[Warning] หนังสือเล่มนี้มีภาพน่ากลัว มืดทะมึน และสื่อนัยของการฆาตกรรม...
แต่เชื่อเถอะว่า อ่านแล้วสนุก!
ปีที่ผ่านมา (2021) แคนาดาซึ่งเป็น Guest of Honor ในงานเทศกาล Frankfurt Book Fair ได้จัดแสดงหนังสือในธีม Singular plurality เพื่อโปรโมตวิถีชีวิตที่หลากหลายในประเทศพหุวัฒนธรรม ตามนโยบาย Cultural Mosaic หนังสือเด็กที่มาออกร้านก็โดดเด่นแปลกตามากค่ะ เพราะนำเสนอเรื่องราวและภาษาของชนเผ่าพื้นเมือง อย่าง ชาวอินูอิต และ ชาวครี ซึ่งไม่ได้หาอ่านได้ง่าย ๆ
การเป็น Guest of Honor ของงานเทศกาลหนังสือนั้นหมายความว่า ประเทศรับเชิญจะได้มีฮอลเป็นของตัวเอง เพื่อใช้จัดนิทรรศการ เสวนา และโปรโมตวรรณกรรมของตัวเองอย่างอิสระ
ในบรรดาหนังสือภาพละลานตาของแคนาดา เราได้เลือกเล่มเด่น ๆ มา 5 เล่มที่มาพร้อมเนื้อหาและการนำเสนอวัฒนธรรมพื้นถิ่นที่น่าสนใจ ว่าแล้วก็มาเริ่มกันเลยค่ะ
หนังสือภาพแคนาดาวันนี้ ชื่อว่า The Legend of the Fog เป็นเรื่องสยองขวัญสั่นประสาทที่มาจากตำนานพื้นบ้าน ซึ่งคนอินูอิตใช้อธิบายว่า หมอกหนาวที่ปกคลุมพืดน้ำแข็งอาร์กติกนั้นมาจากไหน เรื่องขนหัวลุกและการฆาตกรรมกินคนที่น่ากลัวแบบนี้อาจทำให้ผู้ใหญ่อย่างเรา ๆ กังวลว่า เด็กจะอ่านได้มั้ย เหมาะสมหรือเปล่า เราจะมาตอบคำถามนั้นในบทความนี้ค่ะ
ข้อมูลหนังสือ
The Legend of the Fog
เขียนโดย: Qaunaq Mikkigak & Joanne Schwartz
วาดโดย: Danny Christopher
ตีพิมพ์โดย: Inhabit Education Books
ปี: 2011
เรื่องย่อ
หนังสือภาพเรื่อง The Legend of the Fog เล่าเรื่องของนักเดินทางชาวอินูอิต ชื่อ Quannguaviniq ซึ่งหลงทางไปพบกับยักษ์กินคน Tuurngaq เข้า นักเดินทางไหวพริบดีแกล้งทำเป็นตัวแข็งตายทันที ยักษ์กินคนเห็นเข้านึกว่าเขาเป็นแค่ศพแช่แข็ง เลยแบกกลับบ้าน หวังจะเอาไปอังไฟให้ละลาย แล้วจะได้เอามาย่างกินกับลูกเมีย
ตำนานยักษ์กินคน Tuurngaq กับนักเดินทาง Quannguaviniq ผู้รอดพ้นจากการถูกจับกินอย่างหวุดหวิดด้วยไหวพริบและเชาว์ปัญญา เป็นเรื่องเล่าขานกันมานานแล้วในหมู่คนแถบอาร์กติก
ห้วงขณะที่นักเดินทาง ตกอยู่ในเงื้อมมือของยักษ์กินคน Tuurngaq
ยักษ์พานักเดินทางกลับมาที่บ้านเพื่อให้ภรรยาและลูกกิน มันเข้าใจว่านักเดินทางแข็งตายไปแล้ว และคิดจะย่างเนื้อของเขากินหลังจากที่ละลายร่างเสร็จ
