หนังสือภาพเล่าชีวิตจริงชวนน้ำตาตก จากปากคำของเด็ก ๆ ผู้อพยพลี้ภัย
แปลงจากแอนิเมชันรางวัล ชุด Seeking Refuge ของ BBC
หนังสือภาพวันนี้พิเศษหน่อย ตรงที่ว่าเป็นหนังสือเกี่ยวกับผู้อพยพลี้ภัย ที่ดัดแปลงมาจากแอนิเมชัน ชุด Seeking Refuge ของสถานีโทรทัศน์ BBC แห่งสหราชอาณาจักรทำขึ้นมาเมื่อปี 2012 (มีความข้ามสื่อ) แอนิเมชันชุดนี้ จัดทำโดยทีมงานจาก Mosaic Films (ดูคลิปตัวอย่างได้ ที่นี่) ถูกนำไปจัดแสดงในงานสัปดาห์ผู้ลี้ภัย (Refugee Week) ปี 2012 และได้รับรางวัล British Academy Film Awards (BAFTA) สาขาสื่อเด็ก (Children's Award) ปี 2012 มาด้วย
แอนิเมชันเหล่านี้ ถูกใช้เป็นสื่อการสอนเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยและสงครามในห้องเรียนมากมาย และด้วยความที่เรื่องราวถูกเล่าผ่านปากคำของเด็ก ๆ ด้วยเสียงของเด็กผู้ลี้ภัยจริง ๆ ทำให้เด็ก ๆ ด้วยกันเข้าถึงง่าย
ส่วนผู้ใหญ่เอง ฟังเด็ก ๆ เล่าเรื่องแล้วก็พาลให้น้ำตาจะร่วง...
[ดูตัวอย่างแอนิเมชันได้ที่ https://www.animatedminds.com/seeking-refuge
ส่วนใครอยู่ในยูเค ดูฟรีทางเว็บ BBC2 อันนี้นะคะ https://www.bbc.co.uk/programmes/b01k7c4q/clips]
แอนิเมชัน ชุด Seeking Refuge ของสถานีโทรทัศน์ BBC
หนังสือชุด Seeking Refuge ตีพิมพ์ปี 2018 โดยสนพ. Wayland สนพ. ในเครือ Hachette Children's Group ทั้งชุดมีด้วยกัน 5 เล่ม ได้แก่
👧🏼 Rachel's Story (การเดินทางจากประเทศหนึ่งในแถบรอยต่อยุโรป-เอเชีย)
🧒🏽 Navid's Story (การเดินทางจากอิหร่าน)
🧒 Ali's Story (การเดินทางจากอัฟกานิสถาน)
👧🏿 Julinane's Story (การเดินทางจากซิมบับเว) และ
👦🏾 Hamid's Story (การเดินทางจากเอริเทรีย)
โพสต์เราหยิบเรื่องของ Rachel มาเล่าเป็นตัวอย่างเท่านั้น แต่เด็กแต่ละคนก็มีประสบการณ์ต่างกันไป เป็นเครื่องเตือนใจเราว่า ผู้ลี้ภัยแต่ละคนมีพื้นเพแตกต่าง และมีประสบการณ์ลี้ภัยไม่เหมือนกัน เด็กบางคนเล่าว่าตนต้องลี้ภัยเพราะพ่อแม่นับถือศาสนาต่างออกไปจากคนส่วนใหญ่ บางคนเล่าว่าพ่อของเขาถูกฆ่า เพราะล่วงรู้ความลับบางอย่าง บางคนบอกว่าพ่อของเขาไม่เห็นด้วยกับอะไรหลาย ๆ อย่างในประเทศ ครอบครัวเลยต้องลี้ภัย
บางคนพยายามลี้ภัยหลายครั้ง
บางคนแอบเข้าประเทศ
บางคนต้องติดต่อสถานทูตเพื่อขอลี้ภัยเข้าประเทศ
บางคนถูกแยกจากครอบครัว ต้องไปอยู่ในสถานสงเคราะห์เด็กกำพร้า
ฯลฯ
เรเชลวัย 13 ปี ต้องหนีออกจากประเทศของตัวเอง เพียงเพราะแม่ของเธอเป็นชาวคริสต์
