top of page
รูปภาพนักเขียนkesirinpkstk

“เด็กหญิงผู้ดื่มดวงจันทร์” ประกายความหวังในโลกแห่งการควบคุม

อัปเดตเมื่อ 11 ม.ค.

นิยายแฟนตาซีที่ชวนให้เด็ก ๆ ตั้งคำถาม

ถึงชีวิตที่ผิดปกติในสังคมเผด็จการ



หน้าปกหนังสือ “เด็กหญิงผู้ดื่มดวงจันทร์” ฉบับแปลไทย ปี 2020

โดยสนพ. Words Wonder




เดือนแห่งหนังสือต้านเผด็จการ

เดือนแห่งการรีวิวหนังสือเด็กธีม "ต้านเผด็จการ" นี้ เรามีนักเขียนรีวิวหนังสือเด็กประจำเว็บมาใหม่อีกสองคน ชื่อ ริน และ พิณ จะมาช่วยกันเขียนรีวิวหนังสือและสื่อเด็กต่อจากนี้ไปค่ะ


ที่ผ่านมามีหนังสือและสื่อเด็กมากมาย (ในต่างประเทศ) ที่จัดทำขึ้นมาเพื่อชี้ให้ประชาชนทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ได้เห็นความอยุติธรรมของผู้มีอำนาจในสังคม โดยเฉพาะพวกผู้นำประเทศ ทหาร นักการเมืองต่าง ๆ ใครบอกว่าหนังสือและสื่อเด็กต้องละมุนละไม เรียบร้อยล่ะ...


ไม่ค่ะ ขอค้านดัง ๆ ว่าวรรณกรรมเด็กเนี่ยแหละ ที่จะสร้างคนรุ่นใหม่ที่กล้าพูดในสิ่งที่คิด กล้ารับฟังความเห็นต่าง และกล้าทำในสิ่งที่ถูกต้อง


หากต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศ เราต้องเริ่มที่เด็กและครอบครัวนี่แหละค่ะ!



 


สวัสดีค่ะ ริน ค่ะ


ในธีมหนังสือ “ต้านเผด็จการ” วันนี้ รินขอนำเสนอเรื่อง “เด็กหญิงผู้ดื่มดวงจันทร์” (The Girl Who Drank the Moon, 2016) ค่ะ หนังสือเล่มนี้เป็นนวนิยายสำหรับเยาวชน ตั้งแต่ประมาณ 12 ปีขึ้นไป ไม่ใช่หนังสือภาพเหมือนรีวิวครั้งอื่น ๆ นะ



นวนิยายแฟนตาซีจากนักเขียนมือรางวัล


“เด็กหญิงผู้ดื่มดวงจันทร์” เขียนโดย Kelly Barnhill นักเขียนชาวอเมริกันที่มีผลงานแฟนตาซีเลื่องชื่ออีกหลายเรื่อง อย่าง The Witch’s Boy และ The Mostly True Story of Jack

หนังสือเล่มนี้ได้รับรางวัล John Newbery Medal ในปี 2017 ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้แก่นักเขียนที่ “สร้างผลงานอันโดดเด่นและมีคุณประโยชน์แก่วงการวรรณกรรมเด็กอเมริกัน” ด้วย ขอบอกเลยว่า หากพูดถึงวรรณกรรมเยาวชนแล้ว รางวัล Newbery (เขามักจะเรียกย่อ ๆ กันแบบนี้) เป็นหนึ่งในรางวัลที่ทรงคุณค่าที่สุดในสหรัฐอเมริกาเลยค่ะ


