top of page
รูปภาพนักเขียนTarn

หนังสือสะท้อนวัยเด็กที่หลากหลาย ::: ความรุนแรงในครอบครัว

อัปเดตเมื่อ 22 ก.ย.


Let's end domestic violence

เมื่อหนังสือเด็กส่งเสียง

เพื่อยุติความรุนแรงในครอบครัว



สวัสดีค่ะ ไม่ได้รีวิวหนังสือนานเลย ตอนนี้เรากลับมาแล้ว พร้อมกับโปรแกรมรีวิวหนังสือสองธีมสำหรับช่วงท้ายปีนี้ ได้แก่ หนังสือเกี่ยวกับประสบการณ์วัยเด็กที่หลากหลาย และ หนังสือเด็กในพิพิธภัณฑ์ค่ะ


เมื่อเราพูดถึงประสบการณ์ของเด็กๆ ในหนังสือนิทาน เราอาจได้เห็นว่า วัยเด็กเป็นช่วงวัยที่สวยงาม สนุกสนาน กินอิ่มนอนหลับ เต็มไปด้วยความรัก ความอบอุ่น และความสงสัยใคร่รู้ เป็นความทรงจำที่น่าระลึกถึง


แต่ในโลกความเป็นจริง วัยเด็กช่างหลากหลาย และหนังสือ/สื่อเด็กนี่แหละ ที่จะช่วยให้เด็กที่มีวัยเด็ก ค่อนข้าง "ตามขนบ" ได้เห็นและเข้าใจวัยเด็กแบบอื่นๆ ขณะเดียวกันก็ช่วยให้เด็กที่มีชีวิต ค่อนข้าง "นอกขนบ" หนังสือเด็ก ได้เห็นชีวิตของตัวเอง ได้รู้สึกว่ามีคนเข้าใจ ได้บอกเล่าถึงสิ่งที่เผชิญมา และบางครั้งก็ได้รับการเยียวยา


เราขอเริ่มต้นรีวิวหนังสือวัยเด็กที่หลากหลาย จากหนังสือไทยเกี่ยวกับบ้านพักฉุกเฉินสำหรับเด็กๆ ที่ถูกทำร้าย ชื่อว่า "เมื่อไร... หนูจะได้กลับบ้าน" เขียนโดยคุณตุ๊บปอง และวาดภาพประกอบโดยคุณพรเนตร อร่ามมงคลชัย ตาลเองก็เพิ่งได้รู้จักหนังสือเล่มนี้จากรีวิวที่คุณป่าน วิริญจน์ หุตะสังกาศ ส่งเข้ามาแบ่งปันกับทุกคน ต้องขอขอบคุณคุณป่านมากๆ เลยนะคะ


นอกจากนี้ ตาลเองก็เพิ่งรู้ด้วยว่า เดือนตุลาคมนี้ ยังเป็นเดือนแห่งการตื่นรู้เรื่องความรุนแรงในครอบครัว (ที่สหรัฐอเมริกา) นับว่าเข้าธีมพอดีแบบบังเอิญสุดๆ ไปเลย จริงๆ ในไทยเองก็น่าจะมีการรณรงค์แบบนี้บ้างไหมนะ



 



เมื่อไร...หนูจะได้กลับบ้าน (2013)


