top of page
รูปภาพนักเขียนNatt Wattankul

อวตารตำนานแห่งคอร์ร่า (Avatar :The legend of Korra) สารพัดเหตุผลของคนอยากปกครอง

อัปเดตเมื่อ 28 ก.ย. 2565

อนิเมชันสำหรับคนทุกวัย

ที่จะมาเปิดเผยแผนการของเหล่าผู้นำวายร้ายในคราบความปรารถนาดี


โปสเตอร์ซีรีส์แอนิเมชั่นเรื่อง อวตาร : ตำนานแห่งคอร์ร่า



เดือนแห่งหนังสือต้านเผด็จการ

เดือนแห่งการรีวิวหนังสือเด็กธีม "ต้านเผด็จการ" นี้ เรามีนักเขียนรีวิวหนังสือเด็กประจำเว็บมาใหม่อีกสองคน ชื่อ ริน และ พิณ จะมาช่วยกันเขียนรีวิวหนังสือและสื่อเด็กต่อจากนี้ไปค่ะ


ที่ผ่านมามีหนังสือและสื่อเด็กมากมาย (ในต่างประเทศ) ที่จัดทำขึ้นมาเพื่อชี้ให้ประชาชนทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ได้เห็นความอยุติธรรมของผู้มีอำนาจในสังคม โดยเฉพาะพวกผู้นำประเทศ ทหาร นักการเมืองต่าง ๆ ใครบอกว่าหนังสือและสื่อเด็กต้องละมุนละไม เรียบร้อยล่ะ...


ไม่ค่ะ ขอค้านดัง ๆ ว่าวรรณกรรมเด็กเนี่ยแหละ ที่จะสร้างคนรุ่นใหม่ที่กล้าพูดในสิ่งที่คิด กล้ารับฟังความเห็นต่าง และกล้าทำในสิ่งที่ถูกต้อง


หากต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศ เราต้องเริ่มที่เด็กและครอบครัวนี่แหละค่ะ!



 


สวัสดีค่ะ พิณ ค่ะ


สำหรับเดือนแห่งหนังสือต้านเผด็จการรอบนี้ พิณขอนำเสนอสื่ออีกรูปแบบที่เด็ก ๆ เข้าถึง สนุก และเรียนรู้ได้เช่นเดียวกับหนังสือ อย่างการ์ตูนแอนิเมชันค่ะ


เรื่องที่จะมาเล่าให้ทุกคนฟังในครั้งนี้คือเรื่อง Avatar : The Legend of Korra (อวตาร ตำนานแห่งคอร์ร่า) ที่จะพาเราไปพบกับตัวละครที่ล้วนอยากทำให้โลกที่พวกเขาอยู่ดีขึ้น แต่ “ดี” ของแต่ละคนนั้นสุดโต่งเหลือเกิน และหลายครั้ง ภาพของโลกที่ดีของพวกเขาก็ดันไปทำให้อีกหลาย ๆ คนเดือดร้อน ที่น่าสนใจเป็นพิเศษคือ แม้แต่ตัวละครหลักของเรื่องนี้เองที่มีพลังอำนาจมากมาย ก็ไม่ได้ตัดสินใจสร้างโลกที่ดีที่สุดได้ถูกต้องเสมอไป



หลายครั้งผู้นำเผด็จการมักหาความชอบทำให้กับการกระทำของตัวเอง เช่น อ้างว่าทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ทำเพื่อสร้างความเสมอภาค ทำเพื่อสร้างความสงบ และอีกร้อยพันเหตุผลที่จะสรรหามาได้ บางครั้งเหตุผลเหล่านี้ก็เป็นเพียงข้ออ้าง แต่บางครั้งก็เกิดจากเจตนาดีที่บิดเบี้ยวไปตามกิเลสและอำนาจที่เพิ่มขึ้น จากที่เคยมีเจตนาจะสร้างโลกที่ดีให้ทุกคน ต่อมาความสำคัญของคนอื่น ๆ ก็เริ่มเลือนหายไปเหลือเพียงตัวเองเป็นสูญกลาง และเมื่อเป็นแบบนั้นแล้ว โลกที่ดีที่สุดของพวกเขาจึงอาจไม่ใช่โลกที่ดีที่สุดของคนอื่น ๆ เสมอไป



