โลกที่ไม่ได้เพอร์เฟกต์ของเรานี้มีปัญหามากมาย
ทั้งเรื่องผู้ลี้ภัย สงคราม ความไม่เท่าเทียม ความยากจนข้นแค้น
หนังสือภาพสารคดีชุดนี้ จะอธิบายปัญหาของโลกในแบบที่เด็กอนุบาลก็เข้าใจได้ให้เอง!
เราเริ่มรีวิวหนังสือเด็กหมวดนี้ ตอนที่รัสเซียบุกยูเครนใหม่ ๆ
จนถึงตอนนี้ก็เข้าสู่เดือนที่ 3 แล้วค่ะ สงครามยังไม่จบเลย (บทความนี้เขียนลงเพจครั้งแรก วันที่ 19 พค. 2022)
ที่เศร้าอีกเรื่องคือ เราทราบมาว่า เด็กไทยบางคน จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่รู้เรื่องสงครามเลยค่ะ
เมื่อมองย้อนกลับไปสมัยเรายังเด็ก ๆ นั้น เราเองก็ไม่ค่อยได้รู้เรื่องสงครามข้างนอกประเทศเหมือนกันนั่นแหละ มารู้เอาตอนโตแล้ว เวลาอ่านข่าว อ่านหนังสือประวัติศาสตร์แล้วรู้สึกว่า เอ้อ เผด็จการคนนั้นชื่อคุ้น ๆ เรื่องราวนี้ฟังแล้วคุ้น ๆ ก็ถูกแหละที่ใคร ๆ ก็โตขึ้นมาได้ โดยไม่ต้องรู้เรื่องบางเรื่อง แต่มันจะดีกว่ามั้ย หากเด็ก ๆ ของเราโตขึ้นมา โดยรู้ว่าบนโลกนี้เคยมีอะไรเกิดขึ้นกับใครบ้าง เวลาที่เจอกับคนข้างนอกนั้นก็คุยกันได้ และเรียนรู้เรื่องราวต่าง ๆ จากเขาได้มากขึ้น ไวขึ้น เราคนหนึ่งแหละที่อยากให้ในโรงเรียน มีการพูดถึงเหตุการณ์รอบโลกมากกว่านี้ ตอนที่เรายังเป็นเด็ก... แล้วเพื่อน ๆ ล่ะคะ คิดว่าอย่างไรบ้างคะ? บ่นมาซะนาน ขอรีวิวหนังสือต่อเลยแล้วกันค่ะ
เมื่อประมาณ 6 ปีที่แล้ว (ปี 2016) สนพ. Hachette ออกหนังสือมาชุดนึง
ชื่อ Children in Our World เพื่อช่วยให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้เกี่ยวกับประเด็นทางสังคม ที่ผู้ใหญ่ในยูเคเห็นว่า "ใกล้ตัว" เด็ก ๆ และ เด็ก ๆ "ควรรู้"
หนังสือชุดนี้เป็นหนังสือภาพสารคดี มีอยู่ด้วยกัน 4 ตอน ได้แก่
- Refugees and Migrants (ผู้ลี้ภัยและผู้อพยพ)
- Poverty and Hunger (ความยากจนและอดอยาก)
- Global Conflict (ความขัดแย้งระดับโลก)
- Racism and Tolerance (การเหยียดเชื่อชาติและการยอมรับความแตกต่าง)
และต่อมาในปี 2021 ก็ได้ออกหนังสือชุดสองอีกสี่เล่ม เรื่อง
- Rights and Equality (สิทธิและความเท่าเทียม)
- Protecting the Planet (ปกป้องโลกของเรา)
- Culture and Diversity (วัฒนธรรมและความหลากหลาย)
- Rules and Responsibilities (กฎและความรับผิดชอบ)
มันรวมร่างเป็นแบบนี้ได้ด้วยนะ
ขอบคุณภาพจากเว็บของนักวาดด้วยค่า http://hanane.me/
ถามว่า การสอนเรื่องพวกนี้ให้เด็ก
มันเป็นการยัดเยียดให้เด็กรู้เรื่องไกลตัวไปไหม?
