top of page
รูปภาพนักเขียนTarn

[FFBF2021] หนังสือภาพอิหร่าน อ่านสนุก

อัปเดตเมื่อ 28 ก.ย. 2565


พูดถึงอิหร่าน ประเทศแถบตะวันออกกลาง

หลาย ๆ คนอาจนึกถึงสงคราม ความขัดแย้ง และผู้คนที่คร่ำเคร่ง

ใครจะไปคิดว่า หนังสือเด็กประเทศนี้จะสนุกสนาน มีชีวิตชีวาและลึกซึ้งอย่างนี้


กลับจาก Frankfurt Book Fair ก็สักพักแล้ว ตาลมองย้อนกลับไปแล้วก็คิดว่า เอ... เราลืมอะไรไปหรือเปล่าหว่า... อ๋อ ยังไม่ได้รีวิวหนังสือที่เจอในบุ๊กแฟร์ที่ไปมานี่เอง 555 วันนี้เลยขอเริ่มโพสต์รีวิวหนังสือเด็กงาน Frankfurt Book Fair 2021 ด้วยหนังสือสวย ๆ สี่เล่มจากประเทศอิหร่านแล้วกันค่ะ

 

หนังสือเล่มแรก برادر مزاحم من (ชื่อภาษาอังกฤษ My Annoying Brother) เขียนโดย คุณ Babak Saberi ภาพโดย คุณ Mahsa Hedayati ตีพิมพ์ปี 2020 กับสนพ. Fatemi Publishing

เป็นเรื่องเกี่ยวกับเด็กชายที่ไม่ถูกใจพี่ชายตัวเองเอาเสียเลย เพราะพี่ทั้งแย่งนอนเตียงชั้นล่าง แถมเปิดไฟอ่านหนังสือตอนดึก ๆ แล้วก็แสนจะเพอร์เฟ็กต์ทำอะไรก็ดีไปหมด น่าหงุดหงิดชะมัด แต่แล้ววันหนึ่งพี่ของเขาต้องออกเดินทางไปยังที่ไกลแสนไกล... สู่สมรภูมิรบ ห้องที่เคยคับแคบยุ่งเหยิง กลับกลายเป็นห้องที่กว้างและอ้างว้าง เจ้าพี่ชายน่ารำคาญของเขาจะได้กลับมาสร้างความรำคาญอีกหรือเปล่า? หนังสือเล่มนี้ได้รับรางวัลหนังสือภาพอิหร่าน Flying Turtle Award และได้รับเลือกให้ไปจัดแสดงในเทศกาลงานดีไซน์ The Tallinn Design Festival Triennial ที่เอสโตเนีย ปี 2021


หนังสือเล่มที่สอง مشت زن (ชื่อภาษาอังกฤษ The Boxer) เขียนและวาดโดย คุณ Hassan Mousavi ตีพิมพ์ปี 2019 กับสนพ. Fatemi Publishing เล่าเรื่องตลกปนเศร้าของนักมวยที่รู้จักแต่การชกต่อย และอุทิศทั้งชีวิตให้แก่การต่อยทุกสิ่งทุกอย่างที่ขวางหน้า ทั้งคน ทั้งต้นไม้ใบหญ้า หิมะสายฝน พี่ก็ต่อยมาหมดแล้วเพื่อพาตัวเองไปสู่ชัยชนะและชื่อเสียง แต่ยิ่งเขาสำแดงอำนาจและความแข็งแกร่งให้ผู้คนเห็นมากเท่าไหร่ เขากลับต้องพบกับความโดดเดี่ยวมากขึ้นเท่านั้น

สุดท้ายแล้ว นักมวยคนนี้จะสามารถมีความสุข มีเพื่อนฝูง และคนที่รักไหมนะ? หนังสือเล่มนี้กวาดรางวัลระดับนานาชาติมามากมาย ทั้งรางวัล Biennial of Illustrations Bratislava (ฺBIB) 2019 GRAND PRIX (ประเทศสโลวาเกีย) ซึ่งเป็นหนึ่งในรางวัลอันทรงเกียรติและเก่าแก่ที่สุด สำหรับนักวาดหนังสือเด็ก,

รางวัลชนะเลิศในเทศกาลหนังสือเด็ก The Sharjah Children’s Reading Festival ที่ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์,

และยังได้รับเลือกโดย The International Youth Library (IYL) ห้องสมุดหนังสือเด็กที่ใหญ่ที่สุดในโลก (ประเทศเยอรมนี) ให้เป็นหนึ่งในหนังสือดีประจำปี 2018 ใน the White Ravens Catalog ด้วย



หนังสือเล่มที่สาม چه فکر خوبی! (ชื่อภาษาอังกฤษ What a Brilliant Idea!) เขียนและวาดโดย คุณ Narjes Mohammadi ตีพิมพ์ปี 2019 กับสนพ. Fatemi Publishing

หนังสือเล่าผ่านสายตาของเด็กคนหนึ่งชื่อว่า คุกกี้ คุกกี้ไม่พอใจกับหูใหญ่ ๆ ของตัวเองเอาซะเลย แต่เขามีไอเดียดี ๆ เพียงแค่เอาหน้ากากมาครอบหัวเท่านั้น (ดูเหมือนจะเป็นกะลา...) ปัญหาก็หมดไป ไม่มีใครเห็นหูใหญ่ ๆ ของเขาอีกแล้ว แม้แต่ตัวเขาเอง!

