มากกว่า "คำขวัญ" คือ "ความฝัน" และ "คำสัญญา"
วันเด็กปีนี้ เรามาทบทวนกันสักหน่อยดีกว่า
ว่าเด็กน้อยในวันวานเคยฝันอะไร และได้สัญญาอะไรไว้กับเด็กๆ รุ่นต่อไปบ้าง
ปีนี้เราจะมารีวิวหนังสือเพื่อส่งเสริมสิทธิเด็กกัน
ที่ผ่านมาเราได้นำเสนอหนังสือเด็กที่พูดถึงประเด็นต่างๆ ทางสังคม เช่น ความหลากหลาย สันติภาพ ความเข้าใจตัวเองและผู้อื่นๆ ซึ่งโดยพื้นฐานก็สนับสนุนสิทธิเด็ก (และสิทธิมนุษยชน) ทั้งนั้น แต่เพื่อสร้างความตระหนักรู้ในสังคมให้มากขึ้นว่า เด็กมีสิทธิอะไรบ้าง แล้วเราจะปกป้องและส่งเสริมให้เด็กๆ ใช้สิทธิของตัวเองได้อย่างไร
จากนี้เราก็เลยจะพยายามเชื่อมโยงเรื่องนี้เข้าไปในบทความต่างๆ ด้วยค่ะ
ขอประกาศให้ปี 2023 ทั้งปีเป็นปี ที่ Children's Books Out There จะรีวิววรรณกรรม สื่อเด็ก และกิจกรรมต่างๆ ที่สนับสนุนการเรียนรู้เรื่องสิทธิเด็กเลยละกัน
ว่าแล้วก็เริ่มเลออออ....
Dreams of Freedom
จากวาทะทรงพลังของนักสู้เพื่ออิสรภาพทั่วโลก สู่หนังสือส่งเสริมสิทธิเด็ก
ในบรรดาหนังสือส่งเสริมสิทธิเด็กที่มีอยู่มากมายในหลายๆ ประเทศ เล่มหนึ่งที่เราถูกใจมากๆ คือ หนังสือภาพ Dreams of Freedom (2015) ซึ่งจัดทำโดย แอมเนสตี อินเตอร์แนชันนัล สาขาสหสาขาสหราชอาณาจักรค่ะ ทั้งนี้เราไม่ได้ค่าโฆษณาแต่อย่างใด แค่ถูกใจก็พอแล้ว 55
หนังสือเล่มนี้พูดถึงอิสรภาพด้านต่างๆ ที่เด็กมีสิทธิได้รับ ผ่านคำพูดของบุคคลสำคัญที่ต่อสู้เพื่ออิสรภาพ เช่น แอนน์ แฟรงก์, อองซาน ซู จี (ค่อนข้าง controversial แล้วหลังจากเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โรฮิงญา แต่ก็เป็นโอกาสที่ดีในการพูดคุยเรื่องประวัติศาสตร์ที่ไม่มีใครคนไหนขาวบริสุทธิ์ซะทีเดียว) และคนอื่น ๆ แถมยังประกอบภาพผลงานนักวาดชื่อดังมากมาย
หนังสือเปิดเรื่องด้วยข้อความว่า "เด็กไม่ได้เป็นกรรมสิทธิของใครแม้แต่พ่อแม่"
สำหรับเราแล้ว นี่เป็นถ้อยคำที่ทรงพลังและสำคัญมาก เพราะมันเน้นย้ำชัดเจนว่า เด็กทุกคนเป็นเจ้าของชีวิตของตัวเอง ดังนั้นต้องรับผิดชอบตัวเอง คิดเอง ทำเอง และกล้าเป็นตัวของตัวเอง
ถึงจะเป็นเรื่องที่ออกจะชัดเจนตรงไปตรงมา แต่เราว่าผู้ใหญ่ชอบลืมเรื่องนี้กันบ่อยๆ และมักจะรวมเด็กเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของตัวเองโดยไม่ตั้งใจ เช่น ไปคาดหวังว่าเด็กๆ จะต้องเป็นลูกที่ทำตามคำสั่ง เป็นนักเรียนที่ต้องทำตามกฎอะไรก็ตามที่ผู้ใหญ่ตั้งขึ้นมา เด็กจะต้องทำตัว "เป็นหน้าเป็นตา" ของพ่อแม่ ของโรงเรียน ของประเทศ ต้องโตไปรับใช้ชาติ รับใช้เศรษฐกิจ สังคม ฯลฯ
