ถึงผู้ใหญ่ผู้ใช้แรงงานทุกคน:
อย่าปล่อยให้เด็กโตไปเป็นแรงงานที่ "มีคุณภาพ" อย่างเดียว จงสอนให้พวกเขาเป็นแรงงานที่ "รู้จักปกป้องสิทธิ" ของตัวเองและพวกพ้องด้วย
คนใช้แรงแม้นหมดจากโลกนี้ไป
มีผู้ใดหาญแบกภาระของงาน
จะมีผู้ใดสร้างเงิน ให้คนชื่นชมเบิกบาน
โลกนี้ที่สุขสำราญล้วนแต่ผลงานของคนยากจน
- จากเพลง ศักดิ์ศรีของแรงงาน, บทประพันธ์โดย จิตร ภูมิศักดิ์
แรงงานคือรากฐานของสังคม
วันนี้เรามีหนังสือตลก ๆ แต่ไม่เบาสมองเกี่ยวกับ "แรงงาน" มาฝากค่ะ
หนังสือเล่มนี้ชื่อว่า Mr. Bunny's Chocolate Factory
เขียนและวาดโดยคุณ Ellys Dolan
ที่เห็นในภาพเป็นฉบับแปลภาษาเดนิช ชื่อ Hr. Kanins Chokoladefabrik (2017) แปลโดยคุณ Berit Sørensen จากสำนักพิมพ์ Forlaget Flachs ค่ะ
เรื่องย่อ
Mr. Bunny's Chocolate Factory (โรงงานช็อกโกแลตของคุณกระต่าย) เล่าถึง โรงงานทำไข่ช็อกโกแลต (ของหวานประจำเทศกาลอีสเตอร์) ที่ตกทอดภายในครอบครัวคุณกระต่ายมาหลายรุ่นแล้ว แม้จะมีรายได้มหาศาลจากการผลิตไข่ช็อกโกแลต แต่คุณกระต่ายก็ยังไม่พอใจ อยากจะผลิตสินค้าให้มากขึ้น มากขึ้น และมากขึ้น จะได้รวย รวย และรวยยิ่ง ๆ ขึ้นไปอีก
ในวันที่โรงงานยังดี พนักงานทำงานตามปกติ แม่ไก่กินช็อกโกแลตแล้วออกไข่ออกมาเป็นไข่ช็อกโกแลต มีการ QC สินค้าอย่างเป็นระบบ พนักงานทำงานอย่างมีความสุขไม่รีบเร่ง
แต่จู่ ๆ ท่านผู้บริหารก็มีดำริจีเนียสที่จะทำกำไรให้ได้เยอะ ๆ:
ลงทุนกับเทคโนโลยีใหม่ ทำวิจัยผลิตภัณฑ์ และรับสมัครพนักงานเพิ่มหรือเปล่า?
เปล่า....
พนักงานต้องทุ่มเททำงานให้มากกว่านี้ต่างหากล่ะ!
กรรมเลยตกอยู่ที่บรรดาแม่ไก่กระต๊าก พนักงานในโรงงานคุณกระต่าย ที่โดนสั่งให้ทำงานไม่หยุดหย่อน ไม่มีเวลาพักผ่อน สุขภาพเสีย หุ่นโทรม จิตตก แถมไก่บางตัวยังได้รับบาดเจ็บ สูญหายไประหว่างการปฏิบัติหน้าที่ในโรงงานอีก ทั้งหมดนี้เพื่อทำยอดผลิตและขายไข่ให้ได้มาก ๆ ตามดำริของท่านประธานบริษัท ที่หวังแค่จะฟันกำไร โดยไม่คำนึงถึงคุณภาพสินค้า และสวัสดิภาพพนักงานอะไรทั้งนั้น
"ชั้นบอกให้กินช็อกโกแลตเข้าไปอีก!!!" — ท่านประธานบริษัทกล่าว
"จะอ๊อกละจ้า" — แม่ไก่สำลัก
ความขุ่นเคืองต่อสภาพการทำงานที่ห่วยแตก นำไปสู่การสไตรก์ครั้งใหญ่
สุดท้ายแล้ว โรงงานของคุณกระต่ายพบจุดจบอย่างไร?
