top of page
  • รูปภาพนักเขียนTarn

[เดือนแห่งนิยายสืบสวน] เมื่ออาชญากรรมและ "หนังสือ" เด็กมารวมตัวกัน

อัปเดตเมื่อ 3 วันที่ผ่านมา

ใครว่าอาชญนิยายไม่เหมาะกับเด็กละก็ คิดใหม่!

มาพบกับหนังสือขำๆ ดาร์กๆ

ที่เชื้อเชิญผู้อ่านไปสำรวจมุมมืดของโลกวรรณกรรมกัน



ย้อนมองกลับไป เราเป็นเด็กคนหนึ่งที่ชอบอ่านเรื่องราวแนวไขปริศนาอาชญากรรมมากๆ โดยเฉพาะหนังสือแนว chapter book (หนังสือเล่มบางประกอบภาพ เหมาะกับเด็กประถมวัยหัดอ่านนิยาย) ที่มีเนื้อเรื่องชิงไหวชิงพริบ ตามไล่ล่าผู้ร้าย หรือตามนักสืบไปไขคดี


หนังสือพวกนี้แหละที่เป็นเหมือนกับโลกจำลองที่พาเราไปรู้จักธรรมชาติด้านต่างๆ ของมนุษย์มากขึ้น ทั้งเรื่องจิตใจที่ซับซ้อน การซ่อนและค้นหาเจตนาที่แท้จริง นอกจากนี้ก็ฝึกฝนทักษะการใช้เหตุผล การหาหลักฐาน ปะติดปะต่อเรื่องราว ไปจนถึงการจินตนาการ สร้างทฤษฎีขึ้นมาในใจ อันเป็นทักษะที่แน่นอนว่า จำเป็นมากๆ สำหรับการเรียนรู้วิชาการในโรงเรียนและการใช้ชีวิตในสังคมที่แสนจะซับซ้อน แต่ในอีกแง่นึง ทักษะเหล่านี้สำคัญกับการอ่านหนังสืออาชญนิยายที่ซับซ้อนและสนุกท้าทายยิ่งๆ ขึ้นไปอีก


แหม... หัวใจของการพัฒนาการอ่าน ก็คือเพื่อให้สนุกกับสิ่งที่อ่านไม่ใช่หรือ


เนื่องจากเดือนนี้ เป็นเดือนเกิดของนักเขียนนิยายนักสืบชื่อก้องโลก เซอร์ อาเธอร์ โคนัน ดอยล์ (Arthur Conan Doyle) ผู้เขียนหนังสือชุด เชอร์ล็อก โฮล์มส อันโด่งดัง และแฟนๆ อาชญนิยายทั่วโลกก็จัดกิจกรรมฉลอง Sherlock Day (22 พ.ค.) ด้วยการแต่งคอสเพลย์ สวมเสื้อสีชมพู (ระลึกถึง Study in Pink และสีโปรดของเชอร์ล็อกยอดนักสืบ) เล่นควิซ และดูหนัง/ซีรีส์เชอร์ล็อก โฮล์มสร่วมกัน จึงเป็นโอกาสเหมาะที่เราจะแจมวงหนังสือสืบสวนกับเขาบ้าง กับรีวิวของคุณจินนี่เรื่องนี้...



 


Your Guide to Not Getting Murdered in a Quaint English Village

เรื่องและภาพ โดย  Maureen Johnson & Jay Cooper

ผู้รีวิว: จินนี่


เราไม่เคยคิดว่านิยายลึกลับฆาตกรรมกับหนังสือเด็กเป็นประเภทหนังสือที่มีจุดร่วมกัน พอ ๆ กับที่ไม่คิดว่านักเขียนนิยายลึกลับกับนักวาดหนังสือเด็กจะทำหนังสือออกมาร่วมกันได้ลงตัวสนุกมาก! (อย่างน้อยก็สำหรับเด็กโตอารมณ์ขันมืดมนอย่างเรา)


โชคดีที่นักวาดหนังสือเด็ก (คุณคูเปอร์) กับนักเขียนนิยายลึกลับ (คุณจอห์นสัน) ไม่ได้คิดแบบเรา เราเลยได้มีโอกาสอ่านหนังสือเล่มนี้ หนังสือปกแข็งกรอบสีแดงสดตัดกับรูปการ์ตูนขาวดำ (หนังสือใช้แค่หมึกดำกับหมึกแดง หมึกแดงเฉดสีสดสวยมาก)



