top of page
รูปภาพนักเขียนTarn

สัมภาษณ์บ.ก. อินโดฯ Kecil-Kecil Punya Karya: หนังสือรวมเรื่องสั้นรายเดือน ที่เด็กเขียนเพื่อเด็กอ่าน

อัปเดตเมื่อ 28 ก.ย. 2565

ขณะที่นิตยสาร วารสารรายปักษ์ รายเดือนสำหรับเด็กในไทยล้มหายตายจากไปหมดแล้ว

สำนักพิมพ์ที่อินโดนีเซียทำอย่างไร

Kecil-Kecil Punya Karya จึงยังเป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นอันดับหนึ่งในใจเด็ก ๆ ทั่วประเทศ

และเติบโตอย่างต่อเนื่องมายาวนานเกือบ 20 ปี



หนังสือรายเดือนโดยเด็กประถม เพื่อเด็กประถม ที่ทำมานานเกือบ 20 ปี จากอินโดนีเซีย สมัยที่เด็ก ๆ มีใครเคยส่งงานเขียนไปให้นิตยสารตีพิมพ์บ้างไหมคะ ตอนที่ตาลอยู่ประถม ตาลอ่านนิตยสารหลายเจ้าเลยค่ะ ทั้ง Reader's Digest, National Geographic, ขวัญเรือน อะไรทำนองนี้


พวกนี้เป็นนิตยสารผู้ใหญ่ แต่เราก็ยังพอมีนิตยสารเด็กอยู่บ้าง ที่ตาลอ่านบ่อยสุดน่าจะเป็น วารสาร "เพื่อเพื่อนรัก" ของสนพ. ปีนัง นิตยสาร "เล่มโปรด" และ "Go Genius" ของสนพ. นานมีบุ๊กส์ นอกนั้นก็เป็นหนังสือชุดออกรายเดือน รายปักษ์ เช่น การ์ตูน Duck Tales แล้วก็ Micky Mouse ต่าง ๆ เดี๋ยวนี้หาอ่านไม่ได้แล้ว เพราะงานเขียนรายเดือนของเด็ก ๆ ไม่ว่าจะเป็นนิตยสาร วารสาร คอมิกก็ทยอยปิดตัวกันไปหมด

"เพื่อเพื่อนรัก" ปิดตัวไปน่าจะประมาณปี 2559 (ไม่รู้เริ่มปีไหน แต่มีมาตั้งแต่เราอยู่ประถม ก็น่าจะเกิน 15 ปีอยู่นะ) "เล่มโปรด" ปิดตัวปี 2554 (ตีพิมพ์มานาน 10 ปี) "Go Genius" ปิดตัวปี 2560 (ตีพิมพ์มานาน 25 ปี)

