top of page
  • รูปภาพนักเขียนTarn

[เที่ยวเทศกาลหนังสือต่างประเทศ] FFBF 2021 EP.1

อัปเดตเมื่อ 28 ก.ย. 2565

เทศกาลหนังสือเมืองแฟรงก์เฟิร์ตที่จัดทุกปี

ไม่ได้มีไว้แค่ขายหนังสือลดราคาให้นักอ่าน

แต่เป็นงานใหญ่ของสนพ. ทั่วโลกมาเจรจาซื้อขายลิขสิทธิ์

และแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีการทำหนังสือกัน มันเป็นยังไง เราจะพาไปชมค่ะ


บรรยากาศในงาน Frankfurt Book Fair 2021

เมื่อปีที่แล้ว (2021) ตาลได้ไปร่วมงาน Frankfurt Book Fair

(FFBF หรือ Frankfurter Buchmesse, FBM ในภาษาเยอรมัน) ในฐานะผู้เข้าชมทั่วไปค่ะ ปกติงานจัด 5 วัน แต่ผู้ชมทั่วไปเข้าชมได้ในวันที่สามที่จัดงาน ตั้งแต่บ่ายสองค่ะ สองวันแรกเปิดให้เฉพาะคนในวงการหนังสือ ตัวแทนสนพ. ตัวแทนลิขสิทธิ์เข้าไปเจรจาซื้อขายกันเท่านั้นนะ ซึ่งค่าตั๋วแบบ Trader มันก็จะแพงกว่าผู้เข้าชมธรรมดามาก ๆ เลยค่ะ ก่อนไป ตาลได้ดูคลิปรีวิวปี 2015 เพื่อเตรียมตัวด้วย งานในปีนั้นน่าตื่นเต้นมากเลยค่ะ เป็นงานใหญ่มากกว่าปี 2021 เยอะเลย คนนำเที่ยวในวิดีโอเค้าเข้าไปด้วยตั๋ว Trade น่ะนะ คนก็จะเยอะเป็นพิเศษเพราะเค้ามาทำงานกัน อีกอย่างคือเพราะเป็นก่อนยุคโควิด-19 สนพ. และคนจากทวีปอื่นเดินทางสะดวกกว่า ไม่มีล็อกดาวน์ ตั๋วบินก็ยังไม่แพง งานจึงมีผู้เข้าชมและคนวางแผงขายหนังสือเยอะกว่ามาก ตอนที่ตาลไปมา คนขายหนังสือเขาว่ากันว่าขนาดงานหดลงไป 3 เท่า แต่แค่เท่าที่ไปเดินมานี่ก็ใช้เวลาเป็นวัน ๆ เลยนะคะกว่าจะเดินดูหมด 555


คลิปรีวิวปี 2015 โดยคุณ Leena


สำหรับใครที่ยังไม่เคยได้ยินเกี่ยวกับ FFBF มาก่อน อยากรู้ว่ามันคืออะไร สำคัญยังไง เราได้รวบรวมมาไว้ให้แล้วในบทความนี้ค่ะ

FFBF เป็นมหกรรมหนังสือที่ใหญ่ที่สุดในโลก

จัดทุกช่วงกลางเดือนตุลาคม งานหนังสือเมืองแฟรงก์เฟิร์ตมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานมาก เท่าที่มีหลักฐานบันทึกไว้คือ มีมาตั้งแต่ศต. ที่ 15 เป็นต้นมา แต่นักประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่า ก่อนหน้านั้นนั้นอาจจะมีเทศกาลขายหนังสือมาก่อนแล้วก็ได้ เพราะที่นี่เป็นแหล่งผลิตหนังสือสำคัญในยุโรปมาตั้งแต่ศต. ที่ 12 (ก่อนมีเครื่องพิมพ์ซะอีก) ในศต. ที่ 17 FFBF กลายมาเป็นมหกรรมหนังสือใหญ่ของหลาย ๆ ประเทศในยุโรป สำหรับ FFBF ยุคสมัยใหม่นั้นเริ่มต้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ปี 1949 และดำเนินมาจนถึงปัจจุบัน โดยจิตวิญญาณของงานแฟร์เมืองแฟรงเฟิร์ต คุณลีนา เจ้าของคลิปใต้โพสต์นี้ได้สรุปไว้ในช่วงท้ายวิดีโอว่า คือ "บรรยากาศของความร่วมมือระหว่างคนในวงการหนังสือ มากกว่าการแข่งขัน..." "...เป็นที่ที่คนในวงการเดินทางมาเก็บเกี่ยวประสบการณ์และแลกเปลี่ยนความรู้ใหม่ ๆ เพื่อสร้างหนังสือที่ดีที่สุด ให้ทันเวลาที่สุด และมีปกที่สวยที่สุด..." "...เพราะการทำหนังสือดีเยี่ยมยอดสักเล่ม หมายถึงการสร้างคนที่รักหนังสือเพิ่มขึ้นสักคน และการที่เรามีนักอ่านมากขึ้น ก็หมายถึงชัยชนะของทุกคนในวงการหนังสือนั่นเอง"

