top of page
  • รูปภาพนักเขียนTarn

หนังสือภาพแคนาดา: เอาชีวิตรอดจากพืดน้ำแข็ง

อัปเดตเมื่อ 28 ก.ย. 2565

ถ้าคุณต้องติดอยู่ท่ามกลางพืดน้ำแข็งขั้วโลกอันกว้างใหญ่ไม่มีที่สิ้นสุด

คุณจะเอาตัวรอดกลับมาได้อย่างไร?

คอมิกแนวเอาชีวิตรอดของชาวอินูอิตอาจช่วยคุณได้


ปีที่ผ่านมา (2021) แคนาดาซึ่งเป็น Guest of Honor ในงานเทศกาล Frankfurt Book Fair ได้จัดแสดงหนังสือในธีม Singular plurality เพื่อโปรโมตวิถีชีวิตที่หลากหลายในประเทศพหุวัฒนธรรม ตามนโยบาย Cultural Mosaic หนังสือเด็กที่มาออกร้านก็โดดเด่นแปลกตามากค่ะ เพราะนำเสนอเรื่องราวและภาษาของชนเผ่าพื้นเมือง อย่าง ชาวอินูอิต และ ชาวครี ซึ่งไม่ได้หาอ่านได้ง่าย ๆ
การเป็น Guest of Honor ของงานเทศกาลหนังสือนั้นหมายความว่า ประเทศรับเชิญจะได้มีฮอลเป็นของตัวเอง เพื่อใช้จัดนิทรรศการ เสวนา และโปรโมตวรรณกรรมของตัวเองอย่างอิสระ
ในบรรดาหนังสือภาพละลานตาของแคนาดา เราได้เลือกเล่มเด่น ๆ มา 5 เล่มที่มาพร้อมเนื้อหาและการนำเสนอวัฒนธรรมพื้นถิ่นที่น่าสนใจ ว่าแล้วก็มาเริ่มกันเลยค่ะ

สำหรับหนังสือแคนาดาในวันนี้ เป็นคอมิกสั้น ๆ ชื่อ How I Survived Four Nights on The Ice แนว "เอาชีวิตรอด" เล่าถึงประสบการณ์จริงของผู้เขียน Serapio Ittusardjuat ชาวประมงอินูอิตที่เกือบตายกลางพืดน้ำแข็ง แต่เอาตัวรอดกลับมาได้ด้วยไหวพริบและภูมิปัญญาท้องถิ่น น่าตื่นเต้นจริง ๆ นะ!


ข้อมูลหนังสือ

How I Survived Four Nights on The Ice

เขียนโดย: Serapio Ittusardjuat

วาดโดย: Matthew K. Hoddy

ตีพิมพ์โดย: Inhabit Education Books

ปี: 2020


เรื่องย่อ

Serapio เป็นชาวประมงชาวอินูอิตผู้ช่ำชอง วันหนึ่งเขามีเหตุต้องขับรถเลื่อนหิมะจากบ้านไปยังแหล่งตกปลาไกลออกไปกิโล เพื่อเอาอุปกรณ์ที่ลูกชายลืมทิ้งไว้กลับบ้าน


หนทางยาวไกล จากบ้านไปยังแหล่งตกปลา


ทว่า ระหว่างทางกลับ Serapio ต้องพบกับสภาพอากาศเลวร้าย และน้ำแข็งผิวหยาบที่ก่อตัวห่างออกไปจากชายฝั่งทะเลน้ำแข็ง น้ำแข็งเหล่านั้นทำให้เลื่อนหิมะของเขาแล่นไม่ได้และสุดท้ายก็เดี้ยงสนิท Serapio จึงต้องงัดทุกวิถีทางเอาชีวิตรอดท่ามกลางหิมะที่เขาเรียนรู้จากการใช้ชีวิตในอิกลูกับครอบครัวมาใช้ เช่น นอนในเลื่อนหิมะเพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายเปียกชื้น และรักษาอุณหภูมิให้ไม่หนาวเกินไป รวมทั้งกลวิธีก่อกองไฟบนน้ำแข็ง เพื่อให้มีน้ำดื่มประทังชีวิต


ความซวยมาเยือน เมื่อเจ้าสโนว์โมบิลคู่ใจดับกลางคัน...


หนังสือเล่มนี้มีเนื้อหาที่อ่านง่ายเหมาะกับเด็กที่ยังอ่านไม่คล่อง หรือยังไม่ใช่นักอ่านตัวยง ภาพประกอบน่าสนใจ โดยเฉพาะพวกเครื่องไม้เครื่องมือท้องถิ่นที่คนนอกวัฒนธรรมอินูอิตอาจไม่เคยเห็นมาก่อน ทั้งยังให้ความรู้เรื่องวัฒนธรรม ภูมิศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ผ่านการเอาชีวิตรอดของผู้เขียน


วิธีก่อกองไฟเล็ก ๆ บนก้อนน้ำแข็ง เพื่อละลายน้ำแข็งและสร้างแหล่งน้ำดื่มในภาวะคับขัน



ถึงแม้ว่า หนังสือเล่มนี้ได้รับคำวิจารณ์ว่า สั้นกระชับเกินไป ขาดการใช้วาทะศิลป์ที่ดึงดูดให้ผู้อ่านรู้สึกอินไปกับตัวละคร ซึ่งเป็นสุนทรียะสำคัญของหนังสือแนว "เอาชีวิตรอด" แต่การที่หนังสือเด็กเล่มนี้เขียนจากการเอาชีวิตรอดจริง ๆ ของชาวบ้านย่านอาร์กติก ก็ยังถือว่าเป็นเรื่องน่าสนใจ และเป็นหน้าต่างบานสำคัญอีกหนึ่งบาน สู่วิถีชีวิตและภูมิปัญญาของชาวอินูอิตค่ะ



แล้วไทยล่ะ มีเรื่องราวเอาชีวิตรอดอะไรที่น่านำมาเล่าให้เด็ก ๆ ฟังบ้างไหมคะ



*บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรก ที่นี่



ดู 0 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page