ระหว่างที่อยู่ในถ้ำของ Tuurngaq นักเดินทางฉวยโอกาสฆ่า Tuurngaq ทิ้ง แต่ยังไม่ทันที่จะหนี ภรรยาของ Tuurngaq (ยักษี?) ก็ตื่นขึ้น แล้วรีบไล่ตามเขาไปในทันที
หลังจากที่ไล่ตามกันไปมา นักเดินทางผู้น่าสงสารก็หมดแรง ต้องงัดไม้ตายออกมาใช้ เขาใช้นิ้วขีดเส้นบนแผ่นน้ำแข็ง ทันใดนั้น เส้นที่เขาขีดก็ได้กลายเป็นลำธาร และค่อย ๆ แผ่กว้างออกไปเป็นแม่น้ำ ภรรยายักษีของ Tuurngaq ตามมาถึงก็พยายามกลืนกินแม่น้ำสายนั้นอย่างไม่ลดละเพื่อจะจับตัวนักเดินทางมาให้ได้
ด้วยลำพองคิดว่าจะเอาชนะแม่น้ำทั้งสายได้ ยักษีจึงดื่มน้ำเข้าไปมากจนตัวระเบิดตาย และสายน้ำที่พุ่งออกจากร่างของนางก็ได้กลายเป็นไอหมอกปกคลุมอาร์กติกทุกวันนี้
ภรรยาผู้อาฆาตของยักษ์วิ่งตามหลังนักเดินทางมาติด ๆ
นางพยายามกินน้ำทั้งแม่น้ำเพื่อที่จะจับเขาให้ได้
ยักษีดื่มน้ำมากเกินไปจนร่างระเบิดตาย กลายเป็นสายหมอกที่ปกคลุมแผ่นน้ำแข็งในอาร์กติก
หนังสือภาพเรื่องนี้โดดเด่นที่เรื่องการเล่าเรื่องสยองขวัญด้วยภาพโทนมืดหม่น ขับเน้นความมืดมิดของค่ำคืนยาวนานเหนือแผ่นน้ำแข็ง กับความน่าสะพรึงกลัวของธรรมชาติ และยักษ์กินคน Tuurngaq เป็นภาพประกอบหนังสือเด็กแบบที่ผู้ใหญ่ไทยไม่คุ้นชินนัก...
เล่าเรื่องผีให้เด็ก ๆ ฟังดีไหมนะ?
ที่ผ่านมา ในวงการหนังสือเด็กหลาย ๆ ที่ รวมถึงในไทย ผู้ใหญ่มักหลีกเลี่ยงการนำเสนอเรื่องน่ากลัว หรือ ภาพที่สีสันไม่สดใส ไม่น่ารัก ให้กับเด็ก ๆ เพราะคิดว่า เรื่องน่ากลัวจะทำให้เด็กผวา กังวล นอนไม่หลับ หรือบางทีก็คิดว่าเด็กจะไม่สนใจ หรือไม่สามารถจดจ่อกับการอ่านเรื่องน่ากลัว หรือหนังสือที่มีภาพสีหม่นได้ (เพราะไม่สดใสสะดุดตาเพียงพอ)
แต่จริง ๆ แล้ว การนำเสนอเรื่องน่ากลัว (ที่ไม่น่ากลัวจนเกินไป) และเหมาะสมกับวัยของเด็ก ๆ มีประโยชน์หลายประการ
เรื่องน่ากลัว กระตุ้นให้อะดรีนาลีนหลั่ง และทำให้เด็กรู้สึกตื่นเต้นได้โดยไม่ต้องไปทำเรื่องอันตรายจริง ๆ หรือก็คือ รู้สึกตื่นเต้นอยู่ในพื้นที่ที่ปลอดภัย (เหมือนกับการไปเที่ยวเล่นรถไฟเหาะในสวนสนุกนั่นแล) จะสังเกตได้ว่า เด็ก ๆ แม้จะกลัวผี แต่บางทีก็อยากฟังเรื่องเล่าประเภทนี้เหมือนกัน ไม่อย่างงั้น เราคงไม่ได้ฟังเรื่องสยองขวัญชาวค่ายตอนประถมกันหรอก ใช่ไหม?
