top of page
รูปภาพนักเขียนTarn

เบื้องหลังการบรรณาธิการ "คุณปุ๊บปั๊บ กับเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลก" และ "ซานตาคลอส"

อัปเดตเมื่อ 17 พ.ค. 2566

มาใช้หนังสือสร้างเด็กให้โตไปเป็นผู้ใหญ่สายฮากันดีกว่า!

แต่ถึงจะขายขำ ก็ชุ่มฉ่ำด้วยสาระและดีเทลนะ

และวันนี้เราจะมาเล่าประสบการณ์ (บางส่วน) ให้ฟังว่า

หนังสืออารมณ์ดีสองเล่มนี้มีขั้นตอนบรรณาธิการอย่างไรบ้าง


หนังสือเรื่อง "คุณปุ๊บปั๊บ กับเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลก" และ "ซานตาคลอส" โดย เมาริ กุนนัส

สองหนังสือภาพชื่อดังจากฟินแลนด์ ที่สนพ. กล้วยเท้าเปล่า กำลังเปิดจองถึงวันที่ 11 ธค. 2565 นี้



สวัสดีค่ะ วันนี้ตาลมาแนะนำหนังสือสองเล่มที่ได้มีโอกาสทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการเล่มให้ และเล่าเรื่องราวเบื้องหลังการบรรณาธิการส่วนที่ตาลได้ร่วมปฏิบัติงานให้ฟังค่ะ


ส่วนหนึ่งที่ตาลหายหน้าไปจากเพจก็ด้วยเหตุนี้นี่เอง 55

ขออภัยหายไปนานนะคะ



ตอนที่คุณแจนให้งานมางานแรกเรื่อง "คุณปุ๊บปั๊บ กับเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลก" เราก็รู้สึกตื่นเต้นมากเลย เพราะตามดูคุณปุ๊บปั๊บไปงานเล่านิทานตามที่ต่าง ๆ มาสักพักแล้ว เราเองก็เป็น FC นักแปลอยู่ห่าง ๆ ตั้งแต่สมัยที่คุณกุลธิดาไปพูดในงานเสวนางานหนึ่งของไบโอสโคป แต่เนื่องจากเราไม่ได้กลับไทยมาสักพักแล้ว ก็เลยไม่มีโอกาสได้อ่านเรื่องของคุณแพะผู้น่ารักผู้นี้สักที





จุดเริ่มต้นของขั้นตอนบรรณาธิการส่วนของเราคือ หลังจากที่ได้รับไฟล์ต้นฉบับภาษาฟินนิชและต้นฉบับแปลมาแล้ว พออ่านต้นฉบับแปลจบ เรากับคุณแจนก็นัดวิดีโอคอลกันเพื่อบรี๊ฟงานค่ะ


ในการคุยกันครั้งแรก คุณแจนซึ่งทำการบ้านมาแล้วเป็นอย่างดีได้ชี้ให้เราเห็นว่า นอกเหนือจากการแปลชื่อตัวละครตลกปนประหลาดจากภาษาฟินนิชให้เป็นชื่อขำ ๆ ตามฉบับไทย หนังสือเล่มนี้มาพร้อมรายละเอียดที่ท้าทายเยอะแยะมากมายเหลือเกิน


อย่างแรกคือ เรื่องการตัดสินใจแปลอะไร ไม่แปลอะไร


เรื่องนี้ต้นฉบับเป็นภาษาฟินนิช แต่ว่าตัวละครไปเที่ยวต่างประเทศ ป้ายข้อความต่าง ๆ ในฉากหลังจึงเป็นภาษาอังกฤษ และภาษาต่างประเทศอื่น ๆ ที่เขียนด้วยตัวอักษรโรมัน (เช่น อิตาเลียน และโปรตุเกส) ซึ่งพอวิเคราะห์ดูแล้วก็พบว่า ข้อความภาษาต่างประเทศเหล่านั้นมีไว้เพื่อวัตถุประสงค์สามประการ คือ

  • เพื่อสร้างกลิ่นอายจาง ๆ ของวัฒนธรรมและฉากต่างประเทศ

  • เพื่ออ้างอิงหรือ "ล้อ" ชื่อสิ่งของหรือสถานที่ที่มีอยู่จริง

  • เพื่ออ้างอิงถึงแบรนด์ หรือบริษัทที่มีอยู่จริง ๆ เช่น เรือ Maid of the Mist ห้องเสื้อ MODA หรือชื่อเพลงยุคคณตาคุณยายยังเด็กในเรื่อง

