top of page
  • รูปภาพนักเขียนTarn

หนังสือเด็กและหลักสูตรเอาตัวรอดจากการบุกทำร้ายในโรงเรียน

โพสต์นี้ อุทิศให้แก่ครูและเด็ก ๆ ผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์กราดยิงศูนย์เด็กเล็ก

จ. หนองบัวลำพู วันที่ 6 ตุลาคม 2565 ครอบครัวของพวกเขา

และผู้สูญเสียจากเหตุการณ์บุกทำร้ายในโรงเรียนทุกคน


ภาพเด็ก ๆ ในสรวงสวรรค์ จากหนังสือเรื่อง Heaven: God's Promise for Me



เมื่อวาน (6/10/2022) ขณะที่เรากำลังเตรียมโพสต์เพื่อร่วมรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลา เราก็ได้ทราบข่าวจากครอบครัว ว่าเกิดเหตุกราดยิงที่ศูนย์เด็กเล็ก หนองบัวลำภู เป็นโศกนาฏกรรมที่คงไม่มีใครคิดฝัน ว่าจะเกิดขึ้นในประเทศไทย แต่มันก็เกิดขึ้นแล้ว จนได้


ในฐานะคนที่ทำงานเกี่ยวกับการศึกษา และสื่อสำหรับเด็ก คำถามที่วนอยู่ในสมองของเราทั้งวันคือ เราจะเล่าเรื่องนี้ให้เด็กฟังอย่างไร ทั้งเด็ก ๆ ที่อยู่ในเหตุการณ์ เด็กที่เสียเพื่อนไป เด็ก ๆ คนอื่น ๆ ในครอบครัวผู้สูญเสีย เด็กในจังหวัดเดียวกัน เด็ก ๆ ทั้งประเทศ


เราจะอธิบาย จะช่วยเหลือ จะป้องกันไม่ให้มีการสูญเสียแบบนี้อีกได้อย่างไร


ตั้งแต่ทำงานมา หาหนังสือเด็กมารีวิว เราไม่เคยคิดฝันมาก่อนเลยว่าวันหนึ่ง จะต้องมาหาหนังสือธีม School Shooting และเขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่เหตุการณ์นี้ก็แสดงให้เห็นแล้วว่า ในโลกที่โหดร้าย (และไม่คู่ควร) กับเด็ก ๆ การเตรียมพร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์เป็นสิ่งจำเป็น


หนังสือที่เราอยากจะพูดถึงในวันนี้สองเล่ม มาจากประเทศที่มีอัตราการกราดยิงในที่สาธารณะ (mass shooting) และการกราดยิงในโรงเรียน (school shooting) สูงที่สุดในโลก จนถึงขั้นที่เด็กนักเรียนทั่วประเทศพร้อมใจกันหยุดเรียน เพื่อออกมาประท้วงกฎหมายอนุญาตครอบครองปืน ในปี 2018



ประเทศสหรัฐอเมริกา นั่นเองค่ะ



การประท้วงของนักเรียนในสหรัฐฯ ต้นปี 2018 หลังเกิดเหตุกราดยิงในโรงเรียน Marjory Stoneman Douglas High School มีผู้เสียชีวิต 17 คน ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2018

(ภาพจาก crosscut)



CNN เคยรายงานว่า ตั้งแต่ปี 2009 - 2018 เกิดเหตุกราดยิงในโรงเรียนที่สหรัฐฯ มาแล้ว 288 ครั้ง ทิ้งห่างอันดับสองอย่างเม็กซิโก (8 ครั้ง) อันดับสามอย่างอัฟริกาใต้ (6 ครั้ง) และอันดับสี่อย่างไนจีเรีย และปากีสถาน (4 ครั้ง) แบบไม่เห็นฝุ่น ขณะที่ Fact Sheet ของสถาบันวิจัย ร็อกกี้เฟลเลอร์ (The Nelson A. Rockefeller Institute of Government) ระบุว่า ตั้งแต่ปี 1966 - 2022 มีเหตุกราดยิงในสถานที่สาธารณะ 402 ครั้ง (คำนิยามของการกราดยิงในแต่ละสถิติจะต่างกันไป ทำให้ตัวเลขไม่เท่ากัน สำหรับสถิตินี้ การกราดยิงในที่ชุมชน ไม่นับรวมถึงการก่อการร้าย หรือเป็นฝีมือของเครือข่าย/แก๊งอาชญากร)


