บทความวันนี้ เราก็ยังอยู่กับธีม หนังสือเกี่ยวกับประสบการณ์วัยเด็กที่หลากหลาย ค่ะ
เมื่อเราพูดถึงประสบการณ์ของเด็กๆ ในหนังสือนิทาน เราอาจได้เห็นว่า วัยเด็กเป็นช่วงวัยที่สวยงาม สนุกสนาน กินอิ่มนอนหลับ เต็มไปด้วยความรัก ความอบอุ่น และความสงสัยใคร่รู้ เป็นความทรงจำที่น่าระลึกถึง
แต่ในโลกความเป็นจริง วัยเด็กช่างหลากหลาย และหนังสือ/สื่อเด็กนี่แหละ ที่จะช่วยให้เด็กที่มีวัยเด็ก ค่อนข้าง "ตามขนบ" ได้เห็นและเข้าใจวัยเด็กแบบอื่นๆ ขณะเดียวกันก็ช่วยให้เด็กที่มีชีวิต ค่อนข้าง "นอกขนบ" หนังสือเด็ก ได้เห็นชีวิตของตัวเอง ได้รู้สึกว่ามีคนเข้าใจ ได้บอกเล่าถึงสิ่งที่เผชิญมา และบางครั้งก็ได้รับการเยียวยา
รีวิวคราวนี้เป็นหนังสือคอมิกจากฟิลิปปินส์ ที่เมล่อน เพื่อนนักวาดของเราได้มาจากงานเทศกาลคอมิกนานาชาติ (PICOF) ที่มะนิลา เมื่อเดืิอนกรกฎาคมที่ผ่านมาค่ะ
Doobiedoo Asks
เรื่องโดย Bambi Eloriaga-Amago
ภาพโดย Roland Amago
ผู้รีวิว: เมล่อน
เพราะคนทุกคนมีความแตกต่างหลากหลาย เราเลยดีใจเวลามีหนังสือหรือสื่อใดๆ ก็ตามที่ช่วยทำให้เข้าใจประสบการณ์ของคนอื่นได้ ยิ่งเป็นเรื่องราวของคนต่างประเทศก็ยิ่งน่าสนใจ เป็นที่มาของการรีวิวหนังสือเล่มนี้จากเทศกาลคอมิกนานาชาติฟิลิปปินส์: “Doobiedoo Asks” คอมิกกึ่งอัตชีวประวัติของคู่สามีภรรยา Bambi Eloriaga-Amago (นักเขียน) และ Roland Amago (นักวาด) พาผู้อ่านติดตามประสบการณ์ของครอบครัวที่มีลูกชายเป็นออทิสติก
คอมิก 100 กว่าหน้าเล่มนี้สามารถเป็นคู่มือสำหรับทั้งเด็กและผู้ใหญ่สำหรับการเริ่มต้นเรียนรู้เกี่ยวกับบุคคลออทิสติกได้ดีทีเดียว เข้าใจง่ายแม้จะมีหลายช่วงที่อธิบายเรื่องทางการแพทย์ ตอนจบยังมีลิสต์หนังสือและองค์กรในฟิลิปปินส์เกี่ยวกับออทิสซึมไว้ให้ค้นต่อด้วย
เราจะได้เห็นเหตุการณ์สำคัญในชีวิตของเจ้าหนูตั้งแต่ลืมตาดูโลกไปถึงตอนจบประถมต้น เรื่องเล่าด้วยคำพูดเป็นกันเองเหมือนกับได้ฟังคุณแม่เปิดอกคุยถึงความรัก ความหวัง ความกลัว ความลำบาก และสารพัดสิ่งที่ได้เจอในการเลี้ยงลูก ส่วนคุณพ่อก็วาดมันออกมาอย่างจริงใจไม่ว่าจะเป็นช่วงตลกเฮฮาหรือช่วงสะเทือนอารมณ์ก็ทำให้คนอ่านอินไปกับพวกเขาด้วย