ที่น่าสนใจคือ ฉากต่างประเทศบางฉากดันมีข้อความภาษาฟินนิชโผล่มาด้วย


เนื่องจากเราอ่านภาษาฟินนิชไม่ได้ (ต้องให้กูเกิลช่วย) แต่ยังดีที่อ่านเดนิชได้ เราเลยไปยืมหนังสือคุณปุ๊บปั๊บเวอร์ชันเดนิชที่ห้องสมุด มาอ่านเทียบกับคำแปลไทยกับคำแปลอังกฤษ แล้วก็ถือโอกาสสังเกตการตัดสินใจเชิงบรรณาธิการของต้นฉบับเดนิชไปด้วยในตัว


คุณปุ๊บปั๊บฉบับเดนิช


สำหรับผู้อ่านเด็กและผู้ใหญ่ในประเทศต้นทางที่อ่านภาษาฟินนิชและอังกฤษผ่านตัวอักษรโรมันเหมือนกัน ภาษาต่างประเทศในต้นฉบับของฟินแลนด์ไม่ได้ดูเด่นหรือแปลกแยกจากภาษาในเรื่องเล่านัก แค่ให้กลิ่นอายต่างประเทศจาง ๆ เท่านั้น จึงไม่แปลกที่หนังสือฉบับภาษาเดนิช ซึ่งใช้ตัวอักษรโรมันเหมือนกัน ก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงภาษาต่างประเทศที่ฉากหลังต่าง ๆ แต่อย่างใด


ว่าแต่ แล้วหนังสือแปลของประเทศที่ไม่ได้ใช้ตัวอักษรโรมันล่ะ?

เมื่อเราค้นดูหนังสือคุณปุ๊บปั๊บเล่มเดียวกันนี้ ในเวอร์ชันภาษาจีน เกาหลี ญี่ปุ่น เท่าที่จะหาภาพดูบนอินเตอร์เน็ตได้ (ใช่แล้ว หนังสือเล่มนี้ดังมาก ๆ เลย!) เราก็เห็นรายละเอียดทางการแปลและการบรรณาธิการต่างออกไป อย่างเช่น เกาหลีกับญี่ปุ่นไม่แปลภาษาอังกฤษบนสติ๊กเกอร์ที่หน้าปก แต่แปลภาษาต่างประเทศบางจุดที่ฉากหลังในเรื่อง ขณะที่จีนแปลทุกสิ่งอย่างตั้งแต่ปกเป็นต้นมา แต่กลับเว้นคำภาษาต่างประเทศบางคำในฉากที่เบลอ ๆ ไว้


เอ แล้วแบบนี้ไทยเราจะใช้หลักการอะไรดี?


ตัวอย่างหน้าปกฉบับจีน เกาหลี และญี่ปุ่น



อย่างที่สอง เพลงที่คุณปุ๊บปั๊บร้องในเรื่อง กับรายชื่อเพลงนับสิบกว่าเพลงในภาพประกอบ คุณจะแปลหรือไม่และแปลอย่างไร ณ จุดนั้น เรากับคุณแจนถึงขั้นทำรีเสิร์ชเพลงไทยทำนองสากลกันเลยทีเดียว เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจแปลเพลงต่าง ๆ ในเรื่อง


ผลที่ได้คือ เราได้อ่านวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับเพลงไทยทำนองเทศ และทำเพลย์ลิสต์คุณปุ๊บปั๊บไว้ฟังเล่นอีกด้วย ทุกวันนี้ก็ยังเปิดฟังอยู่ นักแปลนักแต่งเพลงยุคนั้นวาทศิลป์คมคาย แต่งเพลงได้ไพเราะเหมาะกับธรรมชาติของภาษาไทยมาก ฟังแล้วแทบไม่รู้เลยว่าแปล/ดัดแปลงมา แต่สรุปแล้วพวกเราก็ตัดสินใจปล่อยเพลงอมตะหลาย ๆ เพลงในเรื่องเอาไว้ให้ผู้อ่านในไทยได้ทำความรู้จัก หรือย้อนอดีตกัน

ลองไปอ่านกันในเล่มจริงดูนะคะ ว่ารู้จักเพลงไหนบ้างมั้ยนะ 😊


เพลย์ลิสต์ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากการอีดิตหนังสือ "คุณปุ๊บปั๊บ กับเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลก"



 


ส่วนเรื่อง "ซานตาคลอส" เองก็เป็นอะไรที่เปิดหูเปิดตามากสำหรับเราค่ะ



หนังสือเล่มนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับกิจกรรมต่าง ๆ ในรอบปีของซานตาและเหล่าเอลฟ์ที่อาศัยอยู่ ณ ภูเขากอร์วาตุนตุริ โดยละเอียด


