ถ้าวันหนึ่งคุณเปิดประตูห้องเข้าไปพบลูกกำลัง "เล่น" อะไรที่ไม่ควรเล่นอยู่ คุณจะทำอย่างไร?
สวัสดีค่ะ วันนี้มีหนังสือเดนิชมารีวิวอีกแล้ว
หนังสือเล่มนี้ชื่อว่า Den Hemmelige Leg
หรือ เกมลับของเมาก์นุส (พยายามแปลโดยเราเอง...555)
เรื่องโดย Kåre Bluitgen
ภาพโดย Mette Marcussen
จาก สำนักพิมพ์ Forlaget Tøkk
ต้นฉบับภาษาเดนิช ตีพิมพ์ปี 2018 ค่ะ
เราพบหนังสือเล่มนี้ในร้านขายของมือสอง ราคา 15 โครน (77 บาทกว่า ๆ) ตอนที่เจอครั้งแรกเราอ่านชื่อเรื่องไม่ออกหรอก 555+ แต่ภาพคอลลาจกับสีคุมโทนมันแปลกตาน่าสนใจดี เราเลยหยิบมาพลิก ๆ ดูแล้วก็พบกับภาพเด็กผู้ชายเล็ก ๆ สองคนแก้ผ้าเล่นมวยปล้ำกัน
กรี๊ดดดดด บัดสี บัดเถลิง!
เมาก์นุส กับ แอดัม เป็นเพื่อนสนิทกัน
วันหนึ่งในฤดูร้อนแอดัมมาเล่นที่บ้านเมาก์นุส ขณะเล่นน้ำและเล่นมวยปล้ำกันอยู่
ทั้งคู่ก็ค้นพบว่ามีอะไรบางอย่างเกิดขึ้นกับ "ตรงนั้น"
แต่ยังไม่ทันที่เด็กทั้งสองจะรู้ว่าปฏิกิริยาและความรู้สึกแปลกใหม่ที่พวกเขาเพิ่งได้พบเจอนั้นคืออะไร
คุณแม่ของเมาก์นุสก็เปิดประตูมาเจอ และช็อกผมตั้งไปเป็นที่เรียบร้อย...
ความรู้สึกแรกของผู้ใหญ่หลายคนก็คงจะเป็นแบบนี้ ใช่ไหมล่ะคะ
แม่ของเมาก์นุส เด็กชายบนหน้าปกก็คิดแบบนี้เหมือนกัน ตอนที่เปิดประตูมาเจอลูกชายตัวน้อยกับเพื่อนสนิท แก้ผ้าแล้วจับ "ตรงนั้น" ของกันและกันอยู่
สำหรับเด็กทั้งสอง อวัยวะเพศที่แข็งตัวขึ้นมากะทันหันนั้นเป็นปฏิกิริยาร่างกายที่แปลกใหม่ น่าสนใจ แต่สำหรับผู้ใหญ่โดยเฉพาะพ่อแม่ —ที่บางทีแค่นึกว่าจะอธิบายเรื่องลูกเกิดมาได้อย่างไรก็หนักใจแล้ว— มันคงเป็นเรื่องน่าตกใจจนพาลจะทำให้เป็นลมเลยทีเดียว
ยิ่งในสังคมทุกวันนี้ที่เราได้ยินข่าวการล่วงละเมิดทางเพศกันบ่อย ๆ อาจจะยิ่งทำให้ผู้ใหญ่อย่างเราไหวตัว และบางทีก็ตื่นตูมกับอะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศ ๆ ของเด็ก ๆ จนลืมไปว่าเด็กอาจจะยังคิดไปไม่ถึงจุดที่ผู้ใหญ่คิดลึกอย่างเรา ๆ คิด และบางทีการละเล่นชวนช็อกของเด็ก ๆ ก็อาจเป็นแค่การแสดงออกอย่างไร้เดียงสา เพื่อจะทำความเข้าใจเกี่ยวกับร่างกายและโลกใบนี้เท่านั้น
หลังจากที่คุณพ่อกับคุณแม่ของเมาก์นุสพูดคุยเรื่องอย่างว่ากับลูกชายตัวน้อยไม่เป็นผลในรอบแรก
และทำให้บรรยากาศยิ่งตึงเครียดเข้าไปอีก
ทั้งคู่ก็กลับไปดึงสติ สงบอารมณ์ ปรับทัศนคติตัวเองและพยายามเข้าหาลูกอีกครั้ง
คุณพ่อคุณแม่ "ขอโทษ" ที่เข้าไปก้าวก่ายในเรื่องที่ไม่ควรเข้าไปยุ่ง
