แคว้นกาตาลุนญามีชื่อเสียงมากเรื่องหนังสือสารคดีสำหรับเด็ก
มาดูกันว่า เขาเล่าเรื่องเกี่ยวกับ "ผังเมือง" ให้เด็กฟังอย่างไร
แล้วมันเกี่ยวอะไรกับการสร้าง City for All
หนังสือจากสเปนใน Frankfurt Book Fair (หรือในเทศกาลหนังสืออื่น ๆ) ค่อนข้างจะพิเศษกว่าประเทศอื่น ตรงที่หนังสือประเทศนี้จะถูกจัดแสดงในบูธย่อย ๆ แบ่งแยกเป็นแคว้น ๆ ไป เช่น แคว้นกาตาลุนญา แคว้นวาเลนเซีย ฯลฯ เพราะแต่ละแคว้นเขามีภาษาถิ่นและวัฒนธรรมเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง (และอาจต้องการแยกตัวเป็นเอกราชด้วย)
การออกบูธหนังสือจึงไม่ได้เป็นแค่เรื่องของการค้า แต่เป็นการประกาศจุดยืนของแคว้นในการรักษาอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ของตนอย่างมั่นคงและกล้าหาญค่ะ
ในบรรดาสารคดีเด็กแจ่ม ๆ ทั้งหลายจากแคว้นกาตาลุนญา เราได้เลือกหนังสือเด่น ๆ มา 5 เล่มที่มาพร้อมธีมและเทคนิคการเล่าเรื่องที่แปลกใหม่น่าสนใจ ว่าแล้วก็มาเริ่มกันเลยค่ะ
วันนี้ เราจะรีวิวเรื่อง CIUDADES ARRIBA Y ABAJO ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับผังเมืองและเทคโนโลยีการออกแบบเมืองที่น่าสนใจรอบโลกค่ะ ประเทศไทยไม่ได้อยู่ในลิสต์แฮะ แหะ...
ข้อมูลหนังสือ
CIUDADES ARRIBA Y ABAJO (Cities Above and Underground)
เขียนและวาดโดย: Irene Noguer-Laufer
ตีพิมพ์โดย: Mosquito Books Barcelona
ปี: 2021
ความโดดเด่น
หนังสือเล่มนี้ นำเสนอสาระความรู้เกี่ยวกับสถาปัตยกรรม และ "ระบบเมือง" ที่น่าสนใจรอบโลก
ตั้งแต่ยุคโบราณจนถึงปัจจุบัน เช่น สุสานใต้ดินปารีส (Catacombs of Paris) พีรามิดกิซา เมืองใต้ดินปักกิ่ง (Underground City) สมัยสงครามเย็น การวางผังเมืองดับลิน เมืองบาร์เซโลนา (ซึ่งสวยงามมาก ๆ) เหมือง Wieliczka ในโปแลนด์ เมืองใต้ดินจูร่ง ประเทศสิงคโปร์ ย่านชินจูกุ ประเทศญี่ปุ่น ฯลฯ
จุดเด่นอยู่ที่การนำเสนอข้อมูลแบบสั้นกระชับ ใช้ภาพสีสดใส เน้นรายละเอียดภาพตัดขวางของสถาปัตยกรรมที่ซ่อนอยู่ไม่ว่าจะเป็นภายใจอาคารหรือใต้พิภพ ที่ขาดไม่ได้ในแต่ละหน้าคู่ คือระบุสาเหคุหรือแรงบันดาลใจในการสร้างเมืองแบบต่าง ๆ เช่น เมืองใต้ดินจูร่ง สร้างขึ้นเพื่อแก้ปัญหาพื้นที่อยู่อาศัยจำกัดในสิงคโปร์ รวมไปถึงเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่ช่วยให้ผู้คนในเมืองใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัยและสะดวกสบาย เช่น ระบบคมนาคม แอปพลิเคชันแสดงพิกัดต่าง ๆ ในเมือง จุดรวมพลฉุกเฉินและอุโมงค์หลบภัย เป็นต้น
(ภาพแรก) เมืองใต้ดิน ปักกิ่ง ประเทศจีน สร้างขึ้นเพื่อป้องกันประชาชนจากอาวุธนิวเคลียร์ช่วงสงครามเย็น
(ภาพสอง) เมืองใต้ดิน จูร่ง ประเทศสิงคโปร์
(ภาพสาม) เมืองบาร์เซโลนา แคว้นกาตาลุนญา ประเทศสเปน
"เมืองศึกษา"
เมืองและหนังสือเหมือนกันตรงที่ สามารถเก็บเรื่องราวน่าสนใจในอดีตไว้มากมาย การศึกษาเรื่องราวของเมือง ไม่เพียงแต่เปิดประตูไปสู่ความรู้ด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมแล้ว เด็ก ๆ ยังจะได้เห็นภูมิปัญญาของคนต่างถิ่น ต่างยุคสมัย ในการสร้างที่อยู่อาศัยให้ตอบสนองความต้องการ และแก้ปัญหาที่แต่ละสังคมเผชิญด้วย ได้ทั้งความรู้และแรงบันดาลใจให้ย้อนมองถึงสภาพชุมชนและการออกแบบเมืองที่ตนอยู่ไปในตัว
มีหนังสือเด็กน้อยเล่มนักที่ให้ความรู้เรื่องสถาปัตยกรรม การออกแบบสมัยใหม่ การมีส่วนร่วมวางผังเมืองของประชาชนเพื่อประชาชน รวมไปถึง Geo-literacy หรือการเรียนภูมิศาสตร์เพื่อความเข้าใจกาทำงานของโลกที่สัมพันธ์กับสังคมมนุษย์ (และในทางกลับกัน) ทำให้เห็นทางแก้ปัญหาความเป็นอยู่ ด้วยการออกแบบอยู่อาศัยให้เข้ากับสภาพภูมิศาสตร์ ภูมิอากาศ และวัฒนธรรม ไปจนถึงการตระหนักรู้ว่าวิถีชีวิตของมนุษย์ส่งผลต่อโลกอย่างไร และสุดท้ายเราควรจะทำตัวอย่างไรเพื่ออยู่กับสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน
อ่านแนวคิดเรื่อง Geo-Literacy เพิ่มเติมได้ที่นี่ค่ะ
ตอนตาลทำงานอยู่ในสนพ. ไทยมีสนพ. ญี่ปุ่นติดต่อมาจะขายลิขสิทธิ์หนังสือเด็กเกี่ยวกับการวางผังเมืองให้ด้วยนะ
เป็นหนังสือสารคดีภาพคลาสสิกของญี่ปุ่นเลย เล่าถึงการมีส่วนร่วมในการทำประชาพิจารณ์ และการวางแผนผังเมืองชุมชน
ถ้าเมืองไทยมีหนังสือแบบนี้บ้าง บางทีเราอาจจะมีเด็กรุ่นใหม่ที่สนใจผังเมือง และพลเมืองยุคหน้าที่ให้ความสำคัญกับ City for All หรือ การสร้างชุมชนที่ปลอดภัยและสวยงามสำหรับทุกคนก็ได้นะ
เพื่อน ๆ ว่าอย่างงั้นมั้ยละค่ะ
*บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรก ที่นี่
Comments