ที่ยกเรื่องในสหรัฐฯ ขึ้นมา ไม่ใช่เพื่อให้ใครมาชี้นิ้วบอกว่า "เห็นมั้ย อยู่ประเทศไทยยังดีกว่า กราดยิงน้อยกว่าอีก" เหตุการณ์เช่นนี้ไม่ว่าจะเกิดกี่ครั้ง เกิดที่ไหน เมื่อไหร่มันก็แย่พอ ๆ กัน แต่เนื่องจากสหรัฐฯ มีประสบการณ์ต้องรับมือกับโศกนาฏกรรมแบบนี้เยอะที่สุด หนังสือ/สื่อเด็กเกี่ยวกับ school shooting รวมถึงหลักสูตรเอาตัวรอดจากเหตุการณ์บุกทำร้ายในโรงเรียน จึงมีเยอะตามไปด้วย ถ้าเสิร์ชดูหนังสือเด็กเกี่ยวกับหัวข้อนี้ เราก็จะพบหนังสือหลายเล่มเลย ตั้งแต่หนังสือภาพ กราฟฟิกโนเวล ไปจนถึง YA... เป็นความจริงที่น่าหดหู่ แต่หนังสือและสื่อพวกนี้ก็ถือเป็นความหวังที่จะทำให้เด็ก ๆ รอดชีวิตจากการกราดยิงและผลกระทบทางจิตใจ-ร่างกายที่ตามมาค่ะ


การประท้วงเริ่มในเดือนมีนาคม มีการประท้วงใหญ่ทั่วประเทศภายใต้ชื่อ March for Our Lives ในวันที่ 24 มีนาคม และมีการประท้วงย่อย ๆ เกิดขึ้นต่อเนื่องไปจนถึงเดือนเมษายน

(ภาพจาก Vox)



การบุกทำร้ายในโรงเรียนนั้นเกิดขึ้นได้หลายรูปแบบ แต่หลักการเอาตัวรอดนั้นมีจุดร่วมอย่างหนึ่งคือ เมื่อรู้แล้วว่ามีคนบุกเข้ามา สิ่งที่ทุกคนไม่ต้องการให้เกิดคือ การลังเล ไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะอะไร ผู้ใหญ่ในโรงเรียนจะต้องตอบสนองอย่างฉับไว และเด็ก ๆ ต้องไม่มัวแต่ถามว่า ทำไมต้องทำแบบนั้น ทำแบบนี้ได้มั้ย แต่ต้องมีสติ ตั้งใจฟังคำสั่ง และทำตาม


ที่ใช้คำว่า "บุกทำร้าย" ก็เพราะ หากเรายังจำกันได้ เหตุการณ์บุกทำร้ายเด็กในโรงเรียนที่ไทยนั้นไม่ใช่ว่าไม่เคยมีมาก่อน คดีที่สะเทือนขวัญมากคดีหนึ่ง คือ คดีจิตรลดา เมื่อปี 2548 ที่มีคนบุกเข้าไปแทงนักเรียนโรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์ หลังจากที่ผู้ก่อเหตุออกจากสถานบำบัดแล้ว ก็ได้แทงเด็กเสียชีวิตไปอีกหนึ่งคน นอกจากคดีนี้แล้วก็ยังมีเหตุการณ์ประเภทที่ผู้ใหญ่บุกเข้าไปทำร้ายเด็กในโรงเรียน หรือนักเรียนจากโรงเรียนอื่นบุกเข้าไปทำร้ายคู่อริอยู่หลายครั้ง เพราะฉะนั้น หากเกิดเหตุการณ์ที่มีใครที่ไม่ควรอยู่ในโรงเรียน เข้ามาทำร้ายคนในโรงเรียน ไม่ว่าจะด้วยมือไม้หรืออาวุธชนิดใดก็ตาม เด็ก ๆ ควรรู้ว่าต้องปฏิบัติอย่างไรเพื่อเอาตัวรอดจากสถานการณ์ให้ได้