พนักงานจะได้รับสิ่งที่ตนเรียกร้องหรือไม่?
ติดตามอ่านตอนจบได้ใน ภาพนี้ ค่ะ
ทำไมเราควรให้ความสำคัญกับการศึกษาเรื่องประวัติศาสตร์และการเรียกร้องสิทธิของผู้ใช้แรงงาน?
เชื่อว่า หนึ่งในคำถามและหัวข้อสนทนายอดฮิตที่ผู้ใหญ่หยิบยกมาคุยกับเด็ก ก็คือเรื่อง "อาชีพ" "โตขึ้นอยากเป็นอะไร ทำงานอะไร" "อยากให้ลูกโตไปเป็นบลา ๆ ๆ ชีวิตจะได้มั่นคง มีคนนับหน้าถือตา" "ต้องตั้งใจเรียนนะ ถ้าไม่อยากโตไปทำอาชีพ นี้ ๆ ๆ ๆ" ฯลฯ แม้แต่หนังสือสำหรับเด็กอนุบาล หรือชุดคำศัพท์แรก ๆ ที่เด็ก ๆ เรียนรู้ยังเป็นเรื่องเกี่ยวกับ "อาชีพ" แต่จริง ๆ แล้ว เด็กไทยรู้เรื่อง "อาชีพ" และการจัดการชีวิตในฐานะ "ลูกจ้างและผู้ใช้แรงงาน" ซึ่งเป็นสถานะของประชากรส่วนใหญ่ในโลกใบนี้ มากน้อยแค่ไหนกัน?
ตัวอย่างหนังสือแนวอาชีพ จากเว็บไซต์รีวิวหนังสือเด็กเว็บไซต์หนึ่ง แสดงให้เห็นเทรนด์การส่งเสริมเด็กผู้หญิงให้ภูมิใจกับการทำงานที่ตัวเองรัก
ตลอด 20 กว่าปีที่เราเกิดและเติบโตมาในประเทศไทย เราจำแทบไม่ได้เลยว่า "ผู้ใหญ่" ที่บ้านและสถานศึกษาเคยสอนอะไรเกี่ยวกับอาชีพบ้าง นอกเหนือไปจากบอกให้โตไปเป็น หมอ ครู ทหาร และ "อาชีพที่มั่นคง" อื่น ๆ
เราไม่เคยได้เรียนเรื่องเกี่ยวกับการเรียกร้องและปกป้องสิทธิของผู้ใช้แรงงาน สหภาพแรงงาน กฎหมายแรงงานและค่าจ้างที่เป็นธรรม ไม่เคยได้เรียนว่าภาษีที่จ่ายไปถูกนำไปใช้ทำประโยชน์อะไรให้กับแรงงานบ้าง ไม่เคยได้เปรียบเทียบว่าแรงงานประเทศต่าง ๆ ได้รับสวัสดิการดี-เลวต่างกันอย่างไร ไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่า คนแต่ละอาชีพทำงานกันยังไง งานของเขาเกี่ยวข้องอะไรกับชีวิตของผู้คนในสังคมบ้าง
การที่เรามาเรียนต่อและทำงานที่เดนมาร์ก ทำให้เราได้รู้เรื่องที่น่าสนใจหลายอย่างเกี่ยวกับระบบแรงงานที่นี่ ในบทความนี้จะขอพูดถึงแค่เรื่อง สหภาพแรงงาน และ การสไตรค์ ก่อนแล้วกันค่ะ เพราะเกี่ยวข้องกับหนังสือภาพเล่มนี้โดยตรง และเป็นประเด็นที่ยังค่อนข้างใหม่สำหรับสังคมไทยอยู่
ในประเทศที่สหภาพแรงงาน (Union) แข็งแกร่ง...
