ใครเป็นบ้างไหม ยิ่งเล่นโซเชียลมีเดียมากเท่าไหร่ ยิ่งรู้สึกตัวหดเล็กลง ๆ ทุกที
เรามาเตรียมพร้อมเด็ก ๆ ให้รับมือกับอาการนี้ดีกว่า
สวัสดีค่ะ วันนี้เราก็มีหนังสือภาพจากเดนมาร์กมาฝากอีกแล้ว
หนังสือภาพเล่มนี้ มีชื่อว่า Hr. Tryk På (คุณจอมจิ้มจอ)
เขียนโดยคุณ Kåre Bluitgen
วาดภาพประกอบโดย Mette Marcussen
จากสนพ. Høst & Søn ต้นฉบับภาษาเดนิช ตีพิมพ์ปี 2015 ค่ะ
เป็นนักเขียนกับนักแปลคนเดิมกับเล่ม Den Hemmelige Leg—เกมลับของเมาก์นุส นั่นเอง
จากที่ได้อ่านหนังสือของคุณ Kåre มาสามเล่มแล้ว เรารู้สึกว่าเขาเขียนหนังสือเด็กได้ละเมียดละไม และเข้าใจยกประเด็นที่ชาวบ้านเขาไม่ค่อยเขียนกันมานำเสนอได้น่าสนใจดีจังค่ะ เป็นหนังสือเด็กประเภทที่ออกแบบมาเพื่อผู้อ่านคละเพศวัย (cross-generational audience) เด็กอ่านก็ได้แง่คิดอย่างหนึ่ง ผู้ใหญ่อ่านก็ได้อรรถรสและสนุกไปอีกแบบ
หนังสือแบบนี้ไม่ได้เขียนกันได้ง่าย ๆ แต่ถ้าเขียนได้ก็จะทรงประสิทธิภาพมาก เพราะเด็กมักจะอ่านหนังสือภาพไปด้วยกันกับผู้ใหญ่ หากหนังสือภาพสามารถท้าทายความคิดหรือสัมผัสใจทั้งผู้อ่านเด็กและผู้ใหญ่ไปพร้อม ๆ กัน นอกจากจะถือได้ว่า อ่านครั้งเดียวสนุกถึงสองคนแล้ว ยังช่วยเปิดโอกาสให้คนสองเจนเนอเรชันได้พูดคุย แสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องที่อ่านไปด้วย เด็ก ๆ ได้ทั้งฝึกพูดและแสดงความคิด ส่วนผู้ใหญ่ก็ได้ฝึกฟังและทำความเข้าใจเด็ก ๆ ไปด้วยค่ะ
กลับมาที่เรื่องของคุณจอมจิ้มจอ
มาคราวนี้คุณ Kåre และ คุณ Mette หันมานำเสนอเรื่องที่ไม่เพียงแต่จะใกล้ตัวกับเด็กเจน Z และเจนอัลฟ่าเท่านั้น แต่ยังใกล้ตัวผู้ใหญ่เจน X เจน Y ผู้เจนจอด้วย แม้ว่าคุณจอมจิ้มจอไม่ได้มีปัญหาเรื่องโดนบูลลี่ทางอินเตอร์เน็ต เหมือนกับที่หนังสือเด็กหลาย ๆ เล่มพูดถึง แต่เขากำลังเผชิญกับปัญหาหนักอกไม่แพ้กัน คือการตกอยู่ในสภาวะ "ไร้ตัวตน" ท่ามกลางเสียงเซ็งแซ่ในโลกออนไลน์
คุณจอมจิ้มจอ (ผู้มีหัวเป็นปุ่มกดและหน้าเป็นรอยนิ้วมือ) ชอบที่จะได้รู้จักโลกกว้างและสัมผัสถึงความสิ่งต่าง ๆ รอบตัว เขาคิดว่าโลกใบนี้มันช่างน่ามหัศจรรย์
แต่ว่า "โลก" มีความรู้สึกต่อเขาในแบบเดียวกันบ้างไหมนะ
คุณจอมจิ้มจออยากให้โลกรับรู้ตัวตนและสนใจเขาเหมือนที่เขาสนใจโลกนี้บ้างจัง
คุณจอมจิ้มจอป่าวประกาศให้โลกรู้ ว่าเขาน่าสนใจ น่าตื่นเต้น และน่ามหัศจรรย์พันลึก แค่ไหน
"ฉันนี่แหละ กล้าบ้าบิ่นเป็นที่สุด"
"ฉันจะออกไปท่องทะเลทรายสิบปี แล้วก็ไลฟ์ให้ทุกคนดู"
"ฉันจะไปเก็บภาพใต้ทะเลที่หายากที่สุดมาฝากทุกคน"
"ฉันจะเล่าเรื่องปั้นน้ำเป็นตัวแบบที่ไม่เคยมีใครกล้าทำมาก่อนให้ชมเป็นขวัญตา"
ใคร ๆ ก็อยาก "เป็นเพื่อน" กับคุณจอมจิ้มจอ
แต่ว่า ยิ่งคุณจอมจิ้มจอตะโกนป่าวประกาศต่อโลกผ่านหน้าจอมากเท่าไหร่
ดวงตาของเขาก็ยิ่งอ่อนล้าและสีสันของโลกก็เริ่มจืดจางลงทุกที...