ในสหรัฐฯ มีหลายองค์กรที่จัดหลักสูตรเอาตัวรอดจากการบุกทำร้ายในโรงเรียน เช่น ALICE และ Guardian Defense นอกจากนี้แต่ละรัฐก็แจกเอกสารเตรียมรับมือกับเหตุไม่คาดฝันและสภาพจิตใจของบุคลากร/นักเรียน รวมถึงจัดอบรมการเอาตัวรอดจากเหตุกราดยิงในโรงเรียนด้วย


ในบรรดาหลักสูตรที่เราอ่านเจอมา เราคิดว่าหลักการเอาตัวรอดของ ALICE เป็นหลักการที่จำง่าย เหมาะกับเด็กและครูระดับปฏิบัติการดี นอกจากนี้ทางองค์กรก็ยังจัดทำหนังสือเด็กประกอบการอบรมด้วย ชื่อ I'm Not Scared...I'm Prepared! หรือ "หนูไม่กลัว เพราะหนูเตรียมตัวมาแล้ว" (มีคุณครูอ่านลงวิดีโอเอาไว้ ตามลิงก์ไปดูได้นะคะ เป็นภาษาอังกฤษ)



 


หนังสือภาพ I'm Not Scared...I'm Prepared! เป็นเรื่องเกี่ยวกับโรงเรียนมดน้อย ที่นี่มีครูมดผู้ใจดีและระแวดระวัง ครูพยายามเตรียมมดเด็ก ๆ ให้พร้อมเอาตัวรอดจากทุกเหตุไม่คาดฝัน ไม่ว่าจะข้ามถนน เจอฝนตก น้ำท่วมอะไรก็ต้องปลอดภัยกลับมา แล้ววันหนึ่ง ครูก็สอนเด็ก ๆ เกี่ยวกับปฏิบัติการ ลูกแกะ คนเลี้ยงแกะ และหมาป่า (Sheep- Shepherd- Wolf) เวลาที่มี "ใครที่ไม่ควรอยู่ในโรงเรียน" บุกเข้ามา


ครูมดนำเสนอปฏิบัติการพิเศษให้มดเด็ก ๆ ฟัง



ในปฏิบัติการนี้ ให้เด็ก ๆ สมมติว่าตัวเองเป็นแกะน้อย และครูเป็นคนเลี้ยงแกะ เมื่อหมาป่าบุกเข้ามา แกะน้อยต้องตั้งใจฟังคนเลี้ยงแกะและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด โดยหลักการง่าย ๆ ที่คนเลี้ยงแกะต้องการให้แกะน้อยทำก็คือ A - L - I - C - E ตามลำดับ


A - Alert ต้องตื่นตัวตลอดเวลาว่า หมาป่า "ยังอยู่แถวนี้" ให้กระจายตัวออกไป อย่าเข้าไปซ่อนในตู้หรือหลังโต๊ะ อย่ากระจุกตัวอยู่ที่เดียว วอร์มร่างกายให้พร้อมวิ่งหนี และเตรียมของที่สามารถใช้เขวี้ยงปาเป็นอาวุธได้


L - Lockdown ต้องพยายามล็อกห้องไม่ให้หมาป่าเข้ามา ตรงนี้ครูต้องเตรียมตัวดี ๆ ว่าจะล็อกห้องได้ยังไง ประตูห้องเรียนบางห้องไม่มีล็อกด้านใน บางห้องล็อกเปราะ บางห้องเป็นประตูกระจก หรือประตูเลื่อน ต้องหาวิธีไว้ล่วงหน้า