ฟังแล้วประทับใจจัง [//ปรบมือให้ดัง ๆ] ในปีก่อน ๆ ที่ยังไม่มีโควิด FFBF เคยรองรับผู้จัดบูธถึง 7,000 กว่ารายชื่อ จากมากกว่า 100 ประเทศ ปีนี้งานหดลงเหลือประมาณมากว่า 1,500 บูธจาก 74 ประเทศ (โซแซด...) หลังจากที่เลื่อนจัดไปในปีที่แล้ว โดย Guest of Honour ประจำปีนี้ก็ยังเป็น แคนาดา อยู่เช่นเดิม

รู้หมือไร่?: ประเทศในกลุ่มอาเซียนของเราเคยไปเป็น Guest ครั้งนึงเมื่อปี 2015 ด้วยนะ... เอ... ใช่ ไทยแลนด์ หรือเปล่า? เปล่าค่ะ อินโดนีเซีย นั่นเอง!

ตอนที่ตาลทำงานสนพ. อยู่ เคยได้ยินมาว่า อินโดนีเซียเนี่ย เค้ามีซัพพอร์ตระบบหนังสือที่น่าสนใจ คือรัฐจะให้เงินสนับสนุนสนพ. ต่างประเทศที่แปลผลงานวรรณกรรมของอินโดนีเซียด้วยนะคะ (ไม่รู้ตอนนี้ยังมีมาตรการนี้อยู่หรือเปล่า มีสนพ. ไหนในไทยได้ลองแปลหนังสืออินโดนีเซียบ้างแล้วยังคะ?)

The Hof อีเวนต์ออนไลน์ สำหรับสังสรรค์ทำความรู้จักกับเพื่อนร่วมวงการ

นอกจากงานเทรดหนังสือแล้ว FFBF ก็ยังได้จัดอีเวนต์คู่ขนานทั้งออนไลน์ออฟไลน์ในเมือง รวมถึง Master Class ผ่านซูม สำหรับผู้สนใจด้วย ตาลเพิ่งเคยเข้าระบบของ FFBF เป็นครั้งแรก ยังงง ๆ อยู่บ้างเลยไม่ทันได้แจ้งข่าวนี้กับทุกคน แต่ว่า ตาลยังพอมีคลิปย้อนหลังสำหรับบางอีเวนต์ที่ได้ลงทะเบียนไว้ ส่วนใหญ่เกี่ยวกับการเทคโนโลยีทำ Audio Book และ การทำมาร์เก็ตติงหนังสือผ่านช่องทาง Tik Tok หรือที่เรียกว่า Book Tok นะคะ

ปีนี้เทคโนโลยี Audio Book มาแรงมาก ส่วนหนึ่งเพราะล็อกดาวน์ และอีกส่วนคือเทรนด์การทำให้หนังสือเข้าถึงผู้อ่านได้หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะผู้อ่านที่ไม่อยากอ่าน แต่อยากฟัง ผู้พิการทางการมองเห็น ฯลฯ ปีนี้ไม่เห็นสนพ. ในไทยไปร่วมงานเลย (น่าจะเพราะพิษโควิด) ขอแต่งตั้งตัวเองตัวเองเป็นตัวแทนหมู่บ้านไปชิมลางให้แล้วกันค่า


แล้วรอติดตามตอนต่อไปกันนะคะ



*บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรก ที่นี่





Kommentare


bottom of page