โป๊ให้พอ... หนังสือภาพจากสวีเดนชุดนี้ รวมภาพเปลือยหญิงชายทุกสีทุกไซส์มาให้แล้ว
ดูกันให้รู้ทั้งเด็ก/ผู้ใหญ่ ว่าร่างกายมนุษย์มันหลากหลายแบบนี้
ไม่ได้เหมือนกับที่เขาหลอกลวงกันในสื่อ
วันนี้เปลี่ยนประเทศ มาที่สวีเดนบ้างค่ะ กับหนังสือภาพ Bara Rumpor (มีก้นทุกหนแห่ง)
เขียนโดยคุณ Annika Leone และวาดโดย Bettina Johansson
ตีพิมพ์กับสนพ. Lilla Piratförlaget เมื่อปี 2019
เราเจอหนังสือเล่มนี้ที่งาน Frankfurt Book Fair เป็นเวอร์ชันภาษาเยอรมัน มารู้ทีหลังก็ตอนทำข้อมูลเขียนโพสต์เนี่ยแหละค่ะ ว่ามันมาจากสวีเดน
นอกจากเล่มนี้แล้ว คุณ Annika ก็ยังเขียนภาคต่อออกมาอีก 2 เล่มด้วยกัน ในปี 2020 และ 2021
ชื่อ Bara rumpor på stranden (มีก้นทุกหนแห่ง บนชายหาด) และ Bara rumpor i backen (มีก้นทุกหนแห่ง บนภูเขา) ซึ่งได้รับการแปลเป็นภาษาเดนิชด้วย เราเลยได้อานิสงส์อ่านเนื้อหาในเล่มออกค่ะ
หนังสือเรื่อง Bara Rumpor เล่าถึงเด็กหญิงมิร่า ผู้ตื่นเต้นกับการไปเล่นน้ำที่สระว่ายน้ำกับครอบครัว แต่ก่อนจะลงสระได้ เธอต้องไปเปลี่ยนเสื้อในห้องเปลี่ยนเสื้อที่เต็มไปด้วยผู้หญิงเปลือยกายล้อนจ้อนเสียก่อน
"ถึงทุกคนจะโป๊ แต่ก็ห้ามจ้องนาน ๆ นะ" คุณแม่บอก
ขณะที่มิร่าเล่าว่า เธอตื่นเต้นที่ได้เห็นร่างกายที่มีลักษณะต่างกัน บ้างผอม บ้างมีพุง บางก้นดูกลม บางก้นดูเหลี่ยม บางร่างมีผิวเรียบตึง บางร่างก็มีผิวที่หย่อนลงมา บ้างก็มีขนตามจุดต่าง ๆ หรือมีหน้าอกกระเด้งกระดึ๋งขึ้น ๆ ลง ๆ ภาพประกอบก็โชว์ให้ผู้อ่านเห็นรูปร่างที่หลากหลายของ "ผู้หญิง" แบบไม่ปิดบัง
ผู้หญิงสมัยใหม่ ไม่อายที่จะมีขนรักแร้
ที่สระน้ำเอง มิร่าสนุกกับการเล่นน้ำคลายร้อนในสระใหญ่ และอ่างน้ำร้อนรวม ขณะที่คุณแม่ของเธอลาออกจากการเป็นผู้ปกครองชั่วคราว แล้วไปพักผ่อนในห้องอบซาวน่ากับผู้หญิงคนอื่น ๆ
ในฉากเหล่านี้ เด็ก ๆ จะได้เห็นร่างกายที่หลากหลายทั้งของหญิงและชายอย่างเต็มตา ไม่ว่าจะเป็นร่างที่มีพุงเป็นชั้น ๆ ผิวเกรียมแดด ขนขาดก ๆ ฯลฯ
คุณแม่กำลังเปลือยกายพักผ่อนในห้องซาวน่า
ขณะที่หนังสือสะท้อนว่า การเปลือยกายที่ห้องเปลี่ยนเสื้อ ซาวนา (ไปจนถึงหาดบางหาดในเล่มต่อมา) ถูกแสดงออกมาว่าเป็นเรื่องปกติในสังคมของสวีเดน และหลาย ๆ ประเทศในยุโรป ซึ่งเป็นการบอกผู้อ่านเด็กเป็นนัย ๆ ว่า ที่เหล่านี้เปลือยกายได้ สังคมโอเค ภาพประกอบก็ช่วยยืนยันกับเด็ก ๆ อีกทางว่าร่างกายที่มีลักษณะหลากหลายแบบนี้แหละ เป็นเรื่องธรรมชาติและไม่น่าอาย ไม่ควรต้องมีการ Body shaming ใครแต่อย่างใด
คำบรรยายบางหน้ายังสื่อให้เห็นถึงค่านิยมการเปลือยกาย และมารยาทการใช้สถานที่ที่มีคนเปลือยกายด้วย เช่น คุณแม่ของมิร่าเตือนเด็กหญิงที่ตื่นตาตื่นใจกับก้นหลายรูปทรง ว่าอย่าจ้องนานเกินไป หรือการที่ผู้ใหญ่บางคนดูไม่ค่อยพอใจที่ผู้หญิงบางคนเปลือยกายลงอ่างน้ำร้อนรวม
สายตาไม่พอใจของคนบางส่วนต่อการเปลือยกายในที่สาธารณะถูกแสดงให้เห็นอย่างตรงไปตรงมา
ทำไมต้องโป๊?