สำหรับภาพประกอบเองก็น่าสนใจ เพราะสิ่งที่เราเห็นโดยรวมของนักวาดฟิลิปปินส์คือเป็นประเทศที่งานสไตล์หลากหลายมากๆ ภาพของเล่มนี้เห็นทั้งอิทธิพลที่ผสมกันอย่างมีการใช้เส้นสปีด, การแสดงอารมณ์ของตัวละครแบบมังงะ และการวางช่องคำพูดแบบคอมิกตะวันตก มีการใช้ภาพแนวเหนือจริงแสดงความรู้สึกนามธรรมของตัวละคร ทำให้คนอ่านเข้าใจประสบการณ์ที่เป็นส่วนตัวของพวกเขาได้มากยิ่งขึ้น
ตอนนี้หนังสือไม่มีในไทยและยังไม่มีเป็น e-book แต่มีรายละเอียดที่น่าสนใจหลายอย่าง เราเลยอยากเขียนสรุปเรื่องเอาไว้เพราะอาจจะเป็นประโยชน์กับใครหลายคน
นี่คือเรื่องราวของ “ดูบี้” เด็กชายที่*ค่อนข้าง*ธรรมดา ออกจะขี้อาย ช่างสงสัย ชอบมุกเล่นคำและการ์ตูนฮีโร่ เขาอาจจะทำอะไรไม่เหมือนเด็กคนอื่น แต่เขาก็เป็นที่รักไม่น้อยกว่าใคร
เด็กน้อยเริ่มต้นชีวิตวัยเบบี๋ท่ามกลางความใส่ใจเต็มเปี่ยมของคุณพ่อคุณแม่ ทั้งสองคนสามารถทำงานที่บ้านได้จึงผลัดเวรกันดูแลเขาอย่างใกล้ชิด เด็กคนนี้เรียบร้อยและระหว่างที่โตขึ้นก็ดูไม่มีปัญหาอะไร แต่พ่อแม่เริ่มสังเกตเห็นสัญญาณจากพฤติกรรมที่ค่อนข้างแปลก อย่างเช่น
- เวลาอยากได้อะไรก็จะไม่พูด แต่ใช้วิธีแตะมือไปที่สิ่งนั้น
- เลือกกินขนมจากรูปทรง
- ตื่นตกใจกับเสียงดังอย่างเสียงเครื่องดูดฝุ่น
- จัดเรียงของเล่นในตำแหน่งแบบเป๊ะๆ
“เขาอาจจะสับสนเรื่องภาษาก็ได้” — หมอเด็กให้เหตุผลว่าทำไมดูบี้ถึงพูดน้อยกว่าเด็ก 3 ขวบคนอื่นๆ และแนะนำให้พ่อแม่พูดแต่ภาษาอังกฤษกับลูกไปก่อน (ปกติมักพูดทั้งภาษาฟิลิปปินส์และอังกฤษสลับกัน)
“ฉันคิดว่าเขาเป็นเด็กมีพรสวรรค์” — คุณครูกล่าว เพราะแม้เขาจะชอบเล่นคนเดียวหรือดูเหมือนไม่ใส่ใจเรียน แต่เวลาถามอะไรก็ตอบได้ถูกหมดเลย
“พวกคุณจะมีปัญหากับเด็กดื้อคนนี้แน่!” — ผู้ทดสอบของโรงเรียนสำหรับเด็กมีพรสวรรค์กล่าว เธอไม่สามารถสื่อสารกับดูบี้เพื่อให้เขาร่วมมือทำการทดสอบจนครบทุกอย่างได้
“เด็กคนนี้มี ADHD (สมาธิสั้น) เขาต้องไปหาหมอด้านพัฒนาการเด็กและรับการบำบัด” — ผู้ทดสอบอีกแห่งบอก
“เขาไม่ได้มี ADHD หรอก แค่เบื่อกับโรงเรียนเท่านั้นเพราะสติปัญญาของเขามากกว่าเด็ก 4 ขวบคนอื่น” — หมอพัฒนาการเด็กบอกหลังจากทำการทดสอบมากมายและแนะนำให้ไปหานักจิตวิทยาเพื่อประเมินความฉลาดอีกที
