top of page
รูปภาพนักเขียนTarn

มองโลกใหม่แสนแปลกผ่านสายตา "ผู้มาเยือน"

อัปเดตเมื่อ 28 ก.ย. 2565

ชีวิตพลัดถิ่นในดินแดนสุดประหลาด

หนังสือภาพไร้คำผลงานศิลปินระดับโลก ที่พาเราก้าวข้ามชีวิตปกติสุข

ไปสัมผัสกับโลกแสนสับสนของผู้ลี้ภัยไกลบ้าน


ในฐานะติ่ง... เรารอวันที่จะได้รีวิวหนังสือของ Shaun Tan มานานแล้วค่ะ ในที่สุด วันนี้ก็มาถึง!

ใครที่เป็นแฟนคลับกราฟิกโนเวล หรือหนังสือภาพลายเส้นอลังการจากต่างประเทศ น่าจะเคยได้ยินชื่อคุณ Shaun Tan มาบ้าง เพราะคุณเขาเป็นหนึ่งในนักวาดมือรางวัล และมีผลงานทั้งหนังสือภาพและแอนิเมชันมาแล้วมากมาย

ผลงานที่ดูแปลกตา เต็มไปด้วยรายละเอียด และให้บรรยากาศแฟนตาซีปนเศร้าหมอง ขุ่นมัว น่ากลัวพิลึก ๆ ของเขา ถูกเรียกว่าเป็น "งานศิลป์สไตล์ออสเตรเลียน" ที่ดูเผิน ๆ แล้วรู้สึกเหมือนคุ้นเคย แต่มองนาน ๆ แล้วแอบขนลุก (อะไรกันเนี่ย 555)


The Arrival เป็นผลงานชิ้นแรก ๆ ที่คุณ Shaun แต่งเรื่องและวาดเอง แล้วก็กวาดรางวัลมาแล้วเป็นสิบ ๆ รางวัล

(ตามไปอ่านชื่อรางวัลได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/The_Arrival_(graphic_novel)...)

แถมในปี 2011 ตัวคุณเขาเองก็ยังได้รับรางวัล Astrid Lindgren Memorial Award ซึ่งนับเป็นหนึ่งในรางวัลทรงเกียรติสูงสุดของเหล่านักวาดภาพประกอบหนังสือเด็กด้วย หนังสือที่ลดตำแหน่งคนอ่านลงมาอยู่ในระดับเดียวกับตัวละครผู้ลี้ภัย


The Arrival เป็นหนังสือภาพไร้คำ สีซีเปียทั้งเล่ม คำว่า "หนังสือภาพ" เป็นคำจำแนกสไตล์การเล่าเรื่องเฉย ๆ นะคะ ไม่ได้หมายความว่า จะต้องเป็นหนังสือเด็กเสมอไป ขึ้นอยู่กับเนื้อหาและลักษณะของภาพด้วยว่า ดึงดูดผู้อ่านเด็กหรือไม่ วัยไหน ผู้อ่านวัยนั้น ๆ เข้าใจหรือไม่ ซึ่งสำหรับเล่มนี้ ตาลคิดว่า ผู้อ่านวัย 6 ปีขึ้นไปน่าจะอ่านเข้าใจเองได้ ไม่มีปัญหาค่ะ หนังสือเล่มนี้เล่าเรื่องของชายคนหนึ่งที่ต้องเดินทางไกลมายังประเทศใหม่ ผู้อ่านจะได้ติดตามดูไปเรื่อย ๆ ว่าเขาต้องทำอะไรบ้าง และรู้สึกอย่างไร ด้วยความที่ภาพแต่ละหน้าไม่มีคำอธิบาย อีกทั้งฉากต่าง ๆ เป็นแฟนตาซีแปลกตา ภาษาทั้งหมดในเรื่องเป็นตัวอักษรแฟนตาซีหมด ตัวผู้อ่านเองจึงต้องคอยสังเกตรายละเอียดต่าง ๆ ในภาพ ไม่ว่าจะเป็นสีหน้าท่าทาง บรรยากาศรอบข้างไม่ต่างอะไรจากชายผู้ลี้ภัยในเรื่อง

คนอ่านเข้าใจเรื่องพอ ๆ กับตัวละครผู้ลี้ภัย รู้สึกอึดอัดเหมือนเขาไหม เวลาที่ไม่เข้าใจภาษาของคนรอบตัว?

