แคนาดาเป็นประเทศที่จริงจังกับการส่งเสริมให้เด็ก ๆ ในชาติภูมิใจกับรากเหง้าของตัวเอง
แล้วอะไรจะบ่งบอกอัตลักษณ์ของเราได้ดีไปกว่า "เรื่องเล่าเกี่ยวกับภูติผีปีศาจ" อีกล่ะ?
ปีที่ผ่านมา (2021) แคนาดาซึ่งเป็น Guest of Honor ในงานเทศกาล Frankfurt Book Fair ได้จัดแสดงหนังสือในธีม Singular plurality เพื่อโปรโมตวิถีชีวิตที่หลากหลายในประเทศพหุวัฒนธรรม ตามนโยบาย Cultural Mosaic หนังสือเด็กที่มาออกร้านก็โดดเด่นแปลกตามากค่ะ เพราะนำเสนอเรื่องราวและภาษาของชนเผ่าพื้นเมือง อย่าง ชาวอินูอิต และ ชาวครี ซึ่งไม่ได้หาอ่านได้ง่าย ๆ
การเป็น Guest of Honor ของงานเทศกาลหนังสือนั้นหมายความว่า ประเทศรับเชิญจะได้มีฮอลเป็นของตัวเอง เพื่อใช้จัดนิทรรศการ เสวนา และโปรโมตวรรณกรรมของตัวเองอย่างอิสระ
ในบรรดาหนังสือภาพละลานตาของแคนาดา เราได้เลือกเล่มเด่น ๆ มา 5 เล่มที่มาพร้อมเนื้อหาและการนำเสนอวัฒนธรรมพื้นถิ่นที่น่าสนใจ ว่าแล้วก็มาเริ่มกันเลยค่ะ
วันนี้ เราจะรีวิวหนังสือภาพชื่อ The Orphan and the Qallipilluit ซึ่งมีตัวละครเป็นภูติพรายจากตำนานพื้นบ้านของชาวอินูอิต หรือที่สมัยก่อนเราเรียกกันติดปากตามชาติผู้ล่าอาณานิคมว่า เอสกิโม Eskimo ซึ่งแปลว่า "มนุษย์กินเนื้อดิบ" แต่เดี๋ยวนี้ชนพื้นเมืองบางกลุ่มพยายามเรียกร้องให้เปลี่ยนมาเรียกชื่อเผ่าพันธุ์ของเขาว่า อินูอิต Inuit ที่แปลว่า คน ซึ่งเป็นคำที่เขาใช้เรียกตัวเอง ค่ะ
ข้อมูลหนังสือ
The Orphan and the Qallipilluit
เขียนโดย: Neil Christopher
วาดโดย: Jim Nelson
ตีพิมพ์โดย: Inhabit Education Books
ปี: 2020
เรื่องย่อ
ตัวเอกของเรื่องนี้เป็นเด็กกำหร้าผู้โดดเดี่ยว แต่ฉลาดมีไหวพริบ ระหว่างที่เด็กน้อยกำลังออกไปตกปลายังพืดน้ำแข็งห่างไกลจากชายหาด เขาก็ได้พบกับ Qallupilluit หรือปีศาจพรายน้ำแข็งเข้า
ตกปลาอยู่ดี ๆ จู่ ๆ ก็โดนปีศาจพืดน้ำแข็งล้อมซะได้
แม้จะถูก Qallipilluit รุมล้อม เด็กชายก็ยังพยายามทำใจกล้าและหลอกล่อให้ปีศาจจอมละโมบทั้งสามเปิดทางให้เขาเดินพาพวกมันไปหา "เด็กคนอื่น ๆ" เพื่อจับกินให้หมดเสียทีเดียว
พอรู้ว่าเจ้าปีศาจพวกนี้คือ Qallipilluit
เด็กกำพร้าสมองใสก็เริ่มวางแผนเอาตัวรอดอย่างรวดเร็ว