ที่เราเซอร์ไพรซ์มากคือ เราไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่า มันมีสถานที่ที่เชื่อกันว่าซานตาคลอสอาศัยอยู่จริง ๆ ด้วย แบบว่า... แต่ก่อนก็เคยแต่จินตนาการว่าซานตาอยู่ที่เมืองลับแลที่ไหนสักแห่งที่ขั้วโลกเหนือ ไม่คิดว่าจะมีชื่อที่อยู่ย่านจริงจังแบบระบุพิกัดได้ ซึ่งนำไปสู่คำถามที่ว่า แล้วหมู่บ้านซานตาตั้งอยู่ตรงจุดไหนของภูเขากันแน่ หุบเขา ยอดเขา ลาดเขา หรืออะไร และภูเขานี้มีลักษณะเป็นอย่างไรกันแน่ (เมื่อรีเสิร์ชดูแล้ว กอร์วาตุนตุริ หรือที่ในภาษาอังกฤษแปลว่า Ear Fell เป็นภูเขาแบบที่เรียกว่า fell คือมีลักษณะค่อย ๆ ลาดขึ้น) สุดท้ายเราก็เลยต้องส่งเมสเสจไปถามอุทยานแห่งชาติที่ฟินแลนด์เพื่อให้รู้แน่ ๆ จะได้แปลถูก


ภาพ 360 องศาของพื้นที่บริเวณภูเขากอร์วาตุนตุริ จากวิกิพีเดีย


แม้ว่าเราจะเริ่มชินกับวัฒนธรรมความเชื่อเรื่องซานตา และคริสต์มาสในแถบสแกนดิเนเวียมาบ้างแล้ว จากการอาศัยอยู่ที่เดนมาร์กมาราว ๆ 2 ปี เช่น เกมค้นหาอัลมอนด์ในชามข้าวโอ๊ตต้ม (เย็น ๆ... บางทีก็อุ่น แล้วแต่บ้าน) ในมื้อค่ำวันคริสต์มาสอีฟ หรือกิจกรรมจับมือร้องเพลงรอบ ๆ ต้นสน แต่เราไม่เคยมองซานตาในฐานะคนที่ยังมีชีวิตอยู่ อาศัยอยู่ในสถานที่ "จริง" หรือมองว่า ซานตาเป็นเอลฟ์ ที่เป็นหัวหน้าเอลฟ์— เหมือนอย่างที่คนเดนิชแถวนี้ยืนยันหนักแน่นมาก— มาก่อนเลย... (ซานตาเป็นเซนต์ไม่ใช่เร๊อ!!! My whole life is a lie!)


ข้าวโอ๊ตต้มราดซอสเชอร์รี่ สไตล์เดนิช (risalamande)

ที่คนกินกันในช่วงคริสต์มาส คืนวันคริสต์มาสอีฟ และวันที่อยาก

ขอบคุณภาพจาก mummum.dk


การได้เที่ยวไปในประเทศต่าง ๆ และมีโอกาสอ่านหนังสือจากหลาย ๆ ประเทศ ทำให้เราได้เข้าใจว่า ที่ผ่านมาเรารู้จักกับซานตาคลอสและคริสต์มาส ผ่านวัฒนธรรมอเมริกัน (และอังกฤษ) มาตลอดจริง ๆ แล้วยังมีวัฒนธรรมอื่น ๆ ที่น่าสนใจอีกมากที่เราไม่เคยรู้มาก่อน เช่น ที่เดนมาร์กจะมีการวางตุ๊กตาเอลฟ์กับข้าวโอ๊ตต้มไว้ที่ห้องใต้หลังคา แล้วบอก (หรือหลอก) เด็ก ๆ ว่า เอลฟ์จะขยับเปลี่ยนท่า เปลี่ยนที่ของมันเองตอนที่ไม่มีใครอยู่ดู


เหล่าเอลฟ์จิ๋วกับข้าวโอ๊ตต้มชามเล็ก ๆ ที่ห้องใต้หลังคาชาวเดนิช


หรือที่แคว้นกาตาลุนญาในสเปน ช่วงคริสต์มาส เด็ก ๆ จะทำ กากาติโอ (Caga Tió) หรือคุณลุงไม้ซุง ที่มีขาหน้าเล็ก ๆ สองข้าง ใส่หมวกแดง และห่มผ้าแดงกันหนาว แล้วก็จะให้อาหาร/ขนมคุณลุงนี่ทุกวัน พอถึงวันคริสต์มาสอีฟ คุณลุงก็จะอึออกมาเป็นของขวัญ (และถ้าไม่อึ เด็กก็จะเอาไม้อื่นมาตีลุงแล้วร้องเพลงที่แปลคร่าว ๆ ได้ว่า อึดิ ลุง! อึ!)