เป็นเวลา 4 ปีที่พ่อแม่ไปหาผู้เชี่ยวชาญคนแล้วคนเล่า ความยากลำบากและความงุนงงแสดงออกมาด้วยภาพของประตูหลายบานบนกระไดเวียนที่เหมือนจะต่อขึ้นไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด จนเมื่อดูบี้อายุ 8 ขวบ นักจิตวิทยาด้านพัฒนาการก็นำชิ้นส่วนเกี่ยวกับดูบี้ในทุกๆด้านมาเชื่อมต่อกันจนสรุปได้ว่า
“เขามีภาวะออทิสติก”
หัวใจของคุณแม่พังทลาย เธอกลัวว่าลูกจะต้องมีชีวิตที่ลำบาก เพื่อนๆและญาติจะปฎิบัติกับเขาดีไหม จะโดนแกล้งหรือเปล่า และกังวลว่าใครจะดูแลเขาถ้าหากพ่อแม่ไม่อยู่
เมื่อพูดถึงออทิสซึม สิ่งแรกที่คนชอบดูหนังอย่างคุณแม่นึกถึงก็คือตัวเอกจากเรื่อง Rain Man แต่เขาก็ไม่เหมือนดูบี้นี่นา… พอได้ฟังหมออธิบายว่าออทิสติกเป็นแบบสเปกตรัมที่ทุกคนมีลักษณะอาการแตกต่างกันไป จึงเข้าใจแล้วว่าภาพจากสื่ออาจทำให้ stereotype ของบุคคลออทิสติกเป็นที่จดจำ (เช่นแสดงบุคลิกเหมือนเด็ก, ต้องมีความสามารถพิเศษโดดเด่น) ซึ่งมันไม่ได้เป็นตัวแทนของออทิสซึมสเปกตรัมทั้งหมด
『Autism Spectrum Disorder (ASD) — กลุ่มอาการออทิสซึมเป็นภาวะพัฒนาการทางระบบประสาท มีลักษณะเด่นคือความบกพร่องด้านปฏิสัมพันธ์ทางสังคมและการสื่อสาร และมีพฤติกรรมทำกิจกรรมบางอย่างซ้ำๆ 』
หมอวินิจฉัยว่าดูบี้มีอาการน้อยถึงปานกลาง และอยู่ด้าน high-functioning ของสเปกตรัม หรือที่เรียกว่ากลุ่มอาการแอสเปอร์เกอร์ เขามีสติปัญญาดี (ชอบใช้คำพูดแบบผู้ใหญ่ด้วย) แต่เนื่องจากไม่สามารถอ่านสัญญาณทางสังคมบวกกับเขาบกพร่องด้านความเข้าใจในการแสดงอารมณ์ของตัวเองและผู้อื่นจึงทำให้การเข้าสังคมเป็นเรื่องยาก หมอแนะนำให้ทำกิจกรรมบำบัด (occupational therapy) เพื่อเรียนรู้การมีปฏิสัมพันธ์ที่ดี
เมื่อถึงเวลาเข้าโรงเรียน คุณพ่อคุณแม่เลือกโรงเรียนที่ดูมีแนวคิดเปิดกว้างและรับเด็กพิเศษด้วย เด็กขี้อายและไม่ชอบอยู่ในที่คนเยอะเสียงดังอย่างดูบี้มีเพื่อนสนิทอยู่คนสองคน เพื่อนๆชอบที่เขาสร้างเสียงหัวเราะ แต่ทุกอย่างก็ไม่ได้ราบรื่น… บางครั้งก็เกิดเรื่องอย่างการระเบิดอารมณ์ออกมาในห้องเรียน มันหนักขึ้นเมื่อเขาอยู่ป.3 ซึ่งครูต้องเรียกผู้ปกครองไปพบแทบทุกวันเพราะดูบี้ “เกเร”
ปกติแล้วเด็กชายเป็นคนชอบถามคำถามตลกๆ แต่ตอนนี้สิ่งที่เขาถามกลับเป็น… “ทำไมผมถึงโมโหอยู่ตลอด? ผมมีอะไรผิดปกติหรอ? ผมป่วยรึเปล่า?”
