หนังสือภาพจากพิพิธภัณฑ์
ที่ชวนให้เห็น "ชีวิต" ในวันวาน
และสานสัมพันธ์ระหว่างรุ่นผ่านของใช้กระจุกกระจิก
สำหรับหลายประเทศในยุโรป ร้านหนังสือใหญ่ๆ ไม่ได้มีอยู่แค่ตามห้างหรือเป็นร้านสแตนด์อะโลนตามซอยต่างๆ เท่านั้น (แบบที่ในไทยก็เคยมีสมัยเรายังเป็นเด็ก) แต่หนังสือสวยๆ หายากๆ ยังอาจไปปรากฏอยู่ที่พิพิธภัณฑ์อีกด้วย เพราะขณะที่พิพิธภัณฑ์ทำหน้าที่จุดประกายความอยากรู้อยากเห็นเรื่องใหม่ๆ ให้ผู้ชม หนังสือที่ลงลึกในรายละเอียดเรื่องต่างๆ ก็ทำหน้าที่ให้ผู้อ่านได้ต่อยอดเรื่องที่อยากรู้ให้ลึกซึ้งขึ้นไปอีกแบบต่อเนื่องทันทีที่ออกจากนิทรรศการ
.
รีวิวของคุณจินนี่คราวนี้ นอกจากจะชวนให้หวนคิดถึงความหลังสีอุ่นๆ เข้ากับบรรยากาศเทศกาลรวมญาติช่วงสงกรานต์แล้ว ในฐานะคนทำสื่อ เราก็อดไม่ได้ที่จะนึกถึงการสร้างระบบนิเวศแห่งการถ่ายทอดเรื่องราวระหว่างรุ่น ว่าของใช้เล็กๆ น้อยๆ ในวันวานและวันนี้ หากมีสถานที่และวิธีเก็บรักษา-จัดแสดงเหมาะๆ ก็จะถ่ายทอดชีวิตของผู้คนได้อย่างมีชีวิตชีวา น่าเอ๊ะ น่าค้นหา ชวนให้คนผูกพัน สนใจและเข้าใจกันและกันได้ไม่น้อยเลยทีเดียว
.
.
.
Granny’s Kitchen Cupboard: A Lifetime in over 100 Objects
เรื่องและภาพ โดย John Alexander
ผู้รีวิว: จินนี่
หนังสือภาพหลายเล่มที่เราชอบ มาจากร้านขายของตามพิพิธภัณฑ์ อย่างเล่มนี้ได้มาตอนไปลอนดอนจากร้านขายของใน Museum of the Home พิพิธภัณฑ์ที่จำลองห้องต่าง ๆ ในบ้านสมัยก่อนให้ดูว่าชาวบ้านอยู่กันยังไง เป็นประวัติศาสตร์ของคนทั่วไป สิ่งของทั่วไปที่พิพิธภัณฑ์ใหญ่ ๆ ไม่ค่อยเอามานำเสนอ
หนังสือภาพรวบรวมบรรดาของใช้ในบ้านที่เจนนิเฟอร์ อเล็กซานเดอร์ คุณยายของผู้เขียนเป็นคนสะสม ส่วนใหญ่เป็นของสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่สอง สะท้อนความเปลี่ยนแปลงในสังคมอังกฤษที่เข้าสู่ยุคเฟื่องฟูของบริโภคนิยม (consumerism)
ในหนังสือแบ่งออกเป็นหลายหมวดหลายห้อง ทั้งเครื่องครัว หยูกยา เครื่องสำอาง ของใช้ในห้องสูบบุหรี่ ของเล่น ถุงช็อปปิ้ง อุปกรณ์งานช่างและงานประดิษฐ์ ภาพของวินเทจแต่ละชิ้นให้อารมณ์ย้อนยุคน่ารัก พร้อมคำบรรยายเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับของชิ้นนั้น ๆ เช่น แบรนด์ผู้ผลิต วิธีใช้ หรือโฆษณาในสมัยนั้น เราว่าหมวดยาน่าสนใจเป็นพิเศษ เช่น ขวดมอร์ฟีนที่แต่ก่อนหาซื้อได้โดยไม่ต้องมีใบสั่งยา, ไกร๊ปวอเตอร์ (gripe water) สำหรับป้อนทารกแก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ที่แต่ก่อนมีแอลกอฮอล์ผสมอยู่ด้วยและภายหลังโดนแบน ไปจนถึง belladonna adhesive plaster พลาสเตอร์ยาที่ใช้ส่วนผสมของพืชมีพิษมาบรรเทาปวดบาดแผล