เจ้าปีศาจไม่รู้เลยว่า เด็กกำพร้าวางแผนพาพวกมันกลับไปที่ชายหาด ที่ ๆ พวกมันจะไม่อาจก้าวตามขึ้นไปได้ เพราะไลเคนบนชายหาดเยือกแข็งจะเข้าไปเกาะตามผิวของพวกมัน (แต่หนังสือก็ไม่ได้บอกนะว่า ถ้าพวกมันโดนไลเคนเกาะและจะเป็นอย่างไรต่อไป)
ปีศาจโลภมากทั้งสาม หลงกลตามเด็กชายไป หวังจะได้กินเด็ก ๆ คนอื่น ๆ ด้วย
The Orphan and the Qallipilluit เป็นภาคต่อ
ของหนังสือเรื่อง The Amautalik and the Orphan ซึ่งเล่าตำนานการผจญภัยของเด็กชายกำพร้า ผู้ใช้ปัญญาช่วยเด็กคนอื่น ๆ จากเงื้อมมือของ Amautalik ซึ่งเป็นวิญญาณชั่วร้ายที่ร่อนเร่ไปตามพืดน้ำแข็งเพื่อจับเด็ก ๆ อินูอิตและนักเดินทางแถบขั้วโลกกินเป็นอาหาร
ไม่เพียงแต่เรื่องเล่าเหล่านี้จะสนุกตื่นเต้นแล้ว การได้ฟังนิทานปรัมปราจากวัฒนธรรมต่าง ๆ ยังทำให้ผู้อ่านได้เรียนรู้ภูมิประเทศ ภูมิปัญญา ความเชื่อ และค่านิยมต่าง ๆ ของผู้คนในกลุ่มวัฒนธรรมนั้น ๆ ด้วย ทั้งนี้ The Government of Nunavu (รัฐบาลเขต Nunavu เขตเหนือสุดแดนแคนาดา) ยังได้จัดทำ ชีทกิจกรรมประกอบการอ่าน สำหรับการจัดกิจกรรมในครอบครัวที่บ้าน หลังอ่านหนังสือเล่มนี้จบด้วยค่ะ นอกจากนี้ ใครสนใจเรียนภาษาอินูอิต ก็ลองดูในเว็บเค้าได้นะคะ ที่นี่ค่า https://angirrami.com/
สิ่งหนึ่งที่น่าตื่นตาตื่นใจมากเกี่ยวกับหนังสือภาพเล่าตำนานอินูอิต
คือการที่เราได้เห็นภาพน้ำแข็งสีขาวกับฟ้าอ่อนเต็มพรืดไปทั้งชั้นวางหนังสือแบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อนค่ะ แล้วก็ได้เห็นชีวิตและมุมมองของผู้คนที่อาศัยอยู่ในหนึ่งในย่านที่หฤโหดที่สุดของโลก ว่าเขามีจินตนาการ อารมณ์ขัน ไหวพริบ และมีความรู้ใหม่ ๆ ให้เราเรียนรู้อีกเยอะแยะเลย
การได้เจอหนังสือแบบนี้ ทำให้เรารู้สึกจริง ๆ ว่าหนังสือคือหน้าต่างสูโลกกว้างจริง ๆ นะเนี่ย
เพื่อน ๆ ว่างั้นมั้ยละคะ
*บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรก ที่นี่
ปล.
ใครสนใจติดตามศิลปินนักวาดหนังสือชุดการผจัญภัยของเด็กกำพร้าอินูอิตทั้งสองเล่ม เชิญทัศนาได้ที่ลิงก์นี้นะคะ https://jimnelsonart.com/ คุณจิมบอกว่า ตัวละครเหล่านี้ เขาออกแบบมาให้ใช้สำหรับทั้งหนังสือและการดัดแปลงเป็นแอนิเมชันเลย (แยกเลเยอร์มาให้แล้วเรียบร้อย)
เป็นไอเดียที่ไม่เลวเลยนะเนี่ย สำหรับคนทำหนังสือ
Comments