ในงาน London Book Fair 2022

ตาลได้แวะไปนั่งคุยกับตัวแทนสนพ. Mizan ที่บูธรวมสนพ. จากอินโดนีเซียค่ะ Mizan เป็นหนึ่งในสนพ. ที่ใหญ่สุดในประเทศอินโดนีเซีย (ใหญ่สุดเห็นเค้าว่าชื่อ Gramedia) มีอิมปริ๊นต์ (imprint) แยกย่อยออกไปหลายอัน รวมถึง Dar! ที่จัดทำ Kecil-Kecil Punya Karya หนังสือรายเดือนสำหรับเด็ก ซึ่งเขียนโดยเด็กประถม เพื่อเด็กประถมด้วยกัน (แปลไทยได้ประมาณว่า: "เด็ก ๆ ทำเองนะ"— Children Having Their Own Creations... ขอบคุณเพื่อนชาวอินโดฯ Filipus Gilang Wicaksono ที่ช่วยแปลให้ค่ะ) ตัวแทนของสนพ. Mizan เล่าให้ตาลฟังว่า หนังสือชุด Kecil-Kecil Punya Karya เปิดตัวเมื่อปี 2546 จนถึงตอนนี้ก็ปีที่ 19 แล้วค่ะ และยังคงมีนักเขียนนักอ่านเด็ก ๆ ติดตามกันอุ่นหนาฝาคั่ง เป็นที่รู้จักดีในหมู่พ่อแม่ ครู และเด็ก ๆ แม้จะไม่ขายแบบสมัครสมาชิกก็ตาม แถมต่อมา Dar! ยังได้ทำหนังสือรายเดือนชุด Komik Kecil-Kecil Punya Karya ซึ่งเป็นรวมงานเขียนเด็ก ๆ ฉบับการ์ตูนออกมาด้วย โดยนำเรื่องที่เด็ก ๆ เขียนส่งในรูปแบบภาพวาด และเรื่องสั้น มาวาดเป็นการ์ตูน one-shot สั้น ๆ ประมาณ 4 เรื่องใน 1 เล่ม นอกจากจะทำหนังสือแล้ว สนพ. ก็ยังสื่อสารกับเด็ก ๆ ผ่านทาง Instagram (@KKPKmizan: https://www.instagram.com/kkpkmizan/) และ YouTube (Rumah KKPK: https://www.youtube.com/.../UCeox3Fok4DotpruDDDyhe9g/videos) ด้วย เช่น ออกคลิปชวนเด็ก ๆ ทำมิลก์เชก ตามหนังสือคอมิกฉบับ Unicorn Milkshake (เล่มในภาพ) หรือทำวิดีโอพาดูการทำงานในสนพ. เป็นต้น ตาลส่งคำถาม 10 ข้อเกี่ยวกับหนังสือสองชุดนี้ไปทางอีเมล และได้คุณวิกกี้ บรรณาธิการหนังสือ ช่วยตอบคำถามต่าง ๆ ให้ ตาลแปลและลงตัวอย่างเนื้อในของหนังสือไว้ด้านล่างนี้ค่ะ


ปกหนังสือ Kecil-Kecil Punya Karya ฉบับนิยายสั้น กับปกฉบับคอมิก สีหวานแหวว


หนังสือสองชุดนี้ (Kecil-Kecil Punya Karya กับ Komik Kecil-Kecil Punya Karya) มีความเป็นมายังไงคะ?

🔍 คือแต่ก่อนนี้ เราไม่มีช่องทางไหนให้เด็ก ๆ ที่ชอบเขียนได้แสดงแพชชั่นของตัวเองออกมาเลย สนพ. Mizan Publishing ก็เลยทำ Kecil-Kecil Punya Karya หรือ KKPK ขึ้นมาเดือนธันวาคม ปี 2546 เป็นหนังสือนิยายรายเดือน—ย้ำว่าไม่ใช่นิตยสาร—ที่เขียนโดยเด็ก ๆ ค่ะ



กลุ่มเป้าหมายของหนังสือสองปกนี้เป็นใครคะ? แล้วทำไมถึงได้ทำออกมาเป็นสองเวอร์ชัน (นิยายสั้น กับ การ์ตูนวันช็อต)?

🔍 นักเขียนกับนักอ่านของเราคือเด็กอายุ 6 ถึง 12 ปีค่ะ ขณะที่ KKPK ตีพิมพ์ผลงานนวนิยายสั้น ๆ ทางสนพ. เองก็อยากช่วยเด็ก ๆ ที่เพิ่งเริ่มเล่าเรื่องผ่านภาพวาดและเรื่องเล่าสั้น ๆ ได้มีพื้นที่แสดงผลงานของตัวเองบ้าง เราก็เลยจัดทำหนังสือ KKPK ฉบับการ์ตูนขึ้นมา โดยเรารวบรวมเอาเรื่องประกอบภาพ และพวกเรื่องสั้นที่เด็ก ๆ ส่งมาให้ มาดัดแปลงเป็นหนังสือการ์ตูนค่ะ


ตัวอย่างหนังสือ Kecil-Kecil Punya Karya ฉบับนิยายสั้น

มี 80 หน้า 5 บทจบ



หนังสือที่ทางตัวแทนสนพ. ให้ตาลมา ดูปกแล้วออกแนวผู้หญิง ๆ เด็กผู้ชายเค้าเขียนเรื่องส่งมาบ้างไหมคะ?