บางทีผู้ใหญ่ก็ตื่นตูมเกินไปกับเรื่องไร้เดียงสาของเด็ก ๆ จนทำให้เด็กพลอยตกใจกลัว และรู้สึกละอายกับเรื่องที่ไม่ควรอายและไม่ควรปกปิดพ่อแม่
หนังสือเล่มนี้นับว่าเปิดโลกในเรามาก ในแง่หนึ่งคือ เรารู้แหละว่า ประเทศอื่น ๆ เค้าไปไกลถึงไหนต่อไหนแล้วเรื่องการผลิตหนังสือเด็กที่ให้ความรู้เกี่ยวกับเพศศึกษา ประเทศไทยเพิ่งจะมาตระหนักได้เมื่อไม่นานมานี้ ว่าควรสอนเรื่องสิทธิในร่างกาย ความสัมพันธ์ คอนเซนต์ การล่วงละเมิด แต่เท่าที่ศึกษาหนังสือในแคตาล็อกและร้านหนังสือของต่างประเทศมา หนังสือแนว Sex-ed จะให้ความสำคัญกับเรื่องสุขอนามัยทางเพศและการปกป้องเด็กจากการถูกละเมิดเป็นส่วนใหญ่ เราเพิ่งจะเคยเจอหนังสือที่พูดถึง และยิ่งไปกว่านั้นคือ "วิจารณ์" การที่ผู้ใหญ่เอาความเข้าใจ (และตื่นตูม) เรื่องเพศที่ตัวเองมี ไปครอบความคิดของเด็ก ทำให้เด็กตื่นตกใจและรู้สึกละอายที่ตัวเองสนใจในปฏิกิริยา/อารมณ์ทางเพศของตัวเอง ทั้ง ๆ ที่มันเป็นเรื่องธรรมชาติที่ควรทำความเข้าใจ แทนที่จะหลีกเลี่ยงไม่พูดถึงมัน อีกแง่หนึ่งคือ หนังสือเล่มนี้ทำให้เราได้รู้ว่า เราแทบไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับเรื่องพัฒนาการทางเพศของเด็กเล็ก โดยเฉพาะเด็กผู้ชาย เราเพิ่งรู้ว่า เด็กผู้ชายบางคน "อาย" ที่อวัยวะเพศแข็งตัวขึ้นมา ทั้งที่จริง ๆ มันเป็นปฏิกิริยาปกติที่เด็ก ๆ เพศชายมีกันตั้งแต่ยังเป็นทารกด้วยซ้ำ— ถ้าเทียบความอายนี้กับเด็กผู้หญิง เราว่าก็น่าจะเหมือนกับการอายที่ประจำเดือนเลอะ อะไรทำนองนั้น น่าคิดเหมือนกันว่า ทำไมเราจึงถูกหล่อหลอมมาให้อายกับเรื่องแบบนี้ ในเมื่อมันเป็นเรื่องธรรมชาติ เราจำเป็นต้องอายหรือไม่ อะไรคือเส้นแบ่งระหว่าง "แค่เล่น" กับ "ล่วงละเมิด" แล้วเราจะทำอย่างไรให้เด็ก ๆ ทั้งปลอดภัยและรู้สึกสบายใจที่จะเรียนรู้เกี่ยวกับเพศของตัวเอง
เมาก์นุสรู้สึกสบายใจที่พ่อแม่เลิกตื่นตกใจกับการเล่นของเขากับแอดัม
เด็กทั้งสองกลับมาเล่นด้วยกันเหมือนเดิม
แต่ตอนนี้ที่ประตูห้องของเมาก์นุสมีป้ายแปะไว้ด้วยว่า "ห้ามผู้ใหญ่เข้า"
เด็ก ๆ บางทีก็ต้องการเวลาและพื้นที่ส่วนตัวในการเล่นและเรียนรู้
โดยปราศจากสายตาหวาดระแวง หรือจ้องจับผิดของผู้ใหญ่เหมือนกันนะ
แล้วทุกคนล่ะคะ เคยพบเจอประสบการณ์แบบเดียวกับน้องเมาก์นุส หรือพ่อแม่ของน้องเมาก์นุส บ้างหรือเปล่า? แล้วเหตุการณ์นั้นส่งผลอย่างไรต่อตัวเราในตอนนี้บ้าง? ถ้าใครเจอหนังสือแนว ๆ เดียวกันนี้ เขียนมาเล่าให้เราฟังมั่งนะคะ
*บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรก ที่นี่
Comments