ควรมั้ย ที่จะเล่าเรื่องวัยเด็กที่โหดร้าย ในหนังสือสำหรับเด็ก?
[Warning] หนังสือกราฟิกโนเวลเล่มนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับสงคราม
ความรุนแรง และความตายของเด็กตัวเล็ก ๆ
ทำไมเด็ก ๆ จึงต้องรับรู้เรื่องเลวร้าย ที่กำลังรอพวกเขาอยู่ในโลกกว้าง?
สวัสดีค่ะ หนังสือที่เราจะแนะนำในวันนี้ เป็นหนังสือภาพจากประเทศเดนมาร์ก (อีกเช่นเคย 555)
ชื่อ Zenobia เขียนโดยคุณ Morten Dürr วาดโดยคุณ Lars Horneman ตีพิมพ์ต้นฉบับภาษาเดนิช ปี 2016 กับ สนพ. Cobalt ภาษาอังกฤษ ตีพิมพ์ปี 2018 โดยสนพ. Triangle Square ซึ่งเป็น Imprint หนังสือเยาวชน ของสนพ. แนวการเมืองในอเมริกา ชื่อ Seven Stories Press ค่ะ (ใครสนใจหนังสือเด็กแนวการเมือง แนะนำให้ลองเข้าไปอ่านเว็บสนพ.นี้ดูได้ มีอยู่หลายเล่มด้วยกัน ถ้ามีโอกาสจะหยิบบางเล่มที่น่าสนใจมาเล่าให้ฟังอีกนะคะ)
ชีวิตแสนสุขของอมีนา ก่อนสงคราม
ก่อนที่สงครามจะมาถึงประตูบ้าน อมีนาอยู่กับพ่อแม่อย่างมีความสุข
แม่ของอมีนาหาลูกสาวตัวน้อยเจอเสมอ เวลาเล่นซ่อนหากัน ไม่ว่าลูกจะแอบอยู่ที่ไหน
☼ Zenobia เป็นหนังสือภาพที่แแบ่งช่องแบบคอมิกและแทบไม่มีตัวอักษรเลย
เขียนขึ้นช่วงที่ซีเรียเกิดสงครามกลางเมือง (2011-ปัจจุบัน) และมีผู้ลี้ภัยจำนวนมากหลั่งไหลเข้ามาในเดนมาร์กและประเทศรอบข้าง (ตอนนี้ชาวซีเรียในเดนมาร์กมีราว ๆ 30,000 - 40,000 คน)
ผู้เขียนกล่าวไว้ในเว็บของสนพ. Cobalt ว่า เขาต้องการเล่าเรื่องจริง ที่กำลังเกิดขึ้นกับเด็กคนอื่น ๆ เด็กที่กำลังต้องหนีตายจากบ้านเกิด ให้เด็ก ๆ ในเดนมาร์กได้รับรู้ จากมุมมองของเด็ก ในรูปแบบที่เด็กเข้าใจ
หนังสือเล่าเรื่องผ่านความทรงจำของ อมีนา เด็กหญิงชาวซีเรีย ที่ดูจากภาพ/เรื่องแล้วน่าจะอายุประมาณ 8-12 ปี
อมินาที่นั่งอยู่บนเรือผู้ลี้ภัย โคลงเคลงกลางทะเล นึกย้อนกลับไปถึงช่วงก่อนสงคราม ที่เธอและพ่อแม่ยังอาศัยอยู่ด้วยกัน ครอบครัวที่ยากจนแต่อบอุ่น กลับต้องแตกสลายลงด้วยสงครามในชั่วข้ามคืน
ตลอดเวลาที่ระหกระเหินฝ่าสมรภูมิรบ อมินาพยายามจะเข้มแข็ง ให้เหมือนกับราชินีซีโนเบีย วีรสตรีชาวซีเรียที่แม่เคยเล่าให้เธอฟัง...
เธอไม่ร้องไห้ แม้จะหวาดกลัวและสับสน
แต่ความเข้มแข็งและกล้าหาญของเด็กเล็ก ๆ
จะไปมีค่าอะไร ในไฟสงคราม?