(โดยเฉพาะเรื่องสงครามกับการลี้ภัย)
ต้องเข้าใจว่า ในปี 2016 นั้น เป็นปีหลังจากเกิดวิกฤตผู้ลี้ภัยจำนวนมาก (โดยเฉพาะจากสงครามในซีเรีย) ไหลทะลักเข้าสู่ยุโรป แค่ปีเดียวเท่านั้น
นอกจากนี้ ปี 2016 ยังเป็นปีที่คนในสหราชอาณาจักรกำลังจะโหวตว่าจะออกจาก Brexit หรือไม่ และปัญหาผู้ลี้ภัยก็เป็นประเด็นสำคัญที่ส่งผลต่อผลโหวตเรื่องดังกล่าว
เมื่อเล็งเห็นแล้วว่า เด็ก ๆ ในประเทศกำลังจะต้องพบเจอกับผู้ลี้ภัยในชีวิตประจำวัน ในโรงเรียน ในชุมชนละแวกบ้านตัวเอง พอโตไปก็ต้องทำงานร่วมกันกับคนหลายเชื้อชาติ ผู้ใหญ่และสนพ. ในยูเคจึงเร่งมือพิมพ์หนังสือเด็ก เพื่อเตรียมพร้อมทุกคนในการสนทนาเรื่องนี้แต่เนิ่น ๆ
เด็กจะได้รู้ว่าจะปฏิบัติตัวอย่างไรในสังคมที่เต็มไปด้วยความหลากหลาย จะมีส่วนร่วมในเรื่องเหล่านี้อย่างไร และในระยะยาว คือเด็ก ๆ จะได้โตไปตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ทางสังคมได้อย่างมีข้อมูล รอบคอบ ไม่เป็นอิกนอร์แรนซ์ ถูกจูงจมูกง่าย ๆ
มีสาเหตุมากมายที่ทำให้คนเราต้องจากบ้านเกิด เดินทางมายังดินแดนห่างไกล
หนังสือเรื่อง Refugees and Migrants
เขียนโดยคุณ Ceri Roberts นักเขียน นักข่าว และนักทำคอนเทนต์
วาดโดยคุณ Hanane Kai (หนังสือสี่เล่มนี้เอามาวางต่อกันเป็นรูปคนตัวเล็ก ๆ เดินอยู่รอบโลกได้ด้วยนะ)
ตีพิมพ์กับสนพ. Wayland ในเครือ Hachette
Refugees and Migrants เล่าเรื่องของผู้อพยพและผู้ลี้ภัยอย่างละเอียด ตั้งแต่สาเหตุต่าง ๆ ที่ทำให้คนต้องจากบ้านเกิด เดินทางมายังดินแดนห่างไกล พวกเขามีของรักของหวงหลายอย่างที่เอาติดตัวมาด้วยไม่ได้ เพราะต้องเดินทางนาน ขึ้นรถลงเรือ ไม่มีที่พักเป็นหลักแหล่ง แถมต้องหลบซ่อนตามซอกหลืบต่าง ๆ ที่ไม่อาจเอากระเป๋าใบใหญ่ยัดเข้าไปได้ บางคนไม่มีพาสปอร์ต ไม่มีวีซ่า เพราะพวกเขาไม่ได้คาดคิดว่าจะต้องเดินทาง
เมื่อมาถึงประเทศที่ปลอดภัย หลายครั้งผู้ลี้ภัยไม่มีที่จะไป ไม่มีเสื้อสะอาดจะใส่ และต้องนอนอยู่ตามถนน เหมือนคนไร้บ้าน ประเทศต่าง ๆ มีกฎหมายเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยต่างกันไป บางแห่งผู้ลี้ภัยต้องอยู่ในค่าย บางคนได้รับอนุญาตให้ออกมาหางานได้ เด็ก ๆ ก็จะได้ไปโรงเรียนระหว่างรอวีซ่า อนุญาตให้พักอาศัยระยะยาว