ผ่านไปปีกว่า จากที่เราซื้อหนังสือเล่มนี้มา เราก็มีประสบการณ์ตรง ต้องไปเคลียร์บ้านยายของตัวเองหลังยายเสีย เลยได้เห็นว่ายายเป็นคนชอบเก็บของมากขนาดไหน มีหลายอย่างที่ชวนให้คิดถึงของในหนังสือเล่มนี้เลย แต่เป็นบริบทครอบครัวไทยเชื้อสายจีน ระหว่างเก็บก็ถามประวัติสิ่งของ ประวัติคนในบ้านให้แม่เล่า (แม่เป็นลูกคนโตเลยรู้เรื่องเยอะ) เราเก็บกระป๋องสังกะสีใส่ลูกอมมาเป็นที่ระลึก ของส่วนใหญ่เอาไปบริจาคกับทิ้งเรียบร้อย
หนึ่งในเรื่องที่แม่เล่าแล้วเราประทับใจสุดคือ แม่เล่าว่ายายเป็นแม่ที่ดุมาก แต่รักสัตว์มาก แม่เคยเห็นยายเอาผ้าขี้ริ้วไปห่มให้ตุ๊กแกที่กำลังหนาวจนตัวแข็งอยู่หน้าบันได
หลังจากเคลียร์ของบ้านยาย พอกลับมาอ่านหนังสือ อ่านประวัติของคุณยายเจนนิเฟอร์ตอนต้นเล่ม ก็ทำให้เรารู้สึกว่า สิ่งของประกอบกันเป็นมากกว่าของ แต่ทำให้เห็นเรื่องราวชีวิตของคนคนหนึ่งได้จริงๆ นะ
หมายเหตุ: ใครสนใจไปพิพิธภัณฑ์ Museum of the Home อยู่ในย่าน Shoreditch นั่งรถไฟไปลงสถานี Hoxton มีนิทรรศการถาวรกับนิทรรศการหมุนเวียน
อย่างตอนที่เราไปเป็นช่วงปลายปี เลยมีนิทรรศการชั่วคราวจัดแสดงว่าคนตกแต่งห้องยังไง เฉลิมฉลองอะไรในบ้านบ้างช่วงคริสต์มาส ฮานุกกะห์ (เทศกาลเฉลิมฉลองของชาวยิว) หรือส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ มีเล่าเรื่อง Y2K ด้วย
แต่ถ้าใครอยู่กรุงเทพฯ อยากดูอะไรไทย ๆ แนะนำบ้านพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑ์สุขสะสม พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก พิพิธบางลำภู นิทรรศน์รัตนโกสินทร์ (ตอนนี้ปรับปรุงเสร็จเปิดให้ชมแล้ว)
สารพัดหยูกยาในสมัยก่อน
แผ่นสูตรอาหารในสมัยก่อนของอังกฤษช่วงทศวรรษปี 1960 และ 1970
เทรนด์การถ่ายรูปอาหารคือ ถ่ายเอียง ๆ จากข้างบน เคลือบกลีเซอรีนหรือสเปรย์จัดแต่งผมให้อาหารดูเงางามน่ากิน แต่งตัดกับจานและผ้าปูโต๊ะสีสด
ทริกอีกอย่างคือปลอมอาหารขึ้นมาจากวัตถุดิบอย่างอื่น เช่น ภาพไอศกรีมหรือครีมอื่น ๆ ที่แท้จริงแล้วเป็นมันฝรั่งบดหรือโฟมโกนหนวด จะได้ถ่ายใต้แสงไฟสตูดิโอร้อน ๆ ได้
(เคยดูรายการญี่ปุ่นที่สาธิตวิธีถ่ายโฆษณาอาหารสมัยนี้ก็มีทริกคล้าย ๆ กัน น่าสนใจมาก)
รูปเหล่านี้มักถูกรีทัชเพื่อให้สีสดขึ้น
ก่อนที่ปลายปี 1970 จะหันไปใช้วิธีพิมพ์แบบใหม่จากญี่ปุ่นที่ให้สีพิมพ์ชัดและสดกว่า
ในหนังสือแบ่งออกเป็นหลายหมวดหลายห้อง
ทั้งเครื่องครัว หยูกยา เครื่องสำอาง ของใช้ในห้องสูบบุหรี่ ของเล่น ถุงช็อปปิ้ง
อุปกรณ์งานช่างและงานประดิษฐ์ ภาพของวินเทจแต่ละชิ้นให้อารมณ์ย้อนยุคน่ารัก
พร้อมคำบรรยายเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับของชิ้นนั้น ๆ