แต่แล้ววันหนึ่ง พ่อกับแม่ของอมีนาก็ไม่กลับมาอีกเลย
อมีนาสูญเสียครอบครัวและเมืองที่เธอรักไปในพริบตา... เพราะสงคราม
Zenobia ได้รับการแปลและตีพิมพ์แล้วใน 18 ประเทศ และยังได้รับรางวัลหนังสือภาพดีเด่น สาขาหนังสือสำหรับเด็กและวัยรุ่น ประจำปี 2017 จาก Pingprisen ซึ่งเป็นรางวัลสำคัญสำหรับหนังสือแนวคอมิกในเดนมาร์กอีกด้วย
ถึงตอนนี้ บางคนอาจสงสัย
ตกลง Zenobia เป็นหนังสือ "นิทาน" หรือ "คอมิก" (การ์ตูน) กันแน่
เขียนให้เด็กวัยไหนอ่าน?
แล้วทำไมต้องเขียนเรื่องจริงให้เด็กอ่านด้วย?
"นิทาน" ควรจะเป็นหนังสือที่มีแต่เรื่องดี ๆ สวย ๆ งาม ๆ สนุกสนานและตลกขบขันไม่ใช่เหรอ?
☼ Zenobia เป็นนิทานเด็กหรือไม่?
ปกติแล้วที่ไทย เรามักเรียกหนังสือที่มีภาพเยอะ ๆ และเขียนขึ้นเพื่อผู้อ่านเด็ก ว่า "นิทาน" ซึ่งให้ความหมายที่ค่อนข้างจะจำกัด หมายความรวม ๆ ถึง "เรื่องแต่ง" ที่เขียนให้เด็กเล็ก ๆ อ่าน โดยมากอ่านแล้วรู้สึกดี อบอุ่นปลอดภัย เช่น "นิทานก่อนนอน" หรือตลกขบขัน เช่น "นิทานอารมณ์ดี" บางทีก็อาจจะพูดถึงอะไรที่ลึกซึ้งแบบเข้าใจง่าย อย่าง นิทานอีสป หรือเรื่องแฟนตาซีโหด ๆ เช่น นิทานกริมม์
กลายเป็นว่า หนังสือที่มีภาพเยอะ ๆ เขียนให้เด็กอ่าน และเป็นเรื่องจริง หรือสมจริง ก็อาจไม่มีที่ยืนในสารบบคำไทยไป
ดังนั้นเราจึงจะขอเรียกหนังสือแนวนี้รวม ๆ ว่า หนังสือภาพ (Picturebook) ตามแบบที่นักวิชาการและสนพ.ทางฟากตะวันตกใช้กัน ซึ่งหมายรวมถึงทั้งเรื่องแต่ง เรื่องจริง หรือแต่งบ้างจริงบ้างก็ได้ ผสม ๆ กันไป แต่ใช้ทั้งภาพและตัวอักษรเล่าเรื่องไปด้วยกัน เด็กอ่านก็ได้ ผู้ใหญ่อ่านก็ดี
หนังสือในหมวดนี้ มันก็จะมีวิธีเล่าอีกหลายแบบแยกย่อยไปค่ะ เช่นเรื่อง Zenobia อาจเรียกได้ว่าเป็น หนังสือภาพผสมคอมิก หรือที่นักวิชาการบางคนเรียกว่า Picture-bookish comic หรือ Comic-style Picturebook
วันหลังจะมาเล่าเรื่องหนังสือแนวนี้เพิ่มเติมนะคะ
☼ เขียนให้เด็กวัยไหนอ่าน?
สนพ. มักจะเป็นคนกลุ่มแรก ๆ ที่กำหนดช่วงอายุที่เหมาะสมให้กับผู้อ่าน แต่ในความเป็นจริงแล้ว "คนทุกเพศวัยสามารถอ่านหนังสือเล่มไหนก็ได้ หากอ่านแล้วเข้าใจ"
ตอบกำปั้นทุบดินไปไหมคะเนี่ย 555
ตอนเด็ก ๆ ตั้งแต่ 7-8 ขวบ เราจำได้ว่าเราเริ่มอ่านขายหัวเราะ/รีดเดอร์ไดเจสต์แล้ว เพราะของมันอยู่ใกล้มือ + ไม่มีผู้ใหญ่คนไหนห้าม + เราอ่านออก + เรามีสมาธิ/ความอยากรู้อยากเห็นพอที่จะอ่านจนจบ
มองย้อนกลับไป คงไม่มีสนพ.ไหนแนะนำหนังสือสองเรื่องนี้ว่าเป็น "หนังสือเด็ก" ใช่ไหมคะ?