ภาพอวตารทั้งสองรุ่น จาก Nickolodeon




อวตารคนใหม่กับโลกหลังสงครามร้อยปี


Avatar : The Legend of Korra (อวตาร ตำนานแห่งคอร์ร่า) เป็นซีรีส์แอนิเมชันสัญชาติอเมริกันกลิ่นอายเอเชีย สร้างโดย Michael Dante DiMartino และ Bryan Konietzko เพื่อฉายบนช่องโทรทัศน์รายการเด็ก Nickelodian เราอาจจะพอคุ้นหูกันอยู่บ้าง ก็เพราะจานดาวเทียมในไทยหลายเจ้านำสัญญานของช่องนี้มาฉายค่ะ ซีรีส์แอนิเมชันเรื่องนี้มีทั้งหมด 52 ตอน ความยาวตอนละประมาณ 24 นาที (เยอะใช่มั้ยคะ แต่ถ้าดูไปเรื่อย ๆ แล้วจะไม่อยากให้จบเลยค่ะ) แบ่งเป็น 4 ซีซั่น เล่าเรื่องราวของ “คอร์ร่า” เด็กสาวที่เกิดมาเป็น “อวตาร” คนล่าสุด ในโลกที่หลาย ๆ คนควบคุมหนึ่งในธาตุทั้งสี่ อย่าง ดิน น้ำ ลม ไฟ ได้


“อวตาร” คือชื่อเรียกของผู้ที่เกิดมาพร้อมพลังที่ควบคุมธาตุได้ครบทั้งสี่ธาตุ และมีหน้าที่รักษาสมดุลของโลก ในโลกที่คอร์ร่าอยู่ ชนชาติต่าง ๆ ถูกแบ่งออก ตามพลังที่คนส่วนมากในละแวกนั้นมี ได้แก่ชาติดิน น้ำ ลม และไฟ ส่วนผู้ที่ไม่มีพลังธาตุเลยก็นับเป็นพลเมืองตามท้องที่ที่ตัวเองเกิด โดยสัดส่วนของผู้คุมธาตุและคนปกตินั้นมีใกล้เคียงกันค่ะ



แผนที่โลกในจักรวาล “อวตาร” ที่แบ่งออกเป็นสี่่ชาติ



อวตารนั้นจะเกิดขึ้นครั้งละหนึ่งคนเป็นวัฎจักรสลับไปในแต่ละท้องที่ เมื่ออวตารคนปัจจุบันเสียชีวิต อวตารคนใหม่ก็จะถือกำเนิดขึ้นในท้องถิ่นใหม่


ในยุคของอวตารคนก่อนซึ่งมาจากเผ่าลม ชนชาติไฟต้องการเป็นใหญ่เหนือชาติอื่น ๆ และก่อสงครามที่กินเวลายาวนานกว่าร้อยปี เนื่องจากอวตารเป็นผู้เดียวที่มีพลังพอที่จะหยุดยั้งสงครามได้ ชนชาติไฟจึงบุกเข้าไปในแผ่นดินชนเผ่าลมเพื่อสังหารอวตารคนนั้น ผู้คุมธาตุลมเกือบทั้งหมดถูกฆ่าตายในสงคราม ก่อนที่อวตารจะยุติสงครามได้ในที่สุด


เมื่ออวตารจากเผ่าลมตาย คอร์ร่า เด็กหญิงจากเผ่าน้ำได้ถือกำเนิดเป็นอวตารคนต่อไป โลกที่เธอเผชิญเป็นโลกที่กำลังหาสมดุลใหม่ หลังจากที่สงครามได้สร้างความสูญเสียและสับสนให้กับผู้คนมากมาย

