top of page
  • รูปภาพนักเขียนTarn

ไม่อ่าน“ภาษา พาที” แล้วอ่านอะไรดี?

อัปเดตเมื่อ 10 พ.ค. 2566

Chapter Books หนังสือสารคดีเด็ก และหนังสือพิมพ์

มาดูกันว่า เด็กประถมที่เดนมาร์กได้อ่านอะไรที่โรงเรียนบ้าง


ช่วงนี้เห็นคนไทยตื่นตัวกันมากเรื่องหนังสือ "ภาษา พาที" ของกระทรวงศึกษา ตาลดีใจมากเลยค่ะ ที่เห็นผู้ใหญ่ตื่นตัว ลุกขึ้นมาวิเคราะห์สารที่แอบซ่อนอยู่ในหนังสือเด็กอย่างลึกซึ้งแบบนี้ หนังสือเด็กเป็นแหล่งรวมวาทกรรมและค่านิยมหลายอย่างมาก และจะมีผลต่อทัศนคติที่จะติดตัวเด็กไปจนโตแน่นอน เพราะงั้นเราควรให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษนะคะ เนื่องจากว่าเพจอื่นๆ ได้ให้ความเห็นและวิเคราะห์หนังสือภาษา พาที กันอย่างละเอียดไปจดหมดแล้ว บทความนี้ตาลก็เลยจะมาเล่าถึงหนังสือสำหรับเด็กประถมที่ขายเข้าโรงเรียนในเดนมาร์กบ้างค่ะ


 

บางส่วนของหนังสือภาษา พาที ที่คนวิจารณ์กัน


จากที่เราอ่านได้รายงานของ Danish National Centre for Reading เมื่อปี 2020 มา (เป็นรายงานวิเคราะห์หนังสือสอนเด็กหัดอ่านยอดนิยมของโรงเรียนในเดนมาร์ก) เราก็ได้รู้ว่า หลายๆ ประเทศในยุโรป รวมถึงเดนมาร์ก ได้ลดการควบคุมตลาดหนังสือเรียน ให้ไม่ต้องผ่านการรับรองตรวจสอบโดยกระทรวงอย่างเข้มข้นเหมือนสมัยก่อน รายงานระบุว่า แนวทางนี้เริ่มต้นตั้งแต่เมื่อประมาณทศวรรษที่ 1990 ทั้งนี้ เรายังไม่รู้ว่าปัจจุบันทางกระทรวงเยาวชนและการศึกษา (Børne– og Undervisningsministeriet) ของที่นี่ เค้ามีระบบตรวจสอบอะไรอย่างไรบ้างหรือเปล่านะ

จากที่เคยคุยกับสนพ. ที่นี่มา ปกติหนังสือที่ตีพิมพ์ที่เดนมาร์กจะต้องถูกส่งไปยังหอสมุดกลาง ซึ่งทางหอสมุดจะจัดคนรีวิวหนังสือมาเล่มละสองคน เพื่อเขียนรีวิวลงไปในเว็บไซต์ให้ห้องสมุดทั่วเดนมาร์กได้อ่านและเลือกซื้อหนังสือไปขึ้นชั้นตัวเอง ในสมัยก่อนหนังสือทุกเล่มจะได้รับการรีวิว แต่ตอนนี้เฉพาะบางเล่มเท่านั้นที่จะได้รับเลือกมารีวิว อย่างไรก็ตามนสพ. ต่างๆ ก็ช่วยลงรีวิวหนังสือด้วย

ส่วนเรื่องขั้นตอนรีวิวหนังสือเรียน เราจะลองไปสอบถามกับทางสนพ. และครูประถมที่รู้จักกันอีกที แล้วจะเอามาอัปเดตให้ทีหลังค่ะ แต่ตอนนี้เอาเป็นว่า จากการที่เราได้ไปชมงานแสดงอุปกรณ์การเรียนการสอน (Lærfest) ของเดนมาร์กมาเมื่อสัปดาห์ก่อน และจากที่ได้ดูหนังสืออ่านนอกเวลาต่างๆ ของเด็กๆ ในห้องสมุดประชาชนมาหลายแห่ง เราก็พอจะได้เห็นภาพรวมแล้วแหละว่า เด็กที่นี่อ่านอะไรกันบ้าง ซึ่งเราได้เลือกหนังสือที่น่าสนใจมาดังนี้ค่ะ