แม้มาถึงที่ปลอดภัยแล้ว หลายครั้งผู้ลี้ภัยไม่มีที่จะไปไม่มีเสื้อสะอาดจะใส่ ต้องนอนอยู่ตามถนนเหมือนคนไร้บ้าน
เรื่องเล่าง่าย ๆ แบบนี้ ช่วยให้ผู้ใหญ่ที่ทำงานสื่อสารกับเด็ก ๆ เข้าใจเรื่องราวตรงกันเกี่ยวกับปัญหาผู้ลี้ภัย ซึ่งเราว่า เอาจริง ๆ ผู้ใหญ่บางคนอาจไม่รู้เรื่องด้วยซ้ำ เลยไม่รู้จะอธิบายหรือเริ่มพูดคุยกับเด็กยังไง
หนังสือเด็กเลยทำหน้าที่ได้สองต่อ คือปูพื้นฐานให้กับทั้งผู้ใหญ่และเด็กเกี่ยวกับประเด็นทางสังคมไปพร้อม ๆ กัน
ศิลปะการเล่าความจริงแบบไม่ชี้นำ
สิ่งที่เราชอบมาเกี่ยวกับหนังสือชุดนี้คือ น้ำเสียงราบเรียบของผู้เขียนในการเล่าความจริง แต่ก็ยังทำให้คนอ่านรู้สึกเห็นใจผู้ลี้ภัยไปด้วยได้
ผู้ลี้ภัยเคยมีบ้านมีคนมีของที่ตนรัก แต่เอาสิ่งเหล่านั้นติดตัวมาด้วยไม่ได้
ลองคิดดูว่าถ้าเป็นเธอ เธอจะรู้สึกอย่างไร?
เวลาที่เล่าประเด็นที่อ่อนไหว ในหนังสือสารคดีสำหรับเด็กแบบนี้ ถ้าไม่ใช้วิธี dramatise เพื่อดึงดูด เร่งเร้าอารมณ์ความรู้สึกบางอย่าง (เช่น โกรธความอยุติธรรม หรือ เศร้าน้ำตานองไปกับความสูญเสีย)
อีกวิธีนึงที่ทำได้คือ เอาข้อเท็จจริงมาวาง และให้คนอ่านไปใคร่ครวญเอาเองว่า จะตอบสนองกับข้อมูลนั้น ๆ อย่างไร
สองวิธีนี้มีข้อดีข้อด้อย จุดอ่อนจุดแข็งต่างกันไป
การอ่านหนังสือเด็กที่มีเทคนิคการเล่าเรื่องหลากหลาย จึงเป็นสิ่งจำเป็น เพราะจะช่วยให้คนอ่าน (ทั้งเด็กและผู้ใหญ่) ได้มองประเด็นหนึ่งจากในหลาย ๆ มุมมองค่ะ
ที่อยากจะบอกก็คือ หนังสือเด็กธีมสังคมเนี่ย ยิ่งมีมากยิ่งดีกับคนอ่านเองนะ
เพื่อน ๆ ล่ะคะ ชอบหนังสือธีมสังคมเรื่องอะไรบ้าง ชอบแนว fiction หรือ สารคดีคะ? เขียนแนะนำเข้ามาได้นะคะ
*บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรก ที่นี่
#หนังสือเด็ก #หนังสือเด็กเกี่ยวกับสงคราม #หนังสือเด็กเกี่ยวกับผู้ลี้ภัย #หนังสือสารคดีเด็ก #หนังสือเด็กธีมสังคม #หนังสือเด็กซีเรียส #childrensbooksoutthere
Comments