top of page
รูปภาพนักเขียนTarn

เทคนิค "เปิดใจคน" ด้วยความฮาและความประหลาด (ใจ) ใน "นกฮูกที่ไม่เคยบิน"

อัปเดตเมื่อ 28 ก.ย. 2565


เรื่องราวสร้างแรงบันดาลใจแบบแปลก ๆ ฮา ๆ ของนกฮูกที่ไม่เคยบิน




นี่เป็นรีวิวหนังสือภาพเด็กไทย รีวิวแรกของ Children's Books Out There เลยค่ะ แถมยังเป็นหนังสือป็อปอัปซะด้วย ของโปรดตาลเล้ย 🥳


ก่อนอื่นขอช่วยโปรโมตนิดนึงว่า หนังสือภาพป็อบอัปฝีมือคนไทย "นกฮูกไม่เคยบิน" เล่มนี้กำลังเปิดจองนะคะ ตาลไม่ได้มีส่วนร่วมอะไรกับการจัดทำ แต่ว่าได้ลองอ่านดูแล้ว น่ารักมาก ๆ เลยค่ะ ที่สำคัญว่านั้นคือ ตลก หักมุม แบบว่าพลิกหน้าหนึ่งทีก็ ห๊ะ ห๊ะ! ห๊ะะะะ! (หัวเราะ)





ใครที่ติดตามอ่านรีวิวตาลมาจะรู้ว่าตาลเชียร์หนังสือเด็กตลก ๆ ขายความฮาเสมอ เพราะความตลกอารมณ์ดีเนี่ยเป็นคุณสมบัติสำคัญในการเติบโตและใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นค่ะ ใครบ้างล่ะ จะไม่ชอบคนอารมณ์ดี มีไหวพริบ มองโลกในแง่ดี และสร้างเสียงหัวเราะให้คนอื่น ๆ ได้?


ในฐานะที่ตาลเองก็ทำวิจัยจบเกี่ยวกับการใช้มุกตลก (เพื่อสอนประวัติศาสตร์) ในหนังสือ/สื่อเด็กมา เราได้เห็นมาแล้วว่า "อำนาจความฮา" มันทรงพลังมากกว่าที่คิด ก็จะขอแชร์สิ่งที่ได้ค้นพบบางส่วนมา ณ ที่นี้ค่ะ




1️⃣ หนึ่ง ความตลกทำให้คนเปิดใจฟังสิ่งใหม่ ๆ ที่เขาอาจไม่ได้สนใจ ไม่เห็นด้วย หรือ ไม่สบายใจที่จะคุย ลองนึกถึงแสตนด์อัปคอมเมดี้ที่เอาปัญหาสังคมบ้านเมืองมาล้อ มาเสียดสีแล้วคนฮาครืน ทั้ง ๆ ที่ถ้าพูดเรื่องพวกนี้ในสถานการณ์ปกติ คนจะปิดทีวีหนีด้วยซ้ำ ในบางประเทศจึงมีการนำคอมมีเดียนมาเล่าข่าว หรือสาระความรู้ต่าง ๆ ให้คนฟังกัน เพราะเขารู้ว่าคนมาฟังเอาฮาก็จริง แต่จะได้ความรู้กลับไปด้วย



2️⃣ สอง พอฟังแล้วขำ สมองของคนฟังจะค่อย ๆ เปลี่ยนวิธีเชื่อมโยงข้อมูลที่รับมา ตอนนี้เขารู้แล้วว่า เรื่องที่เขาเคยคิดว่าน่าเบื่อ ไม่คุย ไม่ฟังดีกว่า จริง ๆ แล้วมันทำให้เขาหัวเราะได้ แบบ... เฮ้ย คิด ๆ ไปเรื่องนี้มันก็ไม่เลวนี่นา! แนวโน้มที่คนจะเก็บประเด็นที่แทรกอยู่ในเรื่องขำขันไปครุ่นคิดต่อก็มีเยอะขึ้น เพราะคิดแล้วมันทำให้เขาสนุกและหัวเราะค่ะ


3️⃣ สาม พล็อตตลกขำ ๆ จำง่ายกว่าพล็อตที่อ่านแล้ว meh... เฉย ๆ มีนักวิจัยด้านการศึกษาบางคนเสนอว่า เวลาแทรกสาระเข้าไปในเรื่องขำขัน หรือเอาสาระมาสร้างมุกโบ๊ะบ๊ะ นักเรียนมีแนวโน้มจำข้อมูลได้มากขึ้น เพราะว่าเขาอยากจะเอาเรื่องนี้ไปเล่าต่อให้เพื่อน ๆ ฟังค่ะ กลายเป็นตัวกระจายข้อมูลไปอี๊ก...