 

1. หนังสือชุด Mellem Rum (แปลว่า Gap หรือ ช่องว่าง)

บางส่วนในหนังสือ Dræb eller Dø จากหนังสือ chapter book ชุด Mellem Rum


:::: หนังสือในชุด Mellem Rum เป็นหนังสือเล่มไม่หนา ประเภทที่เรียกกันว่า chapter book ซึ่งเป็นรูปแบบหนังสือสำหรับเด็กประถมวัยหัดอ่าน ลักษณะของหนังสือประเภทนี้คือ ใช้ตัวอักษรใหญ่ เล่าเรื่องเรียบง่าย อ่านจบเร็ว มีภาพประกอบสักบทละภาพเป็นอย่างน้อย อาจมีการ์ตูนคั่นบ้างก็ได้


หนังสือชนิดนี้มีเนื้อหาค่อนข้างหลากหลาย บางเล่มเป็น abridged หรือ simplified version ของนวนิยายยากๆ ที่ผู้ใหญ่อ่าน บางเล่มก็เรียบเรียงขึ้นจากเรื่องจริงแล้วเล่าให้สนุกดราม่าขึ้น (dramatisation) บางเล่มก็เป็นเรื่องแต่งใหม่สำหรับเด็กโดยเฉพาะ บางเล่มมีเกมให้เล่นไปด้วยอ่านไปด้วย ความเป็นไปได้มีหลากหลายแบบ แต่หลักๆ คือ ทำมาให้สั้นกระชับ เป็นเหมือนบันไดให้เด็กได้ฝึกอ่านและสนุกกับการอ่านไปด้วยค่ะ สำหรับหนังสือชุดนี้นับว่าแปลกใหม่กว่า chapter book ชุดอื่นๆ ตรงที่ ทางสนพ. ตั้งใจไปถามเด็กๆ ที่โรงเรียนเองเลยว่าอยากอ่าน อยากรู้เรื่องอะไร แล้วจึงเขียนหนังสือขึ้นมาตามคำเรียกร้องของเด็กๆ ซึ่งที่ปกหลังก็จะมีคำขอของเด็กๆ แปะเอาไว้ด้วยเป็นหลักฐานว่า เด็กขอมาจริงนะ เล่มที่อยู่ในภาพนี้ ตาลไปช่วงชิงมาจากชั้นวางของสนพ. ในงาน Lærfest เองแหละค่ะ ชั่วโมงสุดท้ายก่อนเลิกงาน สนพ. ประกาศให้รื้อชั้นเอาหนังสือไปได้คนละ 3 เล่ม โอ้โห… คุณครูแห่กันมาต่อแถวรื้อร้านยาวไปเกือบถึงหน้าทางเข้างานเลย


ที่ตาลเลือกหยิบมาก็มีเล่ม Dræb eller Dø (Kill or Die—ถ้าไม่ฆ่าก็ต้องตาย) เป็นหนังสือที่ย่อมาจากวรรณกรรมเด็กเล่มยาวชื่อเดียวกันที่ได้รับรางวัลหนังสือเด็กยอดเยี่ยมเมื่อปี 2014 เกี่ยวกับ ทหารเด็กวัย 12 ขวบที่จำต้องเข้าร่วมกับกลุ่มติดอาวุธในแอฟริกาหลังจากที่พ่อแม่ของพวกเขาถูกฆ่า