เรื่อง โดย ตุ๊บปอง


ภาพ โดย พรเนตร อร่ามมงคลชัย


สนพ. Happy Kids


ผู้รีวิว: ป่าน วิริญจน์ หุตะสังกาศ



แม่มาส่งต้นน้ำไว้ที่แห่งหนึ่งคล้ายโรงเรียน มีเด็กมากมายและมีคุณครู แม่บอกว่าแล้วจะมารับกลับ ต้นน้ำรอคอยให้แม่มารับ ไม่ยอมไปเล่นกับเด็กคนอื่น ๆ ทุกคนถามต้นน้ำว่าทำไมมาอยู่ที่นี่ แต่ต้นน้ำไม่เข้าใจคำถาม เด็กแต่ละคนจึงเล่าความเป็นมาของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นแม่เสียชีวิต แม่หายไปไม่ติดต่อมา พ่อขี้เมาชอบทำร้ายร่างกาย หรือพ่อแม่ยังเป็นเยาวชนอยู่ก็ตาม ต้นน้ำปฏิเสธว่าแม่ไม่มีวันทิ้งเขาแน่ เพราะแม่รักเขา และทุกบาดแผลบนร่างกายของเขาเกิดจากการที่เขาไม่ระวังตัวเอง


"หนูมีแม่นะ แม่รักหนูมากด้วย แม่ดูแลหนูดี๊ดี แม่ไม่ด่าหนู แม่ไม่ตีหนู หนูทำน้ำร้อนลวกตัวเอง หกล้มเอง แม่ไม่ได้ผลักหนูนะ"


คุณตุ๊บปอง ผู้เขียนหนังสือภาพสะเทือนใจเล่มนี้ได้ให้อธิบายว่าได้แรงบันดาลใจจากการไปเยี่ยมบ้านพักฉุกเฉิน ซึ่งเด็กทุกคนรักพ่อแม่แม้จะถูกทำร้ายมาเพียงใดก็ตาม เมื่อครั้งพาเด็กไปเยี่ยมที่พ่อแม่เป็นผู้ต้องขัง เด็กจะผละตัวไปหาพ่อแม่ทันที



หนังสือภาพโดยทั่วไปมักเขียนจากมุมมองของผู้ใหญ่ คือแสดงให้ผู้อ่านซึ่งเป็นเด็กได้เห็นว่าพ่อแม่รักลูกเพียงใด แต่เรื่อง เมื่อไร...หนูจะกลับบ้าน ได้สะท้อนความรู้สึกของเด็กกลับไปยังพ่อแม่ โดยเฉพาะพ่อแม่ที่ "หลงลืม" ความสำคัญของสายใยในครอบครัวจนทำร้ายเด็กตัวเล็กได้ทั้งกายและใจ



เนื่องจากทางเพจไม่มีภาพเนื้อในของหนังสืออยู่กับตัว จึงขออนุญาตแปะลิงก์เพจที่มีภาพนะคะ เพื่อไม่เป็นการผิดลิขสิทธิ์ค่ะ





 

ส่วนหนังสืออีกเล่มในประเด็นใกล้เคียงกัน ชื่อ "Angry Man" (Sinna Mann) (2003) เขียนโดยคุณ Gro Dahle และวาดภาพประกอบโดยคุณ Svein Nyhus คู่สามีภรรยาจากนอร์เวย์ หนังสือเล่มนี้เล่าถึงคุณพ่อที่บางเวลาเป็นคนร่าเริงแจ่มใส แต่บางเวลาก็พร้อมกลายเป็นคนขี้โมโห ตัวพอง ย่างสามขุมเข้ามาหาคุณแม่และลูกชาย




หนังสือเล่มนี้ได้รับรางวัลมาแล้วมากมาย และถูกแปลไปในหลายภาษา และนับว่าเป็นหนึ่งในหนังสือภาพคลาสสิกที่จุดประเด็นให้ผู้คนในนอร์เวย์เริ่มพูดถึงความรุนแรงในครอบครัว



ด้วยความที่หนังสือภาพที่นั่น ไม่ใช่ทำมาสำหรับเด็กอ่านเท่านั้น แต่เป็นหนังสือประเภทที่วัยไหนก็อ่านได้ ภาพที่ถูกนำเสนอออกมาจึงมีส่วนผสมของทั้งลายเส้นที่เรียบง่ายแบบนิทานตามขนบและงานศิลป์ที่สื่อสารอารมณ์หลากหลาย ทั้งความกลัว ความโกรธ ความสับสน และตีความได้หลายชั้น