นักจิตวิทยาของดูบี้แนะนำให้ไม่ต้องโฟกัสเวลาที่เขามีอารมณ์รุนแรง แต่ให้ดูตอนที่เขาเป็นปกติและหาสาเหตุเพื่อป้องกันการระเบิดอารมณ์ ทว่าครูประจำชั้นของดูบี้ใช้การแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ คือการดุและทำโทษหลังจากเขาออกอาการ
ที่ครูบอกว่าดูบี้ไม่ให้ความร่วมมือ จริงๆ แล้วเป็นเพราะบรรยากาศของกิจกรรมที่อาจจะคนเยอะเกินไป, เสียงดังเกินไป ทำให้เด็กชายที่ประสาทสัมผัสไวต่อสิ่งเหล่านี้รับมือไม่ได้เลยวิ่งออกจากห้องนั่นเอง การแก้ปลายเหตุโดยการบอกว่า ถ้าไม่กลับเข้าเรียนจะโดนทำโทษ ก็ไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้น หรือในตอนที่ดูบี้ถูกมองว่าเอาแต่หงุดหงิดโวยวาย เพราะคนอื่นไม่เข้าใจว่าเขาอยากแสดงอารมณ์และความต้องการแต่ไม่รู้จะทำอย่างไร
เมื่อครูประจำชั้นไม่สามารถทำให้ดูบี้เป็นเหมือนเด็กคนอื่นได้ ก็เริ่มมองว่าเขาเป็นตัวถ่วงของห้อง เธอเลือกที่จะแยกเขาออกจากเด็กคนอื่นๆ และเฉยชาต่อเขา ดูบี้เป็นเหมือนกับคนที่ล้มลงแต่ไม่มีใครสนใจ…
เหตุการณ์ที่โรงเรียนทั้งหมดนั้น ผู้ปกครองได้แต่ฟังความข้างเดียวจากครูประจำชั้นว่าลูกชายทำตัวไม่ดีอย่างไรบ้าง พวกเขาจึงรู้สึกอับอายและโทษตัวเองว่าเป็นพ่อแม่ที่ล้มเหลว เพราะแม้กระทั่งครูก็ไม่สามารถทำให้ลูกอยู่กับร่องกับรอยได้
มาถึงตรงนี้สะเทือนใจมากๆ แต่เราชอบที่เขาเล่าช่วงที่พ่อแม่รู้สึกเปราะบางแบบนี้ด้วย พวกเขารักและสนับสนุนลูกแต่ก็มีจุดที่จิตใจไม่ไหวแล้วเหมือนกัน เมื่อลูกมีปัญหาหลายครั้งและไม่ว่าจะใช้วิธีสร้างวินัยหรือลงโทษอะไรก็ไม่ได้ผล ด้วยความเครียดและหงุดหงิด เมื่อเขาทำให้ผิดหวังคุณแม่เลยเอาอารมณ์ไปลงกับลูกด้วยการขึ้นเสียงและคำพูดต่อว่าจนทำให้เด็กชายร้องไห้โฮ
จนในที่สุดความจริงก็ปรากฏขึ้นเมื่อที่โรงเรียนมีปาร์ตี้วันเกิดเพื่อน ครูประจำชั้นส่งการ์ดเชิญให้กับนักเรียนทุกคน…ยกเว้นดูบี้ เด็กชายเสียใจมากที่ไม่ได้เตรียมขนมมาให้เพื่อนก็เลยร้องไห้วิ่งออกจากห้องเรียน
พอเรื่องถึงหูคุณแม่ เธอจึงไปฟ้องครูใหญ่ถึงการเลือกปฏิบัติและความไม่ใส่ใจเด็กนักเรียนของครูประจำชั้น
คุณแม่กระโดดข้ามกำแพงแห่งความไม่เข้าใจไปหาลูก
จากนั้นมาครูใหญ่เลยอาสามาดูแลดูบี้แทน แล้วชีวิตในโรงเรียนของเด็กชายก็ดีขึ้นเมื่อมีครูที่เข้าใจภาวะของเขาช่วยเหลือ อย่างเช่นเขาชอบความสงบก็จัดมุมในห้องเงียบๆให้ทำงาน, ดูบี้มีวินัยมากเมื่อทำตามตารางเวลาของตัวเอง เมื่อปล่อยให้เขาเรียนเองแล้วก็จะทำงานเสร็จก่อนเวลาเสียอีก
เพื่อนๆ เองก็มีส่วนช่วย แม้ครูคนก่อนจะพยายามกีดกันคนอื่นออกจากดูบี้แต่โดยธรรมชาติแล้วเด็กๆ ไม่มีการเลือกปฏิบัติ หลายคนเข้าหาดูบี้และดึงเขาไปทำสิ่งต่างๆ ด้วยกัน ความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มแบบนี้ก็คือสิ่งที่เขาต้องการเช่นเดียวกับเด็กคนอื่นๆ