I - Inform ต้องรีบกระจายข่าวให้เพื่อน ๆ และทุกคนในบริเวณรู้ว่ามีหมาป่าอยู่ในโรงเรียน


C - Counter ถ้าหมาป่าเจอเราจนได้ อย่ายืนเป็นเป้านิ่ง และอย่าเข้าไปสู้เด็ดขาด ให้คว้าสิ่งของปาไปที่หมาป่าเพื่อทำให้หมาป่าเล็งปืนพลาด สับสน หรือบาดเจ็บ ประวิงเวลาได้สักวิสองวิ พอที่ทุกคนจะวิ่งหนีไปอีกทางได้ทัน


E - Evacuate รีบออกจากตัวอาคารให้เร็วที่สุดและไปรวมตัวกันที่จุดนัดพบที่ตระเตรียมกันไว้ เวลาวิ่งออกจากอาคาร ให้ยกแขนสูงแล้วแกว่งไปมาให้สังเกตเห็นกันและกันง่าย และคนข้างนอกเห็นแล้วผิดสังเกต วิ่งมองทางและมองเพื่อน ๆ ด้วยจะได้ไม่วิ่งชนกัน



ขั้นตอนที่ละเอียดเป็นหัวใจสำคัญของการสอนวิธีเอาตัวรอด

ครูมดสอนแม้กระทั่งวิธีวิ่ง ว่าอย่าวิ่งเป็นเส้นตรงนะ วิ่งให้มันตลก ๆ วิ่งซิกแซก ๆ ไปเลย




คำพูดที่เราคิดว่าสำคัญที่สุดที่ต้องเน้นย้ำให้เด็ก ๆ จำคือ "การฝึกซ้อมนี้สำคัญมาก แต่ไม่มีอะไรที่ต้องกลัวตอนนี้ พวกเธอมีครูอยู่ตรงนี้ และจะเตรียมตัวทุกคนให้พร้อมรับมือได้แน่นอน"

ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะทำให้เด็กกลัวไปก่อนล่วงหน้า หรือใช้ชีวิตในโรงเรียนอย่างหวาดหวั่น

สติเป็นอาวุธสำคัญที่สุดในการรับมือ


แม้ว่าโดยส่วนตัวแล้ว เราจะไม่ค่อยชอบหนังสือเด็กแนวสั่งสอน เพราะข้อมูลมักจะเยอะเกินไป ไม่ชวนให้จำและไม่ได้ผล แต่เราคิดว่า เรื่องสำคัญอย่างเช่น drills เพื่อการเอาตัวรอดนั้นจำเป็นจะต้องอธิบายกันอย่างตรงไปตรงมา และเรื่อง I'm Not Scared...I'm Prepared! นั้นก็อธิบายขั้นตอนได้เคลียร์ เป็นลำดับขั้นตอนชัดเจน ละเอียด มีอุปมาที่เข้าใจง่ายสำหรับเด็ก ๆ หากหนังสือไทยจะทำแบบนี้บ้าง ก็ควรศึกษาเล่มนี้ไว้เป็นตัวอย่างค่ะ


ดูวิดีโออธิบายหลักการเอาตัวรอด ALICE ได้ที่นี่



หนังสือเรื่อง I'm Not Scared...I'm Prepared! มีภาคต่อชื่อ The Ant Hill Disaster (เหตุร้ายในโรงเรียนมด) เขียนเป็นคำกลอน เล่าถึงเหตุการณ์หลังจากที่โรงเรียนมดถูกมนุษย์เหยียบจนพังทลาย มดเด็ก ๆ ที่เผชิญความสูญเสียมาเรียนรู้ที่จะกลับมามีพลังใจอีกครั้ง และกล้าที่จะพูดถึงความรู้สึก ความกลัว เศร้า และโกรธเคืองออกมาค่ะ (ฟังวิดีโอนักเขียนอ่านเรื่องนี้ได้ในลิงก์ด้านบนค่ะ)



ภาคต่อของ I'm Not Scared...I'm Prepared! ชื่อ The Ant Hill Disaster


 