เพื่อเรียนรู้วิธีควบคุมธาตุลมจากผู้คุมธาตุลมครอบครัวสุดท้ายที่รอดชีวิตจากสงคราม คอร์ร่าจำต้องเดินทางมายังเมือง “รีพับลิกซิตี (Republic City)” อดีตเมืองอาณาจักรดินที่เคยถูกชนชาติไฟยึดเป็นอาณานิคม


ผู้คนในเมืองนี้สร้างครอบครัวผสมผสานเชื้อชาติกันมาหลายปีแล้ว และตกลงที่จะตั้งเมืองใหม่ที่ไม่อยู่ใต้อำนาจของชาติใด ๆ ที่นี่เองเป็นที่ที่คอร์ร่าได้พบกับเพื่อน ๆ ซึ่งจะเข้ามามีส่วนร่วมในภารกิจรักษาสมดุลโลกใหม่ของเธอ


ว่าแต่ โลกใหม่ในอุดมคติควรจะหน้าตาเป็นอย่างไร แล้วต้องแลกมาด้วยอะไรบ้าง

เหล่า “ตัวร้าย” ในอนิเมชันเรื่องนี้จะพาเราไปหาคำตอบกันค่ะ…



 


โลกที่ดีคือโลกที่ทุกคน “มี” หรือ “ไม่มี” โดยเท่าเทียม!


วายร้ายคนแรกที่คอร์ร่าและเพื่อน ๆ ต้องเผชิญในซีซั่นหนึ่ง คือชายสวมหน้ากากที่เรียกตัวเองว่า “อะมอน” อะมอนพยายามล้มคณะปกครองของรีพับลิกซิตีและสถาปนาตนเองขึ้นมาปกครองแทนเพราะเชื่อว่า ผู้มีพลังควบคุมธาตุนั้นกำลังกดขี่ผู้ที่ไม่มีพลังอยู่


เรื่องนี้ก็มีส่วนเป็นจริงอยู่บ้าง เพราะในเมืองมีแก๊งผู้มีพลังควบคุมธาตุที่ทำตัวอันธพาลคอยมาเก็บค่าคุ้มครองจากผู้คนอยู่ หรือพูดง่าย ๆ ก็คือทำตัวเป็นมาเฟียนั่นเองค่ะ


อะมอนใช้จุดนี้มาอ้างว่าจำเป็นต้องกำจัดพลังควบคุมธาตุให้หมดไป ทุกคนจึงจะปลอดภัยและ “เท่าเทียม” กัน แล้วเมืองนี้ก็จะสงบสุขอย่างแท้จริง แม้อะมอนจะควบคุมธาตุไม่ได้แต่เขากลับลบพลังควบคุมธาตุของคนอื่นได้ อะมอนอ้างตัวเป็นผู้แทนของผู้ไร้พลังที่ถูกกดขี่ เขาขึ้นปราศรัยเพื่อขยายกลุ่มผู้ร่วมอุดมการณ์ พร้อมสร้างความชอบธรรมให้กับการลบล้างพลังควบคุมธาตุของผู้ที่เขาจับมาได้



อะมอนขณะกำลังปราศรัย

รายล้อมด้วยธงอักษรจีนที่แปลว่าความเท่าเทียม



ผู้คนที่ไร้พลังหลายคนพากันคล้อยตามเพราะถูกพูดกล่อมให้รู้สึกว่าตัวเองถูกเอาเปรียบ แต่ขณะเดียวกัน เรื่องที่พลังควบคุมธาตุถูกนำมาใช้สร้างสิ่งจำเป็นต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันอย่างไฟฟ้า ระบบคมนาคม ระบบความปลอดภัย และสาธารณสุข กลับไม่ถูกพูดถึงในการปราศรัยของอะมอนเลย


ประเด็นนี้ชวนให้เรามาตั้งคำถามค่ะว่า จริง ๆ แล้วพลังควบคุมธาตุนั้นคือ “อภิสิทธิ์” หรือคือ “ธรรมชาติ” เหมือนกับการที่มนุษย์บางคนมีอวัยวะเพิ่มเติมกันแน่ การพรากพลังพิเศษนำมาซึ่งความเสมอภาคจริงหรือเปล่า หรือเป็นเพียงการลิดรอนสิทธิของผู้อื่นเพื่อให้ปกครองทุกคนได้ง่ายขึ้น?

