top of page
รูปภาพนักเขียนTarn

หนังสือภาพแคนาดา: คุณย่ามหัศจรรย์ผู้สร้างสรรพสัตว์ขั้วโลก

อัปเดตเมื่อ 28 ก.ย. 2565


"นิทานอธิบายเหตุ" เป็นหนึ่งในเรื่องเล่าสนุก ๆ ที่ไม่ว่าวัฒนธรรมไหนก็มีกัน

นอกจากจะแสดงภูมิปัญญาของผู้คนต่างที่มาแล้ว

ยังสะท้อนสภาพแวดล้อม วิถีชีวิต และสัตว์พื้นถิ่นของแต่ละที่ด้วย


ปีที่ผ่านมา (2021) แคนาดาซึ่งเป็น Guest of Honor ในงานเทศกาล Frankfurt Book Fair ได้จัดแสดงหนังสือในธีม Singular plurality เพื่อโปรโมตวิถีชีวิตที่หลากหลายในประเทศพหุวัฒนธรรม ตามนโยบาย Cultural Mosaic หนังสือเด็กที่มาออกร้านก็โดดเด่นแปลกตามากค่ะ เพราะนำเสนอเรื่องราวและภาษาของชนเผ่าพื้นเมือง อย่าง ชาวอินูอิต และ ชาวครี ซึ่งไม่ได้หาอ่านได้ง่าย ๆ
การเป็น Guest of Honor ของงานเทศกาลหนังสือนั้นหมายความว่า ประเทศรับเชิญจะได้มีฮอลเป็นของตัวเอง เพื่อใช้จัดนิทรรศการ เสวนา และโปรโมตวรรณกรรมของตัวเองอย่างอิสระ
ในบรรดาหนังสือภาพละลานตาของแคนาดา เราได้เลือกเล่มเด่น ๆ มา 5 เล่มที่มาพร้อมเนื้อหาและการนำเสนอวัฒนธรรมพื้นถิ่นที่น่าสนใจ ว่าแล้วก็มาเริ่มกันเลยค่ะ

หนังสือภาพในวันนี้ชื่อ The Walrus and the Caribou เป็นนิทานอธิบายเหตุของชาวอินูอิต หรือที่สมัยก่อนเราเรียกกันติดปากตามชาติผู้ล่าอาณานิคมว่า เอสกิโม (Eskimo) ซึ่งแปลว่า "มนุษย์กินเนื้อดิบ" นั่นเอง เดี๋ยวนี้ชนพื้นเมืองพยายามเรียกร้องให้คนนอกเรียกพวกเขาว่า อินูอิต (Inuit) ที่แปลว่า คน ซึ่งเป็นคำที่เขาใช้เรียกตัวเองแทนค่ะ ตอนนี้เอสกิโม ไม่ pc นะคะ


ข้อมูลหนังสือ

The Walrus and the Caribou

เขียนโดย: Maika Harper

วาดโดย: Marcus Cutler

ตีพิมพ์โดย: Inhabit Education Books

ปี: 2020


เรื่องย่อ

The Walrus and the Caribou เล่าตำนานการกำเนิดสัตว์ประจำถิ่นแดนอินูอิต สองชนิด คือ วอลรัส และ กวางคาริบู


ผู้เขียนเล่าถึงแรงบันดาลใจในการเล่าตำนานเรื่องนี้

ซึ่งเป็นนิทานปรัมปราที่เด็ก ๆ แถบอาร์กติกล้วนเคยได้ฟังมา


ตามตำนานเล่าว่า Guk บรรพบุรุษอินูอิต มีอำนาจเสกชีวิตเข้าไปในสิ่งของต่าง ๆ ได้ ในช่วงที่โลกเพิ่งถูกสร้างขึ้นใหม่ ๆ เธอได้เลือกเสกเสื้อพาร์กาหนังแมวน้ำของเธอ ให้กลายเป็นวอลรัสที่มีเขา และเสกกางเกงให้กลายเป็นกวางคาริบูที่มีเขี้ยว (เดี๋ยวนะ... )



Guk เสกกวางคาริบูให้มีเขี้ยวยาวโง้ง




...และเสกวอลรัสให้มีเขา


แต่ผลงานออกแบบสัตว์ชนิดใหม่ทั้งสองของเธอกลับมีปัญหา เพราะเขาของวอลรัสเกี่ยวเข้ากับเรือบดของชาวบ้าน ทำเอาเรือคว่ำกันไปเป็นแถบ ๆ ส่วนเขี้ยวของเจ้ากวางก็ยาวและแหลมเกินไป จนพรานต่าง ๆ ล่ามันไม่ได้ และบาดเจ็บกลับบ้านไปตาม ๆ กัน


ชาวบ้านอินูอิตที่เดือดร้อน พากันคอมเพลนไปยัง Guk ทำให้เธอต้องคิดใหม่ทำใหม่ สลับเขาวอลรัส กับเขี้ยวคาริบู แล้วปัญหาของชาวบ้านก็หมดไป (น่าน... มีความ UX/UI มีการฟังเสียง user)


ตำนานเรื่องนี้ ไม่เพียงแต่จะตลกและน่าตื่นตา แต่ยังสอดแทรกความคิดที่ว่า ความผิดพลาดเป็นเรื่องธรรมดา แม้แต่บรรพบุรุษผู้วิเศษอย่าง Guk ก็ยังออกแบบพลาดมาแล้ว แต่เมื่อพลาดแล้ว มีผู้วิจารณ์ ก็ยอมน้อมรับคำวิจารณ์เอากลับไปปรับปรุงแก้ไข ทำให้ปัญหาหมดไป


จริง ๆ เรื่องนี้ เราว่าอ่านที่โรงเรียนแล้วเอาไปคุยต่อเกี่ยวกับมุมมองที่มนุษย์มีต่อสัตว์ด้วยก็ได้นะ เช่น สมัยก่อนคนมองว่าสัตว์ถูกสร้างมาเพื่อเป็นอาหาร เดี๋ยวนี้คนเริ่มเข้าใจว่าสัตว์มีชีวิตจิตใจ เจ็บเป็น เศร้าเป็นเหมือนกัน และห่วงสวัสดิภาพสัตว์มากขึ้น


มันมีฉากนึงในเล่ม ที่ Guk เตะกวางคาริบูเพื่อทำโทษที่มันไล่เอาเขี้ยวเฉาะคน ทำให้หน้าผากกวางมีลักษณะยุบลงไปเหมือนทุกวันนี้ ถึงในชีวิตจริงมันจะไม่ได้มีใครไปเตะกวางแบบนั้น แต่เนื้อเรื่องก็สะท้อนมุมมองและความสัมพันธ์ระหว่างคนและสัตว์ในแต่ละช่วงเวลาและวัฒนธรรมไปด้วยในตัว ว่าคนเห็นสัตว์เป็นแค่สิ่งมีชีวิตที่เป็นรองเท่านั้น


มีคนอ่านเรื่องเต็ม ๆ ไว้ในยูทูปแล้วนะคะ คลิกชมได้



แล้วตำนานพื้นบ้านไทยล่ะ มีเรื่องไหนที่เราจะสามารถนำมาสอนใจ เกี่ยวกับการยอมรับความผิดพลาด คำวิจารณ์ และตั้งใจแก้ไขปัญหาอย่างตั้งใจหรือเปล่า? เพื่อน ๆ คิดว่าอย่างไรคะ?



*บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรก ที่นี่



ดู 1 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page