อย่างไรก็ตาม สนพ. ที่ตีพิมพ์ Zenobia และผู้ใหญ่ในเว็บรีวิวหนังสือต่าง ๆ แนะนำว่า หนังสือเล่มนี้น่าจะเหมาะกับผู้อ่านอายุ 10 ปีขึ้นไป (แน่นอน หมายรวมถึงผู้ใหญ่ด้วย) เพราะอาจมีภาพหรือเนื้อหาสะเทือนใจ...
ซึ่งมันก็จริง ตอนเราทำรายงานเกี่ยวกับการใช้ภาพของหนังสือเล่มนี้ ต้องพลิกเปิดดูหนังสือเป็นสิบ ๆ รอบและวิเคราะห์รายละเอียดไปด้วย...
กว่าจะเขียนงานเสร็จส่งก็ซึมไปเลย
เด็กหญิงอมีนาบนเรือผู้ลี้ภัย
☼ ถ้าเรื่องจริงมันเศร้า แล้วจะเขียนให้เด็กอ่านทำไม???
ประเด็นนี้อาจจะต้องเขียนแยกเป็นอีกบทความหนึ่งเลย แต่ตอบสั้น ๆ ได้ว่า เพราะเด็ก ๆ ที่อ่านหนังสือเด็กนั้น อยู่ใน "โลกความจริง" ที่มีทั้งเรื่องดีและร้าย มีเรื่องที่ชวนให้รื่นรมย์และเศร้าโศก โลกที่เต็มไปด้วยปัญหาที่รอการแก้ไข และหวังว่าคนรุ่นต่อไปจะเข้ามาร่วมแก้ไขไปด้วยกัน ถ้าเด็กไม่ได้รับรู้ความจริงของโลกใบนี้เลย เขาจะรับมือกับมันได้อย่างไร? จะเห็นใจหรือเห็นใจเพื่อมนุษย์ที่ทุกข์ยากได้อย่างไร ถือไม่เคยรับรู้ความทุกข์ของผู้อื่น หรือแม้แต่เด็ก ๆ ด้วยกันเลย?
ตอนที่สนพ. นานมีบุ๊กส์ ตีพิมพ์หนังสือภาพ The Journey (รอนแรม) ออกมาใหม่ ๆ ปี 2019 (เล่มนี้ดูจากภาพและวิธีนำเสนอแล้ว คะเนได้ว่าเหมาะกับเด็กกลุ่มอายุน้อยกว่า Zenobia) เคยมีคนถามเราว่า หนังสือเกี่ยวกับผู้ลี้ภัย มันออกจะไกลตัวเด็กไปไหม?
อมีนาโดดเดี่ยวอยู่ในทะเลแสนกว้างใหญ่
แม่ของอมีนาจะหาเธอเจอไหมนะ
จะมีใครสักคน ออกตามหาอมีนาหรือเปล่า?
ตอนนั้นประเทศไทยมีผู้ลี้ภัยราว ๆ เก้าหมื่นคน และมีข่าวเรื่องผู้อพยพจากสงครามกลางเมืองในพม่าไม่เว้นวัน ผู้คนรอบตัวเด็กถกเถียงกันว่าควรเห็นใจผู้ลี้ภัยเหล่านี้หรือไม่ เราควรจะทำอย่างไรกับปัญหานี้ดี มีถ้อยคำแสดงความเกลียดชังลอยว่อนทั่วไปในสื่อออนไลน์ ทีวี และหนังสือพิมพ์
เราตอบคำถามคุณคนนั้นไปแล้ว แต่อยากรู้ความเห็นจากทางบ้านบ้าง 55+
เพื่อน ๆ คิดว่า เด็กไทยควรมองประเด็นผู้อพยพ/ลี้ภัย เป็นเรื่องใกล้ตัวหรือไกลตัวดีคะ?
*บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรก ที่นี่ อ้างอิง https://litteratursiden.dk/boeger/zenobia https://cobolt.dk/shop/zenobia-461p.html https://www.unhcr.org/th/ publishersweekly.com/978-1-60980-873-0 เครดิตภาพจาก https://ereolen.dk/ting/object/870970-basis%3A39533545/read
Commenti