ลิสต์ตัวอย่างหนังสือที่เคยได้รับรางวัล John Newbery Medal

จากเว็บ Aurora Public Library District



“เด็กหญิงผู้ดื่มดวงจันทร์” เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับเมืองโพรเทคเทอเรท ซึ่งมีธรรมเนียม ที่ผู้อาวุโสบังคับใช้กับชาวเมืองกันมารุ่นต่อรุ่น ว่าทุกปีจะต้องมีการสังเวยเด็กทารกอายุน้อยที่สุดหนึ่งคนให้แม่มด เพื่อรักษาความสงบสุขของเมืองเอาไว้ แต่สิ่งที่ชาวเมืองไม่ทราบคือ “แซน” หรือแม่มดใจร้ายที่เขาลือกัน ไม่เคยเรียกร้องให้พวกเขาสังเวยเด็กเหล่านี้เลย ดังนั้น ทุก ๆ ปี แซนจึงต้องรับหน้าที่ส่งเด็ก ๆ เหล่านั้นต่อไปยังครอบครัวอุปถัมป์ในอีกเมืองหนึ่ง ซึ่งพร้อมเลี้ยงดูพวกเขาต่อไปในอนาคต


ตัวเอกของหนังสือเล่มนี้คือ “ลูน่า” เด็กทารกน้อยคนหนึ่งที่แซนรู้สึกผูกพันเป็นพิเศษและเผลอป้อน “แสงจันทร์” ที่เต็มไปเวทมนตร์มหาศาลให้เธอดื่มกิน แซนจึงตัดสินใจรับเลี้ยงลูน่าและสะกดเวทมนตร์ในตัวเธอไว้จนกว่าจะอายุครบ 13 ปี ซึ่งเป็นเวลาอันเหมาะสมที่ลูน่าจะได้เรียนวิธีใช้เวทมนตร์


ในเวลาเดียวกัน “แอนเทน” หลานชายของผู้อาวุโสสูงสุด ได้เห็นเหตุการณ์ที่ลุง ๆ ของเขาพรากทารกน้อยไปไม่รู้กี่สิบราย และเติบโตขึ้นพร้อมกับเป้าหมายที่จะกำจัดนังแม่มดร้ายคนนั้น ไม่ให้ทำร้ายเด็กน้อยหน้าไหนได้อีก!



 

เมืองโพรเทคเทอเรทกับกลยุทธ์เผด็จการอันแยบยล


แม้ว่าประชาชนจะยังคงใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติในเมืองโพรเทคเทอเรท (ถ้าไม่นับเรื่องที่ต้องสังเวยทารกปีละหนึ่งคน) แต่ความจริงแล้ว สภาผู้อาวุโสเป็นผู้กุมอำนาจทั้งหมดของเมืองไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เกอร์แลนด์ ผู้อาวุโสสูงสุดที่เป็นเจ้าของเกือบทุกอย่างในเมืองนี้ ทั้งถนนหนทาง บึงใหญ่ สวนผลไม้ บ้านเรือน ตลาด ฯลฯ เรียกได้ว่าในขณะที่ประชาชนต้องอยู่อย่างแร้นแค้น สภาผู้อาวุโสและพวกพ้องนั้นใช้ชีวิตอยู่อย่างอิ่มหมีพีมันเลยทีเดียว


ธรรมเนียมสังเวยทารกให้แก่แม่มดเอง จริง ๆ ก็เป็นอุบายที่ผู้อาวุโสสร้างขึ้นเพื่อหลอกให้ประชาชนอยู่ในโอวาท เพราะการสร้างเรื่องว่ามีแม่มดชั่วร้ายจ้องจะกินคนอยู่ในป่า ทำให้ผู้คนไม่กล้าเดินทางออกนอกเส้นทาง “โร้ด” ซึ่งเป็นเส้นทางเดียวที่เชื่อมต่อไปยังอีกเมืองหนึ่ง (และให้ทายว่าใครเป็นเจ้าของถนนสายนี้… ผู้อาวุโสเกอร์แลนด์นั่นเอง) เมื่อชาวเมืองแทบไม่เคยได้ออกไปนอกเมืองพวกเขาก็ไม่ได้รับรู้ว่าโลกภายนอกยังมีการปกครองรูปแบบอื่นที่เป็นไปได้อีก อย่างเช่นเมืองฟรีซิตีส์ที่อยู่อีกฟากของป่า ซึ่งเป็นเมืองที่ผู้คนใช้ชีวิตอยู่อย่างอิสระและอบอวลไปด้วยความสุข


ชีวิตแบบนี้ทำให้ชาวเมืองโพรเทคเทอเรทต้องตกอยู่ในวังวงของ “ม่านหมอกแห่งความโศกเศร้า”