ชุมชนที่เข้าใจและพร้อมช่วยเหลือสำคัญมากๆในการอุ้มชูเด็กออทิสติกคนนึงให้มีชีวิตที่ดี ครอบครัว, เพื่อน, ครู, หมอ และนักบำบัด ร่วมมือกันเติมสีสันให้กับดูบี้ และแล้วความบกพร่องและแตกสลายก็สามารถกลายเป็นความหวังและความสุข
เพื่อเป็นการแก้ไขความผิดพลาด ครูใหญ่ให้ครูคนอื่นๆเข้าคลาส“เด็กออทิสติกในห้องเรียน” ส่วนพ่อแม่ก็ตั้งใจที่จะสังเกตลูกให้มากกว่านี้ว่าลูกโอเคไหมแทนที่จะเชื่อคำพูดของคนคนเดียว พวกเขาเข้ากลุ่มเกี่ยวกับออทิสซึมเพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งที่ลูกเป็นให้มากขึ้นอีก แล้วพวกเขาก็พบวิธีช่วยให้ดูบี้ทำสิ่งต่างๆได้ดีขึ้น นั่นก็คือการใช้แรงเชียร์และคำชมแทนที่จะเป็นการทำโทษ
“เชื่อในสิ่งที่ดูบี้สามารถทำได้” — คุณแม่พยายามไม่เข้าไปช่วยเพื่อให้เขาได้ลองทำสิ่งใหม่ด้วยตัวเอง
(เราสังเกตว่านัยน์ตาของตัวละครในเรื่องนี้เป็นทรงกลมยกเว้นดูบี้ที่จะเป็นทรงเหลี่ยมตลอด อาจจะหมายถึงเขารับรู้และมองโลกต่างออกไปหรือเปล่านะ?)
แล้วเราก็มาถึงตอนจบแบบอบอุ่นหัวใจ เรื่องทั้งหมดสัมผัสได้ถึงความมุ่งมั่นของผู้เขียนจริงๆ เพราะการเล่าเรื่องที่ได้แรงบันดาลใจจากชีวิตส่วนตัวแบบนี้ต้องใช้ความกล้ามากๆ ถ้ามีจุดที่อยากให้เพิ่มเติมก็คงจะเป็นตอนผู้ใหญ่พูดคุยกับเด็กเรื่องออทิสซึม ในเรื่องมีช่องนึงดูบี้ถามคุณแม่ว่าเขาเป็นอะไร แต่น่าเสียดายว่าเรื่องต่อจากนั้นตัดไปฉากอื่นซะก่อน เลยอยากรู้เพิ่มเติมจากประสบการณ์ของพวกเขาว่าจะมีวิธีพูดคุยให้เด็กๆ เข้าใจอย่างไรในครอบครัว และถ้ามีในเรื่องการสอนที่โรงเรียนด้วยก็จะเป็นประโยชน์มากเลย
หวังว่าเรื่องของดูบี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเปิดมุมมองให้ผู้อ่านอยากเรียนรู้เกี่ยวกับคนที่แตกต่างจากตัวเองต่อไป และเพื่อให้ครอบครัวบุคคลออทิสติกรู้ว่า พวกเขาไม่ได้เผชิญความท้าทายนี้อยู่คนเดียว
สามารถติดตามนักเขียนนักวาดได้ที่ Comics by Amagination ทาง facebook, instagram (ผลงานอื่นๆของทีมนี้มีเรื่องแนวสยองขวัญเกี่ยวกับตำนานและผีฟิลิปปินส์ด้วยล่ะ)
สำหรับตาลที่ก็อ่านเล่มนี้มาแล้วเช่นกัน เรื่องของดูบี้เปิดโลกให้เรามากๆ เลยค่ะ และก็รู้สึกขอบตาร้อนๆ ในหลายฉากหลายตอน เพราะคุณพ่อคุณแม่เขียนและวาดเรื่องนี้ออกมาได้อย่างจริงใจ และกล้าหาญมากๆ ที่เปิดเผยความรู้สึกนึกคิดของตัวเองออกมา
เรารู้สึกเลยว่า มันคงไม่ง่ายจริงๆ สำหรับคนเป็นพ่อเป็นแม่ ที่จะต้องเห็นลูกลำบาก และยิ่งกว่านั้นคือถูกเลือกปฏิบัติจากสังคมรอบข้าง ซ้ำยังยิ่งเจ็บช้ำเมื่อรู้ว่า ตัวเองก็อาจจะไม่ได้เข้าใจลูกดีพอ