สหภาพแรงงานของเดนมาร์ก (และเท่าที่ได้ยินมาคือประเทศแถบสแกนดิเนเวียทั้งหมด) ขึ้นชื่อว่า เข้มแข็งและกระจายตัวทั่วถึงมาก
เว็บไซต์กระทรวงต่างประเทศเดนมาร์ก ระบุว่า เกือบ 70 เปอร์เซนต์ของแรงงานทั้งหมดในเดนมาร์ก อยู่ในสังกัดสหภาพแรงงานตามวิชาชีพและการศึกษาของตัวเอง นิสิตนักศึกษาไม่ว่าจะเรียนสาขาวิชาใด ล้วนแล้วแต่มีสหภาพแรงงานสำหรับผู้จบการศึกษาด้านนั้น ๆ (เช่น มนุษยศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ แพทย์ ฯลฯ) รอรับเข้าเป็นสมาชิกตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ คนต่างชาติหากมีวีซ่าทำงานในเดนมาร์กก็สามารถเข้าร่วมสหภาพได้
ตัวอย่างสวัสดิการที่จะได้เมื่อเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานแห่งใดแห่งหนึ่ง
ภาพนี้เป็นคำอธิบายของสวัสดิการ A-kasse หรือเงินช่วยเหลือคนไร้งาน
คนที่นี่นิยมเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานก็เพราะ จะได้สวัสดิการมากมายระหว่างว่างงาน ใครที่เพิ่งเรียนจบมา ออกจากงาน เปลี่ยนงาน หรือกำลังหางาน จะได้รับเงินสนับสนุนค่าอุปโภคบริโภค จำนวนขึ้นอยู่กับรายได้ที่ตนเคยได้รับ แม้ไม่เคยทำงานมาก่อน แต่ถ้าเป็นสมาชิกสหภาพอยู่ก็มีสิทธิได้เงินช่วยเหลือเช่นกัน เช่น นิสิตจบใหม่ปี 2021 จะได้เงินช่วยเหลือก่อนหักภาษี 15,844 dkk ซึ่งพอผ่านการหักภาษีและคืนภาษีทั้งหมดประมาณ 35% แล้ว เงินช่วยเหลือสุทธิจะคิดเป็นราว ๆ 10,000 dkk หรือ 5 หมื่นกว่าบาทไทยต่อเดือน เป็นเวลา 2-3 ปี โดยระหว่างหางาน สมาชิกสหภาพสามารถเข้าร่วมคอร์สเรียนและสัมมนาต่าง ๆ ที่จะช่วยเพิ่มคอนเน็คชัน ประสบการณ์ และทักษะในการหางานได้ฟรี
เงื่อนไขของการรับเงินสนับสนุนนี้มีเพียงว่า คุณต้องสมัครงานอย่างน้อย 3 งานทุกสัปดาห์ ถ้าใครไม่อยากหางาน อย่างน้อย ๆ ก็ต้องสมัครเรียนคอร์สฝึกอาชีพสักอย่าง ซึ่งระหว่างนั้นก็จะมีเงินสวัสดิการให้ลดหลั่นลงไป หากโดนไล่ออกก็จะมีเงินสวัสดิการคอยช่วยเหลืออีกด้วย
เป็นคนทำงานที่นี่ ต้องรู้จักต่อรองและสไตรค์...
