top of page
รูปภาพนักเขียนTarn

"หมาป่า (ไม่) เลี้ยงแกะ" เรื่องเก่าเล่าใหม่ ทำลายอคติที่ส่งผ่านรุ่นสู่รุ่น

อัปเดตเมื่อ 28 ก.ย. 2565

เคยอ่านไหม? นิทานที่สอนเด็กว่า "อย่าเชื่อผู้ใหญ่"

และสอนผู้ใหญ่ให้ "รับฟังเด็ก" และ "แก้ไขความเข้าใจผิดของตัวเอง"




เมื่อสัปดาห์ก่อน เราแวะไป Dokk 1 ห้องสมุดประชาชน (ที่เจ๋งที่สุดเท่าที่เราเคยเจอมา) ประจำเมืองออฮุส ประเทศเดนมาร์ก ขณะที่เรากำลังหาหนังสือภาพภาษาเดนิชเล่มใหม่ ๆ เพื่อเอาไว้ฝึกภาษาอยู่ เราก็เจอหนังสือน่ารัก ๆ เล่มนี้เข้าค่ะ



นิทานอีสปกับตอนจบแบบใหม่


หนังสือที่นำมาฝากกันในวันนี้ ชื่อ "The Wolf Who Cried Boy!" (2016) (แปลเป็นไทยน่าจะประมาณ... "หมาป่า (ไม่) เลี้ยงแกะ") เขียนโดย James O'Neil วาดโดย Russell Ayto ในภาพด้านบนเป็นฉบับแปลภาษาเดนิช ชื่อ Ulven Der Råber Dreng! ค่ะ หนังสือภาพเล่มนี้เป็นหนังสือแนว parody ซึ่งก็คือ การเล่าเรื่องที่เคยมีมาก่อนแล้วในแง่มุมใหม่ หรือตีความใหม่ โดยเอาพล็อตมาจากเรื่อง "The Boy Who Cried Wolf!" หรือที่แปลเป็นภาษาไทยแล้วใช้ชื่อว่า "เด็กเลี้ยงแกะ" นั่นเองค่ะ


แทนที่จะเล่าแค่เรื่องของเด็ก (เลี้ยงแกะ) "The Wolf Who Cried Boy!" เล่าเรื่องใหม่จากมุมมองของทั้งลูกมนุษย์และลูกหมาป่าซึ่งถูกผู้ใหญ่ของตนสั่งสอนมาว่า


"จงอยู่ห่างจาก "หมาป่า/มนุษย์" และตะโกนขอความช่วยเหลือทันทีที่เจอ"


มนุษย์ผู้ใหญ่: "จำไว้ หมาป่าไม่ดีต่อสุขภาพนะหนู ๆ"



หมาป่าผู้ใหญ่: "มนุษย์เป็นพวกขี้รังแกนะ เจ้าลูกหมา"




ทั้งเด็กชายและหมาป่าน้อย ต่างก็ถูกผู้ใหญ่สั่งสอนให้กลัว (และเกลียดชัง) กันและกัน พวกเขายึดถือคำสอนของผู้ใหญ่อย่างจริงจัง และคอยตะโกนเตือนพวกพ้องเมื่อเห็น "ศัตรูตัวร้าย" ตามที่ได้รับการอบรมมา แต่ด้วยความที่ตะโกนมากไปหน่อย พอทั้งสองบังเอิญเจอกันในราวป่า และตะโกนขอความช่วยเหลือ จึงไม่มีผู้ใหญ่คนไหนเชื่อและเข้ามา "ช่วย" แยกทั้งคู่ออกจากกัน



เมื่อเด็กชายกับลูกหมาป่าพบหน้ากันครั้งแรก: แว้กกกกกก!!!!

(หน้านี้อ่านออกเสียงสนุกมาก)



หลังจากที่ตะโกนกันจนเหนื่อย เด็กและลูกหมา (ที่เงียบเสียงได้แล้วในที่สุด) ก็เริ่มลงไปเล่นน้ำในลำธารที่คั่นกลางระหว่างหมู่บ้านของทั้งคู่ จากที่เล่นน้ำอยู่คนละมุม สักพักเด็กทั้งสองก็เดินเข้ามาเล่นด้วยกันที่กลางลำธาร และพบว่า จริง ๆ มนุษย์กับหมาป่าก็เป็นเพื่อนกันได้ ไม่เห็นเหมือนกับที่พวกผู้ใหญ่บอกไว้เลย...

อย่างน้อยก็จนกว่าพวกผู้ใหญ่จะมาเจอละก็นะ


งานงอก...


เมื่อ (ถูกลากตัว) กลับถึงบ้านแล้ว เด็กชายและลูกหมาป่าก็เล่าสิ่งที่พวกตนค้นพบให้ผู้ใหญ่ฟัง

ว่าแต่พวกผู้ใหญ่จะเปิดใจและยอมเป็นเพื่อนกันมั้ยนะ?