การสร้าง “ความเท่าเทียม” บนความสูญเสียของผู้อื่นเป็นเรื่องถูกต้องหรือไม่?

แผนการของอะมอนจะสำเร็จหรือไม่ เบื้องหลังหน้ากากของชายผู้อ้างว่าถูกคนมีพลังธาตุกดขี่นั้นเป็นใคร และต้องการอะไรกันแน่ ต้องไปตามดูต่อกันนะคะ




 

โลกที่ดี คือมีผู้นำที่ "ทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม" (จนกว่าอำนาจจะบังตา)



ในซีซั่นถัด ๆ ไป คอร์ร่าและกลุ่มเพื่อนจะพบกับอีกสองตัวละคร ที่เริ่มต้นมาเหมือนจะแสนดีและมีความรับผิดชอบ ทำทุกอย่างเพื่อประโยชน์ส่วนรวม แต่ท้ายที่สุดแล้วกลับถูกอำนาจที่ตนครอบครองกลืนกิน กลายเป็นคนหลงอำนาจที่ไม่สนว่าสิ่งที่ตัวเองทำนั้นจะสร้างความสูญเสียให้แก่ผู้คนมากมาย


คนแรกคือ “อูนาลัค” คุณลุงแท้ ๆ ของคอร์ร่าที่เป็นหัวหน้าเผ่าน้ำในดินแดนทางเหนือ (เผ่าน้ำมีดินแดนอยู่ทางเหนือและใต้ตามขั้วโลกเหนือและใต้) อูนาลัคศึกษาเรื่องวิญญาณมาอย่างลึกซึ้งและต้องการให้คอร์ร่าช่วยนำสมดุลกลับมาสู่โลกอย่างแท้จริงโดยการเปิดประตูเชื่อมโลกมนุษย์กับโลกแห่งจิตวิญญาณ (วิญญาณในเรื่องนี้เป็นเหมือนภูติตัวแทนของธรรมชาติค่ะ)


ในอดีต มนุษย์กับวิญญาณนั้นอยู่ร่วมกัน แต่ก็ไม่ได้อยู่อย่างสันติ เพราะเมื่อมนุษย์ยุคแรกเริ่มมีพลังควบคุมธาตุ พวกเขากลับนำพลังนั้นไปรุกรานวิญญาณ วิญญาณเองก็รังเกียจมนุษย์ ท้ายที่สุดแล้วอวตารคนแรกจึงได้แยกทั้งสองให้อยู่กันคนละมิติเพื่อไม่ให้เกิดการสูญเสียค่ะ แต่ลุงของคอร์ร่าอ้างว่าคนและวิญญาณอยู่ด้วยกันอย่างสันติได้ วิญญาณจะช่วยทำให้ธรรมชาติอย่างป่าไม้และทะเลไม่แปรปรวน เป็นการสร้างสมดุลอย่างแท้จริง คอร์ร่าที่โดนกล่อมมาว่า นี่เป็นหน้าที่ของ “ผู้รักษาสมดุลของโลก” จึงช่วยเปิดประตูเชื่อมทั้งสองโลกให้


คอร์ร่ากับเพื่อน ๆ หน้าประตูเชื่อมโลกวิญญาณที่ถูกเปิด



แต่กลับกลายเป็นว่าอูนาลัคไม่ได้ต้องการทำให้โลกนี้ดีขึ้น นั่นเป็นข้ออ้างเท่านั้น แท้จริงแล้วเขาต้องการพลังของวิญญานร้ายที่ถูกขังอยู่อีกโลกมาปกครองทุกคนต่างหาก! คอร์ร่าที่พลาดเชื่อใจความหวังดีประสงค์ร้ายของอูนาลัคจึงต้องร่วมมือกับทุกคนหยุดยั้งอูนาลัคไม่ให้เอาพลังนั้นมาได้ และต้องตัดสินใจว่าจะเปิดประตูโลกแห่งจิตวิญญาณทิ้งไว้ต่อไปหรือไม่


