือเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพมาก ๆ
หนังสือที่เติบโตไปพร้อมกับผู้อ่าน
ในโลกนี้มีหนังสือบางเล่มที่ยิ่งอ่านมาก ยิ่งเจอแง่มุมใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ (อย่างเช่น สำหรับตาลแล้ว เรื่อง "เจ้าชายน้อย" คือหนังสือประเภทนี้แหละ)
หนังสือเหล่านี้เล่าเรื่องราวซ้อนทับกันหลายชั้น ผ่านสัญลักษณ์หลายอย่าง ยิ่งมีประสบการณ์ชีวิตมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเห็นความนัยที่ซ่อนอยู่มากขึ้นเท่านั้น จึงเหมือนกับว่าหนังสือกับคนอ่านเติบโตไปด้วยกัน
เรื่องที่เคยเข้าใจเล็กน้อย หรือไม่เข้าใจเลยในวันวาน เมื่อเด็ก ๆ โตขึ้นแล้วเอาหนังสือเล่มนี้กลับมาอ่าน เขาก็อาจจะเข้าใจสัญญะที่ซ่อนอยู่ และสนุกกับประสบการณ์การอ่านที่เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ก็ได้
หากเราอยากให้เด็กได้คิดเยอะ ๆ และภูมิใจกับการเรียนรู้โลกด้วยตัวเอง
จงอย่ากลัว ที่จะให้เด็กอ่านหนังสือ ที่ไม่ได้จบลงด้วยคำว่า "เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า" นะคะ
ว่าแต่ เพื่อน ๆ ล่ะตอบคำถามสามข้อข้างบนว่าอะไรกันบ้างคะ? ( ⚆ w ⚆ )
หนังสือเล่มนี้ ตาลเป็นตัวแทนลิขสิทธิ์ให้อยู่
สนพ. ไหนสนใจ อ่านรายละเอียดหนังสือและขอข้อมูลได้ตามที่ระบุไว้ใน ลิงก์นี้ นะคะ
ส่วนใครสนใจอ่านเรื่องเกี่ยวกับ "หนังสือต้านเผด็จการ" เล่มอื่น ๆ จิ้ม ลิงก์นี้ เลยค่า
*บทความนี้ตีพิมพ์ในเฟสบุ๊กเพจ Children's Books Out There ที่นี่
Comments