ขนาดพ่อแม่ของคุกกี้ก็ยังทึ่งกับนวัตกรรมของเขา "ช่างเป็นความคิดที่เลิศเลออะไรอย่างนี้!" พ่อแม่บอก

จากนั้นมา หน้ากากของคุกกี้ก็นำเทรนด์ ทุกคนในเมืองล้วนแต่ใส่หน้ากากเพื่อบดบังส่วนที่ตัวเองไม่ชอบ แต่แล้ววันหนึ่ง คุกกี้ก็เริ่มรู้สึกเหนื่อยหน่ายกับการเห็นหน้ากากแบบเดิม ๆ เต็มท้องถนน และตัดสินใจถอดหน้ากากออก! จะเกิดอะไรขึ้นนะเนี่ย!? What a Brilliant Idea! ได้รับรางวัลมากมายทั้งในและนอกประเทศ เช่น

รางวัล Flying Turtle Award ของอิหร่าน

รางวัล The COW Design Biennial ประเทศยูเครน

รวมทั้งได้รับการเสนอชื่อรับรางวัล The Little Hakka Picture Book ในประเทศจีน

และได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในหนังสือดีเด่นในลิสต์ The Asian Festival of Children's Content ประเทศสิงคโปร์ และ The White Ravens ด้วย



หนังสือเล่มสุดท้าย آیا خرس بچه را دزدید؟ (ชื่อภาษาอังกฤษ Did the Bear steal the baby?) เขียนโดย คุณ Noush Amini ภาพโดย คุณ Majid Saberinejad

เป็นหนังสือภาพไร้คำน่ารักปนฮา เกี่ยวกับเด็กน้อยที่ไปปิกนิกกับครอบครัวแล้วพลัดหลงไปเจอคุณหมี... ตัวใหญ่มาก...

เจ้าหมีตัดสินใจรับหน้าที่พี่เลี้ยงพาน้องไปเดินเล่น กินขนม ชมเมือง ทำเอาราษฎรวิ่งกันป่าราบไปทั้งกรุง สุดท้ายมันก็ถูกตำรวจจับข้อหาลักพาตัวเด็ก ข่าวขึ้นหนังสือพิมพ์หน้าหนึ่งเป็นที่ฉาวโฉ่

เด็กน้อยจะช่วยล้างมลทินให้เจ้าหมีได้หรือไม่? ผู้คนจะมองข้ามอคติที่มีต่อ "หมี" และเห็นความดีที่มันทำมั้ย? แล้วสุดท้าย เจ้าหมีจะได้กลับบ้านหรือเปล่า!?



 

การได้อ่านหนังสือจากอิหร่านนี่เปิดหูเปิดตาเรามาก ๆ เลยค่ะ

เพราะที่ผ่านมา เราไม่เคยได้รู้จักหนังสือเด็กจากประเทศทางตะวันออกกลางเลย เพราะกำแพงภาษาด้วย แล้วก็ดูเหมือนเอเยนต์เค้าจะไม่เคยมาผูกสัมพันธ์กับสนพ.ละแวกบ้านเราด้วย (เท่าที่คุยกับคุณเอเยนต์ในภาพมาน่ะนะ) พอรู้ว่าเรามาจากไทยและสนใจหนังสือประเทศอิหร่าน เขาก็ดีใจใหญ่เลยค่ะ จัดขนม น้ำชามาให้กิน แถมอ่านหนังสือให้เราฟังอีกต่างหาก

ตัวแทนลิขสิทธิ์จากประเทศอิหร่าน ผู้มาพร้อมชา ขนม และหนังสือ


อ่านหนังสือเหล่านี้แล้วก็เหมือนกับเราได้แอบมองผ่านหน้าต่างบานเล็ก ๆ เข้าไปเห็นวิถีชีวิตของผู้คนในประเทศหนึ่ง ซึ่งที่ผ่านมาเราเคยได้ยินแต่ข่าวความรุนแรง สงคราม และผู้ก่อการร้าย พออ่านหนังสือเด็กจากประเทศเขาแล้ว จึงได้เห็นความปรารถนาในสันติภาพ เห็นอารมณ์ขัน จินตนาการ เห็นความคิดสร้างสรรค์ ความอยากรู้อยากเห็น สัมผัสได้ถึงความคิดอ่านลุ่มลึก ความรักในศิลปะ แล้วก็ยังได้รู้ว่าทั้งเด็กและผู้ใหญ่ที่นั่นเองก็กำลังต่อสู้กับอคติและความคาดหวังในสังคมไม่ต่างอะไรกับพวกเราเลย

เมื่อมองเข้าไปในหนังสือ เราได้เห็นผู้คนที่หลากหลาย คนที่อาจมีอะไรหลายอย่างต่างจากเรา แต่ขณะเดียวกันก็มีหลาย ๆ อย่างที่เหมือนกัน เพื่อน ๆ ล่ะคะ เห็นหนังสือจากประเทศอิหร่านสี่เล่มนี้แล้ว คิดอย่างไรบ้าง เขียนเข้ามาเล่าสู่กันฟังบ้างนะคะ

*บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรก ที่นี่


ตามไปฟอลโลว์นักเขียนนักวาดได้ที่ https://hasanmousavi.com https://narjesmohammadi.com https://majidsaberinejad.artstation.com


ดู 10 ครั้ง0 ความคิดเห็น

ความคิดเห็น


bottom of page