การเปลือยกายในที่สาธารณะอาจไม่ใช่ส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทย และการโชว์ภาพผู้ใหญ่และเด็กเปลือย ก็อาจเป็นเรื่องต้องห้ามในหลาย ๆ ประเทศ ด้วยสาเหตุต่าง ๆ กัน เช่น เมื่อปี 2014 นักการเมืองฝรั่งเศสออกมาประณามหนังสือเด็กฝรั่งเศสชื่อ Tous à Poil (Everybody Gets Naked) ที่โชว์ภาพผู้ใหญ่ทุกคนเปลือยกาย ตั้งแต่ พ่อแม่ ครูบาอาจารย์ นักการเมือง ฯลฯ โดยบอกว่า เด็กจะเคารพครูได้อย่างไร ถ้าเห็นภาพครูล่อนจ้อนแบบนั้น
หรือในสหรัฐอเมริกา เมื่อสามสิบสี่สิบปีก่อน มีการแบนหนังสือภาพ In the Night Kitchen (1971) ที่มีภาพเด็กผู้ชายเล็ก ๆ เปลือยล่อนจ้อน เพราะผู้ใหญ่ในตอนนั้นเห็นว่าเป็นเรื่องลามก ซึ่งอาจเป็นเพราะ ช่วงนั้นนิตยสารและโฆษณาที่มีภาพวาบหวิวกำลังเฟื่องฟูและแพร่หลาย จนผู้ใหญ่มองภาพเปลือยทุกอย่าง แม้แต่ภาพเด็กเปลือยเป็นเรื่องทางเพศ (Nodelman, 1984)
อย่างไรก็ตาม การแสดงให้เด็กเห็นว่า ร่างกายของมนุษย์มีได้หลายแบบนั้น เป็นเรื่องจำเป็น โดยเฉพาะในยุคที่ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ถูกห้อมล้อมไปด้วยสื่อที่เชิดชูค่านิยมความงามแบบอุดมคติ และแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เปิดโอกาสให้การรังแก เหยียดหยามรูปพรรณสันฐาน เข้าถึงตัวเด็กได้ถึงในบ้าน
งานวิจัยหลายชิ้นพบว่า เด็ก ๆ เริ่มซึมซับค่านิยมต่าง ๆ รวมถึงค่านิยมเกี่ยวกับร่างกายตั้งแต่ปฐมวัย และเลียนแบบพฤติกรรม คำพูดของผู้ใหญ่ใกล้ตัวและในสื่อ เช่น หนังสือ การ์ตูน ละคร ภาพยนตร์ เกม คลิป ฯลฯ เด็กเล็กบางคนอาจยังไม่มีความคิดแน่ชัดว่าอะไรสวยไม่สวย แต่ค่านิยมเหล่านี้มีแนวโน้มว่าจะค่อย ๆ ถูกจัดเก็บและตกผลึกเป็นความเชื่อฝังใจเด็กต่อไปในอนาคตเมื่อพัฒนาการของพวกเขาถึงระดับที่เริ่มย้อนมองและเปรียบเทึยบตัวเองกับผู้อื่น ในช่วงประถมปลายถึงวัยรุ่น
ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับร่างกายใน "แบบที่ควรจะเป็น" อาจเสี่ยงก่อให้เกิดปัญหาทางกายและทางใจเมื่อเด็กเติบโตขึ้นไป เช่น การกินที่ผิดปกติในเด็ก (Eating disorder) บางส่วนถูกพบว่ามาจากค่านิยมบูชาความผอม ที่เด็ก ๆ ซึบซับมาจากสื่อรอบตัว (Gonçalves et al., 2013) ขณะที่ความเครียดจากการถูกรังแกล้อเลียนเรื่องรูปร่างโดยคนรอบตัวเป็นปัจจัยหนึ่งทึ่นำไปสู่ภาวะซึมเศร้าในระยะยาว
ในสังคมที่ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ไม่สามารถเห็นร่างกายที่แท้จริงของมนุษย์ทั่ว ๆ ไปได้ในที่สาธารณะ แต่กลับได้เห็นภาพบิดเบือนในสื่อต่าง ๆ ทุกวัน ในทุกที่ที่ไป
เพื่อน ๆ คิดว่า ทำอย่างไร เราจึงจะสร้างความตระหนักรู้เรื่องร่างกาย และยุติค่านิยมความงามที่เป็นภัยต่อสุขภาพกายและใจของเด็ก ๆ ได้บ้างคะ?
*บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรก ที่นี่
อ้างอิง
Gonçalves Jde A, Moreira EA, Trindade EB, Fiates GM. Eating disorders in childhood and adolescence. Rev Paul Pediatr. 2013 Jan-Mar;31(1):96-103. English, Portuguese. doi: 10.1590/s0103-05822013000100016. PMID: 23703051.
Nodelman, Perry. "Of Nakedness and Children's Books." Children's Literature Association Quarterly, vol. 9 no. 1, 1984, p. 25-30. Project MUSE, doi:10.1353/chq.0.0453.
Comments