🔍 ก็ส่งเหมือนกันค่ะ แต่นักเขียนส่วนใหญ่จะเป็นเด็กผู้หญิงมากกว่า



ออกหนังสือบ่อยแค่ไหนคะ แล้วตีพิมพ์ออนไลน์ด้วยหรือเปล่า?

🔍 เราตีพิมพ์ KKPK แบบหนังสือเล่มทุกเดือน ไม่มีฉบับออนไลน์ค่ะ


เด็ก ๆ ยุคใหม่ใช้แอปฯ ไลน์ (หรือ Whatsapp?) ประกอบการเล่าเรื่องด้วยนะ


หนังสือนี้แพร่หลายแค่ไหนคะ ในอินโดนีเซีย?

🔍 KKPK เป็นที่รู้จักกว้างขวางในหมู่ผู้ปกครองและเด็ก ๆ ชาวอินโดนีเซียค่ะ แต่เราไม่ได้ขายแบบสมัครสมาชิกนะ



เด็ก ๆ ส่งเรื่องมาให้สนพ. ยังไงคะ? มีธีมหรือเปล่า?

🔍 เด็ก ๆ ส่งเรื่องที่ตัวเองเขียนเข้ามาทางอีเมล ตามธีม กติกาและรูปแบบที่สนพ. กำหนดค่ะ

หนังสือ KKPK ของเรามีหลายธีมเลย แต่ส่วนใหญ่แล้วก็จะเกี่ยวกับชีวิตของเด็ก ๆ เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อน ๆ ที่มีทั้งขึ้นและลง เรื่องปริศนาต่าง ๆ ที่พวกเขาสงสัยใคร่รู้ จินตนาการของเด็ก ๆ เกี่ยวกับดินแดนไกลโพ้นและสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ เรื่องเกี่ยวกับครอบครัวของเด็ก ๆ และอื่น ๆ

บรรณาธิการอย่างเราก็จะคอยสำรวจเทรนด์และงานอดิเรกของเด็ก ๆ ที่เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ แล้วเอามากำหนดธีมค่ะ


แต่ละบทมีภาพประกอบให้ด้วยบทละ 1 หน้า



สนพ. จัดอีเวนต์อะไรให้เด็ก ๆ ด้วยไหมคะ? เห็นในเว็บ มีประกาศจัดเวิร์กชอปวาดการ์ตูนแปะอยู่

🔍 อ๋อ ใช่ค่ะ ส่วนมากแล้วเราจัดคลาสการเขียน (ทางออนไลน์และออฟไลน์) จัดเวิร์กชอปเขียนคอมิก จัดทอล์กโชว์ให้เด็ก ๆ ได้คุยกับบรรณาธิการและนักเขียนคนอื่น ๆ ของ KKPK แล้วก็ยังมีอีกหลายงานเลย


ท้ายเรื่องมีประวัตินักเขียนเด็ก และโฆษณาแอปอีบุ๊กเล็กน้อย


มาพูดถึงอิทธิพลของหนังสือชุดนี้บ้างดีกว่า ตอนที่เราเจอกันในงานเทศกาลหนังสือ ทางสนพ. พูดถึงนักเขียนเด็กคนนึงของ KKPK ที่โตมาเป็นทูตการเขียนประจำชุมชนของเธอ ช่วยเล่าให้ฟังหน่อยได้ไหมคะว่า "ทูตการเขียน" นี่ต้องทำอะไรบ้าง? แล้วนักเขียนเด็กคนอื่น ๆ เป็นอย่างไรกันบ้างคะ?