ขณะที่อูนาลัคนั้นร้ายมาแต่แรก คู่อริอีกคนที่คอร์ร่าต้องเจอกลับไม่ใช่แบบนั้นค่ะ ชื่อของเธอคือ

“คูเวียร่า” ทหารสาวมากความสามารถ ผู้มีพลังควบคุมเหล็ก คูเวียร่าเคยเป็นตัวแทนของอาณาจักรดินในการเยียวยาผู้ประสบภัยหลังจากที่ราชินีเผด็จการของอาณาจักรถูกสังหารและเกิดจลาจลไปทั่ว แต่ไป ๆ มา ๆ การแวะเยียวยาตามเมืองต่าง ๆ ของคูเวียร่าก็เริ่มกลายเป็นการรวบรวมเมืองไว้ใต้อาณัติ ไม่ว่าเธอจะไปไหน เมืองนั้นก็ต้องยอมเซ็นสัญญาอยู่ใต้การปกครองจึงจะได้รับเครื่องอุปโภคบริโภคและการคุ้มครอง ไม่นานคูเวียร่าจึงถูกขนานนามว่า “ผู้รวมชาติ”


คูเวียร่าตั้งกองทัพเผื่อขู่ให้เมืองเหล็กยอมมาอยู่ใต้อาณัติ



ชื่อเสียงเรียงนามรวมถึงอำนาจและอุดมการณ์ที่มากับสมญานี้เองที่ทำให้คูเวียร่าเริ่มหลงในอำนาจ เธอเริ่มสร้างกองทัพของตัวเองเพื่อบุกยึดเมืองที่ไม่ยอมเซ็นสัญญา และนำผู้ที่ไม่เห็นด้วยไปยังค่ายแรงงาน คนที่อยู่ใต้การปกครองของเธอต้องทำหน้าที่ตามที่เธอสั่งทุกอย่าง เมื่อรู้ตัวอีกทีเธอเองก็ไม่ต่างจากราชินีจอมเผด็จการคนเดิม ที่คอยกดทุกคนให้อยู่ใต้การควบคุมของตนเอง


นอกจากจะเป็นเผด็จการแล้ว สมญานาม “ผู้รวมชาติ” ยังไปปลุกความคลั่งชาติในตัวเธอจนพยายามก่อสงครามเพื่อยึด Republic City ที่เคยเป็นพื้นที่ของอาณาจักรดินคืนมาอยู่ใต้การปกครองของเธอ


คูเวียร่าจึงเป็นตัวอย่างของคนที่เริ่มต้นด้วยเจตนาดีแต่เหลิงในอำนาจ จนความเห็นของคนรอบข้างนั้นเลือนหาย เหลือเพียงอุดมการณ์ของตนเองที่สำคัญเท่านั้น



 

โลกที่ดี คืออนาธิปไตย: ความสมดุลที่แท้จริง คือความไม่สมดุลต่างหาก


หลังจากที่ทุกคนพยายามหาอำนาจเพื่อสร้างสมดุลในรูปแบบของตัวเอง แต่กลับถูกพลังอำนาจนั้นกลืนกินจนเกิดความวุ่นวายมากมายไปหมด ก็มีผู้นำทางความคิดคนใหม่เกิดขึ้นชื่อว่า “กลุ่มดอกบัวแดง” ค่ะ