(ผู้ใหญ่บางคนก็คาดหวังแบบนี้กับผู้ใหญ่กันเองด้วย)
แต่จริงๆ แล้ว ชีวิตเรา เป็นของเราเอง
และความเข้าใจเรื่องนี้ ก็คือก้าวแรกสู่อิสรภาพในทุกๆ ด้านตามมา
อิสระที่จะเป็นเด็ก
พ่อแม่ หรือแม้แต่ของโลกใบนี้ไม่ได้เป็นเจ้าของเด็ก ๆ เด็กทุกคนล้วนมีอิสระที่จะใช้ชีวิตอย่างไรก็ได้เพื่ออนาคตของตัวเอง
- Mikhail Bakunin
นักเขียนชาวรัสเซียและนักอนาธิปไตย (เกิดปี 2357 ตายปี 2419... ราวสมัยร. 2-ร. 5) ถูกคุมขังเพราะเขียนเรียกร้องอิสรภาพและความเท่าเทียม
ที่เราชอบมากเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้คือ เรารู้สึกว่า เขาเข้าใจคัดเลือกคำพูดเรียบง่ายแต่ทรงพลัง มาอธิบายแนวคิดเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนได้อย่างเป็นรูปธรรม แถมภาพวาดก็มีความหลากหลายสวยงาม เหมาะกับหัวข้อที่ต่างกัน ครอบคลุมสิทธิข้อสำคัญๆ ในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นสิทธิของผู้พิการ การเป็นตัวของตัวเอง การศึกษา การแสดงออก ฯลฯ
อิสระจากความหวาดกลัว
คุกที่แท้จริงหนึ่งเดียว คือ ความกลัว และอิสรภาพที่แท้จริงหนึ่งเดียว คือ อิสระจากความกลัว
เธอต้องไม่ปล่อยให้ความกลัวมาขวาง ไม่ให้เธอทำในสิ่งที่เธอรู้ว่าถูกต้อง
- Aung San Suu Kyi
นักต่อสู้เพื่อสันติภาพชาวเมียนมาร์ ผู้ถูกรัฐบาลเผด็จการทหารคุมขังในบ้านพักของตัวเองถึง 20 ปี
อิสระจากการถูกกักขังอย่างไม่เป็นธรรม
ปีกของฉันจะกางสยายในวันหนึ่ง แม้ฉันจะนั่งรถเข็น ฉันก็จะยังออกโบยบินไป เหนือแมกไม้ในสวนทั้งหลาย ที่พร่างพรมไปด้วยเด็กมากมายและทุ่งดอกไวโอเล็ต
- Armando Valladares
ศิลปินชาวคิวบา ผู้ถูกคุมขังกว่า 22 ปี เพราะแสดงความคิดเห็นทางการเมือง
อิสระที่จะแสดงความคิดเห็น
เวลาฉันวาดภาพ ฉันรู้สึกเหมือนว่าได้เปล่งเสียงที่กู่ร้องอยู่ภายในออกมา
- Ali Ferzat
นักวาดการ์ตูนชาวซีเรีย ผู้ถูกขู่ฆ่าจากการวาดการ์ตูนวิจารณ์สังคม