การมีหนังสือที่ตีแผ่ประสบการณ์ของผู้พิการและครอบครัวของพวกเขา จึงน่าจะมีประโยชน์มากในฐานะสื่อกลางสร้างความเข้าใจให้คนอื่นๆ ในสังคมที่ไม่ได้มีประสบการณ์แบบเดียวกัน และสร้างความหวังให้กับคนที่อาจจะกำลังตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน แต่ยังหาทางออกไม่ได้ด้วย
♿️ [ ความพิการในหนังสือเด็ก ]
หลายปีที่ผ่านมา ตาลเห็นมีหนังสือเด็กหลายเล่มมากๆ (ในต่างประเทศ) ที่พูดถึงภาวะความพิการ ไม่ว่าจะเป็นภาวะออทิสซึม ไปจนถึงความพิการที่ต้องใช้อุปกรณ์ช่วยเหลืออย่างเช่น ขาเทียม แขนเทียม รถเข็น ประสาทหูเทียม (cochlear implant) หรือกระทั่ง แว่นตา
แต่หัวข้อนี้ก็ยังถือว่าเป็นส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับหนังสือหัวข้ออื่นๆ ทั้งในต่างประเทศ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในไทยเอง ทำให้โดยรวมแล้วยังมีการเสนอมุมมองและเส้นเรื่องเกี่ยวกับคนพิการที่จำกัด และเสี่ยงทำให้เกิดความเข้าใจผิด การเหมารวม และเห็นคนพิการเป็นกลุ่มก้อนเดียวกันมากกว่าจะเป็นปัจเจกชน ที่มีประสบการณ์ บุคลิก นิสัย และความต้องการแตกต่างกัน
ตัวอย่างเช่น
การนำเสนอว่า คนพิการน่าสงสาร ทำอะไรได้ไม่เท่าคนที่ไม่มีความพิการ (หรือไม่มีความพิการที่เห็นเด่นชัด)
หรือ คนพิการต้องพิสูจน์ตัวเองว่าทำประโยชน์ให้คนรอบข้างได้ จึงจะได้รับการยอมรับ
หรือ คนพิการเป็นบุคคลพิเศษอย่างมาก (เส้นเรื่องแบบนี้เรียกว่า supercrip) ทำอะไรแบบที่คนทั่วไปทำไม่ได้ จนแทบจะเรียกได้ว่าเป็นยอดมนุษย์
วิธีเล่าเรื่องแบบนี้มักถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า อาจเป็นการตั้งเงื่อนไขหรือสร้างความกดดันให้เด็กที่มีความพิการต้องทำหรือเป็นอะไรให้มากไปกว่าเป็นคนทั่วๆ ไป เพื่อให้ได้รับการยอมรับ ทั้งที่จริงๆ แล้ว อาจจะดีกว่าถ้าสังคมตั้งเป้าหมายว่า จะทำความเข้าใจความแตกต่างร่วมกัน และช่วยเหลือคนที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ โดยไม่ตั้งเงื่อนไขที่กดทับคนเหล่านั้นให้ใช้ชีวิตลำบากยิ่งไปกว่าเดิม
นอกจากการผลิตหนังสือเกี่ยวกับความพิการที่เขียนโดยทั้งคนไม่พิการและคนพิการเองแล้ว ก็ยังมีวิธีอื่นๆ ที่ช่วยให้ผู้พิการได้มีส่วนร่วมในโลกแห่งการอ่านอีก เช่น การทำออดิโอบุ๊กและหนังสืออักษรเบรลล์ สำหรับผู้มีความพิการทางสายตา ไปจนถึงทำหนังสือแท็กไทล์ (หนังสือที่ประกอบด้วยวัสดุที่มีสัมผัสหลายแบบ) ซึ่งสร้างเสริมพัฒนาการของเด็กที่มีความพิการทางสายตาหรือทางสมอง
♿️ [ ความพิการคืออะไรกันแน่ ]
องค์การอนามัยโลกนิยามว่า ความพิการอาจเป็นภาวะถาวร หรือ ชั่วคราวก็ได้ (เช่น เท้าพลิกเพราะฝาท่อกทม. แล้วเดี้ยงไปสองสัปดาห์) ที่ทำให้เกิดข้อจำกัดต่างๆ ในการใช้ชีวิตประจำวันและมีส่วนร่วมทางสังคม