เมื่อมองไปทางไหนก็ไม่เห็นความหวัง ต้องมานั่งกลุ้มทุกวันว่าลูกหลานของตนเองจะถึงคราวถูกสังเวยเมื่อไหร่ พวกเขาก็ถูกความโศกเศร้าและความเสียใจเข้าครอบงำ ไม่มีเวลามานั่งตั้งคำถามกับการปกครองของพวกสภาอาวุโสที่แก่หงำเหงือกกัน ชาวเมืองทำได้แค่เพียงทำงานงก ๆ ๆ เพื่อหาเลี้ยงชีพ แล้วเมื่อเวลา (และโชคร้าย) มาถึง พวกเขาก็ต้องพร้อมมอบลูกน้อยของตนเองเป็นเครื่องเซ่นค่ะ


ส่วนในชีวิตจริงนั้นก็ไม่ได้ต่างจากในนิยายเท่าไหร่นัก ผู้มีอำนาจมีวิธีมากมายที่จะทำให้มวลชนบางกลุ่มไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมกำหนดทิศทางสังคมและตกอยู่ในภาวะจำยอมต่อโชคชะตาที่ตนไม่ได้กำหนด เช่น เปิดโอกาสให้อภิสิทธิ์ชนบางกลุ่มมีสิทธิ์มากกว่าผู้อื่น ได้ผูกขาดกิจการหลายรูปแบบ และปล่อยคนส่วนใหญ่ต้องใช้ชีวิตหาเช้ากินค่ำ ไม่มีเวลามาตั้งคำถามเรื่องการเมือง ไปจนถึงทำให้คนรู้สึกว่าการเมืองเป็นเรื่องไกลตัว


การเลือกตั้งในสหรัฐอเมริกา


ในสหรัฐอเมริกา สถิติของ Pew Research Center ปี 2014 พบว่า มีชาวอเมริกันหาเช้ากินค่ำเพียงแค่ 54% เท่านั้นที่ลงทะเบียนเลือกตั้ง ในขณะที่ชาวอเมริกันที่การเงินค่อนข้างมั่นคงลงทะเบียนเลือกตั้งไว้มากถึง 94% โดยโซลทาน ฮาจนัล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ได้ให้ความเห็นไว้ว่าสาเหตุส่วนหนึ่งอาจก็เป็นเพราะว่าคนยากจนเหล่านี้ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการหาเลี้ยงปากท้องของตนเองและครอบครัว ส่วนเรื่องการเมืองน่ะ พวกเขามักจะมองว่า โอ๊ย แสนจะไกลตัว! นอกจากนี้ เขายังกล่าวว่า


“พวกเขา [คนยากจน] ไม่สามารถเจียดเวลาทำงานมาเลือกตั้งได้หรอก ลำพังแค่จัดการปัญหาใหญ่ ๆ อย่างการหาเงินไว้ซื้อข้าวมื้อถัดไปก็หนักพออยู่แล้ว โดยทั่วไปแล้ว คนเหล่านี้จึงสะสมความเครียดมากกว่าพวกคนฐานะดี การเมืองเลยดูเหมือนจะเป็นปรากฏการณ์อันแสนห่างไกลและไม่เร่งด่วนสำหรับพวกเขาเพราะคนหาเช้ากินค่ำเหล่านี้มีอะไรอีกมากมายที่ต้องทำ”


สำหรับประเทศไทย รายงานการวิจัยเรื่อง “การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนชั้นกลาง” เมื่อปี 2542 ก็พบว่า ชนชั้นกลางกลุ่มที่มีรายได้สูงมีส่วนร่วมทางการเมืองมากกว่ากลุ่มที่มีรายได้ต่ำเช่นกัน