การใช้โควตบุคคลในประวัติศาสตร์เหล่านี้เป็นวิธีดำเนินเรื่องที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์มาก เพราะเป็นการกระตุ้นให้เด็กสงสัยอยากรู้เกี่ยวกับคนเหล่านั้น และที่มาของคำพูดดังกล่าว เปิดประเด็นให้ค้นคว้าและเรียนรู้ประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนไปด้วยในตัว หนังสือเล่มนี้จึงโดดเด่นออกมาจากเล่มอื่นๆ ที่พูดเรื่องสิทธิมนุษยชนเหมือนกัน
ทำไมการสอนเรื่องสิทธิเด็กจึงสำคัญ
ตอบสั้นๆ คือ สิทธิเด็ก เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ของเด็กและเยาวชนทุกคนโดยตรง
และยิ่งเด็กรู้แต่เนิ่นๆ เท่าไหร่ก็ยิ่งดี เพราะการบอกให้เด็กรู้ว่าตัวเองมีสิทธิอะไรจะช่วยให้พวกเขารู้ว่าตนทำอะไรได้บ้าง และต้องได้รับความคุ้มครองในด้านใดบ้าง จะทำให้เด็กใช้สิทธิของตัวเองได้ดีขึ้น และปกป้องตัวเองและคนอื่นๆ ได้มากขึ้น
ไม่เพียงเท่านั้น ผู้ใหญ่เองก็จะได้รับการทบทวนให้ไม่ละเมิดสิทธิของเด็กๆ ไปด้วยในตัว
และคิดหาแนวทางคุ้มครองเด็กๆ ในด้านต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
อิสระที่จะมีความคิดเป็นของตัวเอง
ฉันรู้ว่าฉันต้องการอะไร ฉันมีเป้าหมาย มีความเห็น ปล่อยให้ฉันเป็นตัวเองเถอะ เมื่อนั้นฉันจึงจะมีความสุข
- Anne Frank หนึ่งในเยาวชนที่เสียชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของพรรคนาซี ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เธอเป็นผู้เขียนบันทึกชื่อก้องโลก บันทึกลับของแอนน์ แฟร้งค์ (Diary of a Young Girl)
อิสระที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลง
จุดเทียนดีกว่าก่นด่าความมืด
- สุภาษิตจีน และคำขวัญขององค์กรแอมเนสตี อินเตอร์แนชันนัล
ขอบคุณภาพจาก The Guardian
พูดแบบนี้ สำหรับบางคนอาจฟังดูเหมือนเราแบ่งเด็ก แบ่งผู้ใหญ่ แต่จริงๆ แล้วสิทธิเด็กเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิมนุษยชนที่ทุกคนควรได้รับ เพียงแต่เพิ่มความเฉพาะเจาะจงมากขึ้นเพื่อให้ทุกคนที่เกิดมาได้มีโอกาสมีวัยเด็กที่ปลอดภัยและเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์แข็งแรง
นี่คือเหตุผลว่า ทำไม ทุกคนจึงควรมีส่วนร่วม และช่วยกันการปกป้องสิทธิเด็กของเด็กทุกคนอย่างเต็มที่
ไม่ใช่เฉพาะเด็กบ้านรวย เด็กดี เด็กหัวอ่อน เด็กที่ทำตามบรรทัดฐานของสังคม
"สิทธิเด็ก" คือ ความปรารถนาแรงกล้าของเด็กๆ รุ่นก่อน
ให้เด็กๆ รุ่นหน้าไม่ต้องเผชิญกับโลกที่รุนแรง อยุติธรรมและไม่เท่าเทียม
เช่นเดียวกับสิทธิอื่นๆ ที่ไม่เคยได้มาโดยง่าย...