กลุ่มดอกบัวแดงคิดว่าเราควรเลิกพยายามสร้างสมดุลด้วยระบบการปกครอง กฎหมาย หรือกฎระเบียบได้แล้ว ทางเดียวที่ปัญหาจะไม่วนเวียนกลับมาให้แก้เรื่อย ๆ อีก ก็คือการยอมรับว่าสมดุลของโลกไม่ควรเกิดจากการควบคุมตั้งแต่แรกอย่างไรล่ะ แนวคิดที่ว่านี้มีความเชื่อมโยงกับแนวคิดแบบอนาธิปไตย (Anarchism) ซึ่งเป็นแนวคิดที่กังขาและต่อต้านการปกครองและจัดระเบียบสังคมของสถาบันอำนาจต่าง ๆ และเชื่อว่ามนุษย์ควรมีเสรีภาพที่จะอยู่รวมกลุ่มตามความสมัครใจเป็นสังคมไร้รัฐปกครอง

รัฐ ระบบทุนนิยม ระบอบกษัตริย์ และระบอบอื่น ๆ ซึ่งก่อให้เกิดชนชั้นทางการปกครอง จึงเป็นสิ่งที่ผู้ยึดถือแนวคิดแบบอนาธิปไตยต้องการล้มล้าง


แนวคิดอนาธิปไตยไม่ใช่แนวคิดเผด็จการโดยตรง แต่ก็เป็นแนวคิดที่นำไปสู่การเป็นเผด็จการได้ เนื่องจากเมื่อไม่มีกฎระเบียบส่วนรวมแล้ว ผู้มีพลังมากกว่าก็มีโอกาสขึ้นมามีอำนาจได้ง่าย และหากผู้มีอำนาจไม่ยึดมั่นในสันติวิธีหรือไม่เคารพสิทธิ์ของผู้อื่น มันก็จะวนกลับอีหรอบเดิมที่ว่าจะมีคนถูกกดขี่เช่นเดิมนั่นเองค่ะ


กลุ่มดอกบัวแดงต้องการปลดปล่อยโลกใบนี้ให้เข้าสู่กลียุคโดยการสังหารผู้นำทุกคน รวมถึงอวตารอย่างคอร์ร่าเองด้วย เพราะแม้เธอจะเป็นผู้นำสมดุลมาสู่โลก แต่อีกแง่หนึ่งเธอก็เป็นผู้ที่มีหน้าที่จัดระเบียบสังคมในรูปแบบหนึ่งเช่นกัน


ซาเฮียร์ ผู้นำกลุ่มดอกบัวแดงกำลังสังหารผู้นำอาณาจักรดิน



อย่างไรก็ตามการสนับสนุนแนวคิดแบบอนาธิปไตยนั้นไม่ได้จำกัดอยู่แค่วิธีการสุดโต่งและรุนแรงแบบที่กลุ่มดอกบัวแดงใช้ แต่ยังมีในรูปแบบการแสดงออกอย่างสันติด้วย เช่น การสร้างชุมชนที่อยู่อย่างเคารพกันและกัน และใช้ทรัพยากรร่วมกันอย่างไม่ถือครองเป็นของส่วนตัว ทว่า นี่เป็นวิธีที่ไม่ได้ต่อกรกับระบบการปกครองโดยตรง และใช้ได้กับแค่กลุ่มคนที่เลือกมาเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตแบบนี้เท่านั้น กลุ่มวายร้ายที่ต้องการ “เปลี่ยนโลก” จึงหันไปเลือกใช้วิธีการรุนแรงที่เห็นผลเป็นวงกว้างมากกว่าค่ะ



 

ภาคต่อที่ไม่ได้รับความรักเท่าภาคแรก


ต้องเกริ่นก่อนว่า อวตาร : ตำนานแห่งคอร์ร่า นั้นเป็นภาคต่อของแอนิเมชันเรื่อง Avatar : The Last Air Bender (เณรน้อยเจ้าอภินิหาร) ที่กวาดรางวัลมามากมาย ทั้ง Annie Awards 5 รางวัล ,The Genesis Award, Primetime Emmy Award, Kids’ Choice Award และ Peabody award รวมถึงได้รับความนิยมและความรักจากผู้คนอย่างล้นหลามในฐานะแอนิเมชันเด็กที่เล่าประเด็นผลกระทบของสงครามได้อย่างครบถ้วนหลากหลายแง่มุม ขณะเดียวกันก็แฝงไปด้วยความสนุกสนานช่วยสร้างความกล้าและความหวังให้กับผู้ชมจากการร่วมผจญภัยไปกับก๊วนอวตาร แต่ทำไมภาคต่ออย่าง Avatar : The Legend of Korra กลับไม่ได้รับความรักเท่าภาคแรกทั้งที่เรื่องนี้เองก็เล่าถึงประเด็นทางสังคมไม่ต่างกัน คำตอบมีอยู่หลายสาเหตุค่ะ และสาเหตุเหล่านี้เองเมื่อวิเคราะห์ดี ๆ แล้วอาจทำให้คนเปลี่ยนใจก็ได้ว่าภาคนี้เป็นภาคที่ดีกว่าที่คิด