[[เรื่องของ เรเชล]] หนังสือเรื่อง Rachel's Story เรียบเรียงโดย Andy Glynne และวาดภาพประกอบโดย Salvador Maldonado เมื่อเปิดไปหน้าแรก เราจะได้เห็นแผนที่โลกโชว์ว่า เรเชลเดินทางมาจากที่ไหน (แถว ๆ คาซัคสถาน / อุซเบกิซสถาน / คีร์กีซสถาน / เติร์กเมนิสถาน) และไปที่ไหน (ประเทศแถบจอร์เจีย อาเซอร์ไบจาน และแอลเมเนีย) เรื่องนี้เล่าโดยเรเชลวัย 17 ปี (ขณะที่แอนิเมชันนี้สร้างขึ้น) ย้อนความถึงตอนที่เธอ ในวัย 13 ปี ต้องหนีออกจากประเทศของตัวเอง เพราะแม่ของเธอเป็นชาวคริสต์ ต่างจากเพื่อนบ้านคนอื่น ๆ เรเชลโหยหาชีวิตวัยเด็กที่ได้ไปโรงเรียนและเล่นกับเพื่อน ๆ เหมือนกับเด็กทั่ว ๆ ไป แต่เพราะศาสนาของแม่ไม่เป็นที่ยอมรับ ครอบครัวจึงต้องระวังตัว แม่ของเธอต้องไปโบสถ์แบบหลบ ๆ ซ่อน ๆ ชีวิตแต่ละวันยากลำบากและอันตรายขึ้นทุกที จนวันหนึ่งแม่ของเรเชลตัดสินใจพาเธอหนี พ่อ แม่ และเรเชลขึ้นรถบรรทุกหลบออกนอกประเทศในยามกลางคืน จนมาถึงประเทศใหม่ (สหราชอาณาจักร) ที่ที่เธอได้ใช้ชีวิตแบบเด็กปกติเป็นครั้งแรก
แต่ฝันร้ายยังไม่จบลง
ครอบครัวของเรเชลถูกปฏิเสธคำขออนุญาตพำนักและต้องย้ายไปอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย เรเชลและพ่อแม่ถูกกักตัวไว้ในค่ายอยู่นาน และเมื่อได้รับการปล่อยตัวให้บินกลับประเทศ พวกเขาก็ยังคงไม่เป็นที่ต้อนรับในบ้านเกิดอยู่นั่นเอง แม่ของเรเชลถูกเพื่อนบ้านตีเข้าที่ศีรษะจนสลบ สุดท้าย ทั้งครอบครัวก็ตัดสินใจอพยพอีกครั้ง
[[เล่าเรื่องจริง เพื่อมอบ "เสียง" ให้ ผู้ลี้ภัย]]
ที่ผ่านมา มีหนังสือหลายเล่มที่พูดถึงผู้ลี้ภัย บางเล่มเขียนโดยผู้อพยพ และพยานในสงครามเอง บางเล่มก็เขียนโดยผู้คนที่ต้องการช่วยเหลือผู้ลี้ภัย นอกจากการบริจาคเงิน ที่พัก อาหาร และเครื่องอุปโภคบริโภคแล้ว การช่วยกระจายเสียงและความจริงของผู้ลี้ภัยออกไปสู่สังคม ก็เป็นการช่วยเหลืออย่างหนึ่งที่มีความหมาย
หลาย ๆ ครั้ง ผู้ลี้ภัยได้ผ่านสถานการณ์เลวร้ายมา และอยู่ในสภาวะช็อก ไม่สามารถเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับตัวเองได้ บางครั้งกำแพงทางภาษา อคติ และการขาดหนทางเข้าถึงสื่อต่าง ๆ เพื่อเล่าเรื่องราวของตน ยิ่งทำให้พวกเขา "ไร้พลัง" ที่จะปกป้องตัวเองจากอคติที่ผู้คนในสังคม มีต่อคนต่างชาติ ต่างวัฒนธรรม สภาพเช่นนี้ทำให้ผู้ลี้ภัยต้องเผชิญกับความกดดันจากการไม่เป็นที่ยอมรับ อีกทั้งความกลัวว่าจะถูกทำร้าย หรือตกเป็นเหยื่อของความเกลียดชัง และความอยุติธรรม ที่รัฐและสังคมมอบให้