สิทธิเด็กเพิ่งจะได้รับการพัฒนาขึ้นมาในยุโรป ช่วงยุคอุตสาหกรรม (ศต. 19 หรือ ราวๆ พ.ศ. 2440) ก่อนหน้านั้นในประวัติศาสตร์อันยาวนาน เด็กๆ ถูกมองแค่เป็น "ผู้ใหญ่ตัวเล็ก" ที่ไม่จำเป็นต้องได้รับการปกป้องเป็นพิเศษแต่อย่างใด เด็กที่มีโอกาสได้รับการปกป้องและเติบโตอย่างดีนั้น มีก็แค่เด็กจากครอบครัวที่ร่ำรวยและมีสถานะสูงในสังคม ไม่ใช่เด็กทุกคน
แต่ในยุคที่ชุมชนเมืองและโรงงานขยายตัว ผู้คนเริ่มได้เห็นภาพเด็กเล็กๆ ออกไปใช้แรงงานหนักตามโรงงานและครัวเรือนมากขึ้น และเริ่มเห็นความเชื่อมโยงระหว่างวัยเด็กที่เลวร้าย กับการเติบโตมาเป็นปัญหาเรื้อรังที่ส่งผลกระทบต่อทั้งสังคม
ในยุคนั้น วรรณกรรมหลายเรื่อง เช่น Oliver Twist ของ ชาร์ลส ดิกคินส์, Water Babies ของ ชาร์ลส คิงส์ลีย์ และ The Little Match Girl (เด็กหญิงขายไม้ขีดไป) ของ ฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์เซน พยายามสะท้อนภาพชีวิตลำเค็ญของเด็กๆ เหล่านี้ และจุดกระแสให้สังคมหันมาสนใจแก้ไขชีวิตความเป็นอยู่ของเด็กยากจน ด้วยการสร้างระบบการศึกษาและสวัสดิการขั้นพื้นฐานสำหรับเด็กอย่างจริงจัง
และแล้วจุดเปลี่ยนก็มาถึงในแบบที่เลวร้ายที่สุด
คุณภาพชีวิตของเด็กๆ ตกต่ำอย่างมากอีกครั้งในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 (พ.ศ.2457-2461) และ 2 (พ.ศ. 2482-2488) เด็กนับล้านเสียชีวิต และอีกมากสูญเสียครอบครัว
ในปี 2466 มูลนิธิ Save the Children ซึ่งก่อตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือเด็กในสงครามโลกครั้งที่ 1 (และคงทนดูความอนาถนี้ไม่ได้อีกต่อไป...) ได้ประกาศ "ปฏิญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก" (Declaration of the Rights of the Child) ที่มีหลักการสำคัญ 5 ข้อ คือ
เด็กต้องได้รับการช่วยเหลือที่เพียงพอ ให้ได้มีพัฒนาการตามปกติทั้งด้านวัตถุและจิตวิญญาณ
เด็กที่หิวโหยจะต้องได้รับการจัดสรรอาหารให้ เด็กที่บาดเจ็บต้องได้รับการดูแลรักษา เด็กที่ด้อยโอกาสต้องได้รับการช่วยเหลือ เด็กที่เกเรเป็นอันธพาลจะต้องได้รับการพากลับสู่หนทางที่ถูกต้อง เด็กกำพร้าและเด็กไร้บ้านจะต้องได้รับที่อยู่ที่ปลอดภัยและช่วยให้พ้นความลำบาก
เด็กต้องเป็นคนแรกที่ได้รับการช่วยเหลือในสถานการณ์คับขัน
เด็กต้องได้รับการสนับสนุนในด้านต่างๆ ให้ได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข และได้รับการปกป้องจากการเอาเปรียบและหาประโยชน์ทุกรูปแบบ
เด็กต้องได้รับการเลี้ยงดูให้มีจิตสำนึกที่จะอุทิศความรู้ความสามารถของตนเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์
ผู้คนเห็นด้วยกับหลักการนี้อย่างกว้างขวาง ทำให้ในปีต่อมา (พ.ศ. 2467) สันนิบาตชาติ (The League of Nations) —องค์กรนานาชาติที่มุ่งสร้างสันติภาพในขณะนั้น— ได้ลงนามสนับสนุนสิทธิเด็กห้าข้อในปฏิญญานี้
พอสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง สันนิบาตชาติที่ได้กลายมาเป็น สหประชาชาติ แล้ว ก็ได้รับหลักการ 5 ข้อนี้มาใช้ต่อ และปรับปรุงลงรายละเอียดสิทธิเด็กเพิ่มเติมเป็น 10 ประการ (ประกาศใช้ในปี 2502) ซึ่งจะกลายมาเป็นอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child) ทั้ง 54 ข้อที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน
อนุสัญญานี้เขียนขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2532 และประกาศใช้ในปี พ.ศ. 2533 (ปี 2568 ปีหน้าจะครบรอบ 35 ปีแล้วนะ) และปัจจุบันก็ได้กลายมาเป็น "ข้อตกลงด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ได้รับการ [ลงนาม] รับรองมากที่สุดในโลกถึง 196 ประเทศ" (Unicef, 2023) ด้วย
โดยประเทศไทยได้ลงนามในอนุสัญญานี้ในวันที่ 27 มี.ค. 2535
แล้ว "สิทธิเด็ก" มาเกี่ยวอะไรกับ "วันเด็ก" ด้วย?