ทั้งที่โลกอินเตอร์เน็ตออกจะมีสีสันน่าตื่นเต้น และมีผู้คนให้ทำความรู้จักออกมาก แต่ยิ่งคุณจอมจิ้มจอออกไปแสดงตัวตน ตะโกนเรียกให้โลกทั้งใบหันมาสนใจเท่าไหร่ เขากลับยิ่งเหนื่อย และไม่สนุกขึ้นทุกที ปัญหานี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับเฉพาะเด็ก ๆ เท่านั้น แต่อาจเกิดได้กับใครก็ตามที่เริ่มมีอาการติดพันกับโลกออนไลน์จนถึงระดับที่ชีวิตเสียสมดุล
เด็กไม่ใช่ "ดิจิตัลเนทีฟ"... พวกเขาต้องการคำแนะนำ
ปัญหาคือผู้ใหญ่เองก็ต้องการคำแนะนำเหมือนกัน!
ในโลกของสื่อและการศึกษาสำหรับเด็ก สิ่งที่เรียกว่า Digital Quotient, Digital Literacy หรือ Digital Intelligence เป็นเรื่องที่นักการศึกษาพูดกันมานานพอสมควรแล้ว สำหรับเราเอง เคยได้ยินคำนี้ครั้งแรกเมื่อประมาณปี 2557 ตอนที่เพิ่งเรียนจบมาทำงาน แล้วพบว่าสิงคโปร์เริ่มบรรจุหลักสูตรนี้เข้าไปในโรงเรียนทั่วประเทศ
แผนภาพแสดงความรู้และทักษะที่เด็ก ๆ ต้องมี
เพื่อจะใช้ชีวิตบนโลกดิจิตัลและโลกแห่งความจริงได้อย่างปลอดภัยและมีความสุข
เสนอโดย The DQ Institute สถาบันส่งเสริความฉลาดทางดิจิตัล ของสิงคโปร์
ดูเนื้อหาเพิ่มเติมได้ ที่นี่
ความฉลาดทางดิจิตัล ไม่ได้หมายถึงแค่เรื่องความสามารถในการเขียนโค้ดโปรแกรมหรือใช้อุปกรณ์ไอทีอย่างเดียว แต่รวมถึงความสามารถในการปรับตัวทั้งในด้านความคิด สภาพจิตใจ และการสร้างหรือรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น ท่ามกลางเทคโนโลยีการสื่อสารแบบใหม่ ๆ ที่ทำให้รูปแบบการแสดงออกแปรเปลี่ยนไป— ซึ่งนั่นก็หมายรวมถึงทักษะหลายแขนงด้วยกัน เช่น การวิเคราะห์ข้อมูลข่าวสารทางอินเตอร์เน็ต มารยาทในการโพสต์และการแสดงความคิดเห็นในโลกออนไลน์ การรับมือกับการรังแกในโลกไซเบอร์ ฯลฯ
เด็กไทยพร้อมรับมือกับโลกดิจิตัลแค่ไหน?
ความฉลาดทางดิจิตัลเป็นหัวข้อที่สำคัญมากในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประเทศไทย ที่เมื่อปี 2019 ติดท็อปเท็นประเทศที่มีผู้ใช้โซเชียลมีเดียต่อจำนวนผู้ใช้อินเตอร์เน็ตทั้งหมดมากที่สุด โดยมีผู้ใช้โซเชียลมีเดียมากถึง 73% (Hootsuite, 2019) ในปีเดียวกัน สถิติโดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) พบผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตในไทยเพิ่มจาก 71.5% ของประชากรมาเป็น 81.5% โดยผู้ใช้อินเตอร์เน็ตที่ตอบแบบสอบถามทั้งหมด ให้ข้อมูลว่าใช้อินเตอร์เน็ตเพื่อเล่นสื่อโซเชียลฯ ถึง 91.2% นำโด่งจากการใช้อินเตอร์เน็ตเพื่อดูหนังฟังเพลง (71.2%) และหาข้อมูล (70.7%)
ภาพประกอบจาก สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
ในบรรดาผู้ใช้งานเหล่านี้ ประชากรเจน Y (19-38 ปี) และ เจน Z (ต่ำกว่า 19 ปี) ใช้อินเตอร์เน็ตนานที่สุดเฉลี่ย 10 ชั่วโมงครึ่งต่อวัน โดย 87.1% ของคนอายุต่ำกว่า 19 ปี หรือก็คือเยาวชน ใช้อินเตอร์เน็ตเพื่อเล่นโซเชียลมีเดีย
ภาพประกอบจาก สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