ประเด็นแรกที่หลาย ๆ คำวิจารณ์กล่าวถึง คือภาคนี้มีเนื้อหาทางการเมืองหนักเกินไป ไม่เหมาะกับแอนิเมชันสำหรับเด็ก อย่างไรก็ตามเราอาจจะรู้สึกว่าการเมืองของเรื่องนี้นั้นหนักเพราะมันดันตรงกับปัญหาทางการเมืองรูปแบบที่เกิดขึ้นในโลกปัจจุบัน เมื่อมองอีกมุมจึงอาจเป็นเรื่องดีเสียอีกที่เด็กจะได้ทำความเข้าใจถึงการเมืองที่เขาต้องพบเจอในชีวิตจริงรวมถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นผ่านรูปแบบแอนิเมชันที่ดูเพื่อความเพลิดเพลิน เพราะหลาย ๆ คนรวมถึงตัวผู้เขียนเอง กว่าจะมาสนใจเรื่องการเมืองและรับรู้ถึงความสำคัญรวมถึงใช้เวลาทำความเข้าใจก็เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่เสียแล้ว



คอร์ร่าตั้งท่าสู้กับคูเวียร่าโดยมีเมืองเหล็กเป็นเดิมพัน ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าไม่สามารถเอาชนะได้


ประเด็นที่สองที่คนให้เหตุผลกัน คือตัวละครเอกนั้นไม่ได้ดังใจเอาเสียเลย ซึ่งเรื่องนี้ต้องยอมรับว่า ตอนแรกเราเองก็รู้สึกเหมือนกัน แต่ที่เป็นเช่นนั้น ก็เพราะตัวละครคอร์ร่านั้นถูกวางมาให้แหกขนบของ “ฮีโร่” ที่เราคุ้นชินว่า ฮีโร่ต้องเก่งที่สุด ตัดสินใจถูกต้องที่สุด ต้องชนะทุกครั้ง และอีกสารพัดสเตอริโอไทป์ ที่เราผูกกับความเป็นฮีโร่ แต่คอร์ร่านั้นต่างออกไป เธอเป็นหญิงสาวที่หัวร้อน มุทะลุ ไม่ได้เก่งที่สุดทุกครั้ง ไม่ได้ชนะทุกครั้ง ตัดสินใจเร็วไปบ้างและบางครั้งก็ไม่ได้ถูกเสียหมด


มีหลายการตัดสินใจของเธอที่ทำเอาคนในเรื่องต้องโอดครวญ ซึ่งที่มาของนิสัยนี้ก็คล้าย ๆ กับตัวละครวายร้ายต่าง ๆ ที่เล่ามาข้างบนเลยค่ะ เพราะคอร์ร่าเชื่อว่าเธอคือ “อวตาร” ผู้มีพลังยิ่งใหญ่และต้องทำหน้าที่ดูแลโลก เธอจึงมีช่วงที่ยึดมั่นแต่ความคิดของตัวเองเช่นกัน