ส่วนหนังสืออีกเล่มชื่อ Flokdyr (Herd Animal—รวมฝูง) เป็นเรื่องแต่งที่มีเค้าโครงจากเรื่องจริง เกี่ยวกับเด็กๆ ที่ออกไปเดินขบวนเรียกร้องให้รัฐบาลและผู้ใหญ่หันมารักษาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง โดยคำขอของเด็กๆ ที่เป็นแรงบันดาลใจให้สนพ. ตีพิมพ์หนังสือสองเล่มนี้คือ “ฉันอยากอ่านหนังสือเกี่ยวกับเด็กที่อยู่ใกล้สงคราม” (Jeg vil gerne læse om børn, der er tæt på krig.) และ “ฉันอยากอ่านหนังสือเกี่ยวกับเยาวชนที่ต่อสู้เพื่อความเปลี่ยนแปลง” (Jeg vil gerne læse om unge, der kæ,per for at gøre en forskel.)

2. หนังสือสอนคำด่า

สนพ. วางเล่มนี้ไว้หน้าสุดเลย แบบภูมิใจนำเสนอคุณครูสุดๆ


:::: เห็นแล้วช็อกกับความเปิดกว้าง ทะเล้น และเป็นกันเองของผู้ใหญ่ที่เดนมาร์ก


หนังสือเรื่อง Hvad fanden er et bandeord (What the heck is a swear word— คำด่าพวกนี้มันแปลว่า เ-ี่ย อะไรเนี่ย) เล่าถึงคำด่าต่างๆ ที่คนใช้กัน แล้วลงรายละเอียดลึกถึงที่มาทางประวัติศาสตร์ ความเชื่อ ค่านิยมในสังคม และประเภทคำ และฟังก์ชันของคำต่างๆ ในทางภาษาศาสตร์


อืม การเรียนเรื่องคำด่านี่สอนอะไรเราได้หลายอย่างจริงๆ นะเนี่ย

ตัวอย่างในเล่มสอนคำด่ายอดนิยม คำว่า FUCK และ SHIT

3. หนังสือสอนเรื่องการมีแฟน



:::: Kærester แปลตรงๆ ได้ว่า Boyfriends/Girlfriends—แฟน

เราชอบเรื่องนี้มากเป็นพิเศษเลย เพราะเป็นหนังสือแนวสารคดีประกอบภาพสำหรับเด็กที่ใช้คำง่ายๆ สบายๆ ครอบคลุมตั้งแต่เรื่องการเริ่มแอบชอบใครสักคน การมีคนมาแอบชอบ หรือการชอบคนที่มีแฟนอยู่แล้ว ไปจนถึง การแสดงออกแบบต่างๆ วิธีการเฟลิร์ต (อกอีแป้นจะแตก! 5555) การขอเป็นแฟน การปฏิเสธคำขอเป็นแฟน จูบแรก ความหึงหวง แล้วจบตรงที่การบอกเลิก และกลับมาเป็นเพื่อนกันให้ได้


เริ่ด!

หน้านี้ว่าด้วยวิธีทอดสะพาน ไม่รู้จะได้ผลมั้ยนะเนี่ย

กฎข้อสำคัญของการเฟลิร์ต (ในวงกลมสีดำ) คือ

เราจะสนุกกับการเกี้ยวพาราสีได้ หากอีกฝ่ายเค้าสนุกไปด้วยนะ



ความรักความสัมพันธ์ไม่มีสูตรเฉพาะว่าต้อง เพศไหนคบกับเพศไหน



หน้านี้พูดถึงจูบแรก ที่มีได้หลายแบบหลายวิธี บางคนก็ใช้ลิ้นด้วยนะ

การจูบใครสักคนเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่เราไม่ควรต้องจูบใคร หากเราไม่อยากจะทำแบบนั้น

หน้าต่อมาพูดถึงเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ หนังสือแนะนำให้เปิดดูเว็บสอนเพศศึกษา