ช่วงต้นศตวรรตที่ 20 ก่อนจะมีสงครามโลก บางประเทศเคยจัดวันฉลองให้เด็กๆ อยู่บ้างเหมือนกันในระดับชุมชน (สหรัฐอเมริกา) และระดับชาติ (ตุรกี) แต่วันเด็กก็ยังไม่ใช่วันสำคัญในระดับนานาชาติเหมือนในตอนนี้
ความสูญเสียจากสงครามใหญ่ทั้งสองครั้งผลักดันให้ประเทศต่างๆ ตื่นตัวกันมากขึ้น เรื่องการบัญญัติข้อตกลงเพื่อปกป้องมนุษย์ โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน จากความรุนแรง
นับตั้งแต่ปี 2489 ที่สหประชาชาติรับหลักการเรื่องสิทธิเด็กมาใช้ เรื่อยมาจนถึงปี 2532 ที่มีผ่านร่างอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก รัฐบาลทั่วโลกจึงเริ่มประกาศให้ "วันเด็ก" เป็นเป็นวันสำคัญประจำชาติ ซึ่งก็รวมไปถึงประเทศไทยของเราด้วย
โดยในปี 2492 สหพันธ์สตรีนานาชาติเพื่อประชาธิปไตย (Women's International Democratic Federation) ในมอสโกว ประกาศให้ วันที่ 1 มิถุนายน เป็นวันคุ้มครองเด็กสากล (International Day for Protection of Children) ซึ่งยังคงมีการฉลองต่อมาจนปัจจุบัน ในกลุ่มประเทศที่ปกครองและเคยปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ กว่า 50 ประเทศ
ส่วนไทยเองก็เริ่มจัดงานวันเด็กครั้งแรก ตามข้อเสนอของตัวแทนจากสหประชาชาติ ในเดือนตุลาคม ปี 2498 สมัยที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี
วันที่นิยมฉลองวันเด็กกันมากที่สุดอีกวันคือ วันที่ 20 พฤศจิกายน เพราะเป็นวันที่สมัชชาสหประชาชาติผ่านร่าง "อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก" โดยปัจจุบัน ยังมีประเทศเกือบ 30 ประเทศที่ฉลองวัน (สิทธิ) เด็กกันในวันนี้
นอกจากนั้น ก็ยังมีอีกหลายประเทศที่กำหนดวันเด็กในวันอื่นๆ เช่น ญี่ปุ่นจัดวันเด็กผู้หญิงในวันที่ 3 มี.ค. และวันเด็กผู้ชาย (ซึ่งกลายมาเป็นวันเด็กและวันหยุด หลังสงครามโลกครั้งที่ 2) ในวันที่ 5 พ.ค.