การฟังเรื่องน่ากลัว นอกจากจะสนุกแล้ว บางครั้งยังทำให้เด็กภูมิใจในความกล้าหาญของตัวเองด้วยว่า แม้จะรู้สึกผวาในตอนแรก แต่สุดท้ายเขาก็ผ่านความกลัวนั้นมาได้
และความกล้าที่ค่อย ๆ สั่งสมนี้ ก็จะกลายมาเป็นประโยชน์กับเด็ก ๆ ในวันข้างหน้า ที่เขาต้องเผชิญกับความกลัว ความกังวลใจ และปัญหาต่าง ๆ ตามลำพังในโลกความเป็นจริง การได้อ่านเรื่องน่ากลัวสามารถฝึกให้เด็ก ๆ หัดระงับความกลัว และตัดสินใจแก้ปัญหาอย่างมีสติได้
การปล่อยให้เด็กได้อ่านเรื่องน่ากลัวบ้าง ยังเป็นการส่งสัญญาณให้เด็ก ๆ รู้ด้วยว่า ความกลัวเป็นอารมณ์ปกติที่คนเรามี การกลัวอะไรสักอย่างไม่ใช่เรื่องไม่ดี เพราะมันทำให้เราระแวดระวังมากขึ้น การยอมรับว่าตัวเองกลัว และเห็นว่า ผู้ใหญ่เองก็กลัวเป็น ความกลัวไม่ใช่เรื่องผิดปกติ หรือเป็นสัญญาณของความอ่อนแอ ทำให้เด็กได้มีโอกาสสังเกต/พิจารณาอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองให้ชัดขึ้น และรับมือกับมันได้ดีขึ้น
หนังสือเรื่อง The Legend of the Fog ไม่เพียงแต่จะหยิบยกตำนานพื้นบ้านมาเล่าให้เด็กฟัง เพื่อสืบทอดมรดกวัฒนธรรมเท่านั้น แต่เรื่องราวและภาพประกอบที่เต็มไปด้วยอารมณ์ ความรู้สึก บรรยากาศเยียบเย็น น่าตื่นเต้น ยังทำหน้าที่บริหารพัฒนาการทางอารมณ์ของผู้อ่านรุ่นเยาว์ด้วย
ว่าแต่ แล้วภาพที่หม่นหมองนั่นล่ะ เหมาะกับเด็กหรือเปล่า?
จะเป็นอะไรไป หากภาพประกอบหนังสือเด็กไม่มีสีสันสดใส หรือไม่มีตัวละครน่ารัก แต่สามารถเล่าเรื่องราว และถ่ายทอดความรู้สึกที่ละเอียดอ่อนและหลากหลายให้กับผู้อ่านได้
นั่นจะไม่เป็นการเปิดประสบการณ์ ให้เด็ก ๆ ได้ค้นพบศักยภาพของศิลปะในการสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกที่ละเมียดละไมหรอกหรือ?
สุดท้ายแล้ว คำถามอาจไม่ใช่ เด็ก ๆ อ่านอะไรได้หรือไม่ได้
แต่เป็น "ผู้ใหญ่ยอมให้เด็กอ่านอะไรได้บ้าง" ต่างหาก
*บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรก ที่นี่
อ้างอิง
Richards, P. O., Thatcher, D. H., Shreeves, M., Timmons, P., & Barker, S. (1999). Don’t Let a Good Scare Frighten You: Choosing and Using Quality Chillers to Promote Reading. The Reading Teacher, 52(, 830–840. http://www.jstor.org/stable/20204704
Comments