ในหนังสือ "IT'S COMPLICATED: เป็นวัยรุ่น (ในโลกโซเชียล) มันเหนื่อย" (2014) คุณ boyd (ตีพิมพ์ภาษาไทยโดย สนพ. Bookscape) ผู้เขียนลงไปทำงานวิจัยภาคสนาม สัมภาษณ์เด็ก ๆ ว่าเขาใช้โซเชียลมีเดียกันอย่างไร และเพื่ออะไร คำตอบที่ได้ส่วนหนึ่งคือ เพื่อพบปะเพื่อน ๆ และเกิดความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคม (sense of belonging)
หนังสือ "IT'S COMPLICATED: เป็นวัยรุ่น (ในโลกโซเชียล) มันเหนื่อย" (2014) ภาคภาษาไทย
ดังนั้น หนังสือภาพที่ชวนทั้งเด็กและผู้ใหญ่พิจารณาถึงการใช้โซเชียลมีเดียเพื่อแสดงออก และตอบสนองความต้องการทางอารมณ์/สังคม จึงเกี่ยวข้องและสำคัญต่อพัฒนาการของเด็ก ๆ โดยตรง
การเล่าเรื่องที่อ่อนโยน ในเรื่อง "คุณจอมจิ้มจอ"
ในที่สุด คุณจอมจิ้มจอก็ได้รู้ ว่าคนเราไม่จำเป็นต้องมองออกไปยัง "โลก" ที่ไกลแสนไกล ตลอดเวลาก็ได้ เขาเริ่มเรียนรู้ที่จะใช้ตามองดูคนรอบข้างให้ลึกซึ้ง
และค่อย ๆ ละเลียดความรู้สึกที่เกิดขึ้น ณ โลกนอกจอใกล้ ๆ ตัว
เราคิดว่าเป็นเรื่องดีที่วงการหนังสือหันมาสนใจให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องพฤติกรรมออนไลน์ของเด็ก ๆ (และผู้ใหญ่) มากขึ้น และจุดที่เราคิดว่าหนังสือเรื่องนี้เขียนออกมาได้น่ารักมากก็คือ ผู้เขียนไม่มีน้ำเสียงตำหนิหรือวิพากษ์วิจารณ์คุณจอมจิ้มจอที่ใช้โซเชียลมีเดียแบบตะบี้ตะบันเลย แต่ออกจะแสดงความเข้าอกเข้าใจมากกว่า โดยเฉพาะหน้าแรกที่บอกว่า คุณจอมจิ้มจอสงสัย ว่า (ผู้คนบน) "โลก" (ข้างนอกนั้น) จะรู้สึกดีต่อเขา อย่างที่เขารู้สึกดีต่อ "โลก" บ้างมั้ย
เขาจึงเริ่มโพสต์เรื่องราวของตัวเองลงโซเชียลมีเดีย
แสดงให้เห็นว่าผู้เขียนเข้าใจความต้องการเบื้องหลังพฤติกรรมติดจอพอตัว
จริง ๆ หนังสือเรื่องนี้ยังมีอะไรที่น่าสนใจอีกมาก ทั้งในเรื่องการเล่นคำที่น่าจะสนุกสำหรับผู้อ่านผู้ใหญ่ (แต่เด็กอาจจะมองข้ามไป) ทั้งยังเรื่องการสร้างตัวละคร สีสันแบบคอลลาจคุมโทนสไตล์เดียวกับ เกมลับของเมาก์นุส และการใช้ภาพเล่าเรื่องที่ตัวอักษรไม่ได้เล่า
แต่เดี๋ยวจะยาวไป 555
ขอตัดจบแค่นี้ก่อนแล้วกันค่ะ
ใครที่เคยพบเจอหนังสือภาพที่พูดถึงความฉลาดทางดิจิตัลในด้านอื่น ๆ
ไม่ว่าจะในไทยหรือต่างประเทศ เขียนมาเล่าให้ฟังบ้างนะคะ
เราเข้าใจว่าหัวข้อนี้อาจจะยังใหม่สำหรับไทย และแต่ละประเทศก็มีจุดเน้นไม่เหมือนกัน
จริง ๆ ก็น่าคิดอยู่นะ ว่าถ้าเราจะบอกอะไรสักอย่างกับเด็ก ๆ (และผู้ใหญ่) ในไทย เกี่ยวกับการใช้โซเชียลมีเดีย เราน่าจะบอกอะไรบ้างเป็นอย่างแรก ๆ นะ?
เพื่อน ๆ คิดว่าอย่างไรคะ?
*บทความนี้ตีพิมพ์ในเฟสบุ๊กเพจ Children's Books Out There ที่นี่
อ้างอิง
boyd, D. (2014) It's complicated: the social lives of networked teens. Yale University Press, New Haven, Connecticut
Hootsuite (2019) The global state of digital in 2019. Available from https://hootsuite.com/resources/digital-in-2019 (Last accessed 30 May 2020).
Ministry of Digital Economy and Society of Thailand. Electronic Transactions Development Agency (ETDA). (2019). Thailand Internet User Behavior 2019. Available from https://www.etda.or.th/.../thailand-internet-user... (Last accessed 30 May 2020).
Comments