สหภาพแรงงาน เป็นกลไกสำคัญของลูกจ้างในการต่อรองค่าจ้างและสวัสดิการกับสหภาพผู้จ้างงาน
ในเดนมาร์ก รัฐไม่ได้มีหน้าที่กำหนด "รายได้ขั้นต่ำ" ให้ประชาชน แต่สหภาพต่าง ๆ จะเป็นผู้เรียกร้องให้สมาชิกผู้ใช้แรงงานได้รับค่าจ้างและสภาพการทำงานที่เหมาะสม เป็นธรรม ส่วนรัฐทำหน้าที่แค่รักษากติกาการต่อรองระหว่างสหภาพลูกจ้างและนายจ้างเท่านั้น หากสองฝ่ายตกลงกันไม่ได้ สหภาพจะนัดสมาชิกหยุดงานโดยพร้อมเพรียงกัน (strike) เพื่อกดดันนายจ้าง โดยสหภาพจะนำเงินที่คนจ่ายเป็นค่าสมาชิกทุกปีมาเยียวยาผู้ก่อการสไตรค์ ที่ไม่ได้รับเงินค่าจ้างระหว่างออกมาเดินขบวน
ชั่วโมงทำงาน วันหยุด ค่าแรง และสวัสดิการต่าง ๆ สำหรับแรงงาน รวมไปถึงจ้างขั้นต่ำซึ่งตอนนี้อยู่ที่ประมาณ 110 dkk ล้วนมาจากการต่อรองระหว่างสหภาพแรงงานกับผู้จ้างงานทั้งนั้น เวลาสหภาพหนึ่งสไตรค์ สหภาพอื่น ๆ ก็มักจะสไตรค์เป็นเพื่อนด้วย (sympathy strike) จนกว่าจะต่อรองได้ผลที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย
ที่เห็นด้านล่างนี้คือตัวอย่างการประท้วงครั้งสำคัญ ๆ ของเดนมาร์กตั้งแต่ช่วงปี 1960s เป็นต้นมาค่ะ
ปี 1973, เดนมาร์ก คนทำงานกว่า 150,000 คน (3% ของจำนวนประชากรทั้งหมดในตอนนั้น) สไตรค์เพื่อเรียกร้องให้ลดเวลาทำงานจาก 44 ชม. ต่อสัปดาห์ เหลือ 40 ชม. เพิ่มเงินเดือน และหามาตรการป้องกันเงินเฟ้อ การประท้วงประสบความสำเร็จ
ปี 1985, เดนมาร์ก เกิดการสไตรค์ครั้งใหญ่เรียกว่า Easter's Strike คนทำงานภาคเอกชน 250,000 สไตรค์ หลายออฟฟิศถูกล็อกไม่ให้คนเข้า (lock out) และข้าราชการกว่า 200,000 ร่วมสไตรค์
ข้อเรียกร้องคือ ขอเพิ่มค่าแรง 6% และลดชม. ทำงานจาก 40 ชม. เหลือ 35 ชม. ต่อสัปดาห์ กลุ่มนายจ้างต่อรองเพิ่มค่าแรงให้ 2% และลดชม.ทำงานลง 1 ชม.