ไต้หวันฉลองวันเด็กและสตรีในวันที่ 4 เม.ย.
อินโดนีเซียฉลองวันเด็กวันที่ 23 ก.ค.
และมาเลเซียฉลองวันเด็กวันที่ 1 ต.ค. และ 20 พ.ย. เป็นต้น
วันเด็กเหล่านี้ ล้วนจัดตั้งขึ้นหลังจากที่สิทธิเด็กได้ถูกวางรากฐานมั่นคงในประชาคมโลก
"คำสัญญา" ที่ผู้ใหญ่ทั่วโลกให้กับเด็กๆ ใน "อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก"
มีอะไรบ้าง
ใจความสำคัญของอนุสัญญาฯ ฉบับนี้สรุปได้สามเรื่อง
1) อนุสัญญาฯ นิยามคำว่า "เด็ก" ไว้ว่า
"เด็ก" คือ มนุษย์ทุกคนที่อายุต่ำกว่าสิบแปดปี ไม่เกี่ยงชาติพันธุ์ รูปร่างหน้าตา ศาสนา ความเชื่อ ภาษา สีผิว ทรัพย์สิน ความเห็นทางการเมืองหรือความเห็นใดๆ หรือ สถานะผู้ใหญ่ที่เลี้ยงดูเขา
2) เด็กจะต้องได้รับความคุ้มครองจากรัฐ ผ่านกฎหมายที่บังคับใช้ตามแนวทางของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
3) อนุสัญญาฯ นี้มีรายละเอียดทั้งหมด 54 ข้อ คุ้มครองสิทธิของเด็กหลักๆ 4 ด้าน
ได้แก่
สิทธิที่จะมีชีวิตรอด เด็กจะต้องได้รับบริการพื้นฐานต่างๆ ให้เติบโตอย่างแข็งแรงทั้งกาย-ใจ
สิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครอง
- จากการใช้ความรุนแรงทางร่างกาย-จิตใจในรูปแบบต่างๆ
- จากการใช้แรงงานและการแสวงหาประโยชน์ทุกรูปแบบ
- จากการขัดขวางไม่ให้ได้เรียนหนังสือและพัฒนาตนเอง
- จากการเลือกปฏิบัติหรือลงโทษ อันเนื่องมาจากการแสดงออก-แสดงความคิดเห็น
สิทธิในการพัฒนาชีวิตตนเอง ให้พึ่งพาตนเองได้และใช้ทักษะต่างๆ ได้อย่างเต็มศักยภาพ ต้องได้มีเวลาพักผ่อน เล่น แสวงหาสิ่งที่สนใจ ต้องได้รับการศึกษาภาคบังคับโดยถ้วนหน้า มีโอกาสเรียนต่อในระดับสูงเท่าเทียมกัน และได้รับข้อมูลข่าวสารต่างๆ โดยไม่ถูกจำกัด
สิทธิในการมีส่วนร่วม ถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิด ความเชื่ออย่างเสรีในเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องที่มีผลกระทบต่อตัวเด็กๆ เอง
* เรายังหาฉบับเยาวชนเป็นภาษาไทยไม่ได้ แต่มีดูภาษาอังกฤษได้ตามด้านล่างนี้ค่ะ
หนังสือเพื่อสิทธิเด็กและมนุษยชนเล่มอื่นๆ จากแอมเนสตี้
นอกจาก Dreams of Freedom แล้ว แอมเนสตี้ ยูเค ก็ยังจัดทำหนังสือภาพดีๆ ส่งเสริมสิทธิเด็กและมนุษยชนหลายเล่มค่ะ เช่น My Little Book of Big Freedoms (2015) ซึ่งวาดภาพประกอบโดย Chris Riddell นักวาดชื่อดังของอังกฤษ เจ้าของลายเส้นและเรื่องราวแฟนตาซียอดนิยมหลายเล่ม อย่าง หนังสือชุด Goth Girl, Ottoline และ ดิ เอดจ์ โครนิเคิล (เล่มนี้เคยตีพิมพ์ภาษาไทย และเป็นหนึ่งในหนังสือในดวงใจของเราเลย 55)