เช่น แบรนด์ผู้ผลิต วิธีใช้ หรือโฆษณาในสมัยนั้น
อ่านเรื่องของ Museum of Home แล้ว ทำให้ตาลนึกถึงพิพิธภัณฑ์เปิดใกล้บ้านสมัยเรียนอยู่ที่เมืองออฮุส ประเทศเดนมาร์กเลยค่ะ พิพิธภัณฑ์นั้นชื่อว่า Den Gamle By (The Old Town- เมืองเก่า) จัดแสดงอาคารบ้านเรือนและข้าวของเครื่องใช้เก่าในยุคสมัยต่างๆ "แบบที่มันเคยเป็น" เช่น อพาร์ตเมนต์ใหญ่ (กว่าที่คนยุคนี้หาเช่าได้เยอะมาก) ของครอบครัวสี่คนในทศวรรษ 1950s ที่มีพ่อหาเลี้ยงครอบครัวตัวคนเดียว แสดงให้เห็นบทบาทชายหญิงตามขนบและวิกฤตเงินเฟ้อที่เลวร้ายลงมากในสมัยของพวกเรา; ห้องพักนักศึกษายุคสังคมนิยมเบ่งบาน 1960s ซึ่งเต็มไปด้วยหนังสือลัทธิคอมมิวนิสต์จากรัสเซียและจีน (แบบที่เคยถูกเผาในไทย) และคลินิกทำแท้งถูกกฎหมาย 1970s ที่เล่าเรื่องราวขบวนสิทธิสตรีผ่านอุปกรณ์ทำงานและเสียงกระซิบแผ่วเบาของแพทย์และหญิงสาวในคลินิก
เช่นเดียวกับพิพิธภัณฑ์ที่จินนี่ไปมาที่อังกฤษ ที่ก็ขายหนังสือหลายเล่มเกี่ยวกับชีวิตสมัยก่อนของผู้คนในเดนมาร์กด้วย ทั้งหนังสือแคตาล็อกสิ่งของในพิพิธภัณฑ์ รวมถึงหนังสือการ์ตูนเล่าชีวิตเด็กฝึกงานช่างเมื่อ 100 ปีก่อน ที่น่าจะถูกใจเด็กๆ ผู้เข้าชมไม่น้อย เพราะจะได้เจอกับเด็กชายในการ์ตูน ที่โรงช่างไม้ในพิพิธภัณฑ์จริงๆ ด้วยนะ
แล้วในไทยล่ะ เราจะเชื่อมโยงและต่อยอดการเรียนรู้แลกเปลี่ยนเรื่องราวระหว่างเจเนอเรชันให้คนในสังคมอย่างเป็นระบบและมีความหมายได้อย่างไรบ้าง ในตอนต่อๆ ไปเราจะมาพูดถึงหนังสือเด็กที่ส่งเสริมเนื้อหาและวัฒนธรรมเข้าพิพิธภัณฑ์เพิ่มเติม ติดตามอ่านกันได้นะคะ
สำหรับตอนนี้ สุขสันต์วันปีใหม่ไทยค่ะ : )
[ช่วง จินนี่แนะนำตัว]
สวัสดีค่ะ จินนี่ (นิลเนตร) ค่ะ เป็นเพื่อนตาลและเป็นแฟนเพจ Children’s Books Out There (ที่เปิดโลกหนังสือเด็กให้เราแบบว้าวมากเลย )
งานของเราไม่ได้เกี่ยวข้องกับหนังสือเด็ก แต่วนอยู่กับการสอน การอ่านและการขีดๆ เขียน ๆ เราชอบเดินทางและชอบหยิบจับหนังสือในที่ที่ไป โดยเฉพาะสองสามปีที่ผ่านมาชอบอ่านหนังสือภาพ
โปรเจ็กต์รีวิว #หนังสือภาพเล่มโปรดสำหรับคนโตแล้ว นี้เกิดขึ้นจากหนังสือที่อ่านสะสมมาเรื่อยๆ แต่ละเล่มส่วนใหญ่บังเอิญไปเจอแล้วชอบเลยซื้อมา ทั้งอ่านสนุกแล้วยังมีความทรงจำตอนไปเจอด้วย เลยกลายเป็นของที่ระลึกจากการเดินทางอย่างหนึ่ง นอกจากที่อ่านเองแล้ว ก็อยากรู้ด้วยว่าคนอื่นชอบเล่มไหนกันบ้าง ยินดีที่ได้รู้จักและขอบคุณที่แวะมาอ่านนะคะ
*บทความนี้ตีพิมพ์ในเฟสบุ๊กเพจ Children's Books Out There ที่นี่
ดูเว็บไซต์ของ Museum of the Home ได้ที่ https://www.museumofthehome.org.uk/
ดูเว็บไซต์ของ Den Gamle By ได้ที่ https://www.dengamleby.dk/en/
Comments