4️⃣ สี่ ความตลกเป็นบ่อเกิดแห่งความคิดสร้างสรรค์... สังเกตไหมคะว่า มุกตลกมันจะต้องมีจุดหักมุม ความหักมุมแปลอีกอย่างคือ สิ่งที่ทำให้คนฟังรู้สึกผิดคาด

เรื่องมันไม่เป็นไปอย่างที่คิด อย่างที่ถูกสอนมา มันออกนอกกรอบ นอกแพตเทิร์น! การเสพความตลกมีส่วนช่วยให้คนเรียนรู้ที่จะคิดพลิกแพลง และสนุกกับการคิดพลิกแพลงด้วย และการคิดนอกกรอบนี้ก็จะเป็นทักษะที่เป็นประโยชน์กับการแก้ปัญหาต่าง ๆ ในอนาคต



ถ้าคิดว่านกฮูกขับรถแปลกแล้ว รออ่านเล่มจริงจะรู้ว่า แค่นี้ยังน้อยไปค่ะ 555



สำหรับเรื่อง "นกฮูกไม่เคยบิน" ของคุณแจนแจน (นักเขียน) และฮิโรกะ ลิมวิภูวัฒน์ (นักวาด) ที่กำลังจะวางแผง และตอนนี้เปิดพรีออร์เดอร์แล้ว ตาลว่ามันเป็นการนำความฮามาใช้ได้ถูกที่มาก เพราะใจความหลักของเรื่องคือ อยากให้คนอ่าน ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ "เปิดใจ" ทำสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน และ "การเปิดใจคน" ก็เป็นอำนาจพิเศษอย่างหนึ่งของ "ความตลก" อย่างที่บอกไปนี่แหละค่ะ



ภาพป็อปอัปสุดอลังในหน้าสุดท้าย

เข้าไปดูตัวอย่างเพิ่มเติมได้ ที่นี่



วิธีทำให้คนเปิดใจ (ไม่ใช่บังคับกัน) หลัก ๆ แล้วคือทำให้เขารู้สึกว่า สิ่งใหม่ ๆ ที่เข้ามา ไม่ได้เลวร้าย ไม่ได้ทำให้เขาเสียสิ่งอื่น ๆ ที่มีอยู่ไป และที่สำคัญคือ มันต้องทำให้เขารู้สึกดีที่จะทำด้วย


ในเรื่อง ไม่มีใครบังคับนกฮูกให้บิน

และถึงนกฮูกจะเคยไม่บิน มันก็ไปไหนมาไหนได้โดยวิธีอื่นเอาเองไม่มีปัญหาอะไร ไม่มีใครมาบอกว่าแปลก หรือมาบูลลี่อะไรแบบนั้น

แต่สุดท้ายนกฮูกเลือกที่จะบินเอง... เพราะอะไร?


เราคิดว่า คำตอบในเรื่อง น่าจะเอามาประยุกต์ใช้ได้ในหลายสถานการณ์เลย


เวลาที่เด็ก ๆ ไม่อยากทำอะไรใหม่ ๆ สิ่งที่ผู้ใหญ่ควรทำไม่ใช่บังคับ ขู่เข็ญ เปรียบเทียบกับคนอื่น หรือทำให้เขาอับอาย แต่คือการสร้างบรรยากาศแบบที่นกฮูกได้เจอในเรื่องนี่แหละค่ะ


ใครสนใจสั่งซื้อ ถ้าพรีก่อน 13 สิงหานี้ เค้ามีโปสการ์ดแจกด้วยนะ

ไปอุดหนุนกันได้นะค้า ^^




*บทความนี้ตีพิมพ์ในเฟสบุ๊กเพจ Children's Books Out There ที่นี่




อ้างอิง

ดู 61 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page