แต่สองปีต่อมา นายจ้างและลูกจ้างตกลงเวลาทำงานกันได้ที่ 37 ชม. ต่อสัปดาห์ (ยังเป็นข้อตกลงที่ใช้มาจนถึงปัจจุบัน)
ปี 1998, เดนมาร์ก การสไตรค์ครั้งใหญ่สุดในประวัติศาสตร์ชาติ มีคนทำงานภาคเอกชนร่วมถึงราว ๆ 450,000 คน (หรือก็คือ คนเดนิชประมาณ 1 คนในทุก 10 คนมีส่วนร่วมในการประท้วง) ห้างร้านประกาศปิดทั่วประเทศ ทำให้เกิดการซื้อสินค้าเพราะความตื่นตระหนก (panic buying) ในหมู่ประชาชน (โดยเฉพาะซื้อยีสต์ เพราะคนกลัวว่าจะไม่มีขนมปังกิน)
ข้อเรียกร้องของแรงงานคือ วันหยุด 6 สัปดาห์ ฝั่งการเมืองตัดสินใจเข้าแทรกแซงหลังการสไตรค์ดำเนินมาถึงวันที่ 11 แล้วนายจ้างกับลูกจ้างยังตกลงกันไม่ได้ แม้ผู้ใช้แรงงานจะไม่สมหวัง แต่ในปี 2000 วันหยุด 6 สัปดาห์ก็กลายเป็นความจริง
ปี 2003, เดนมาร์ก การประท้วงครั้งใหญ่ของบุคลากรครูทั่วประเทศ ต่อต้านนโยบาย "เพิ่มชม. เรียน" "ลดเวลาเตรียมการสอน" และ "ให้ผู้บริหารโรงเรียนกำหนดชั่วโมงทำงานของครูตามอิสระ" โดยครูให้เหตุผลว่าเป็นการเพิ่มภาระครู และบั่นทอนคุณภาพการศึกษา การสไตรค์ครั้งนี้กินเวลานาน 25 วัน ส่งผลกระทบต่อนักเรียนในโรงเรียนรัฐกว่า 550,000 คน และจบลงที่การเพิ่มงบประมาณสำหรับเทรนการสอนครู และเพิ่มเงินเดือนให้ครู ความล้มเหลวในการต่อรองครั้งนี้ เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ชาวเดนิชไว้ใจภาครัฐน้อยลง (จากผลสำรวจปี 2014)
ปี 2021, การสไตรค์ใหญ่ครั้งล่าสุด จัดขึ้นโดยบุคลากรพยาบาลทั่วเดนมาร์ก เพื่อเรียกร้องค่าแรงชดเชยการทำงานหนักเกินปกติในภาวะการระบาดของโควิด-19
ระหว่างการสไตรค์สามสัปดาห์แรก มีการเลื่อนการผ่าตัด และกำหนดการให้บริการด้านสุขภาพถึง 36,500 เคส การสไตรค์กินเวลายาวนานกว่า 90 วัน
การต่อรองที่ไม่ได้ผลตามที่ต้องการร้อยเปอร์เซ็นต์ ทำให้ปีนี้ (2022) คนเลือกสาขาพยาบาลน้อยลงมากจนเกิดวิกฤตขาดแคลนพยาบาล
แม้สหภาพแรงงานของเดนมาร์กจะมีสิทธิมีเสียงมาก แต่วัฒนธรรมที่เน้นการต่อรอง เคารพกันและกัน และไม่ใช้อำนาจยกตนข่มท่าน ทำให้เดนมาร์กไม่ค่อยมีการสไตรค์เท่าไหร่ การประท้วงที่รุนแรงก็ไม่มีมานานแล้ว เพราะมักจะตกลงต่อรองกันได้ในระดับที่ทำงาน ตั้งแต่ก่อนที่จะเกิดการสไตรค์ใหญ่โตค่ะ
ภาษีที่แพงแลกกับสวัสดิการแสนคุ้มค่า
แรงงานในเดนมาร์ก แม้จะต้องจ่ายภาษีสูงมาก (เพดานสูงสุดคือ 50 กว่าเปอร์เซ็นต์) แต่ภาษีเหล่านั้นจะถูกแบ่งเป็นเงินเก็บหลาย ๆ ส่วน เช่น "สวัสดิการเงินวันหยุด" (feriepenge) ที่อนุญาตให้ลูกจ้างหยุดงานโดยได้รับค่าจ้างสองวันต่อเดือน ไม่นับวันหยุดสุดสัปดาห์และวันหยุดราชการ, เงินระหว่างลาหยุดเพื่อคลอดและเลี้ยงดูบุตร (แม่หยุดได้ 14 สัปดาห์หลังคลอด พ่อหยุดได้ 2 สัปดาห์เพื่ออยู่กับแม่ และหลังจากนี้ พ่อกับแม่ผลัดกันใช้สิทธิลาได้ 32 สัปดาห์), เงินเกษียณ ฯลฯ