โดยหนังสือนี้ต่างจาก Dreams of Freedom ตรงที่เป็นเล่มเล็กๆ ปกอ่อนเหมาะมือเด็ก และใช้คำน้อยพอเหมาะพอเจาะสำหรับเด็กเล็ก (และเต็มไปด้วยสัตว์โลกน่ารักด้วย!) พูดถึงคอนเซปต์ของสิทธิมนุษยชนหลักๆ 16 ประการ จากทั้งหมด 30 ข้อใน Universal Declaration of Human Rights
เช่น สิทธิที่จะมีชีวิต สิทธิที่จะรัก ที่จะมีครอบครัว มีความรู้ ความคิด ฯลฯ
ปกหนังสือเรื่อง My Little Book of Big Freedoms
ตัวอย่างภาพร่างของภาพประกอบในเล่ม My Little Book of Big Freedoms
ขอบคุณภาพจาก The Guardian
ก่อนหน้านี้ แอมเนสตี้ก็ยังจัดทำหนังสือเรื่อง We Are All Born Free (2008) ซึ่งได้รับรางวัลมาแล้วมากมาย เล่มนี้อธิบายสิทธิมนุษยชนแบบเรียบง่าย เช่น "ไม่มีใครควรถูกกล่าวหาว่าทำผิด เมื่อเขาไม่ได้ทำ" "ทุกคนมีสิทธิไปที่ไหนก็ได้ ตามที่ต้องการ" และประกอบภาพจากนักวาดที่มีชื่อเสียงหลายคน เช่น Axel Scheffler, Peter Sis, Satoshi Kitamura, Alan Lee, Polly Dunbar, Jackie Morris, Debi Gliori, Chris Riddell ฯลฯ
ใครสนใจเข้าไปฟังการเล่านิทาน My Little Book of Big Freedoms ได้ ที่นี่
เข้าไปดาวน์โหลดกิจกรรมประกอบการอ่านได้ ที่นี่ นะคะ
และดูการอ่านนิทาน We Are All Born Free ได้ ที่นี่
กับดาวน์โหลดกิจกรรมประกอบการอ่านได้ ที่นี่ ค่ะ
ปก ตัวอย่างเนื้อหา และกิจกรรมประกอบการอ่าน We Are All Born Free
ขอบคุณภาพประกอบจาก The Guardian
ในตอนหน้า เราจะมาแนะนำหนังสือ สื่อและกิจกรรมสำหรับเด็กอื่นๆ ซึ่งส่งเสริมการตระหนักรู้เรื่องสิทธิเด็กและสิทธิมนุษยชนอีกนะ
ใครสนใจก็อย่าลืม กดไลก์ + ติดตามเพจ Children's Books Out There และให้หัวใจกับคอมเมนต์เราได้ เพื่อเป็นกำลังใจให้เราเขียนบทความต่อไปนะคะ
เงินไม่ได้ สปอนเซอร์ไม่มี ขอมีแค่กำลังใจพอ
ขอบคุณและสุขสันต์วันเด็กค่า
*บทความนี้ตีพิมพ์ในเฟสบุ๊กเพจ Children's Books Out There ที่นี่
อ้างอิง
https://tbinternet.ohchr.org/_layouts/15/TreatyBodyExternal/Treaty.aspx?Treaty=CRC&Lang=en
https://www.bl.uk/romantics-and-victorians/articles/child-labour
https://www.amnesty.org.uk/resources/book-and-activities-my-little-book-big-freedoms
https://www.amnesty.org.uk/resources/book-activities-we-are-all-born-free
https://en.wikipedia.org/wiki/Declaration_of_the_Rights_of_the_Child
https://www.unicef.org/child-rights-convention/history-child-rights
Comments