ดังนั้น สภาพสังคมที่แตกต่างกัน จึงทำให้คนมองสิ่งที่เป็นความพิการไม่เหมือนกันก็ได้ เช่น ถ้าในสังคมนั้นมีการออกแบบสาธารณูปโภคและมีเทคโนโลยีที่ช่วยให้ทุกคนใช้งานได้สะดวกแม้จะมีร่างกายต่างกัน รวมไปถึงผู้คนในสังคมมีทัศนคติที่เปิดกว้าง และส่งเสริมให้ผู้พิการมีส่วนร่วมทางสังคมทัดเทียมกับคนอื่นๆ สิ่งที่เคยเรียกว่า เป็น "ความพิการ" ก็อาจไม่ใช่ความพิการอีกต่อไปก็ได้
[ ทำไมเราต้องมีหนังสือเกี่ยวกับความพิการ ]
ความพิการอาจดูเหมือนห่างไกลชีวิตคนส่วนใหญ่ แต่รู้หรือไม่ว่า งานวิจัยชิ้นใหญ่สุดขององค์การอนามัยโลก เมื่อปี 2011 รายงานว่า ในทุกๆ ขณะ โลกของเราจะมีประชากรถึงราวๆ 15% ที่มีภาวะพิการ และเด็กถึง 95 ล้านคนทั่วโลกจะมีความพิการอย่างใดอย่างหนึ่ง
สำหรับในไทยนั้น รายงานของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เมื่อปี 2020 ระบุว่า ประเทศไทยมี คนที่ "มีบัตรผู้พิการ" ถึง 2,058,082 คน (หรือ 3.09% ของจำนวนประชากร) โดยในจำนวนนี้ เป็นเยาวชนวัย 0-21 ปี ถึง 153,517 คน ขณะที่กระทรวงศึกษาปีเดียวกัน รายงานว่า มีเด็กที่ "ถือว่ามีความพิการ 1 ใน 9 ประเภท" เรียนอยู่ใน "โรงเรียนทั่วไป" ถึงราวๆ 400,000 คน
งานวิจัยหลายชิ้นยังระบุด้วยว่า เด็กที่มีภาวะพิการ มีความเสี่ยงถูกรังแกในโรงเรียน มากกว่าเพื่อนร่วมชั้นที่ไม่มีความพิการเด่นชัด สอดคล้องกับงานวิจัยสองชิ้นในไทยเมื่อปี 2019 ที่ระบุว่า เด็กพิการในโรงเรียนไทยมักเป็นเป้าหมายของการรังแก และอคติจากผู้บริหารโรงเรียน ครู และผู้ปกครองที่มองพวกเขาว่าเป็นตัวถ่วงประสิทธิภาพการเรียนของเด็กคนอื่นๆ ในห้อง
ในฐานะที่หนังสือและสื่อเด็ก มีหน้าที่และพลังที่จะสื่อสารเรื่องชีวิตที่หลากหลายของคนในสังคม เพื่อสร้างความตระหนักรู้ ความเข้าใจกัน และการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน จึงสำคัญมากที่ไทยเราจะต้องพูดถึงและส่งเสริมให้ผู้พิการได้เล่าเรื่องของตัวเองมากยิ่งขึ้น
สำหรับตาลเอง ตอนเด็กๆ ก็มีเพื่อนร่วมรุ่นที่มีภาวะออทิสติกเหมือนกันค่ะ และก็เคยได้เห็นเพื่อนถูกรังแกในหลายๆ ครั้ง แม้จะรู้สึกว่ามันไม่ยุติธรรม แต่ก็ไม่รู้ว่าจะหยุดการกระทำพวกนั้นยังไง เมื่อมองย้อนกลับไป เราคิดว่า การให้เด็กที่มีความหลากหลายได้เรียนร่วมกันเป็นเรื่องที่ดีนะคะ และก็เป็นโอกาสที่ดีมากที่จะสอนให้เด็กยอมรับความหลากหลายได้
แต่น่าเสียดายที่ตอนนั้น ผู้ใหญ่ไม่ได้ทำให้เราเข้าใจเพื่อนมากเท่าที่ควร (ซึ่งก็อาจเป็นเพราะผู้ใหญ่เองก็ยังไม่เข้าใจเหมือนกัน เลยไม่รู้ว่าจะอธิบายยังไงดี) อีกทั้ง บางครั้งการรับมือของผู้ใหญ่เวลาเด็กๆ รังแกกันก็ยิ่งทำให้เพื่อนดูแปลกแยกและโดนรังแกมากเข้าไปอีก เช่น การบอกเด็กคนอื่นๆ ว่า "เพื่อนป่วย" จึงได้รับการยกเว้นโทษเวลาทำตัวไม่ดี หรือ ขู่เด็กที่รังแกเพื่อนว่า ทำแบบนี้กรรมจะตามสนองให้เธอมีลูกเป็นแบบเขาบ้าง