ลูกหมาป่าและเด็กชายเล่าเรื่องของเพื่อนใหม่ต่างสายพันธุ์ให้ผู้ใหญ่ของตนฟัง




การจัดองค์ประกอบศิลป์ที่ส่งเสริมเรื่องราว


จะสังเกตได้ว่า ผู้วาดวางเลย์เอาต์เมืองคนและเมืองหมาป่ามีลักษณะล้อกันไปตลอดเรื่อง ต่างกันแค่สีสัน (เขียวกับฟ้า) ซึ่งแบ่งแยกเส้นเรื่องของคนกับหมาป่าออกจากกันอย่างชัดเจน สะท้อนให้เห็นทั้งความเหมือนและความต่างทางความคิดของตัวละครทั้งสองฝ่าย ว่าถึงจะเป็นคนละเผ่าพันธุ์ แต่ก็มีทั้งความกลัว ความรัก ความห่วงใยลูกหลานของตัวเองเหมือน ๆ กัน

การใช้ "ลูกศร" ในเรื่องนี้ก็ดูแปลกใหม่และน่าสนใจเช่นกันค่ะ เพราะนอกจากจะใช้สื่อว่าตัวละครไหนพูดกับใคร ด้วยน้ำเสียงอย่างไรแล้ว ยังเน้นย้ำถึงความสัมพันธ์ระหว่างชาวเมืองกับหมาป่าในเรื่องด้วย ว่าถ้าไม่ตีกัน ก็จะหนีหน้ากันตลอด เหมือนกับลูกศรที่ถ้าไม่พุ่งปะทะกันก็แยกทางกันไป ไม่เคยคิดอยากจะหาพื้นที่ตรงกลางให้ทั้งสองฝ่ายได้ทำความรู้จักและเข้าใจกันจริง ๆ


ต้องขอชื่นชมนักวาดที่ใช้สีสันและเครื่องหมายสื่อเรื่องราวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้เด็ก ๆ ได้มีโอกาสวิเคราะห์สัญลักษณ์นามธรรมในภาพวาด และนำความรู้นี้ไปใช้ต่อได้ด้วย




เผชิญหน้ากับความแตกต่างและความไม่รู้

เราชอบหนังสือภาพเรื่องนี้มากตรงที่ มันชี้ชวนให้เด็ก ๆ สังเกตและตระหนักถึงอคติที่ถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นผ่านทางระบบการศึกษาและข้อห้ามคำเตือนต่าง ๆ ส่งเสริมให้เด็กตั้งคำถามต่อสิ่งที่ผู้ใหญ่ "เข้าใจ" และ "สั่งสอน" เด็ก ๆ มา


ขณะเดียวกัน ผู้อ่านผู้ใหญ่เองก็จะได้ฉุกคิดด้วยว่า ตัวเราได้ปลูกฝังค่านิยมอะไรที่แฝงอคติและความอยุติธรรมลงไปในตัวเด็ก ๆ ของเราบ้าง แล้วผลลัพธ์ของมันคืออะไร


ในที่สุด มนุษย์และหมาป่าในเรื่องก็หาหนทางอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขได้ ด้วยการ "เพิ่มความกล้าขึ้นนิด และ ลดความกลัวลงหน่อย"


เป็นข้อคิดแห่งสันติภาพที่ไม่ว่ายุคไหนก็ใช้ได้ ไม่เก่าเลย ว่าไหมละคะ...


แถมท้าย...

จริง ๆ แล้ว เมื่อปี 2002 เคยมีหนังสือภาพชื่อ "The Wolf Who Cried Boy!" ออกมาแล้วครั้งหนึ่ง เขียนโดย Bob Hartman และวาดโดย Tim Raglin เป็นเรื่องเกี่ยวกับลูกหมาป่าที่อยากลองกินเด็กมาก ๆ แต่ด้วยความที่โกหกแกล้งตะโกนเรียกพ่อแม่ให้มาจับเด็กอยู่บ่อย ๆ พอมีเด็กจริง ๆ มาถึงหน้าประตูบ้าน ต่อให้เรียกให้ตายพ่อแม่ก็ไม่เชื่อ ลูกหมาป่าเลยอดกินเด็กไปโดยปริยาย... (เข้าไปดูคลิปได้ ที่นี่ )


หนังสือ "The Wolf Who Cried Boy!" อีกเรื่อง ที่ตีพิมพ์ในปี 2002

เมื่อเทียบกันแล้ว หนังสือเรื่อง "The Wolf Who Cried Boy!" ของ O'Neil และ Ayto ฉีกแนวนิทานอีสปต้นเรื่อง (เรื่อง เด็กเลี้ยงแกะ) ออกไปมากกว่าเยอะเลยค่ะ เพราะเปลี่ยนไปเน้นเรื่อง "จงอย่ามีอคติ" และสอนผู้ใหญ่ให้รับฟังเด็ก ๆ และยอมรับความผิดพลาดของตัวเองให้ได้ แทนที่จะมุ่งสั่งสอนเด็ก ๆ ว่า "อย่าโกหกนะ" เหมือนในต้นฉบับ




แล้วเพื่อน ๆ ละคะ ชอบนิทานอีสปเรื่องไหน

แล้วถ้าเปลี่ยนเรื่องราวได้ จะเปลี่ยนเป็นอะไรดีคะ




*บทความนี้ตีพิมพ์ในเฟสบุ๊กเพจ Children's Books Out There ที่นี่



ดู 8 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comentarios


bottom of page