ที่ทางรัฐจัดทำให้ชื่อ Sex og Samfund (Sex and Society) ประกอบด้วย




4. หนังสือสอนเรื่อง Fake News



ตาลเห็นหลายประเทศทำหนังสือหัวข้อนี้ให้เด็กอ่านมานานแล้ว ที่ไทยไม่รู้มีหรือยัง เล่มนี้จะเล่าละเอียดมากว่า เราจะรู้ได้ยังไงว่าอันไหนเป็นข่าวปลอม Deep Fake คืออะไร Algorithm ส่งผลต่อการรับข่าวสารต่างๆ อย่างไร และข่าวปลอมก่อให้เกิดผลกระทบอะไรกับสังคมตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน


หน้านี้พูดถึงว่า เราจะรู้ได้ยังไงว่า อะไรเป็นเรื่องโกหก อะไรเป็นความจริงที่ไม่ครบทุกด้าน

ใช้กรณีศึกษาจากข่าวเกี่ยวกับทรัมป์ในปี 2017



หน้านี้อธิบายว่า ทฤษฎีสมคบคิดคืออะไร โดยใช้กรณีศึกษา

เช่น เรื่องมนุษย์ไปดวงจันทร์จริงหรือไม่ เรื่องชาติกำเนิดของโอบามา เป็นต้น



หน้านี้เกี่ยวกับเทคโนโลยีที่ทำให้เราเสพข่าวต่างกันไปสำหรับแต่ละคน

และบางอย่างก็เป็นตัวการสร้างข่าวปลอม



หน้านี้เกี่ยวกับการเสพสื่ออยู่แต่ในบับเบิลของตัวเอง

ว่าทำไมเราจึงได้รับข้อมูลไม่เหมือนกัน และไม่เข้าใจกัน




5. หนังสือพิมพ์เด็ก Borneavise 🎉🎉🎉


หนังสือพิมพ์เด็ก “รายสัปดาห์” สำหรับเด็กประถมทั่วเดนมาร์ก

สองฉบับนี้เกี่ยวกับชีวิตของเด็กๆ ในยูเครน และเรื่องที่โครเอเชียจะเปลี่ยนมาใช้ค่าเงินยูโรในปี 2023


จริงๆ แล้ว เรามีเรื่องให้เขียนถึงหนังสือพิมพ์เด็กของเดนมาร์กเยอะมากค่ะ เพราะชอบมาก รัก เลิฟ

คงต้องแยกไปเล่ารายละเอียดในบทความหน้าเลย 555


หนังสือพิมพ์เด็กที่นี่ออก “รายสัปดาห์” เพื่อให้เด็กประถมทั่วเดนมาร์กได้ทันโลกทันสถานการณ์บ้านเมือง เมื่อปีที่แล้วช่วงที่มีการเลือกตั้ง นสพ. Børneavise ก็สรุปผลการเลือกตั้ง อธิบายกระบวนการเลือกตั้งและเล่าเรื่องพรรคต่างๆ ให้เด็กฟังเข้าใจได้ง่ายๆ แถมสอนคำศัพท์เกี่ยวกับการเมือง เช่น ฝ่ายซ้าย ฝ่ายขวา ฝ่ายกลาง หมายถึงอะไร


ตอนที่มีสงครามรัสเซีย นสพ. ก็ไปสัมภาษณ์เด็กๆ ยูเครนที่ลี้ภัยมาเดนมาร์กด้วยนะ


บทความสัมภาษณ์เด็ก 4 คนที่อาศัยอยู่ ณ เมืองต่างๆ ในยูเครน


สำหรับฉบับนี้ มีบทความพิเศษเกี่ยวกับผลการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลค่ะ

เนื้อในข่าว ภาพด้านล่างมีลูกศรชี้ว่าใครเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอะไรบ้าง



เห็นอย่างนี้แล้ว ไทยล่ะคะ

มีหนังสืออะไรให้เด็กประถมใช้หัดอ่านและทำความเข้าใจโลกและบ้านเมืองบ้าง?




 

*บทความนี้ตีพิมพ์ในเฟสบุ๊กเพจ Children's Books Out There ที่นี่

bottom of page