เขาว่ากันว่า ประเทศไทยเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ เป็นครัวโลก เป็นศูนย์กลางอาหารอร่อย
และมีเกษตรกรเป็นกระดูกสันหลังของชาติ
ว่าแต่เด็กๆ ของเรารู้หรือเปล่าว่า อาหารมาจากไหน?
สำหรับ #วันแรงงาน ปีนี้
เราจะมาแนะนำหนังสือภาพสารคดีจากห้องสมุดเดนมาร์กเรื่อง Hvor Kommer Maden Fra (อาหารมาจากไหน) ค่ะ
แน่นอนว่า ไม่ใช่ครั้งแรกที่หนังสือเด็กพยายามเล่าเรื่องอาชีพต่างๆ ให้เด็กฟัง ขนาดเด็กเล็กๆ ที่ยังอ่านหนังสือเองไม่ออกก็ยังได้รู้จากหนังสือเด็กว่า ผู้ใหญ่ทำอาชีพอะไรบ้าง เช่น ครู หมอ พยาบาล ตำรวจ ทหาร อาชีพยอดนิยมห้าอย่าง (สมัยนี้อาจมีเพิ่มเติมจากนี้บ้างแล้ว)
แต่สิ่งที่เราคิดว่าทำให้หนังสือเล่มนี้โดดเด่นขึ้นมา ก็คือ มันเล่าถึงอาชีพที่สำคัญและใกล้ตัวกับชีวิตประจำวันคนทุกคนเลย อาชีพที่เกี่ยวข้องกับอาหารนั่นเองค่ะ
กว่าจะมาเป็นนมกล่อง นมขวดได้ ต้องผ่านอะไรมามากมายเลย
หนังสือเล่มนี้แบ่งออกเป็นประมาณ 7 บท บทละสองหน้าคู่ เล่าถึงที่มาของวัตถุดิบหลักสำหรับการทำอาหาร ได้แก่ นมโค ปลา ไข่ หมู มะเขือเทศ แอปเปิล และขนมปัง ผ่านภาพวาดสไตล์มินิมัล สะอาดตา
โดยในแต่ละหัวข้อ หนังสือจะแสดงสถานที่ทำงานและอุปกรณ์การทำงาน ของผู้คนที่ตระเตรียมวัตถุดิบเหล่านี้ เด็กๆ จะได้รู้คำศัพท์ต่างๆ ที่ใช้ในภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร ส่วนหน้าต่อมาก็ค่อยลงรายละเอียดกระบวนการทำงานกว่าจะมาเป็นวัตถุดิบที่เด็กๆ ไปซื้อที่ซูเปอร์มาร์เก็ตค่ะ ทั้งนี้แต่ละบทจะเทียบให้เห็นด้วยว่า กระบวนการทำงานของภาคครัวเรือนกับภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ แตกต่างกันอย่างไร
ตาลเคยได้ยินพ่อแม่หลายคน ไม่ใช่แค่ที่ไทย แต่ที่ต่างประเทศด้วย บอกว่าเด็กๆ ในเมือง เดี๋ยวนี้ไม่รู้แล้วว่าอาหารที่เห็นตามตลาด ตามซุปเปอร์มาร์เก็ตมาจากไหน อย่างเช่น ไม่รู้ว่าข้าวโพดที่เห็นเป็นฝักๆ กับข้าวโพดกระป๋อง เป็นข้าวโพดเหมือนกัน (ในกรณีหนักๆ ที่เคยได้ยินมา)
การได้เห็นที่มาของอาหารอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ไม่เพียงแต่จะทำให้ผู้บริโภคอย่างเราๆ เห็นคุณค่าของอาหาร เห็นความยากลำบาก เทคโนโลยี ภูมิปัญญาที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังอาหารประเภทต่างๆ แต่ยังจะได้เห็นความเกี่ยวข้องระหว่าง อุตสาหกรรมเกษตร/อาหาร กับสิ่งแวดล้อม และประเด็นทางจริยธรรม-สังคมอื่นๆ ด้วย ซึ่งหนังสือนี้จะคอยหย่อนประเด็นเอาไว้ในแต่ละบท และขมวดปมให้ผู้อ่านกลับไปคิดใคร่ครวญต่อในบทสุดท้าย
สำหรับตาลเองประทับใจหนังสือเล่มนี้ตรงที่ ตาลไม่เคยรู้เลยว่า อวนดักปลาทะเลมันจะใหญ่ได้ขนาดนี้ ถึงจะเคยได้ยินข่าวว่า อวนดักปลาไปเกี่ยวปะการังเสียหาย แต่ก็ไม่เคยจินตนาการออกเลยว่ามันใหญ่แค่ไหน
ที่มาของปลาที่เราซื้อตามตลาด ชาวประมงต้องใช้อวนใหญ่มาก ล้อมจับปลาเอาไว้
แต่อวนนี้อาจทำให้ระบบนิเวศเสียหายได้เหมือนกัน
กับอีกเรื่องคือ ผู้เขียนและสนพ. ไม่กลัวที่จะนำเสนอวิธีการฆ่าหมูให้เด็กได้รับรู้ (แต่ก็ช่วยเสนอเป็นภาพเล็กๆ ไม่มีรายละเอียดน่าสยองนะ) เพราะมันเป็นความจริงที่เกิดขึ้นกับอาหารของเรา และในฐานะผู้บริโภค เราก็ควรรู้ถึงที่มาของอาหาร เพื่อที่จะเป็นผู้บริโภทที่มีความรู้และมีความรับผิดชอบต่อสังคม
หนังสือเล่มนี้ไม่กลัวที่จะให้เด็กเห็น เลือด ซึ่งเป็นเรื่องปกติในกระบวนการฆ่าหมู
ในภาพนี้มีวิธีฆ่าหมูสองแบบคือ แบบในฟาร์มกับในโรงฆ่าสัตว์ (อุตสาหกรรม)
และแสดงวิธีแล่ให้ดูพร้อมสรรพ
จริงๆ ตาลยังมีหนังสือเกี่ยวกับอาชีพที่น่าสนใจอีกเยอะเลย ไม่ว่าจะเป็น อาชีพด้านการก่อสร้าง (อย่าง สถาปนิก ช่างก่อสร้าง ผู้รับเหมา) หรืออาชีพคนทำหนังสือเอง ซึ่งเป็นเรื่องค่อนข้างลึกลับสำหรับสาธารณชน 555 ไว้คราวหน้าจะมาเล่าให้ฟังนะคะ
ว่าแต่ เพื่อนๆ คิดว่า สมัยนี้ยุคนี้ หนังสือเด็กควรเล่าเรื่องอาชีพอะไรอีกบ้าง? แชร์กันเข้ามาได้นะคะ เผื่อตาลรู้จักเล่มไหนดีๆ จะมาแนะนำ หรือถ้าใครรู้จักหนังสือเด็กเจ๋งๆ เกี่ยวกับอาชีพเล่มอื่น ๆ ก็มาแบ่งปันกันนะคะ
อ่านรีวิวหนังสือเด็กเกี่ยวกับ "แรงงาน" เล่มอื่นๆ
*บทความนี้ตีพิมพ์ในเฟสบุ๊กเพจ Children's Books Out There ที่นี่
Comments