การเล่าเรื่องของผู้ลี้ภัย ยังช่วยตอกย้ำให้เราได้เห็นความเสียหายจากสงคราม อคติ ความขัดแย้งทางเชื้อชาติ ศาสนา ค่านิยม ที่ลุกลามจนกลายเป็นความรุนแรง ทำให้ได้ตระหนักว่า สันติภาพ และ การยืดหยุ่น ยอมรับฟังความคิดที่แตกต่างนั้นออกไปนั้น มีค่ามากเพียงใด
เด็กหลายคนบนโลกนี้ใช้ชีวิตวัยเด็กไปกับการหลบหนีและอยู่กับความกลัว
แต่เรื่องของพวกเขามักไม่ถูกเล่าให้คนทั่วไปหรือเด็ก ๆ ที่มีชีวิตสุขสบายได้รับรู้นัก
[[หนังสือเด็กเกี่ยวกับเด็ก ๆ ที่เป็นทุกข์]] มองไปรอบ ๆ ตัว เรามักพบว่า เด็ก ๆ ในหนังสือภาพหลายเล่ม มาจากครอบครัวอบอุ่น ฐานะปานกลางไปจนถึงรวย ไปโรงเรียน อยู่อย่างสุขสบาย ทั้งนี้ส่วนหนึ่งก็เพราะ ผู้ใหญ่พยายามหลีกเลี่ยงไม่เล่าเรื่องที่ไม่น่าสบายใจให้เด็ก ๆ ฟัง กับอีกเหตุผลคือ ผู้ใหญ่ส่วนมากที่มีเงินซื้อหนังสือภาพดี ๆ ให้เด็ก มาจากครอบครัวที่มีฐานะปานกลาง ขณะที่ครอบครัวผู้อพยพลี้ภัย ครอบครัวยากจน มักถูกมองว่าเป็นชนกลุ่มน้อย ไม่ได้เป็น "ลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย" จึงไม่ค่อยได้รับความสนใจ
แต่วัยเด็กแสนสุขในหนังสือเหล่านั้น
เป็นภาพสะท้อนที่แท้จริงของเด็ก ๆ ในโลกความเป็นจริงหรือเปล่า?
ในปีนี้ (2022) Unicef รายงานว่ามีเด็กที่พลัดถิ่นฐานรวมกันทั่วโลกถึง 37 ล้านคนก็ตาม (13.7 ล้านคน อยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย และ อีก 22.8 ล้านคนกระจัดกระจายอยู่อย่างไร้บ้าน) การที่เด็ก ๆ ของเราโตมา โดยไม่มีโอกาสได้เห็นภาพวัยเด็กที่หลากหลาย วัยเด็กที่ทุกข์ยากของคนอื่น ๆ อาจทำให้พวกเขาหลงลืมคนบางส่วนในสังคมไป คนบางส่วนที่ไม่มีอำนาจ และไร้เสียง ไร้พลังที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตของตนให้ดีขึ้น
การได้อ่านเรื่องราวของผู้ลี้ภัยเด็ก ช่วยให้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ได้ตระหนักถึงวัยเด็กที่หลากหลาย ได้ตั้งคำถาม ว่าทำไมเด็กบางคนได้อยู่อย่างสุขสบาย ปลอดภัย ได้ไปโรงเรียน ได้เล่นกับเพื่อน ขณะที่เด็กหลายคนต้องหลบซ่อน หวาดกลัวอยู่หลังรถบรรทุก อดมื้อกินมื้อ พ่อแม่ถูกฆ่าตาย และต้องระหกระเหินข้ามพรมแดนไม่มีที่สิ้นสุด
หนังสือเด็กเป็นพื้นที่ที่สามารถสร้างความตระหนักรู้ถึงความแตกต่างหลากหลาย ความเข้าใจโลกในอย่างที่มันเป็น ความรู้สึกทนไม่ได้ที่ต้องเห็นความรุนแรงและอยุติธรรม
สร้างรากฐานเหล่านี้ ตั้งแต่วัยเล็กที่สุด
แล้วไทยล่ะคะ
เรามาช่วยกันรับฟัง และเล่าเรื่องของผู้ลี้ภัย ได้แล้วหรือยัง?
แล้วเราจะเริ่มเล่า จากเรื่องไหนได้บ้าง แชร์ความคิดเห็นกันเข้ามาได้นะคะ
*บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรก ที่นี่
Comments