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าคนรายได้ต่ำไม่ได้มีส่วนร่วมทางการเมืองใด ๆ เลย เพราะนอกจากการเลือกตั้งแล้ว ยังมีวิธีอื่นซึ่งพวกเขาอาจสะดวกหรือเชื่อมั่นว่าจะได้ผลทันตากว่า อย่างการสไตรก์หยุดงานของ พนักงานเก็บขยะในสก็อตแลนด์ ที่ไม่ยอมเก็บขยะจนกว่าจะได้ค่าแรงเพิ่ม เพียงพอสำหรับวิกฤตการณ์ข้าวยากหมากแพง หรือการประท้วงของ “ม็อบชาวนา” ในไทย เมื่อต้นปี 2022 ที่เรียกร้องให้รัฐแก้ปัญหาหนี้ชาวนาและเร่งโอนหนี้สินของเกษตรกรจากธนาคารมาเป็นของรัฐให้เสร็จสิ้นเสียที หลังจากเวลาผ่านไปกว่า 10 เดือนแล้วไม่มีอะไรคืบหน้า


การลุกขึ้นต่อต้านระบบที่อยุติธรรมเช่นนี้ ก็คล้าย ๆ กันกับเหตุการณ์ในเมืองโพรเทคเทอเรท ที่ตัวละครตัวหนึ่งเริ่มทนไม่ไหว ลุกขึ้นมาตั้งคำถามและขัดขืนกฎประเพณีของเมือง น่าเศร้าที่เธอ กลับถูกผู้อาวุโสจับขังคุกและป้ายสีว่า เธอเป็นเพียง “หญิงวิปลาส” ที่คนอื่น ๆ ไม่ควรเชื่อถือ ซึ่งก็ไม่ต่างอะไรกับวิธีที่ผู้มีอำนาจในโลกแห่งความจริงปฎิบัติกับคนเห็นต่างนัก



 

“หอคอยแห่งดวงดาว” : คุกคุมขังความรู้


ที่ใจกลางเมืองโพรเทคเทอเรทมีแหล่งรวบรวมความรู้และศาสตร์หลากหลายแขนง ตั้งแต่ภาษา ดาราศาสตร์ การเต้นรำ ศิลปะป้องกันตัว และวิชาอื่น ๆ อีกมากมาย เรียกกันว่า “หอคอยแห่งดวงดาว”


อ๊ะ ๆ แต่ไม่ใช่ว่าใครก็สามารถเข้าไปใช้สถานที่นี้ได้นะคะ ตาสีตาสาเนี่ย ไม่สามารถผ่านด่านยามเข้าไปได้หรอกค่ะ เพราะสถานที่แห่งความรู้นี้ถูกสงวนไว้แค่สำหรับกลุ่ม “พี่น้องแห่งดวงดาว” ที่ถูกคัดเลือกและต้องสาบานตนว่าจะรับใช้หอคอยอย่างซื่อสัตย์ตลอดไปกับเหล่า “ซิสเตอร์” ทั้งหลายที่คอยดูแลพวกเขาเท่านั้น


ในสายตาของเหล่าผู้อาวุโส ความรู้เป็นสิ่งที่สามารถแจกจ่ายได้อย่างไม่รู้จบ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย อีกทั้ง ยังสามารถจุดประกายความคิดและการพัฒนาอย่างไม่รู้สิ้น ซึ่งจะทำให้ระบอบที่พวกเขาสร้างขึ้นมาสั่นคลอนและอาจถึงขั้นพังทลายลงก็เป็นได้ พวกเขาจึงจำกัดองค์ความรู้ให้อยู่ในมือของคนที่พวกเขาไว้ใจว่าจะสามารถควบคุมและใช้งานความรู้เหล่านี้ได้อย่างเหมาะสม อย่างพี่น้องแห่งดวงดาวและซิสเตอร์ หอคอยแห่งดวงดาวจึงกลายเป็นแหล่งผูกขาดความรู้แขนงต่าง ๆ และทำให้ชาวโพรเทคเทอเรทส่วนใหญ่มีอาชีพทำมาหากินอยู่เพียงไม่กี่อย่างและมักจะเป็นงานที่ไม่ได้ใช้ฝีมือสูง เช่น การเดินเก็บของป่ารอบบึง เป็นต้น และต้องใช้ชีวิตอยู่ในลูปเดิม ๆ ซ้ำไปมานั่นเอง