กากาติโอ ในตลาดนัดคริสต์มาส เมืองบาเซโลนา แคว้นกาตาลุญา ปี 2020


ใด ๆ ก็ตาม คุณเมาริ กุนนัส เป็นนักวาดที่เก่งเรื่องการซ่อนรายละเอียด และก็เล่าเรื่องได้ตลก สนุกเป็นธรรมชาติมาก ๆ เลยค่ะ ทำให้งานบรรณาธิการคราวนี้เป็นเรื่องสนุกสนานมากสำหรับเรา


ในวงการหนังสือเด็กที่ตลอดมาเน้นการใช้หนังสือเป็นเครื่องมือทางการศึกษา การสอนจริยธรรม เตรียมความพร้อมเป็นหลัก— ซึ่งไม่ได้หมายความว่าไม่ดี หรือไม่ควรมีนะ— หนังสือที่เน้นความสนุกสนานเฮฮา ขายขำนี่เป็นเหมือนสายลมเย็น ๆ เบา ๆ ที่หายาก และทำให้ชื่นใจดีจัง


ทำให้เรารู้สึกเสียดายว่า ทำไมการปลูกฝังให้เด็กเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่ตลกเฮฮา มองโลกขำ ๆ ถึงไม่ได้รับความสนใจมากกว่านี้นะ?


ถ้าจะให้เราหาสาระประโยชน์ทางการศึกษา อย่างที่ผู้ใหญ่/นักวิชาการมักจะชอบมองหากันในหนังสือเด็ก เพื่อหาเหตุผลและความชอบธรรม (justify) ว่าทำไมควรอ่านหนังสือตลก ๆ สักเล่มแล้วละก็ เราก็ต้องขอชมดัง ๆ ว่า การใส่รายละเอียดตลก ๆ ในเนื้อหาและภาพวาดหนังสือเด็กแบบที่หนังสือทั้งสองเล่มนี้ทำไว้ได้ดีมาก ๆ น่าจะเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้หนังสืออย่างเช่นสองเล่มนี้ ดึงดูดความสนใจเด็กให้เปิดอ่านซ้ำหลาย ๆ ครั้ง ไม่ต่างกับการใส่ Easter's eggs ที่ผู้ใหญ่อย่างเรา ๆ ชอบมองหาลงไปในภาพยนตร์เลย


ซึ่งการอ่านซ้ำเพื่อค้นหารายละเอียด นอกจากจะช่วยส่งเสริมการอ่านออกเขียนได้แล้ว รายละเอียดที่มีการอ้างอิงเรื่องราวทางทางสังคม ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมเฉพาะอย่าง ยังเป็นประตูพาผู้อ่านไปเรียนรู้เรื่องราวใหม่ ๆ ที่ตัวเองไม่คาดว่าจะได้รู้ หรือสนใจมาก่อนด้วย

อย่างเช่นที่นำเราไปฟัง "เพลงเก่า" ใหม่ ๆ ที่เราไม่เคยรู้จัก หรือได้เห็นความเชื่อเรื่องซานตาคลอสแบบฉบับที่เราไม่เคยได้รู้มาก่อน


สุดท้ายก็ ขอฝากหนังสือทั้งสองเล่มนี้ไว้ในอ้อมใจด้วยนะคะ

หวังว่าทุกคนจะสนุกกับการอ่านหนังสือภาพเบิกบานหัวใจ เรื่อง "คุณปุ๊บปั๊บ กับเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลก" และ "ซานตาคลอส" ค่ะ 🥰


ติดตามพรีออร์เดอร์ได้ ที่นี่ นะคะ




ปล.

เดนมาร์กก็มีนักเขียนสายฮาแบบนี้เยอะนะ แล้วก็เป็นประเทศที่แปลหนังสือเด็กหลากหลายและอิหยังวะมาก อย่างเช่น นักเขียนที่เราชอบมาก ๆ ตามอ่านมาหลายเล่มแล้วชื่อ Jakob Martin Strid นี่ มีผลงานที่ดังมาก ๆ ชื่อ Den utrolige historie om den kæmpestore pære (The Incredible Story of the Giant Pear) ซึ่งเป็นหนังแอนิเมชันไปแล้วด้วย


หนังสือเรื่อง Den utrolige historie om den kæmpestore pære


แต่ผลงานของเค้าที่เราประทับในที่สุดคือเรื่อง Lille frø (Little Frog) ว่าด้วยกบน้อยที่ฟักออกมาจากอุกกาบาตที่พุ่งเข้าชนหลังคาของครอบครัวกบ กบน้อยตัวนี้เป็นกบเด็กที่ (โคตร) ซน ซนระดับมหากาฬ แม้แต่ฤาษีในถ้ำ (ใช่แล้ว ฤาษี) ก็ยังต้องตบะแตกลุกมาตวาดแว้ดใส่มัน ว่าไปน่าจะรีวิวหนังสือเด็กตลก ๆ บ้างแฮะ 555



 

*บทความนี้ตีพิมพ์ในเฟสบุ๊กเพจ Children's Books Out There ที่นี่


อ้างอิง










ดู 37 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Commentaires


bottom of page