อีกเล่มที่เราว่าดีมากสำหรับเด็ก ๆ ที่พึ่งผ่านเหตุการณ์เลวร้ายมา ไม่ว่ามันจะเป็นเหตุกราดยิงในโรงเรียน หรือสถานการณ์ที่ต้องเอาตัวรอดใด ๆ ก็ตาม ก็คือเรื่อง A Terrible Thing Happened

หรือ "หนูเห็นเรื่องร้ายแรงมาก ๆ มาละ" ที่จัดทำโดย American Psychological Association (เล่มนี้ก็มีคนอ่านให้แล้วในช่องของ APA เลย เข้าไปฟังกันได้นะคะ) หนังสือเล่มนี้ยังใช้ได้กับเด็ก ๆ ที่รับทราบข่าวสะเทือนใจ และรู้สึกกลัว กังวล และเศร้าใจ ช่วยให้เขาได้พูดถึงความรู้สึกของตัวเองกับผู้ใหญ่ที่เขาไว้ใจค่ะ






A Terrible Thing Happened เป็นเรื่องเกี่ยวกับแรคคูนน้อย ที่ไปเจอเรื่อง "ร้ายแรงมาก ๆ" เข้า



ตลอดเล่ม เราจะไม่ได้รู้เลยค่ะว่าน้องไปเจออะไรมา

"เรื่องร้ายแรงมาก ๆ" ถูกแทนด้วยก้อนขยุกขยุยสีดำในความคิดของน้อง

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไร มันคงน่ากลัวซะจนประมวลออกมาเป็นภาพหรือคำพูดไม่ได้จริง ๆ


สิ่งที่เราจะได้เห็นมีเพียงผลกระทบจากเหตุการณ์ที่มีต่อแรคคูนน้อยเท่านั้น

น้องพยายามทำตัวให้ร่าเริง ร้องเพลงดัง ๆ ทำตัวปกติ แต่วิธีนี้ก็ไม่ได้ผลเสมอไป


น้องกินข้าวไม่ลง ปวดท้อง นอนไม่หลับ ฝันร้าย บางทีก็รู้สึกกระวนกระวายอย่างไม่มีสาเหตุ

ความผิดปกติเหล่านี้ทำให้น้องรู้สึกหงุดหงิดโมโหอยู่ตลอดเวลา สุดท้ายก็ก่อเรื่องที่โรงเรียน แล้วก็มานั่งรู้สึกผิดภายหลัง วนไปแบบนี้


หลังจากเจอเรื่องร้ายแรง น้องก็กินไม่ได้นอนไม่หลับอีกเลย



พวกผู้ใหญ่ทั้งพ่อแม่และครู พยายามช่วยเหลือน้อง ในที่สุดแรคคูนน้อยก็ได้พบกับคุณเมเปิ้ล (นักจิตวิทยาเด็ก) ที่ช่วยให้น้องได้สื่อสารความรู้สึกในใจออกมาผ่านการวาดรูป


แรคคูนน้อยวาดรูปมากมาย ทั้งรูปปวดท้อง รูปฝันร้าย รูปความกลัว จนในที่สุดก็วาดรูป "เรื่องร้ายแรงสุด ๆ" ที่น้องไปเห็นมา จากนั้นน้องก็เล่าเรื่องให้คุณเมเปิ้ลฟังแล้วถามว่า


"มันเป็นเพราะหนูหรือเปล่า"


เป็นเรื่องปกติมากที่คนเราจะโทษตัวเอง เวลาเกิดเหตุการณ์ร้าย ๆ ที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น ถ้าตอนนั้นทำแบบนั้นก็คงไม่เป็นแบบนี้ เป็นเพราะเราแท้ ๆ จึงเกิดเรื่องเลวร้ายกับคน ๆ นั้น