แผนภูมิแสดงเพดานภาษีสูงสุดของเดนมาร์ก
แผนภูมิภาพแสดงอัตราการใช้ภาษี 1 เดนิชโครน ถ้าเทียบเป็นบาทก็จะประมาณว่า
42.5 สตางค์ใช้สำหรับสวัสดิการสังคมด้านความปลอดภัยและที่อยู่อาศัย
14.8 สตางค์สำหรับการศึกษา
14.4 สตางค์สำหรับสวัสดิการสุขภาพ
และ12.8 สตางค์สำหรับบริการภาครัฐ
สวัสดิการ = โอกาสในการทำงานที่รัก
ที่เราประหลาดใจมากคือ ตอนที่เพื่อนเดนิชของเราเล่าให้ฟังว่ากำลังสมัครงานอะไรอยู่บ้าง
แล้วเราถามเค้าว่า "งานนี้เงินเดือนดีหรือเปล่า" เพื่อนตอบว่า
"ปกติแล้วคนที่นี่สมัครงานไม่ค่อยดูเงินเดือนกันเท่าไหร่หรอกนะ"
เพราะเงินเดือนแต่ละงานค่อนข้างจะไม่ต่างกัน และต่อให้ทำงานได้เงินเดือนน้อย คนก็ยังอยู่ได้อย่างไม่ขัดสนเท่าไหร่เพราะมีสวัสดิการรองรับ ซึ่งระบบเช่นนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากคนในสังคมไม่ได้รับการศึกษาและปลูกฝังให้ทราบทั่วกันว่า ผู้ใช้แรงงานมีสิทธิเรียกร้องความเป็นธรรม และต้องได้รับการรับฟังและปกป้อง ไม่ว่าจะอยู่ในอุตสาหกรรมไหน อาชีพอะไร ทุกคนล้วนมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่ากัน
แน่นอนว่าคนที่หาประโยชน์จากระบบแบบนี้มันก็มีอยู่ แต่จากที่เคยคุยกับเพื่อนชาวเดนิชมา พวกเขามีความเห็นว่าคนส่วนใหญ่มักจะรำคาญที่ต้องสมัครงานอยู่เรื่อย ๆ ตามข้อกำหนดของการรับเงินช่วยเหลือ ตามปกติแล้วคนเราก็อยากมีงานทำและหาเลี้ยงตัวเองได้อย่างมีศักดิ์ศรี มากกว่ารอขอความช่วยเหลืออยู่เรื่อย ๆ คนเดนิชที่ถูกหล่อหลอมมาให้มองว่างานที่ทำเป็น identity ของเค้า จึงมักจะภูมิใจกับการมีงานทำและพึ่งพาตัวเองได้ มากกว่าต้องการพึ่งพาคนอื่น ระบบสวัสดิการแบบนี้ก็เลยยังคงอยู่ได้จนถึงทุกวันนี้ และวิธีที่จะปลูกฝังความคิดและค่านิยมเข่นนี้ได้ ก็คือผ่านทางหนังสือ สื่อและระบบการศึกษานั่นเองค่ะ
ซึ่งมันก็ย้อนกลับมาสู่คำถามที่ว่า แล้วไทยล่ะ
เมื่อสนทนาเรื่อง "อาชีพ" กับเด็ก ๆ เราได้สื่อสาร และให้ความรู้อะไร เป็นประโยชน์มากแค่ไหนสำหรับเด็ก ๆ ของเรา ที่กำลังจะเติบโตขึ้นไปเป็นส่วนหนึ่งในสังคมแรงงานบ้าง?
เพื่อน ๆ คิดเห็นว่าอย่างไรคะ?
อ่านภาคต่อของหนังสือ เรื่อง Mayor Bunny's Chocolate Town
*บทความนี้ตีพิมพ์ในเฟสบุ๊กเพจ Children's Books Out There ที่นี่ อ้างอิง
Comentarios