Gro เล่าเรื่องโดยใช้ถ้อยคำจากปากของเด็กๆ ในครอบครัวที่มีความรุนแรง เช่น


“เมื่อไหร่ที่พ่อถึงบ้าน หลังของฉันจะขมึงตึงขึ้นมาทันที"


"เมื่อพ่อแม่ทะเลาะกัน ฉันจะรู้สึกเจ็บที่แขน"


“พอพ่อเริ่มเงียบ ฉันจะขึ้นไปที่ห้อง แล้วซุกตัวอยู่ในผ้าห่ม”


"พอพ่อเริ่มขว้างปาข้าวของ ฉันจะเข้าไปหลบในตู้”


"นั่นไม่ใช่พ่อของฉัน นั่นเป็นแค่ผู้ชายเจ้าอารมณ์คนหนึ่ง"


ทั้งหมดนี้ร้อยเรียงขึ้นมาด้วยภาษาง่ายๆ และสวยงามแบบกวีนิพนธ์




ความน่ากลัวของความรุนแรงในครอบครัวคือ ชั่วขณะหนึ่งที่พ่อกลับบ้าน เด็กชาย (ชื่อ บอย -Boj) ดีใจที่พ่อกลับบ้านมาอารมณ์ดี ทั้งบ้านมีความสุขอยู่ได้แค่พักเดียว จู่ๆ พอพ่อเริ่มเงียบไป ความสุขของเด็กชายก็มลาย เขาติดตามอากัปกริยาทุกย่างก้าวของพ่ออย่างหวาดกลัว และเอาแต่คิด คิด คิดโทษว่าตัวเองอาจทำหรือพูดอะไรผิดไป ทำให้ "ผู้ชายฉุนเฉียว" คนนั้นกำลังจะกลับเข้ามาสิงร่างพ่ออีกแล้ว


ในแต่ละฉากละตอน เราจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของพ่อ แม่ และลูกในสถานการณ์ความรุนแรงที่เริ่มก่อตัว แม่ดึงลูกเข้าไปกอดปลอบ ส่งลูกเข้านอน แล้วบอกให้ปล่อยให้พ่อได้พักผ่อน ลูกเอาแต่โทษตัวเองและภาวนาให้พ่อเข้มแข็งพอที่จะไม่ปล่อย "ผู้ชายฉุนเฉียว" ออกมาอาละวาด


ทุกคนรู้ว่า "ผู้ชาย" คนนั้นกำลังจะแผลงฤทธิ์ เขาทำให้ลมหายใจ สีหน้าท่าทาง และแววตาของพ่อเปลี่ยนไป มีแต่พ่อคนเดียวที่ไม่รู้ตัวเสียที


ผู้ชายคนนั้นทำร้ายแม่ และเมื่อเขาไปแล้ว พ่อก็จมอยู่กับความรู้สึกผิด ความสิ้นหวัง และบาดแผลที่มือจากการอาละวาดขว้างปาชกต่อยข้าวของ ส่วนเด็กชายก็ไม่กล้าบอกเรื่องนี้กับใคร ราวกับปากของเขาถูกกาวติดจนแน่นแกะไม่ออก เขาได้แต่บอกเรื่องนี้กับต้นไม้และสายลมเท่านั้น


จะมีใครหยุดผู้ชายฉุนเฉียวคนนี้ได้มั้ยนะ



ใครอยากรู้ว่าเรื่องจบอย่างไร ลองฟังคุณ Gro Dahle เล่าเรื่องได้ที่นี่ค่ะ




 

[ วัยเด็กที่เจ็บปวดจากความรุนแรงในครอบครัวมีมากแค่ไหน ]