หนังสือเล่มนี้บอกว่า ตัวเองเป็นหนังสือไกด์บุ๊ก “ทำยังไงไม่ให้ถูกฆาตกรรมในหมู่บ้านชนบทของอังกฤษ”


”ผู้อ่านที่รัก ในที่สุดคุณก็ได้ออกเดินทางตามทริปในฝันไปยังอังกฤษ คุณอาจจะฝันถึงทริปชนบทในฝัน แต่ผู้เขียนขอให้คุณวางภาพฝันนั้นลงเสีย เพราะคุณอาจจะได้ไปเจอหมู่บ้านฆาตกรรมแห่งอังกฤษเข้าให้แทน


หมู่บ้านนี้ภายนอกก็ดูเหมือนหมู่บ้านอื่น ๆ ไม่มีสัญญาณอะไรบอกว่าคุณกำลังตกอยู่ในอันตราย แต่นั่นแหละปัญหา คุณติดกับเข้าเสียแล้ว


ผู้เขียนขอแนะนำให้คุณอยู่เสียแต่ในเมือง อย่าออกไปท่องชนบท และทิ้งหนังสือเล่มนี้ไปเสีย แต่ถ้าคุณยังคงจะไปล่ะก็ จงจดจำข้อมูลทั้งหมดในหนังสือเล่มนี้ไว้ให้ดี มันอาจจะทำให้คุณมีชีวิตรอดกลับมาก็ได้”





แผนที่หมู่บ้าน ในหนังสือจะอธิบายว่าแต่ละสถานที่อันตรายยังไงบ้าง



หนังสือเขียนแนะนำตามสไตล์ไกด์บุ๊กจริง ล้อ stereotype ของนิยายสืบสวนสอบสวนที่มักเขียนให้หมู่บ้านในชนบทกลายเป็นฉากฆาตกรรมระทึกขวัญ ไล่เรียงแต่ละสถานที่ในหมู่บ้าน ตั้งแต่โรงเตี๊ยม ผับ โบสถ์ โรงสีข้าว ร้านขายของเก่า สถานีตำรวจ และคฤหาสถ์หลังใหญ่หลังนั้นที่ดูจะมีอยู่ทุกหมู่บ้าน ไปจนถึงชาวบ้าน บรรดาแขกประจำ และกิจกรรมเทศกาลในหมู่บ้าน แน่นอนว่าทุกที่ ทุกเวลา ทุกคนดูจะไม่น่าไว้วางใจไปเสียหมด (ดูมีความเป็นไปได้ทั้งหมดสองอย่าง ไม่เป็นคนฆ่าก็เป็นคนถูกฆ่า)


เหล่ารูปปั้นที่ดูเหมือนจริง เหมือนจริง ๆ

เหมือนอย่างกับทำขึ้นมาด้วยคนจริง ๆ แน่ะ...




ใครชอบอ่านนิยายสืบสวนสอบสวนฝั่งอังกฤษอย่างเชอร์ล็อก โฮล์มส์, เออร์กูล ปัวโรต์ หรือมิสมาร์เปิล น่าจะอินกับ reference ต่าง ๆ ที่แทรกอยู่ในหนังสือ แต่ถึงไม่อ่านฝั่งอังกฤษ นึกเอาจากนิยายฝั่งญี่ปุ่นอย่างโคนันหรือคินดะอิจิ หรือฉากนิยายสยองขวัญไทย ๆ ก็เก็ตเหมือนกัน



ซ้าย - คนสวนที่ปลูกกุหลาบได้งอกงามจากปุ๋ย (มนุษย์) อย่างดี

ขวา – ชาวนาที่ต้องคอยจัดการข้อเสนอของคนเมืองที่อยากเปลี่ยนที่นาให้เป็นศูนย์การค้า

พร้อมกับ "จัดการ" คนเมืองพวกนั้นที่อยากเปลี่ยนที่นาให้เป็นศูนย์การค้า

(หมายเหตุ: หนังสือเล่นคำว่า fielding

ในความหมายแรกคือพิจารณาและรับมือกับข้อเสนอต่าง ๆ

ส่วนความหมายที่สองคือฝังกลบในผืนดิน)