🔍 มีนักเขียนเด็กที่ตีพิมพ์ผลงานลง KKPK หลายคนเลยค่ะ ที่ฉายแววโดดเด่นในการเขียน และในเรื่องการเรียนด้วย อย่างเช่น นักเขียนเก่าของเรา น้อง Fayanna Davianny (ตอนนี้อายุ 17 ปี) ตอนนี้เป็นนักเขียนที่ตีพิมพ์หนังสือมาแล้วมากกว่า 50 เล่ม แล้วก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น หัวหน้าสภาเด็ก เมือง Depok (the Head of Children Forum of Depok City) และเร็ว ๆ นี้เพิ่งได้รับการแต่งตั้งเป็น เยาวทูตการศึกษาของอินโดนีเซีย (The Ambassador of Indonesian Youth Education) ปี 2564 นอกจากนี้เธอก็ยังมีความสามารถอีกหลายอย่างเลย


นักเขียนเก่าอีกคนของเรา น้อง Muthia Fadhila (ตอนนี้อายุ 21 ปี) ได้รับรางวัล นักรณรงค์ส่งเสริมการอ่านเขียน (literacy campaigner) จากกระทรวงศึกษาธิการและวัฒนธรรม อินโดนีเซีย เมื่อปี 2562 และกลายเป็นที่รู้จักในนานาประเทศ หลังจากได้รับรางวัล ไดอาน่า อะวอร์ด สำหรับนักกิจกรรมจากทั่วโลก ที่สร้างผลงานพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนให้ดียิ่งขึ้น (International Diana Award) ในปี 2561


เยาวชนทั้งสองคนนี้ ช่วยผลักดันให้เด็กคนอื่น ๆ ตระหนักถึงความสำคัญของการอ่านเขียนเรียนรู้ พวกเขายังพยายามช่วยพัฒนาการอ่านออกเขียนได้ในอินโดนีเซีย ด้วยการทำให้เด็ก ๆ รักการอ่านและการเขียนด้วย



 


ตัวอย่างหนังสือ Komik Kecil-Kecil Punya Karya

มีเล่มละ 4 เรื่อง แต่ละเรื่องลายเส้นต่างกัน

เรื่องนี้เกี่ยวกับเด็กที่แอบเขียนนิยาย ไม่กล้าให้ใครอ่าน

โชคดีที่น้องมีเพื่อนน่ารักให้กำลังใจ และเชียร์ให้ส่งต้นฉบับให้สำนักพิมพ์พิจารณา

แต่กว่าน้องจะกล้าส่งก็ทำใจนานมาก เพราะกลัวคำวิจารณ์แรง ๆ และกลัวถูกปฏิเสธ


 


สนพ. ได้รับการสนับสนุนหรือส่งเสริม จากรัฐหรือภาคการศึกษาบ้างไหมคะ อย่างเช่น การให้ทุนหรือรางวัลต่าง ๆ?

🔍 เราไม่ได้รับทุนอะไรเลยค่ะ แต่ทาง KKPK กับกระทรวงศึกษาฯ ของอินโดนีเซียเคยร่วมมือกันจัดการประกวดงานเขียนระดับชาติ ที่ชื่อว่า "Indonesian Young Writers Conference" ในช่วงปี 2554-2560 จากนั้นตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา สนพ. ก็จัดงานเองค่ะ ส่วนช่วงที่โควิด-19 ระบาดก็เปลี่ยนมาเป็นงานออนไลน์แทน


 

เรื่องนี้เกี่ยวกับเหตุการณ์สะเทือนใจในครอบครัวค่ะ

คุณแม่น้องซื้อไรทะเล (Sea Monkey) มา ส่วนคุณพ่อน้องก็กลับมาพร้อมแมว สัตว์เลี้ยงตัวใหม่

น้องรับปากแม่ว่าจะช่วยเปลี่ยนน้ำไรทะเล แต่มัวแต่เล่นกับน้องแมวจนลืม

พอคุณแม่ถามขึ้นมาน้องก็ตกใจ รีบวิ่งออกไปดูไรทะเลทันที...