แล้วเพื่อนๆ ล่ะคะ อยากให้บ้านเรามีหนังสือ/สื่อเด็กที่พูดถึงความพิการด้านไหนบ้าง มีเรื่องอะไรที่อยากแนะนำให้ทุกคนได้รู้จัก หรือมีความคิดเห็นอย่างไรบ้าง เกี่ยวกับการสื่อสารเรื่องความพิการ ที่เคยเจอมา
เขียนเข้ามาแลกเปลี่ยนกันได้นะคะ
[ช่วง เมล่อน แนะนำตัว]
เมล่อน หรือนามปากกา Tangmaelon เป็นนักวาดแนวแฟนตาซีที่พยายามเข้าใจโลกและตัวเองผ่านการวาดการ์ตูน ชอบเรื่องจิตวิทยาและการศึกษาเลยทำให้มาสนใจหนังสือเด็ก มีความสุขกับการติ่งแฟนด้อมมากมายและการได้เรียนรู้สิ่งใหม่ในทุกๆวัน
บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกในเพจ Children's Books Out There ที่นี่
[ อ่านเพิ่มเติม ]
ตอนที่ตาลเรียนป. โท ตาลและเพื่อนทำคอลเล็กชันหนังสือและสื่อเด็กเกี่ยวกับความพิการ ส่งเป็นการบ้านด้วย ใครที่สนใจดูว่า รอบโลกมีหนังสือธีมความพิการอะไรที่น่าสนใจ เข้าไปดูกันได้ที่ลิงก์นี้นะคะ https://bsereechaiporn.wixsite.com/booksoutthere/post/children-s-media-curation-project-clmc-diversedisability
อ่านเรื่องเกี่ยวกับประสบการณ์ครอบครัวที่หลากหลาย ตอนอื่นๆ ได้ที่นี่ https://bsereechaiporn.wixsite.com/booksoutthere/blog-1/tags/ครอบครัวหลากหลาย
อ่านเรื่องเกี่ยวกับเด็กๆ ในสงครามและการอพยพได้ที่
อ่านเรื่องราวของเด็กๆ กับความรุนแรงในครอบครัวได้ที่
[ อ้างอิง ]
สัมภาษณ์ผู้เขียน: https://lifestyle.inquirer.net/380809/a-super-book-about-the-spectrum/
Ministry of Education of Thailand (2020) Reports of Numbers of Students with Disabilities in Inclusive Schools Based to Localities and Types of Disabilities on 20th July 2020 (รายงานจำนวนข้อมูลนักเรียนพิการเรียนรวม แยกเขตพื้นที่ ประเภทความพิการ ข้อมูล 20 ก.ค.63) [Online] Available from: http://specialbasic.specialset.bopp.go.th/specialbasic/download/studentall_deform_2563_1.pdf (Last accessed: 20 November 2020)
Butchon, R., et al. (2019) ‘Situation, Personal and Household Characteristics Associated with Disability in Children’. Journal of Health Systems Research 13 (1): 106-115 [Online] Available from: https://kb.hsri.or.th/dspace/bitstream/handle/11228/5039/hsri-journal-v13n1-p106-115.pdf?sequence=1&isAllowed=y (Last accessed: 20 November 2020)
Saengsawang, T. et al (2019) การติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษาเรียนรวมสำหรับเด็กพิการและเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ. Bangkok: Bureau of Basic Education Monitoring and Evaluation of the Office of the Education Council. [Online] Available from: https://fliphtml5.com/wbpvz/fkjf/basic (Last accessed: 20 November 2020)
Comments