ท้ายหนังสือมีควิซเล็ก ๆ จำลองสถานการณ์ให้ตัดสินใจว่าถ้าเราหลงเข้าไปในหมู่บ้านจะรอดออกมาได้ไหม ดูจากคำตอบแล้วเราตายไป 4 จาก 5 สถานการณ์ สรุปว่าเราน่าจะเป็นเพื่อนร่วมทางที่ไร้ประโยชน์ เป็นเหยื่อคนแรก ๆ ในนิยายสยองขวัญ



หมายเหตุ: เล่มนี้ได้มาจากร้าน Lutyens & Rubinstein ร้านหนังสือน้ำดีขนาดกะทัดรัดในย่านน็อตติงฮิลล์ ลอนดอน ที่คัดปกมาลงได้น่าซื้อน่าเสียเงินไปหมด


 

การขยายทักษะและความสนใจไปสู่ประสบการณ์การอ่านที่หลากหลาย คือ หน้าที่สำคัญอย่างหนึ่งของวรรณกรรมเด็ก


เมื่อเด็กๆ โตขึ้น เราจะเริ่มสังเกตเห็นความชอบ ความสนใจของพวกเขาได้จากหนังสือที่เขาเลือกเอง ผู้ใหญ่สามารถใช้โอกาสนี้ศึกษาว่าเด็กกำลังอยากรู้เรื่องอะไร ต่อให้มันจะเป็นเรื่องผี เรื่องสยองขวัญ สืบสวนสอบสวนโลกมืดก็เถอะ เป็นเรื่องปกติมากที่เด็กวัยประถมจะเริ่มสนใจเรื่องที่พาเขาไปสำรวจอารมณ์ความรู้สึก และการให้เหตุผลที่หลากหลายของผู้คน เพราะมันเป็นขั้นหนึ่งในพัฒนาการของพวกเขาเพื่อทำความเข้าใจและเอาตัวรอดให้ได้โลกที่ซับซ้อน


การได้รู้ความสนใจของเด็กๆ จะช่วยให้ผู้ใหญ่อย่างเราๆ แนะนำหนังสือเล่มต่อๆ ไปที่มีระดับภาษาและโครงเรื่องเหมาะกับเขาได้ ช่วยให้นักอ่านมือใหม่ได้สำรวจโลกวรรณกรรมที่กว้างใหญ่ ไม่พลาดที่จะได้อ่านเรื่องราวให้ครบทุกรสชาติ และได้รับข้อมูลที่กว้างขึ้น "การอ่านกว้าง" จะนำไปสู่ "การอ่านลึก" ในลำดับต่อไป เมื่อเด็กๆ ค้นพบความสนใจเฉพาะทางของตนเอง


มีหนังสือเด็กมากมายที่ปูทางไปสู่การอ่านกว้าง

ขอให้ผู้ใหญ่อย่าได้กลัวที่จะให้เด็กๆ ได้ลองอ่านอะไรใหม่ๆ ที่ท้าทายพวกเขามากขึ้นในทุกวันนะคะ


 

[ช่วง จินนี่แนะนำตัว]



สวัสดีค่ะ จินนี่ (นิลเนตร) ค่ะ เป็นเพื่อนตาลและเป็นแฟนเพจ Children’s Books Out There (ที่เปิดโลกหนังสือเด็กให้เราแบบว้าวมากเลย )


งานของเราไม่ได้เกี่ยวข้องกับหนังสือเด็ก แต่วนอยู่กับการสอน การอ่านและการขีดๆ เขียน ๆ เราชอบเดินทางและชอบหยิบจับหนังสือในที่ที่ไป โดยเฉพาะสองสามปีที่ผ่านมาชอบอ่านหนังสือภาพ


โปรเจ็กต์รีวิว #หนังสือภาพเล่มโปรดสำหรับคนโตแล้ว นี้เกิดขึ้นจากหนังสือที่อ่านสะสมมาเรื่อยๆ แต่ละเล่มส่วนใหญ่บังเอิญไปเจอแล้วชอบเลยซื้อมา ทั้งอ่านสนุกแล้วยังมีความทรงจำตอนไปเจอด้วย เลยกลายเป็นของที่ระลึกจากการเดินทางอย่างหนึ่ง นอกจากที่อ่านเองแล้ว ก็อยากรู้ด้วยว่าคนอื่นชอบเล่มไหนกันบ้าง ยินดีที่ได้รู้จักและขอบคุณที่แวะมาอ่านนะคะ



 

*บทความนี้ตีพิมพ์ในเฟสบุ๊กเพจ Children's Books Out There ที่นี่

ดู 14 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Commentaires


bottom of page