นอกจากหอคอยแห่งดวงดาวจะเปรียบดั่งคุกที่สร้างขึ้นเพื่อคุมขังความรู้แล้ว มันยังเป็นสถานที่คุมขังคนที่เห็นต่างจากสภาผู้อาวุโสอีกด้วย ซึ่งก็คือแม่ของลูน่าหรือที่ผู้คนรู้จักกันในนามของ “หญิงวิปลาส” ที่กล่าวไว้ในข้างต้นนั่นเอง เธอถูกจับขังคุกเพราะเธอเป็นแม่เพียงคนเดียวในเมืองที่ไม่ยอมให้ผู้อาวุโสใช้ลูกของตนเองเป็นเครื่องสังเวย เธอต่อต้านพวกเขาทุกวิถีทางแต่สุดท้ายก็ไม่เป็นผล เมื่อลูน่าถูกพรากไป เธอก็ไม่สามารถกลับไปเป็นหญิงคนเดิมที่ใช้ชีวิตตามกฎระเบียบของเมืองได้อีก เธอจึงถูกสภาจับขังไว้บนห้องสูงสุดของหอคอยในที่สุด


จะเห็นได้ว่าเหล่าผู้อาวุโสทำทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้เกิด “ความไม่สงบ” ในเมือง พวกเขาไม่สามารถปล่อยให้แม่ของลูน่าอยู่ในบ้านต่อไปได้ เพราะเธอเป็นตัวอย่างคนที่ต่อต้านพวกเขา หากชาวเมืองเห็น พวกเขาอาจเอาเป็นเยี่ยงอย่างได้ ดังนั้น อะไร (หรือใคร) ก็ตามที่ขัดต่อระเบียบประเพณีของเมืองโพรเทคเทอเรทจะต้องถูกสภาผู้อาวุโสควบคุมให้อยู่ในอยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสม หรือมิฉะนั้นก็ถูกคุมขังให้พ้นจากสายตาของชาวเมือง



 

อันตรายของการเชื่อแบบไม่ตั้งคำถาม


ท้ายที่สุดแล้ว หนังสือเล่มนี้จึงพาเราไปตั้งคำถามกับ “การเชื่อแบบไม่ตั้งคำถาม” (แอบงงเหมือนกันนะคะเนี่ย) เพราะการที่ผู้อาวุโสสามารถควบคุมเมืองโพรเทคเทอเรทได้เกือบสมบูรณ์แบบ ก็มาจากการที่ประชาชนถูกสถานการณ์บังคับให้เชื่อทุกสิ่งที่ผู้นำบอก พวกเขาเชื่ออย่างสนิทใจว่ามีแม่มดที่ชั่วร้ายอยู่ในป่าจริง ๆ การสังเวยเด็กทารกจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำทุกปีเพื่อความสงบสุขของคนส่วนมาก


การบอกให้คนสละความสุขส่วนตัวเพื่อความสุขของคนหมู่มากในสังคม เป็นระบบความคิดแบบประโยชน์นิยม (utilitarianism) หรือก็คือใช้ “ประโยชน์ส่วนรวม” เป็นมาตรวัดทางจริยธรรมของการกระทำใดการกระทำหนึ่ง เแนวคิดประโยชน์นิยมนี้มักเกี่ยวโยงกับแนวคิดผลลัพธ์นิยม (consequentialism) ซึ่งยึด “ผลลัพธ์” เป็นมาตรวัดการกระทำ คือถ้าผลลัพธ์ (ดูเหมือนจะ) ดี จะใช้วิธีอะไรให้ได้ผลแบบนั้นก็ได้ หรือที่เรียกว่า “ผลลัพธ์สร้างความชอบธรรมให้แก่วิธีการ” (the end justifies the means)