ในปี 2024 Unicef ได้รายงานสรุปข้อมูลจากการวิจัยใน 100 ประเทศ ระหว่างปี 2010-2023 ว่า เด็กเล็กอายุไม่ถึง 5 ขวบกว่า 400 ล้านคน หรือคิดเป็น 60% ของประชากรเด็กเล็กทั้งหมดในโลก ถูกกระทำรุนแรงในครอบครัว ถูกลงโทษอย่างรุนแรง ทั้งถูกทุบตี จับเขย่าตัว และทำร้ายจิตใจด้วยการด่าทอ ตะคอก หรือพูดตำหนิว่าโง่เขลา ขี้เกียจ


โดยศาลฎีกา แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว ได้ให้นิยามความรุนแรงในครอบครัวว่าหมายถึง "การกระทำใดๆ โดยมุ่งประสงค์ให้เกิดอันตรายแก่ร่างกาย จิตใจ หรือสุขภาพ หรือกระทำโดยเจตนาในลักษณะที่น่าจะก่อให้เกิดอันตรายแก่ร่างกาย จิตใจ หรือสุขภาพของบุคคลในครอบครัว หรือบังคับหรือใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรมให้บุคคลในครอบครัวต้องกระทำการ ไม่กระทำการ หรือยอมรับการกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดโดยมิชอบ แต่ไม่รวมถึงการกระทำโดยประมาท"



[ เด็กไทยท่ามกลางความรุนแรงในครอบครัว ]

สำหรับประเทศไทยนั้น จากระบบฐานข้อมูล www.violence.in.th ของเจ้าหน้าที่พม. ทั้ง 76 จังหวัด พบว่า ตลอดปี 2021 มีเหตุความรุนแรงในครอบครัวที่ได้รับการบันทึกถึง 2,114 เหตุการณ์ จากผู้กระทำ 1,978 ราย เหตุการณ์ 70.6% เกิดที่บ้าน โดยการทำร้าย 52.8% เกิดระหว่างสามีภรรยา, 29.6% เกิดจากพ่อแม่กระทำต่อลูก และ 4.5% เป็นความรุนแรงที่ปู่ย่าตายายกระทำต่อหลาน ในปีเดียวกัน รายงานของ Unicef พบด้วยว่า ครอบครัวไทยที่ยังคงใช้วิธีการรุนแรงในการสร้างระเบียบวินัยให้เด็กอายุ 1-14 ปี มีมากถึง 57.6%


ส่วนด้านระบบการรับมือของภาครัฐ ต่อเหตุความรุนแรงในครอบครัวและการสูญเสียผู้เลี้ยงดูนั้น เด็กหลายคนที่เผชิญความรุนแรงในครอบครัวถูกส่งตัวกลับบ้าน แม้เสี่ยงถูกทำร้ายซ้ำ ก่อนจะถูกแยกมาอยู่สถานรองรับระยะยาว ซึ่งยังมีปัญหาขาดแคลนเจ้าหน้าที่ และไม่เหมาะกับการส่งเสริมพัฒนาการทางสังคมและจิตใจเด็กอย่างเต็มที่ โดยรายงานของ UNICEF เมื่อปีที่แล้ว (2023) พบว่า มีเด็กไทยกว่า 1.2 แสนคนต้องเติบโตในสถานรองรับ ได้แก่ สถานสงเคราะห์ มูลนิธิ โรงเรียนประจำ และโรงเรียนสอนศาสนา และมีเด็กเพียง 5 พันกว่าคน หรือ 1 ใน 25 เท่านั้นที่ได้อยู่กับครอบครัวอุปถัมป์ ซึ่งก็ยังมีปัญหาว่าได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐไม่เพียงพอ



[ ทำไมควรมีหนังสือเด็กที่เล่าเรื่องนี้ ]

หนังสือสองเล่มนี้ เกิดจากการสังเกตเด็กๆ ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในครอบครัว โดยคุณตุ๊บปองใช้ประสบการณ์หลายสิบปีจากการทำกิจกรรมกับเด็กๆ ในสถานสงเคราะห์เป็นพื้นฐานในการเขียน