เด็กเองก็มีความคิดโทษตัวเองเช่นกัน และนั่นก็เป็นสาเหตุใหญ่ ๆ อย่างหนึ่ง ที่เด็กไม่เล่าปัญหาในใจออกมา บางครั้งความรู้สึกหลายอย่างก็ผสมปนเปเสียจนอธิบายออกมาเป็นคำพูดไม่ได้ ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองกำลังคิดหรือรู้สึกอะไรอยู่ ความคับข้องใจของเด็กจึงอาจแสดงออกมาในรูปแบบอื่น ๆ ที่ไม่ใช่คำพูดหรือการร้องไห้ ...ซึ่งก็อาจทำให้คนรอบข้างยิ่งไม่เข้าใจใหญ่


เมื่อมีผู้ใหญ่ที่ไว้ใจได้คอยรับฟัง เรื่องราวและความรู้สึกก็พรั่งพรูออกมา

แรคคูนน้อยรู้สึกสบายใจขึ้น และแม้ว่าจะย้อนเวลากลับไปเปลี่ยนแปลงเรื่องร้ายแรงสุด ๆ นั้นไม่ได้

แม้ว่าจะยังปวดท้องอยู่บ้าง กลัวอยู่บ้าง และหงุดหงิดอยู่บ้าง แต่มันก็ไม่ได้แย่เหมือนเมื่อก่อนอีกแล้ว




ยังมีหนังสือเด็กอีกมากที่พูดถึงเรื่อง เหตุการณ์เลวร้ายในโรงเรียน (และการกราดยิง) โดยเฉพาะหนังสือในหมวด YA ซึ่งพูดถึงทั้งมุมมองของนักเรียนที่เป็นเหยื่อ นักเรียนผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ และนักเรียนที่ก่อเหตุกราดยิงเอง


เราต้องไม่ลืมว่า ทุก ๆ คน ล้วนเคยเป็นเด็กมาก่อน หนึ่งในคำถามมากมายที่เราควรถามก็คือ วัยเด็กแบบไหนกันที่หล่อหลอมให้คนคนหนึ่ง สิ้นหวัง ขมขื่น โกรธแค้น ขนาดที่ลงมือฆ่าผู้บริสุทธิ์ได้อย่างไม่ลังเล? แล้วในฐานะที่เป็นเพื่อนร่วมโลก ร่วมสังคมเดียวกัน เราจะพอทำอะไรได้บ้าง?


หากมีโอกาสได้อ่านเรื่องเหล่านั้นแล้ว เราจะมาเล่าให้ฟังนะคะ


เราจะตัดตอน ความรุนแรงในโรงเรียนที่วนลูปไม่มีที่สิ้นสุด ได้อย่างไร?

(คำแปล- ได้โปรด หากคุณพบเด็กคนนี้

ช่วยพูดคุยกับเขา กอดเขา ช่วยเหลือเขาด้วย

ไม่ใช่แค่เพื่อตัวเขาเอง แต่เพื่อพวกเราทุกคน...

...ก่อนที่มันจะสายไป)



แน่นอนว่า หนังสือ สื่อ และหลักสูตรทั้งหลายที่ว่ามานี้ คือ "การล้อมคอก"

ต้นสายปลายเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาอาการทางจิต การบำบัดเด็ก เยาวชน ครอบครัว การบำบัดการติดยาเสพติด กฎหมายควบคุมปืน ริบปืน/อาวุธอดีตเจ้าหน้าที่รัฐ และมาตรการรักษาความปลอดภัยอื่น ๆ ก็ยังคงเป็นเรื่องที่เราต้องหาทางป้องกันกันต่อไป



หวังเป็นอย่างยิ่งจริง ๆ ค่ะ ว่าประเทศไทยเรา จะไม่ต้องผลิตหนังสือ/สื่อเด็ก ในหัวข้อการบุกทำร้ายในโรงเรียน จนเป็นเรื่องปกติไป เหมือนอย่างในสหรัฐฯ นะคะ



 

*บทความนี้ตีพิมพ์ในเฟสบุ๊กเพจ Children's Books Out There ที่นี่


อ้างอิง








ดู 201 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page