ปรากฎว่าไรนอนลอยตุ๊บป่องกันหมดเลย น้องเสียใจมาก รู้สึกผิดสุด ๆ

ทั้งครอบครัวพาไรทะเลไปหาสัตวแพทย์ คุณหมอบอกว่า มันยังไม่ตายนะ มันน็อคอยู่ เป็นกลไกเอาตัวรอดอย่างนึง ถ้าเปลี่ยนน้ำทันก็จะฟื้นขึ้นมาได้ มีการให้ความรู้อีกต่างหากการ์ตูนเรื่องนี้ เยี่ยมไปเลย


 


อะไรทำให้หนังสือชุดนี้อยู่มาได้จนถึงทุกวันนี้ จะยี่สิบปีแล้วคะ? โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในยุคที่เต็มไปด้วยสื่อมากมาย นอกจากหนังสือน่ะค่ะ

🔍 เราพยายามอย่างหนักเลยค่ะ ที่จะช่วยให้เด็ก ๆ ได้พัฒนาความรักการเขียน ดังนี้นถึงแม้ว่าชีวิตของเด็ก ๆ จะวนอยู่กับธีมพื้นฐาน อย่างที่บอกมาข้างต้น แต่เราก็ยังต้องปรับตัวเรื่อย ๆ ค่ะ เช่น ตอนที่กระแสเกาหลีมาแรง เราในฐานะที่เป็นบรรณาธิการก็อยากให้เด็ก ๆ ได้เล่าประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ที่เขาสนใจกันอยู่ ก็เลยตีพิมพ์ธีมใหม่ขึ้นมา อย่าง ธีมไอดอล K-Pop ธีมแฟนด้อม และอื่น ๆ

ทุกวันนี้ เด็ก ๆ อยู่ท่ามกลางโซเชียลมีเดียจริง ๆ ค่ะ แต่เราก็พยายามจะหาแง่มุมต่าง ๆ ที่เขาสนใจออกมา

เราสังเกตว่าอะไรกำลังมาแรง แล้วก็พยายามส่งเสริมให้เด็ก ๆ สำรวจชีวิตยุคดิจิตอลของตัวเองมากขึ้น โดยใช้เรื่องสื่อต่าง ๆ เนี่ยแหละ เป็นตัวขับเคลื่อนพล็อตค่ะ


ความตั้งใจนี้แหละที่ทำให้นักอ่าน KKPK หลายคน เกิดแรงบันดาลใจที่จะเขียน แล้วก็ส่งผลงานมาให้สนพ.

ความสัมพันธ์ระหว่าง นักเขียน นักอ่าน และ บรรณาธิการ ของหนังสือชุดนี้น่ะ ใกล้ชิดกันมาก แล้วเราก็หวังว่ามันจะเป็นแบบนั้นต่อไปอีกสัก 18 ปีหรือมากกว่านั้นค่ะ



 

ส่วนเรื่องนี้ได้ขึ้นปก ฉบับ Unicorn Milkshake เป็นเรื่องเกี่ยวกับงานแข่งขันทำอาหารในโรงเรียนของเด็ก ๆ

ทีมของน้องทำอาหารไม่เก่งเลย แต่ว่าระหว่างที่กำลังหมดหวัง มีคนสั่งมิลก์เชกมา

ทีมเลยได้ไอเดีย ทำมิลก์เชคแฟนซี ตกแต่งเป็นสี ๆ มีเขายูนิคอร์นน่ากิน สุดท้ายก็ได้รางวัลด้วยนะ


 

รีวิวหนังสือจากอินโดนีเซียยังไม่จบเพียงเท่านี้ (เพราะเราคุยกันถูกคอมาก สุดท้ายล้อมวงคุยกันสี่ห้าคน 555) แล้วเราจะมาทยอยรีวิวต่อนะคะ ^^ ใครมีคำถามอะไรเพิ่มเติมเกี่ยวกับหนังสือชุดนี้ คอมเมนต์มาได้เลยนะคะ เผื่อตาลถามสนพ. ให้ค่า


สุดท้ายนี้ ขอบคุณคุณ Fauziah ตัวแทนจากสนพ. Mizan ที่ช่วยแนะนำหนังสือ และประสานงานให้ตาลได้สอบถามข้อมูลดี ๆ จากบรรณาธิการ Mizan ด้วยค่ะ


ตาลและคุณ Fauziah ที่ซุ้มหนังสืออินโดนีเซีย ในงาน London Book Fair ค่ะ


Many thanks to Fauziah Hafidha for recommending me many wonderful books from Mizan and helping me get in touch with the publisher, who also did a wonderful job in answering my questions.



*บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรก ที่นี่


コメント


bottom of page