และระบุไว้ในโพสต์แนะนำหนังสือเล่มนี้ว่า "อยากให้คนอ่านทุก ๆ คนเข้าใจถึงความรู้สึกและเห็นคุณค่าของเด็ก... ชีวิตน้อย ๆ ที่ต้องพลัดพรากจากบ้าน มาอยู่กับคนแปลกหน้าอย่างโดดเดี่ยวเดียวดายในสถานสงเคราะห์...เด็ก ๆ เหล่านี้ต่างรอคอยด้วยความหวังว่า จะมีใครสักคนมารับกลับบ้าน"


ส่วนอีกเล่ม เกิดขึ้นจากนักสังคมสงเคราะห์ขององค์กรยุติการใช้ความรุนแรงในครอบครัว ได้ตั้งโจทย์ให้นักวาดและนักเขียนรังสรรค์หนังสือสำหรับใช้กับเด็ก วัยรุ่น ไปจนถึงผู้ใหญ่ที่มาบำบัด เพราะหลายครั้งการฟังและสะท้อนคิดถึงเรื่องราวในหนังสือ ช่วยให้ผู้เกี่ยวข้องกับความรุนแรง ไม่ว่าจะผู้กระทำหรือถูกกระทำ เชื่อมโยง เห็นภาพ และใคร่ครวญกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ภายในระยะห่างที่เหมาะสม และเปิดใจพูดคุย คลี่คลายความในใจได้มากขึ้น


ส่วนสาเหตุอีกอย่างที่ว่า ทำไมเราจึงควรมีหนังสือเด็กที่เล่าแง่มุมอันไม่สวยงามของวัยเยาว์บ้าง เราขอแปลคำตอบที่คุณ Gro เคยได้ให้สัมภาษณ์ไว้ เกี่ยวกับแรงบันดาลใจในการเล่ามุมมืดของวัยเด็ก ดังนี้ค่ะ


"ฉันอยากให้เรื่องราวของฉันช่วยเหลือใครสักคน ช่วยให้ครอบครัวได้เปิดใจคุยกัน ช่วยให้เด็กๆ ได้เล่าความยากลำบากที่บ้านบ้าง... เพราะไม่ใช่ว่าวัยเด็กของทุกคนจะมีแต่ความสุข ประสบการณ์วัยเด็กของใครหลายคนทั้งเศร้าและเจ็บปวด น่ากลัวและชอกช้ำ และวัยเด็กเหล่านี้ก็มีอยู่จริง เด็กๆ เหล่านั้นมีตัวตน ฉันอยากให้วัยเด็กเหล่านี้ได้รับการพูดถึงอย่างจริงจัง เห็นพวกเขา ไม่ใช่ทอดทิ้งหรือหลบสายตา... ความเจ็บปวดเป็นส่วนหนึ่งของวัยเด็ก และเป็นส่วนหนึ่งของโลกใบนี้เช่นกัน"


 

[ ช่วง คุณป่าน แนะนำตัว ]


วิริญจน์ หุตะสังกาศ (ป่าน) สอนวิชาวรรณคดีฝรั่งเศสและวรรณกรรมเยาวชนอยู่ที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง งานอดิเรกคือเก็บแมวจรมาเป็นแมวบ้าน เลยชอบหนังสือเด็กที่มีแมวเป็นตัวละครหลัก



 

บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกในเพจ Children's Books Out There ที่นี่



อ่านเรื่องเกี่ยวกับประสบการณ์ครอบครัวที่หลากหลาย ตอนอื่นๆ ได้ที่นี่ https://bsereechaiporn.wixsite.com/booksoutthere/blog-1/tags/ครอบครัวหลากหลาย

อ่านเรื่องเกี่ยวกับเด็กๆ ในสงครามและการอพยพได้ที่



อ้างอิง

------------------------------------------------


Comments


bottom of page