แนวคิดทั้งสองนี้มักจะเป็นกลไกที่ทำงานอยู่ลับ ๆ ภายใต้ระบอบเผด็จการ โดยเหล่าผู้นำเผด็จการทั้งหลายมักอ้างว่า การขึ้นยึดอำนาจล้วนทำไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวมและเพื่อให้บ้านเมืองสงบสุข เพราะฉะนั้น ถึงแม้มันจะเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง ไม่เป็นประชาธิปไตย แต่ตราบใดที่ผลลัพธ์ออกมาดี (ในสายตาของพวกเขา) พวกเขาก็ไม่ได้ทำอะไรผิด แถมยังกำลังทำคุณประโยชน์ให้แก่สังคมอีกต่างหาก ซึ่งพวกเขาก็พยายามปลูกฝังแนวคิดเช่นนี้ให้กับประชาชนเช่นเดียวกัน ว่าระบอบของพวกเขาอันที่จริงแล้วเป็นสิ่งที่ชอบธรรมและควรดำรงอยู่ต่อไป ขณะเดียวกัน ความทุกข์และความเศร้าโศกเสียใจที่เกิดขึ้นก็จึงเป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้ และเป็นเรื่อง “ปัจเจก” ที่แต่ละคนจะต้องจัดการความรู้สึกกันเอง


ลองจินตนาการดูว่า หากประชาชนตั้งคำถามว่าแม่มดมีจริงหรือไม่ ถ้ามีจริง นางเป็นคนอย่างไร จะเจรจาหาทางออกให้ไม่ต้องเสียสละทารกขึ้นทุก ๆ ปีได้ไหม เมืองโพรเทคเทอเรทตอนนี้จะเป็นอย่างไร


เฮ้อ… แต่ก็คงยากแหละค่ะ แค่ทำงานก็เหนื่อยพออยู่แล้ว แถมความรู้ ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้พวกเขามองเห็นความจริงเหล่านี้ กลับถูกควบคุมอย่างเข้มงวดโดยเหล่าผู้นำน่ะสิคะ




มาลุ้นกันว่าลูน่าจะมีบทบาทสำคัญอะไรในเรื่องราวนี้ แอนเทนจะฆ่าแม่มดสำเร็จไหม แล้วชาวเมืองโพรเทคเทอเรทจะล่วงรู้ความจริงเกี่ยวกับแม่มดหรือไม่ ใน “เด็กหญิงผู้ดื่มดวงจันทร์”


แอบกระซิบว่าตอนนี้มีฉบับแปลไทยแล้วนะคะ โดยสำนักพิมพ์ Words Wonder หากสนใจสามารถสั่งซื้อได้โดยตรงกับเพจของสนพ. ที่นี่ หรือร้านหนังสือชั้นนำทั่วประเทศได้เลยค่ะ ใครอ่านแล้วมาเล่าให้ฟังกันบ้างนะคะ



 

[ช่วง รินแนะนำตัว]



สวัสดีค่า เราชื่อรินนะคะ เราเพิ่งเรียนจบป. ตรีมาหมาด ๆ เลย และตอนนี้ก็กำลังจะไปศึกษาต่อป. โท สาขาวรรณกรรมเด็กที่ยุโรปค่ะ ส่วนตัวเป็นคนชอบอ่านหนังสือมาตั้งแต่เด็กอยู่แล้ว แต่โตขึ้นมาเราก็เริ่มสงสัยว่า เอ…ทำไมเราจะเข้าวัยผู้ใหญ่อยู่แล้ว แต่เรายังชอบอ่านวรรณกรรมเด็ก/เยาวชนเหมือนเดิม (ฮา ก็มันมีเสน่ห์จริง ๆ นี่นา!) ก็เลยเป็นสาเหตุที่ทำให้เราสนใจในวงการนี้อย่างจริงจังและอยากเข้ามาพัฒนามันให้ดีขึ้นค่ะ!


เราสนใจวรรณกรรมหมวด YA และพวกนวนิยายเยาวชนคลาสสิกขึ้นหิ้งทั้งหลาย ใครสนใจ รอติดตามอ่านรีวิวหนังสือเหล่านี้กันได้นะคะ


รินหวังว่าเว็บนี้จะช่วยนำหนังสือและสื่อเด็ก/เยาวชนดี ๆ มาผ่านหูผ่านตานักอ่านชาวไทย ไม่ว่าจะเป็นนักอ่านตัวน้อยหรือรุ่นใหญ่ ได้อ่านกันมากขึ้นนะคะ ฝากเนื้อฝากตัวด้วยค่าา



 


*บทความนี้ตีพิมพ์ในเฟสบุ๊กเพจ Children's Books Out There ที่นี่



อ้างอิง






ดู 68 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page