เทคนิคนี้ทำให้ผู้อ่านถูกดึงลงมาจากเก้าอี้ผู้สังเกตการณ์ มาอยู่ในระดับเดียวกับ "ผู้ลี้ภัย" ที่ต้องเข้ามาพบเจอสังคมแปลกใหม่ ไม่เข้าใจภาษา ไม่รู้จักสัตว์พื้นถิ่น อาหาร หรือข้าวของเครื่องใช้อะไรเลย จะพึ่งพาได้เพียงแค่การดูและคาดเดาเหตุการณ์รอบ ๆ ตัวเท่านั้น ในอีกด้านหนึ่ง การเล่าเรื่องผ่านภาพอย่างเดียว ช่วยให้ผู้อ่านเด็กไม่ต้องพึ่งพาผู้ใหญ่ (ที่ทำหน้าที่อ่านออกเสียงให้ฟัง) ทำให้มีอิสระในการอ่านและตีความเรื่องราวด้วยตัวเองอย่างเต็มที่ ส่งเสริมให้เด็กมั่นใจที่จะอ่าน หัดสังเกตรายละเอียดในภาพ รวมถึงสิ่งรอบตัว และคิดวิเคราะห์ หาเหตุผลเชื่อมโยงด้วยตัวเอง (Todres&Higinbotham, 2016) ใครสนใจอ่าน/ชมภาพประกอบจากเรื่อง The Arrival ดูได้ที่ลิงก์นี้นะคะ https://www.youtube.com/watch?v=vAay4myoEDE


นอกจากนี้... (แอบป้ายยาเพิ่ม 55+) หนังสือเล่มอื่น ๆ ของคุณ Shaun ที่เราอยากแนะนำก็ได้แก่ เรื่อง The Rabbits (1998) และ The Lost Thing (2000) ค่ะ

กระต่ายขาว นักล่าอาณานิคมเลือดเย็นในเรื่อง The Rabbits

The Rabbits เป็นหนังสือภาพเกี่ยวกับการล่าอาณานิคม โดยมีกระต่ายเป็นผู้ล่า... ความโหดเหี้ยมรุนแรงของกระต่าย (?) ต่อสิ่งมีชีวิตพื้นถิ่น ถูกซ่อนไว้ใต้ธีมแฟนตาซี ทำให้อ่านจบแล้วไม่ฝันร้าย แต่จะได้ครุ่นคิดว่าการล่าอาณานิคมสร้างบาดแผลต่อผู้คนและโลกของเราอย่างไร เล่มนี้คุณ Shaun วาดภาพประกอบให้นักเขียน John Marsden ค่ะ

วัยเด็กและจินตนาการที่ถูกขังลืม ในเรื่อง The Lost Thing

ส่วนเรื่อง The Lost Thing เป็นหนังสือภาพ (และเป็นภาพยนตร์แอนิเมชันสั้น ๆ ด้วย) เกี่ยวกับคุณ Shaun ที่ได้พบกับ "เจ้าสิ่งสูญหาย" (The Lost Thing) ในฉากประเทศออสเตรเลีย ยุคสังคมล่มสลาย (Dystopian) เขาพยายามพาเจ้าตัวประหลาดกลับบ้าน และได้พบกับ "สิ่งสูญหาย" ตัวอื่น ๆ ในมุมเล็ก ๆ ที่สังคมพยายามจะลืม... (ดูหนังสั้นเรื่องนี้ได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=ILUxUrjjpyg) ใครเคยได้อ่านหนังสือเล่มไหนของคุณ Shaun อีก แวะมาเล่าให้ฟังบ้างนะคะ


*บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรก ที่นี่


อ้างอิง https://alma.se/en/ https://en.wikipedia.org/wiki/The_Arrival_(graphic_novel)... https://en.wikipedia.org/wiki/Shaun_Tan https://www.booktrust.org.uk/book/t/the-arrival/ Todres, Jonathan, Sarah Higinbotham, and Carol Bellamy. "Participation Rights and the Voice of the Child." Human Rights in Children's Literature: Imagination and the Narrative of Law. : Oxford University Press, 17. Oxford Scholarship Online. Date Accessed 11 May. 2022 <https://oxford.universitypressscholarship.com/.../acprof...>



Comments


bottom of page