อย่างไรก็ตามคอร์ร่านั้นเรียนรู้และเติบโต แม้ท้ายที่สุดแล้วเธอจะไม่ได้เป็นฮีโร่ที่เพอร์เฟ็ค แต่เธอเป็นฮีโร่ที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นมนุษย์จริง ๆ ที่มีทั้งข้อดีกับข้อบกพร่องปนกันไป แม้จะไม่ได้เป็นตัวละครที่คนหลงรักตั้งแต่แรก แต่หลาย ๆ คนก็เลือกที่จะย้อนกลับมาดูเพื่อเรียนรู้และเติบโตไปกับเรื่องราวที่ไม่คุ้นชินเหล่านี้ค่ะ


หากเรื่อง Avatar the Legend of Korra จะสอนอะไรเรา นอกจากลลวงและข้ออ้างของเผด็จการแล้ว ก็คงเป็นเรื่องที่ว่า การสร้างโลกที่ดีไม่ควรขึ้นอยู่กับความเห็นของคนเพียงคนเดียวหรือกลุ่มเดียว แต่เราควรสร้างโลกที่ทุกคนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจและยอมรับผลของการตัดสินใจร่วมกันนั้นได้


ยังมีอีกหลายประเด็นน่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องราวการผจญภัยของคอร์ร่า ที่บทความเดียวคงเล่าได้ไม่หมด ทุกคนสามารถตามไปดู Avatar : The Legend of Korra และภาคแรกอย่าง Avatar : The Last Air Bender ได้ทาง Netfilx นะคะ



เรื่องราวของคอร์ร่าและทุกคนไม่ได้จบลงเพียงเท่านี้ แต่ยังมีต่อเนื่องในรูปแบบ Graphic Novel ที่ปัจจุบันมีออกมาสองเล่มคือ The Legend of Korra : Turf Wars (2017)และ The Legend of Korra : Ruins of the Empire (2019) และกำลังจะมีต่ออีกหนึ่งเล่มในปลายปีนี้ในชื่อ The Legend of Korra : Patterns in Time ค่ะ ทั้งสามเล่มเขียนโดย Michael Dante DiMartino และ Bryan Konietzko วาดภาพประกอบโดย Irene Koh, Michelle Wong และ Heather Campbell ตามลำดับ และตีพิมพ์กับสำนักพิมพ์ Dark Horse Comics


เราจะยังได้เห็นการตั้งคำถาม ตัดสินใจ เรียนรู้ และเติบโตอีกหลายครั้งของตัวละครอีกหลายตัว หากใครสนใจสามารถสั่งซื้อออนไลน์ได้ค่ะ


 

[ช่วง พิณแนะนำตัว]



(คนทางขวา)



สวัสดีค่ะ เราชื่อพิณนะคะ เราเป็นอดีตนักทำรายการโทรทัศน์ที่รักการอ่านหนังสือและดูหนังมาก จนตัดสินใจไปเรียนต่อป. โท ด้านวรรณกรรมและสื่อเด็กที่ยุโรปค่ะ (ไปด้วยกันกับรินเลย)


หนังสือและภาพยนตร์เป็นส่วนสำคัญในวัยเด็กของเรา ทั้งสองสื่อนี้พาเราผจญภัยมาแล้วเกินร้อยโลก เจอคนมาแล้วนับพัน เราร้องไห้ เรียนรู้ และเติบโตผ่านหน้ากระดาษและหน้าจอ จนตอนนี้เราก็ยังคงหลงรักความมหัศจรรย์ของมันและไม่อยากหยุดผจญภัยค่ะ


เราสนใจวรรณกรรมหมวดแฟนตาซีและเรื่องราวของเยาวชนที่ลุกขึ้นมาท้าทายอำนาจสังคม รวมถึงภาพยนตร์และแอนิเมชันที่เล่าถึงประเด็นทางสังคม เลยอยากมาแบ่งปันเรื่องราวเหล่านี้กับนักอ่านทุกคนด้วย แล้วรออ่านกันนะคะ พิณหวังว่าเว็บนี้จะพาทุกคนไปเจอกับการผจญภัย การเรียนรู้ และความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ค่ะ


ฝากตัวด้วยค่า


 


*บทความนี้ตีพิมพ์ในเฟสบุ๊กเพจ Children's Books Out There ที่นี่




อ้างอิง






ดู 40 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page